Skip to main content
sharethis

จากเหตุก่อการร้ายในคอนเสิร์ตของอาเรียนา แกรนเด ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ส่งผลให้เกิดการตรวจตราและยกระดับการตื่นตัวต่อการก่อการร้ายถึงระดับสูงในอังกฤษ ด้านรัฟฟิยา ซาคาริยา นักเขียนเชื้อสายปากีสถานระบุว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการโจมตีทางวัฒนธรรมและสร้างความกลัวเพื่อกลบเสรีภาพในการแสดงออก ทางการอังกฤษต้องระวังไม่ให้คนร้ายใช้เป็นเครื่องมือกีดกันผู้คนออกจากกัน

แมนเชสเตอร์ อารีนา ที่มา: Wikipedia

Rafia Zakaria ที่มา: Whitworth University

26 พ.ค. 2560 รัฟฟิยา ซาคาริยา นักเขียนชาวปากีสถาน-อเมริกัน พูดถึงกรณีเหตุระเบิดในแมนเชสเตอร์อารีนาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังการแสดงคอนเสิร์ตของอาเรียนา แกรนเด โดยบอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคือการโจมตีวัฒนธรรม

ซาคาริยาอธิบายว่า วัฒนธรรม ดนตรี และศิลปะ ต่างก็เป็นวิธีการแสดงรู้สึกนึกคิดและความสนุกสนานบันเทิงตามเป็นความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ แต่การที่เอาเรื่องการก่อการร้ายมาอ้างเพื่อสร้างความหวาดกลัวและความหวาดระแวง จะทำให้คนไม่สามารถรับความบันเทิงจากผลผลิตทางวัฒนธรรมในหลากหลายแนวทางได้ และกีดกันคนออกไปจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมรวมถึงคอนเสิร์ตด้วย

จากที่ก่อนหน้านี้การเข้าชมคอนเสิร์ตนักร้องชื่อดังที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอย่างแกรนเดเป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่ตัดสินใจได้ง่าย แต่ซาคาริยาก็กล่าวในเชิงวิจารณ์รัฐบาลอังกฤษว่า นอกจากบรรยากาศความกลัวที่เกิดจากการก่อการร้ายแล้วการที่รัฐบาลใช้วิธีเพิ่มมาตรการความมั่นคงเข้มงวดขึ้นโดยอ้างความปลอดภัยของประชาชนก็ยิ่งซ้ำเติมบรรยากาศความหวาดกลัวและอาจจะส่งผลต่อการผลิตทางวัฒนธรรมอย่างศิลปะหรือสื่อบันเทิงด้วย

เหตุระเบิดดังกล่าวมี้เสียชีวิต 23 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 120 ราย โดยหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุตัวผู้ก่อเหตุว่าเป็นชาวอังกฤษผู้มีเชื้อสายลิเบียชื่อซัลมาน อะเบดี อายุ 22 ปี อย่างไรก็ตามในอังกฤษก็มีบรรยากาศหวาดระแวงมากขึ้นเมื่อเดอะการ์เดียนรายงานว่ามีการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อเหตุ 2 รายในวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงมีกรณีคนรายงานว่ามีวัตถุต้องสงสัยแต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าปลอดภัย หลังเกิดเหตุวันจันทร์ที่ผ่านมาก็มีความกังวลอย่างมากจากเจ้าหน้าที่จนทำให้มีการยกระดับเฝ้าระวังการก่อการร้ายเป็นระดับสูง

ซาคาริยาผู้มีเชื้อสายปากีสถานบอกว่าเธอพูดถึงเรื่องนี้เพราะเคยมันเคยเกิดขึ้นในประเทศที่มีเหตุก่อการร้ายอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปากีสถาน อัฟกานิสถาน หรือประเทศอื่นๆ ที่มีเหตุร้ายในงานเทศกาลทางวัฒนธรรม ทำให้บรรยากาศการจัดงานทางวัฒนธรรมเหล่านี้กร่อยไปด้วย ซึ่งเธอกังวลว่าบรรยากาศแบบนี้จะส่งผลมาถึงโลกตะวันตก นอกจากนี้การก่อเหตุโจมตีคอนเสิร์ตในประเทศอังกฤษยังเป็นการที่ผู้ก่อเหตุพยายามสร้างภาพให้คนมองว่า "เป็นโลกตะวันตกปะทะกับโลกมุสลิม"

นั่นทำให้ซาคาริยาเตือนว่าการโต้ตอบกับเหตุก่อการร้ายในครั้งนี้ต้องกระทำอย่างระมัดระวังไม่ให้มีการแบ่งแยกหนักขึ้นไปอีก เพราะต่างฝ่ายต่างก็จะมองจากสิ่งที่ตัวเองต้องเผชิญ และทุกคนต่างก็เจ็บปวด แต่สิ่งที่ผู้ก่อการร้ายอย่างไอซิสต้องการคือการทำให้ผู้คนไม่สามารถข้ามพรมแดนเพื่อทำความเข้าใจกันได้

เรียบเรียงจาก

Manchester suicide bombing was an attack on culture, says one writer, PRI, 23-05-2016

Manchester bombing: more people linked to attack may be at large, The Guardian, 26-05-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net