Skip to main content
sharethis

11 ประชาชน ชาวห้วยกลทา เพชรบูรณ์ ฮึดยื่นอุทธรณ์ คดีศาลหล่มสักตัดสินให้จ่ายค่าโลกร้อน ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล เนื่องจากยากจนและต้องการได้รับความเป็นธรรม

29 พ.ค. 2560 รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า วันนี้ (29 พ.ค.60) เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดหล่มสัก ชาวบ้าน 11 รายที่ตกเป็นจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเพราะทำให้โลกร้อนในคดีความแพ่งตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมทั้งขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล เนื่องจากยากจนและต้องการได้รับความเป็นธรรม

คดีนี้สืบเนื่องจากคดีหมายเลขดำที่ 77/2553 ระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางเเพ่งกับ มณีรัตน์ คำเบ้า กับพวกรวม 16 คน ตกเป็นจำเลยโดยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดหล่มสักได้ตัดสินว่าชาวบ้านที่ผิดฐานบุกรุกตามคำพิพากษาศาลอาญา ในคดีแพ่งจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายและสมควรกำหนดค่าเสียหายไร่ละ 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 3 พ.ย.48 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผลของคดีดังกล่าวทำให้ชาวบ้านต้องชดใช้เงินจำนวน 182,300 บาท หากรวมดอกเบี้ย, ค่าธรรมเนียมและค่าทนายความใช้แทนโจทก์รวมเป็นเงิน 362,352 บาทต่อกรมอุทยานฯที่เป็นโจทก์ฟ้องร้องคดีนี้

การอุทธรณ์คดีแพ่งดังกล่าวสร้างความเดือนร้อนให้ชาวบ้านเพราะไม่มีเงินค่าธรรมเนียมศาลจำนวนกว่า 30,000 บาท และมีความเห็นว่าคดีมีเหตุให้อุทธรณ์ในส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ไม่สามารถการพิสูจน์ว่ามีการเก็บตัวอย่างดิน วัดความลาดชัน วัดอุณหภูมิ ว่าจะได้ดำเนินการเก็บหรือไม่ ทั้งแบบตารางคอมพิวเตอร์ที่ระบุความเสียหาย เขียนด้วยลายมือ มิได้พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ทั้งจำเลยนำสืบว่าแบบคำนวณค่าเสียหายไม่สามารถที่จะพิสูจน์ค่าเสียหายได้ โจทก์จึงไม่สามารถพิสูจน์ค่าเสียหายได้ โดยในคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยว่าการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือแต่กลับมีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายไร่ละ 20,000 บาทโดยไม่มีเหตุผลว่าคำนวณค่าเสียหายที่ชาวบ้านทำให้โลกร้อนด้วยวิธีการใด

ปัจจุบันมาตรการและการคิดค่าเสียหายแม้จะยังมีข้อโต้แย้งอยู่มากแต่ก็ถูกนำไปบังคับใช้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ทำกินทับซ้อนกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีชาวสวนขนาดเล็กหลายรายถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายนับล้านบาทจากการทำประโยชน์ในที่ดินของตัวเองเพียงไม่กี่ไร่ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาการคิดค่าเสียหายจากการทำให้อากาศร้อนมากขึ้นและค่าเสียหายจากการทำให้ฝนตกน้อยลง อันเป็นที่มาของคำว่า “คดีโลกร้อน”

ลำดับเหตุการณ์การต่อสู้คดีของชาวบ้าน ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน

คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2548 ได้มีการยื่นฟ้องคดีอาญา ในข้อหาหรือฐานความผิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 กับ ชาวบ้านห้วยกนทา หมู่ที่ 6 ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 11 ราย ต่อศาลจังหวัดหล่มสัก ในคดีหมายเลขดำที่ 831/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 349/2550 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดหล่มสัก โจทก์ นางมณีรัตน์ คำเบ้า ที่ 1 กับพวกรวม 11 คน จำเลย

ต่อมาได้แยกฟ้องจำเลย 2 คน ซึ่งเป็นเยาวชนต่อศาลจังหวัดเพชรบูรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในคดีหมายเลขดำที่ -340/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 89/2550 คือนางสาวมะลิ คำหมู่ กับพวกรวม ๒ คน ในข้อหาหรือฐานความผิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยทั้ง 2 คดีมีพฤติการณ์ในคดีเป็นไปในทำนองเดียวกันกล่าวคือพวกจำเลยที่ถูกฟ้องคดีทั้งหมดได้เข้าไปรับจ้างหักข้าวโพดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาเเดง ในพื้นที่ประมาณ 9 ไร่ 46 ตารางวา และคดีถึงที่สุดแล้ว

รายละเอียดคดีแพ่ง

ในคดีแพ่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯได้ยื่นเป็นโจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกครั้งต่อศาลหล่มสัก กับนางมณีรัตน์ คำเบ้า กับพวกอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ได้ยื่นฟ้องผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนทั้งสองเป็นคดีนี้รวมเข้าไปในคดีนี้ด้วยอีก 3 รายรวมเป็นจำเลยในคดีนี้ทั้งหมด 16 คน โดยอาศัยข้อหาหรือฐานความผิดอาญา บุกรุก แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง อันเป็นการทำลายป่าเเละเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าเพื่อให้รับผิดทางแพ่งในมูลละเมิดด้วย ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตาม มาตรา 97 เเห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมเเละรักษาคุณภาพสิ่งเเวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อฟ้องเรียกมูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นรวม 470,978.79 บาท โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาแล้วนั้น

จากกรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการที่โจทก์ ซึ่งเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฯ ยื่นฟ้องโดยใช้วิธีจากหลักเกณฑ์การคำนวณเป็นไปตามคู่มือการใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่จัดทำขึ้นจากหน่วยงานส่วนวิจัยต้นน้ำ ซึ่งเป็นแบบหลักปฏิบัติในการดำเนินคดีแพ่งของพนักงานอัยการที่ต้องมาใช้ประกอบคำฟ้องเรียกค่าเสียหาย จาก สูตรคำนวณจากแบบจำลองคดีโลกร้อนที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหลักเกณฑ์ คือ

1. การทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย คิดเป็นมูลค่า 4,064 บาทต่อไร่ต่อปี

2. การทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี

3. การทำให้สูญเสียน้ำออกไปจากพื้นที่ โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 54, 800 บาทต่อไร่ต่อปี

4. การทำให้ดินสูญหาย 1800 บาทต่อไร่ต่อปี

5. ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45, 453 บาทต่อไร่ต่อปี

6. การทำให้ฝนตกน้อยลง 5400บาทต่อไร่ต่อปี และ

7. มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่า 3 ชนิด (ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง)รวมมูลค่าทั้งหมด 150, 942.70บาทต่อไร่ต่อปี

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ศาลจังหวัดหล่มสักได้นัดพร้อมเพื่อยกคดีแพ่งนี้ขึ้นพิจารณาใหม่ คดีอาญาที่พนักงานอัยการจังหวัดหล่มสักยื่นฟ้องจำเลยทั้งหมดนั้น บัดนี้ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 14 เนื่องจากฟ้องผิดตัวบุคคล ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับ จำเลยที่ 14 ออกจากสารบบความของศาล ประเด็นข้อพิพาทนั้น เป็นไปตามที่ประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้แล้วเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 ทนายโจทก์แถลงต่อศาลว่าประสงค์สืบพยานโจทก์จำนวน 5 ปาก

ใช้เวลา 1 นัด ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าประสงค์ที่จะสืบพยาน จำนวน 12 ปาก ใช้เวลา 2 นัด โดยได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 5 ตุลาคม 2559 สืบพยานจำเลยวันที่ 6 –7 ตุลาคม 2559

คดีนี้ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาท 1.โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ 2.โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายกับจำเลยทั้ง 16 หรือไม่ เพียงไร 3.ฟ้องโจทก์ขาดอายุความในส่วนจำเลยที่ 13,14,15,16 หรือไม่ โดยคำพิพากษาโดยย่อ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้ง 16 คน ตาม พ.ร.บสิ่งแวดล้อมปี 35 มาตรา 97 ในส่วนจำเลยที่ 12,13 เมื่อคดีอาญาศาลพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 12,13 จึงไม่ต้องรับผิด เมื่อจำเลยที่ 12,13 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 15,16 ซึงเป็นผู้ปกครองจึงไม่ต้องรับผิดเช่นกัน

ปัจจุบันมาตรการและการคิดค่าเสียหายดังกล่าว ถูกนำไปบังคับใช้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ทำกินทับซ้อนกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จากข้อมูลเมื่อปี 2553 ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยระบุว่า มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายฯ ถูกดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น 34 ราย มูลค่าความเสียหายที่ถูกเรียกร้องสูงถึงกว่า 13 ล้านบาท มีชาวสวนขนาดเล็กหลายรายถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายนับล้านบาทจากการทำประโยชน์ในที่ดินของตัวเองเพียงไม่กี่ไร่

มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นหลายประการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และการนำแบบจำลองมาบังคับใช้กับเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะข้อกล่าวหาการคิดค่าเสียหายจากการทำให้อากาศร้อนมากขึ้นและค่าเสียหายจากการทำให้ฝนตกน้อยลง อันเป็นที่มาของคำว่า “คดีโลกร้อน”

อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อโต้แย้งในทางวิชาการอยู่อย่างมากในสูตรการคิดคำนวณ แต่ปัจจุบันกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชยังคงใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้โดยเฉพาะ

จากในหลายกรณีพิพาทที่ผ่านมา มีคำพิพากษาของศาลให้ชาวบ้านต้องชดใช้ค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 97เเห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมเเละรักษาคุณภาพสิ่งเเวดล้อม พ.ศ. 2535 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ จำเลยได้นำสืบหักล้างการนำแบบจำลองฯของโจทก์ที่ได้นำมาใช้คิดคำนวณค่าเสียหายที่ไม่มีความแน่นอนและไม่สอดคล้องกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์โดยปราศจากเศรษฐธรรมเพราะพิจารณาจากหลายคดีที่เกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายในคดีโลกร้อนที่ผ่านมา มิได้มีการไต่สวนพิสูจน์ถึงความเสียหายที่แท้จริง ซึ่งอาจจะเกิดจากการรับสารภาพหรือการไม่มีทนายความที่ช่วยเหลือในการต่อสู้คดีศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมเสียเอง เมื่อโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นมูลค่าของสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงได้ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนซึ่งอาจไม่ได้สร้างความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมตามรายละเอียดแบบจำลองที่ได้มีการจัดทำขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net