Skip to main content
sharethis
ดาเนียล บอลาซส์ ผู้ศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยในเซียงไฮ้ ประเมินโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (BRI) ของจีนที่ทำกับศรีลังกา โดยที่ก่อนหน้านี้ศรีลังกาต้องพึ่งพาจีนอย่างมากในสมัยผู้นำคนเก่าที่ทำให้ประเทศอื่นๆ ไม่อยากคบค้าสมาคม แต่ในปัจจุบันประชาชนศรีลังกาก็ประท้วงต่อต้านโครงการจากจีนอย่างหนัก
 
 
ที่มาภาพ: eastasiaforum.org
 
27 พ.ค. 2560 ศรีลังกาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมีส่วนเชื่อมโยงกับนโยบายริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ของจีน ซึ่งในขณะที่จีนโฆษณาตัวเองเกี่ยวกับ BRI ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อและพัฒนาร่วมกันของเอเชีย แอฟริกา และยุโรป โดยที่ศรีลังกามีความสำคัญทางพื้นที่ยุทธศาสตร์เนื่องจากอยู่ในกลางทะเลอินเดีย แต่นักวิเคราะห์ก็ระบุว่าในศรีลังกาเองก็มีประชาชนที่ต่อต้านโครงการต่างๆ จากจีน
 
ดาเนียล บอลาซส์ บัณฑิตจบใหม่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยถงจี้ในเซียงไฮ้ระบุว่าในช่วงเดือนม.ค. 2560 มีการประท้วงอย่างรุนแรงจากประชาชนที่ไม่พอใจโครงการเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับทุนมาจากทางการจีน เรื่องนี้จึงน่าจะกลายเป็นบทเรียนหนึ่งในการดำเนินนโยบายของจีน
 
จีนพยายามใช้ "หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 5 ประการ" ที่เป็นแนวทางนโยบายการต่างประเทศของจีนมาตั้งแต่หลังจากปี 2492 เป็นต้นมา หนึ่งในแนวคิดหลักของนโยบายนี้คือการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศอื่น นอกจากนี้ยังเป็นการที่จีนมองตัวเองว่าเป็นเสาหลักของอำนาจที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยที่จะทำให้เกิดความร่วมมือแบบ "ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย" ในหมู่ประเทศเข้าร่วมกับพวกเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองก็แปลงมาเป็นนโยบาย BRI โดยที่ทางการจีนมีแนวการเล่าถึง BRI จากปากตัวเองว่าเป็นเรื่องของความร่วมมือและความต้องการร่วมแบ่งปันผลจากการพัฒนาของพวกเขา
 
แต่ดูเหมือนว่าประชาชนในศรีลังกาจะไม่ได้มองแบบเดียวกับแนวทางการโฆษณาตัวเองของจีนจากที่พวกเขาประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งบอลาซส์ชี้ให้เห็นว่าแนวทางการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของจีนยังสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้เรื่องพลวัตทางสังคมภายในประเทศนั้นๆ ด้วย ทำให้นโยบายการต่างประเทศแบบนี้ของจีนอาจจะส่งผลร้ายมากกว่าดี
 
บอลาซส์ระบุว่าการที่จะทำความเข้าใจศรีลังกาได้นั้นต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองที่ชื่อ "สงครามอีแลม" ตั้งแต่ปี 2526-2552 ด้วย สงครามดังกล่าวทำให้ศรีลังกาเสียหายอย่างหนักบีบให้พวกเขาต้องอาศัยคนนอกเข้าไปช่วยฟื้นฟู คนนอกที่ว่านี้ก็มีทั้งสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือพร้อมกับตั้งเงื่อนไขที่เคร่งครัดแต่จีนกลับช่วยเหลือและลงทุนในลักษณะที่ไม่มีข้อผูกมัด
 
พอถึงปี 2552 ที่สงครามจบลงโดยรัฐบาลภายใต้การนำของมหินทรา ราชปักษา ผู้ที่ถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทุจริตคอร์รัปชัน และการเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้ชื่อเสียงของราชปักษาไม่ค่อยดีนัก ทำให้สูญเสียเพื่อนในเวทีโลกไปเรื่อยๆ ทำให้เหลือแค่แหล่งทุนเป็นจีน หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับศรีลังกาก็ดีขึ้น มีโครงการที่มีชื่อเสียงอย่างสนามบินมัตตาลา ท่าเรือฮัมบันโตตา และเมืองท่าโคลอมโบ ถูกสร้างขึ้นด้วยเงินทุนจากจีนหลายพันล้านดอลลาร์
 
การตกลงกันระหว่างจีนกับศรีลังกาโครงการต่างๆ ข้างต้นที่เรียกว่า "โคลอมโบ คอนเซนซัส" เป็นผลประโยชน์ต่อผู้นำทั้งสองฝ่าย ราชปักษาใช้เงินของจีนในการยึดกุมอำนาจของตัวเองเอาไว้ได้ในขณะที่จีนก็สามารถเข้าถึงตำแหน่งยุทธศาสตร์ทางทะเลอินเดียได้
 
แต่ราชปักษาก็กุมอำนาจเอาไว้ได้ไม่นานเท่าที่เขาคิดเมื่อเขาแพ้ให้กับไมตรีพละ ศิริเสนา ในการเลือกตั้งเมื่อเดือน ม.ค. 2558 ซึ่งศิริเสนามีจุดยืนต่างออกไปจากราชปักษาตรงที่เขาสัญญาว่าจะมีการปรับปรุงข้อตกลงโครงการจีนที่มีคนต่อต้านอีกครั้งรวมถึงโครงการเมืองท่าโคลอมโบ แต่การทำตามสัญญาก็เป็นไปได้ยากเมื่อมีการทำข้อตกลงแล้วนอกจากนี้ศรีลังกายังมีภาระหนี้สินมากถึง 60,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าร้อยละ 10 เป็นการติดหนี้จีน นอกจากนี้จีนยังเจรจาต่อรองในเชิงที่ทำให้พวกเขาได้ประโยชน์อย่างกรณีโครงการท่าเรือพาณิชย์จีนขอถือหุ้นมากถึงร้อยละ 80 และมีกรรมสิทธิควบคุมเขตอุตสาหกรรมเป็นที่ดิน 15,000 เอเคอร์
 
อย่างไรก็ตามวิธีการใช้อำนาจแบบของจีนก็ส่งผลสะท้อนกลับเมื่อประชาชนศรีลังกาต่อต้านสัญญาท่าเรือฮัมบันโตตาของจีนจนมีการเจรจาใหม่โดยที่ได้รับสิทธิถือหุ้นเหลือราวร้อยละ 20 
 
บอลาซส์วิเคราะห์ว่ากรณีศรีลังกานี้ทำให้จีนต้องกลับไปทบทวนใหม่ในโครงการริเริ่มที่จะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในโลก บอลาซส์มองว่าวิธีการแบบไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องผิดในตัวมันเอง แต่จีนก็ไม่ควรกระทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงพลวัติทางสังคมในประเทศที่พวกเขามองว่าเป็นคู่ค้าด้วย การส่งเงินลงไปอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการทำให้ "เส้นทางสายไหมใหม่" เป็นจริงได้ พวกเขาต้องรับเปลี่ยนไปตามสภาพภายในของประเทศนั้นๆ ด้วย
 
บอลาซส์ระบุว่าจีนเคยลงทุนไปแล้วก่อนหน้านี้กับเมียนมาร์ ไทย และลาว ซึ่งในกรณีลาวโครงการของพวกเขาถูกต่อต้านจากประชาชนด้วย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" จึงเป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน และปัจจัยสำคัญต่อความทะเยอทะยานของจีนในเรื่องนี้คือภาพลักษณ์ที่ประเทศต่างๆ จะมองพวกเขาอย่างไรด้วย
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net