Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในชั่วโมงท้ายๆของวิชาที่เกี่ยวกับทักษะของงานทำงานวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (University of Edinburgh), สก๊อตแลนด์ ผู้สอนเน้นไปที่การแนะนำให้นักศึกษาใช้สื่อและโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ในการเผยแพร่งานวิจัยของตนเอง รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์กับสังคมเพื่อให้งานวิชาการเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดกับคนหมู่มาก มากกว่าที่จะจำกัดวงผู้อ่านอยู่ที่นักวิชาการเหมือนกัน

การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมหรือสาธารณะ (public engagement) ของนักวิชาการไม่ได้จำกัดอยู่ที่ว่าจะต้องเป็นการเผยแพร่การวิชาการของตนเองให้คนทั่วไปได้ดาวโหลดหรืออ่านออนไลน์เท่านั้น เพราะเท่ากับว่าไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้นมามากเท่ากับที่คาดหวัง แต่ควรจะเป็นไปในลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมโดยวางอยู่บนพื้นฐานว่าความรู้ที่นักวิชาการเผยแพร่จะต้องได้รับการแลกเปลี่ยนหรือข้อเสนอแนะจากบุคคลทั่วไปที่ได้อ่านเช่นกัน หรืออีกนัยหนึ่งงานวิชาการที่ผลิตออกมาจะต้องให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจได้และต้องเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้เสนอแนะหรือเพิ่มเติมข้อคิดเห็นของตนเองต่องานนั้นๆเพื่อเป็นการต่อยอดต่อไป การปฏิสัมพันธ์กับสังคมของนักวิชาการจึงเป็นเสมือนบทสนทนา (conversation/dialogue)ระหว่างผู้อ่านและผู้ผลิตงาน มากกว่าที่ผู้ผลิตงานจะเล่นบทบาทของการเป็นผู้ให้ความรู้เพียงอย่างเดียว

ทำไมจึงต้องเน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านและผู้ผลิตผลงานและทำไมนักวิชาการจึงควรหันมาเล็งเห็นความสำคัญของผู้อ่านสาธารณะเพิ่มมากขึ้น?

การมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมของนักวิชาการจะส่งผลให้หอคอยงาช้างนั้นพังทลายลงมาในที่สุด คนอ่านไม่จำเป็นต้องปีนบันไดอ่านหรือพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตนเอง ตรงกันข้ามงานทางวิชาการควรเป็นการเติมเต็มความกระหายใคร่รู้ของบุคคลและส่งผลอะไรบางอย่างต่อสังคมไม่มากก็น้อย ปณิธานอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การตระหนักถึงภาษีของประชาชนที่อุดหนุนการผลิตผลงานทางวิชาการให้กับนักศึกษาและคณาจารย์

ในปัจจุบันมีหลายกระแสที่ตั้งคำถามถึงมูลค่าภาษีที่เสียไปให้กับการผลิตงานวิชาการจำนวนมากที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ และยังมีงานวิจัยและงานวิชาการอีกจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้มุ่งเน้นกลุ่มผู้อ่านที่เป็นคนทั่วไป ในกรณีของประเทศอังกฤษหรือาจจะประเทศอื่นๆด้วย ตำราเรียนและหนังสือวิชาการมีราคาแพงกว่าหนังสือทั่วไปมากและมักจะตีพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็ง ราคาที่สูงกว่าหนังสือทั่วไปและยังทำความเข้าใจยากส่งผลให้หนังสือเหล่านี้ถูกตีพิมพ์เพื่อที่จะขายให้กับมหาวิทยาลัยและส่งเข้าไปยังห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ มากกว่าที่จะวางขายสำหรับผู้อ่านทั่วไป หรืออีกนัยหนึ่ง นักวิชาการผลิตผลงานวิจัยโดยได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชนและยังตีพิมพ์หนังสือราคาแพงเหล่านี้โดยไม่ได้คำนึงถึงผู้อ่านที่เป็นบุคคลทั่วไปที่จ่ายภาษีให้กับการสนับสนุนงานวิจัยเลยแม้แต่น้อย[1]

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ นักวิชาการกับสาธารณะแทบจะไม่เคยมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน คนทั่วไปมองนักวิชาการในฐานะของกลุ่มคนที่ชอบวิจารณ์สังคมและไม่เคยให้คำตอบอะไรที่มองเห็นเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันนักวิชาการก็ตีความและทำความเข้าใจสังคมผ่านหน้ากระดาษต่อไป ดังนั้นในฐานะที่นักวิชาการตลอดจนคณาจารย์ต่างก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐและสถาบันต่างๆ สมควรหรือไม่ที่จะต้องมีหน้าที่หรือพันธะกิจในการรับใช้สังคมผ่านทางงานวิจัยของตนเช่นกัน

คำตอบของคำถามคือ นักวิชาการและนักศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของงานของตนที่จะตอบคำถามอะไรต่อสังคม โดยเฉพาะนักวิชาการในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เนื่องจากงานส่วนมากในสายนี้มักจะเป็นงานที่เป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรต่อสังคม ต่างจากสายวิทยาศาสตร์ที่จะเห็นงานเป็นรูปธรรมมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่น่าแปลกใจที่การศึกษาในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะถดถอยลงตามลำดับและกลายเป็นคณะหรือสาขาที่ไม่ทำเงินตามมหาวิทยาลัยต่างๆ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่แวดวงสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน

อาจเรียกได้ว่าการทำลายหอคอยงาช้างและพยายามที่จะ “สนทนา” กับสังคม รวมถึงเปิดโอกาสให้สังคมได้ “สนทนา” กับนักวิชาการจะทำให้งานวิชาการและงานวิจัยต่างๆสามารถเอื้อมถึงได้มากขึ้น การเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม การจัดงานสัมมนาวิชาการ หรือการตีพิมพ์บทความ จึงไม่ควรเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียวอีกต่อไป แต่จำเป็นที่จะต้องเปิดให้เป็นการสื่อสารจากสองทาง คือบุคคลทั่วไปและนักวิชาการ หากทำให้สังคมเข้าใจและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับงานทางวิชาการได้ (หรือหากจะไปไกลกว่านั้นคือการทำให้คนทั่วไปเข้าใจและตระหนักว่าทำไมการศึกษาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จึงสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตนเอง) ก็จะทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ตรงนี้เองที่สื่อสมัยใหม่สามารถเปิดช่องว่างได้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, WordPress, Pubs & Publications เป็นต้น ทั้งหมดสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเผยแพร่งานออกสู่สาธารณะทั้งสิ้น เป็นสื่อที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารูปแบบของสื่อเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยให้การเผยแพร่งานวิชาการเป็นไปในรูปแบบที่ไม่หนักสมองมากนัก ความยาวขนาดพอเหมาะและยังรวมตัวเป็นชุมชนออนไลน์สำหรับผู้ที่สนใจร่วมกันได้ง่าย การใช้สื่อออนไลน์ยังสามารถที่จะเชื่อมโยงกับนักวิชาการหรือผู้ที่สนใจคนอื่นๆทั่วทุกมุมโลก งานทางประวัติศาสตร์จึงไม่ควรเป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ แต่ควรจะได้รับความสนใจจากผู้รู้หรือผู้ที่สนใจหลากหลายสาขา เช่น ภูมิศาสตร์, เทคโนโลยีสารสนเทศ, เศรษฐศาสตร์, วรรณกรรมและวรรณคดี ฯลฯ และในทางกลับกันงานของสาขาเหล่านี้ก็สามารถเติมเต็มจากความรู้และทักษะทางประวัติศาสตร์เช่นกัน

หนึ่งในโครงการวิจัยที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระและมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (University of Glasgow) รวมถึงหน่วยงานของสก๊อตแลนด์มีร่วมกัน คือ โครงการ Scotland Slavery Map หรือการสืบหาประวัติศาสตร์ของการค้าทาส ในสมัยของการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ สก๊อตแลนด์ได้รับประโยชน์จากการขูดรีดแรงงานทาสอย่างมาก หลายโรงเรียนในสก๊อตแลนด์สามารถตั้งและดำเนินกิจการมาได้อย่างยาวนานส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินที่ได้มาจากโรงงานน้ำตาลที่มาจากหยาดเหงื่อของแรงงานทาส โครงการวิจัยจึงพยายามที่จะอธิบายภาพดังกล่าวและให้นักเรียนของแต่ละโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมกับการสืบหาประวัติศาสตร์ส่วนนี้ วัตถุประสงค์สำคัญไม่เพียงแต่เป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ยังเป็นไปเพื่อให้นักเรียนตลอดจนคนในชุมชนได้เข้าใจและตระหนักถึงตำแหน่งแห่งที่ของบรรพบุรุษตนเองในประวัติศาสตร์ รวมถึงความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับตนเองในปัจจุบัน ที่สำคัญคือ โครงการวิจัยนี้ไม่จำกัดอยู่ในหน้าเอกสาร แต่ได้รับการขยายผลไปยังช่องทางของโซเชียลมีเดีย มีการทำแผนที่และแผนผังเส้นทางการค้าทาส มี twitter ที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถทวีตเพิ่มเติมเรื่องราวให้กับคณะผู้จัดทำ มีการจัดทำคลิปวิดีโอสั้นๆ มีแฮชแท็ค (hashtag) ให้กับผู้สนใจ และกลายมาเป็นแหล่งรวมตัวย่อมๆของผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การค้าทาสในสก๊อตแลนด์[2]

พันธะกิจของนักวิชาการในโลกปัจจุบัน จึงควรรวมเอาการตระหนักถึงจำนวนภาษีจากประชาชนที่มีส่วนช่วยให้งานวิจัยได้รับการต่อยอดและเป็นผลสำเร็จในที่สุด รวมถึงความพยายามที่จะทำให้ความเป็นวิชาการนั้นเผยแพร่ในวงกว้างในพื้นที่สาธารณะ ทั้งหมดนี้จะทำให้สังคมและนักวิชาการไม่ถูกแบ่งแยกและมีความเท่าเทียมกันในพื้นที่แห่งความเป็นวิชาการมากขึ้น

การดำรงอยู่ของงานวิชาการและผู้ผลิตงานทางวิชาการ จึงควรคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่เฉพาะแต่ในงานศึกษาของตนเองเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีต่องานวิชาการเช่นกัน

 

เชิงอรรถ

[2] โปรดดูเพิ่มเติม https://mobile.twitter.com/scotlandslavery , https://www.commonspace.scot/articles/8980/scottish-slavery-map-plotting-out-scotlands-past, และยังมีโครงการอื่นๆ เช่น การตามรอย Ben Johnson ในการเดินทางท่องเที่ยวจากลอนดอนมายังสก๊อตแลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการจัดทำแผนที่และใส่ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง http://www.blogs.hss.ed.ac.uk/ben-jonsons-walk  เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2560 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net