Skip to main content
sharethis

YPD ยื่นคำตอบ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้ 3 ปี คสช. ล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อออกมาตั้งคำถามกับประชาชนอีก อัดอยู่มาด้วยข้ออ้างการร่างรัฐธรรมนูญ-การปฏิรูปนั้น เพื่ออะไร พร้อมตอบหากได้ รบ.เลือกตั้งที่ไม่มีธรรมาภิบาล ก็ต้องดำเนินการ ตาม รธน. ย้ำที่ไม่ทำแน่ๆ คือ ให้ทหารออกมารัฐประหารอีก

30 พ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (30 พ.ค.60) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่งสำนักงานก.พ) ชาติชาย แกดำ และ ธิวัชร์ ดำแก้ว ตัวแทนศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อตอบคำถาม 4  ข้อที่นายกฯ ถามผ่านรายการศาสตร์พระราชาเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา

"การใช้เวลา 3 ปีบริหารประเทศและอยู่มาได้ด้วยข้ออ้างการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปนั้น ล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อผู้ดำเนินการออกมาถามคำถามนี้ด้วยตนเอง เพราะเท่ากับว่า 3 ปีนี้สูญเปล่าและโกหกประชาชนมาโดยตลอด ท่านโฆษณาว่าทั้งรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปที่ท่านทำมานั้นดีหนักหนา ชวนเชื่อประชาชนอยู่ทุกวัน แต่กลับมีคำถามแบบนี้ชี้ให้เห็นความไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ตนเองทำมานั้นมันได้ผล  หลักสำคัญของธรรมาภิบาลข้อหนึ่งคือ “หลักการมีส่วนร่วม” เราไม่ทราบว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีธรรมาภิบาลหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่นอนคือ 3 ปีที่ผ่านมาเราไม่มีการมีส่วนร่วม นั้นคือเราไม่มี “ธรรมาภิบาลนั้นเอง” เราต้องการรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลอย่างยิ่ง แต่จากเหตุผลที่ยกมา ชี้ชัดได้เลยว่าไม่ใช่รัฐบาลแบบที่คนถามคิดแน่นอน" หนังสือของ YPD ระบุ

โดยหนังสือของ YPD ยังตอบคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีหากเลือกตั้งแล้วหากไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ว่า ทำตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และหากรัฐธรรมนูญมีปัญหาก็รณรงค์ให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่วิธีที่จะไม่ทำแน่ๆ คือ การให้ทหารมารัฐประหารอีก

รายละเอียด จดหมายของ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) : 

“ตอบคำถาม 4 ข้อเรื่องการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร”

ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นองค์กรเยาวชนที่มีแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยที่มุ่งเน้นทั้งการมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมือง ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยได้ร่วมกันสรุปบทเรียนจากรัฐประหาร 3 ปีว่า

“เรามิอาจละเลยหรือปล่อยให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงประชาธิปไตยทางการเมืองได้อีก”

เนื่องจากเป็นต้นเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำ การดึงอำนาจรวมศูนย์เข้าสู่มือข้าราชการ ลดสิทธิลดเสียงของประชาชน ปัญหาธรรมาภิบาลทางการปกครองที่ล้มเหลว การใช้อำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ และไร้การมีส่วนร่วมใดๆในการกำหนดอนาคตของตนเองของประชาชน ปัญหาทั้งหมดนี้ทำให้ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจไม่สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ในสังคมไทย

ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเองนั้นมีปัญหาในตัวเอง และทหารในประเทศไทยก็ฉวยใช้ข้อจำกัดนี้เข้ามาเสวยอำนาจโดยอ้างว่าเข้ามารักษาความสงบจัดการความขัดแย้ง แต่ทุกครั้งก็พิสูจน์แล้วว่าปัญหานั้นไม่ได้ถูกแก้ไข แต่ผู้เข้าเสวยอำนาจก็เดินออกไปอย่างอิ่มหมีพีมัน รอเวลาให้เกิดความบกพร่องในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมเพื่อกลับเข้ามีอำนาจอีกครั้ง

นักการเมืองในระบอบรัฐสภาไทยเท่าที่มีอยู่ก็เป็นปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ทหารสามารถมีข้ออ้างเข้ามาทำรัฐประหารตลอดเวลา พรรคการเมืองในระบบรัฐสภาไทย ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่มีฐานทางอุดมการณ์อย่างแท้จริง ไม่ใช่พรรคของประชาชน ไม่เป็นพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง เนื่องด้วยกฎหมายการเลือกตั้งที่ทำให้ไม่เกิดการสร้างพรรคการเมืองทางเลือกอื่นๆที่เป็นพรรคตัวแทนอุดมการณ์ หาใช่พรรคตัวแทนชนชั้นนำ นักธุรกิจ ที่อ้างเสียงประชาชนโดยไม่มีระบบประชาธิปไตยภายในพรรคอย่างในปัจจุบัน

เราศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยหวังว่าการตอบคำถามครั้งนี้จะกระตุกต้อมกระตุ้นเตือนสังคมได้ว่า

“อย่าได้ไปหลงกับคำถามที่โยนหินถามทางเพื่อเป็นผู้เผด็จการต่อ” และ

“อย่าได้ไปหลงคารมนักเลือกตั้งที่หิวกระหายจนปากสั่น”

ต้องตั้งสติอยู่กับความเป็นจริง 3 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก ปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้ว แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่พิกลพิการ แต่เข้มมุ่งต่อไปคือ “การคืนสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของประชาชน ยุติการสืบทอดอำนาจเผด็จการ”

ประการที่ 2 ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมกันกดดันให้มีการเลือกตั้ง กดดันให้ผู้เผด็จการรักษาสัญญาที่ต่อเวลามายาวนาน

ประการที่ 3 ไม่มีทางหลุดจากวังวนเดิมได้หากประชาชนไม่ได้เข้าไปเป็นเจ้าของพรรคการเมืองที่แท้จริงในระยะต่อไป

ส่วนคำถาม 4 ข้อนั้นหาสำคัญไม่ แต่ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยก็จะตอบคำถามเหล่านี้ เพื่อให้คนที่ถามได้สะท้อนดูพฤติกรรมการใช้อำนาจของตนเองตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

1. ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ?

ตอบ : การใช้เวลา 3 ปีบริหารประเทศและอยู่มาได้ด้วยข้ออ้างการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปนั้น ล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อผู้ดำเนินการออกมาถามคำถามนี้ด้วยตนเอง เพราะเท่ากับว่า 3 ปีนี้สูญเปล่าและโกหกประชาชนมาโดยตลอด ท่านโฆษณาว่าทั้งรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปที่ท่านทำมานั้นดีหนักหนา ชวนเชื่อประชาชนอยู่ทุกวัน แต่กลับมีคำถามแบบนี้ชี้ให้เห็นความไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ตนเองทำมานั้นมันได้ผล 

หลักสำคัญของธรรมาภิบาลข้อหนึ่งคือ “หลักการมีส่วนร่วม” เราไม่ทราบว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีธรรมาภิบาลหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่นอนคือ 3 ปีที่ผ่านมาเราไม่มีการมีส่วนร่วม นั้นคือเราไม่มี “ธรรมาภิบาลนั้นเอง” เราต้องการรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลอย่างยิ่ง แต่จากเหตุผลที่ยกมา ชี้ชัดได้เลยว่าไม่ใช่รัฐบาลแบบที่คนถามคิดแน่นอน

2. หากไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล จะทำอย่างไร ?

ตอบ : ทำตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และหากรัฐธรรมนูญมีปัญหาก็รณรงค์ให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่วิธีที่จะไม่ทำแน่ๆคือ การให้ทหารมารัฐประหารอีก

3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่นประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์การปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ?

ตอบ : อนาคตของประเทศเป็นเรื่องสำคัญมาก ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปควรทำในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย เพราะเรื่องสำคัญเช่นนี้ควรเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมมากที่สุด อีกทั้ง 3 ปีที่ผ่านมานี้ท่านอ้างเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา แต่หากให้มีการประเมินให้ท่านทำต่อ ผมคิดว่าท่านสอบตก เราไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน เราเห็นแต่ความสิ้นหวังของวิธีคิดที่ดึงเรากลับไปประมาณ 30 ปีเป็นอย่างน้อย เราต้องพูดออกมาให้ท่านทราบในฐานะเยาวชนที่ยังต้องอยู่กับแผนเหล่านี้ไปจนแก่ หากแผนมันไม่ดีท่านไม่ได้อยู่ด้วย แต่พวกเรารับกรรม

4. ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ?

ตอบ ประชาธิปไตยเสรีนิยมมีข้อบกพร่องแต่ข้อบกพร่องไม่ได้มีไว้ให้ทหารมาอ้างเอาอำนาจไปใช้ ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการดึงเอาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เรื่องการเลือกตั้งมาถกเถียงกันในวงกว้างของสังคมต้องมีจุดมุ่งหมายไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน ยืดหยัดการเข้าถึงสิทธิในการเลือกตั้ง และการมีอำนาจที่แท้จริงของประชาชนเหนือพรรคการเมือง กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้หากทหารกลับเข้ากรมกองไป เพราะทหารควรเป็นทหารอาชีพไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

30 พฤษภาคม 2560
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย
(Young People for Social-Democracy Movement, Thailand (YPD.) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net