13 เครือข่ายนักปกป้องสิทธิฯ ร้องผู้รายงานพิเศษ UN เผยหลังรัฐประหารถูกคุกคามหลายร้อยกรณี

นักปกป้องสิทธิฯ กว่า 13 องค์กร ร้องผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ช่วยเตือนรัฐไทยทำตามปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ หยุดกฏหมายละเมิดสิทธิประชาชน เปิดสถิติภายหลังจากการรัฐประหารมีเหตุการณ์การคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนข่มขู่คุกคามสูงขึ้นมากหลายร้อยกรณี 

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า จากการที่ มิเชลล์ ฟอร์ส (Mr.Michel Forst) ผู้รายงานพิเศษเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภายใต้กลไก United Nations Special Procedures ของหน่วยงานภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการและได้เป็นแขกรับเชิญพิเศษในการบรรยายสาธารณะเรื่อง The Future of Global Human Rights Discourse: Trends & Challenge  ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กร Asia Centre

ในการนี้เครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ดินและสิทธิชุมชน กว่า 13 องค์กร อาทิ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายประชาชนเจ้าของเหมืองแร่แห่งประเทศไทย กลุ่มรักษ์ลาหู่ เครือข่ายผู้หญิงชาติพันธ์ในประเทศไทย ศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้เข้าพบ มิเชลล์ พร้อมทั้ง พูดคุยและยื่นข้อเรียกร้องต่อ มิเชลล์ ให้ช่วยผลักดันให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

โดยรายละเอียดของข้อเรียกร้องที่ 13 เครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ยื่นต่อผู้แทนพิเศษสหประชาชาติระบุว่า ความซับซ้อนทางด้านการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้ทำให้ประเด็นในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อในเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน สิงแวดล้อมและสิทธิชุมชนของตนเอง ในเรื่องการปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง โดย เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคม การชุมนุมโดยสงบ และสิทธิ ในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ เป็นสิทธิมนุษยชนที่เปิดโอกาสให้ผู้คนแลก เปลี่ยนความคิด ริเริ่มแนวคิดใหม่ และร่วมกันเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เราสามารถ ตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของเราบนพื้นฐานของ ข้อมูลได้จากการนำ เสรีภาพสาธารณะเหล่านี้มาใช้ เราสามารถมีส่วนร่วมใน กิจกรรมของพลเมืองและสร้างสังคมประชาธิปไตยขึ้นมาได้ผ่านการมีสิทธิเหล่า นี้ การจำกัดสิทธิที่กล่าวมาถือเป็นการลดทอนความก้าวหน้าของส่วนรวม

แต่ตอนนี้สิทธิเหล่านี้ถูกลดทอนลงไปมาก โดยกลไกทางนโยบายและกฎหมายที่จะคุ้มครองประชาชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ถูกทำให้ไม่สำคัญ และที่ผ่านมารัฐไทยเองได้พยายามขจัดข้อผูกมัดทางกฎหมายเพื่อให้บริษัทเอกชนได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศเราได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนและเมื่อประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองก็จะถูกกฎหมายและคำสั่งพิเศษซึ่งร่างและประกาศใช้โดยรัฐบาลทหาร โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไมได้มาจากการเลือกตั้งจำกัดสิทธิเสรีภาพ ทำให้การต่อสู้อันชอบธรรมที่ระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่รัฐไทยซึ่งเป็นสมาชิก กระทำได้ยากลำบาก

รายละเอียดข้อเรียกร้องของ13 เครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า  ทั้งนี้ภัยที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต้องพบเจอมีหลากหลายกรณีดังนี้ 1. ภัยจากการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารสังหาร ชัยภูมิ ป่าแส หรือน้องจะอุ๊ อายุ 17 ปี เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่  เป็นการทำลายสิทธิในชีวิต (Right to life). ตามหลักปฏิญญาสากล 2. ภัยจากการถูกบังคับให้สูญหาย ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือกรณีการถูกบังคับให้สูญหายของ เด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นแกนนำเรียกร้องการปฏิรูปที่ดินของชุมชน  และการถูกบังคับให้สูญหายของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในพยานคดีที่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยยื่นฟ้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ในข้อหาเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านให้ได้รับความเสียหาย ก่อนที่จะหายตัวไป  และกรณีการสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในเการตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

3. การใช้การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชนซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัด เลย หรือกลุ่มรักษ์น้ำอูน ที่ยื่นหนังสือให้ องค์การบริหารส่วนตำบลนำเสนอปัญหาโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลสกลนคร แต่ถูกฟ้องในข้อหาหมื่นประมาท  การใช้กฎหมายในการฟ้องร้องชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาทวงสิทธิหรือต่อสู่เรื่องที่ดินทำกินให้ล้มละลาย หรือให้ถูกปรับและจับกุมคุมขัง 4. การใช้ความรุนแรงในการคุกคามและยึดที่ดินทำกินและอุปกรณ์รวมถึงผลผลิตในการทำกินของชาวบ้าน 5. การใช้กฎหมายจากพระราชบัญญัติการชุมนุม มายุติการชุมนุมของชาวบ้าน 6.การถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ 8.การถูกคุกคามทางเพศหรือการทำร้ายทางเพศ 9. การคุกคามสมาชิกครอบครัวของนักปกป้องสิทธิ 10. การถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ 11. การถูกปฏิเสธในการเข้าถึงการแสวงหาความจริงและความยุติธรรมของ มึนอ ภรยยาของบิลลี่ เช่นการยุติการสอบสวนกณีการถูกบังคับให้สูญหาย อย่าง กรณีของบิลลี่

ปราณม สมวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายองค์กร Protection International  (PI) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของ องค์กร Protection International  ในช่วงระหว่าง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกิน กลุ่มพี่น้องชาติพันธ์ กลุ่มคนจนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งในจำนวนของนักต่อสู้เหล่านี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิงและเป็นแม่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ รวมถึง การถูกจับปรับทัศนคติ การถูกปลดออกจากงานหรือการสูญเสียรายได้  การรณรงค์ป้ายสี ว่านักปกป้องสิทธิประชาสังคมเป็นศัตรูของชาติ เป็นผู้ทรยศ หรือเป็นผู้ ที่ทำ งานเพื่อผลประโยชน์ของต่างชาติการใช้กฎหมายในการกลั่นแกล้งทั้งจากบริษัทเอกชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งในบางกรณีก็เป็นการใช้อำนาจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับประเทศอีกด้วย  ทั้งนี้ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานั้นมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกลอบสังหารแล้วกว่า 59 ราย และมีเพียง 2 กรณีเท่านั้นที่คนร้ายถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย อีกทั้งในรอบสามปีที่ผ่านมามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นชาวบ้านโดนดำเนินคดีกว่า 170 คนละเป็นนักปกป้องสิทธิผู้หญิงอย่างน้อย 69 คนและตั้งแต่มีการรัฐประหารสถานการณ์ในการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพุ่งสูงจากที่ผ่านมาขึ้นกว่า 500 ครั้ง

ขณะที่ไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ จ.เชียงใหม่ ผู้ใกล้ชิด ชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกคุกคามและขู่ฆ่าภายหลังจากที่ทวงถามความเป็นธรรมให้กับชัยภูมิที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม จากเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวว่า ที่ตนมาที่นี่ก็ด้วยความเชื่ออยู่สองอย่างคือ ตนเชื่อว่าชีวิตของคนเรามีคุณค่าโดยเฉพาะชีวิตของน้องชัยภูมิที่ต่อสู้จนสุดแรงเพื่อให้ตนเองได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้ดูแลครอบครัวของเขาให้ดีขึ้น แต่ชีวิตของเขาและความฝันของเขาถูกทำลายด้วยกระบอกปืน เขาใช้ความชอบธรรมอะไรในการฆ่าเด็กคนหนึ่ง ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะบอกว่าชัยภูมิมีระเบิดจนเขาต้องป้องกันตัว แต่พยานที่อยู่รอบบริเวณนั้นกลับให้การตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่ในทุกๆ เรื่อง  การมาของตนในวันนี้ด้วยความเชื่อในข้อที่สองคือตนเชื่อว่าผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติจะสามารถช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยทำเรื่องนี่ให้กระจ่างอย่างตรงไปตรงมาได้

“ผมเป็นเหมือนญาติของน้องชัยภูมิ ผมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้เกิดขึ้นให้ได้ ถึงแม้ผมจะถูกขู่ฆ่า จะถูกรคนนำลูกปืนมาวางไว้หน้าบ้านเพื่อนขู่ผมให้หยุดในการดำเนินการเรื่องนี้ ผมก็จะต้องทวงความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับน้องชัยภูมิให้ได้ ผมเชื่อว่าทุกชีวิตมีคุณค่า และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้รายงานพิเศษยูเอ็นจะมาช่วยผมและช่วยคืนความเป็นธรรมให้กับน้องชัยภูมิได้” ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ จ.เชียงใหม่ กล่าวกับผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ กรรมการบริหารของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายที่เข้ายื่นหนังสือต่อเชลล์ ฟอร์ส กล่าวว่า สถานการณ์ที่ดินทำกินในภาคใต้นั้นเกิดการกระจุกตัว เราได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างยาวนานเพื่อให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านด้วยความเป็นธรรม แต่เราก็ถูกข่มขู่คุกคามจากอำนาจมืด และชาวบ้านที่ต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกินก็ถูกลอบสังหารไปแล้วกว่า 4 ราย นอกจากนี้เรายังถูกเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นพยายามผลักดันให้เราออกจากพื้นที่ เราได้จัดสรรพื้นที่ที่พวกเราอยู่อาศัยในรูปแบบโฉนดชุมชนที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ และหากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติจะเข้ามาจัดสรรที่ดินทำกินใหม่จะทำให้ชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือนไร้ที่ดินทำกินทันที นอกจากนี้แล้วทีน่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้คือชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา และถูกตั้งข้อหาพิเศษจากกฎหมายปรกติเช่นข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ที่ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวและทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการหาค่าใช้จ่ายมาช่วยในการต่อสู้คดีจนทำให้ชาวบ้านไม่กล้าออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง ดังนั้นตนจึงอยากให้ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นทำหนังสือมาที่หน่วยงานไทยให้เข้ามาช่วยในการจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมนั้นแล้วและให้รัฐคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของชุมชนและชาวบ้านด้วย

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเข้าร่วมในงานบรรยายสาธารณะในครั้งนี้กล่าวว่า  ในการเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างวันที่ 26 -27 พฤษภาคม ของคุณมิเชลล์ เขาได้ขอพบบุคคลสำคัญของกระทรวงยุติธรรม รวมถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการที่ได้เข้าพบกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายคนก่อนที่จะเดินทางต่อไปประเทศกัมพูชา ซึ่งในการเข้าร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้นคุณมิเชลล์ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของกรรมการสิทธิว่ามีในเรื่องใดบ้างซึ่งตนก็ได้แนะนำไปตามข้อเท็จจริง และที่น่าสนใจคือสาระในการบรรยายของคุณมิเชลล์ในครั้งนี้เขาได้ระบุถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องมีความกล้าหาญและเป็นอิสระ และต้องจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลในการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย  พร้อมทั้งระบุอีกว่า เรามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นๆเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่การคุกคามก็มากขึ้นด้วย และการคุกคามไม่ได้มาจากรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว แต่มีหลายฝ่ายที่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น เอกชน หรือบริษัททุนต่างๆ เช่นเหมือง หรือแม้แต่การคุกคามต่อบุคคลหลากหลายทางเพศ และที่สำคัญในช่วงท้ายคุณมิเชลได้พูดถึงการแก้เค้นเขาบอกว่า มีกรณีนักปกป้องสิทธิที่ส่งรายงานคู่ขนานตามอนุสัญญาฯ หรือ เดินทางไปเจนีวา หรือมาพบผู้รายงานพิเศษ มักถูกรัฐบาลแก้แค้น หรือตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งเขาเห็นว่าเรื่องเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

“ในวันนี้กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับคุณไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ จ.เชียงใหม่ ผู้ใกล้ชิด ชัยภูมิ ป่าแสซึ่งในขณะที่คุณไมตรีร่วมพบและยื่นข้อเรียกร้องกับคุณมิเชลล์ที่กรุงเทพมหานคร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับนำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านของคุณไมตรีโดยที่เจ้าตัวไมได้อยู่ที่บ้าน การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการข่มขู่คุกคามให้นักปกป้องสิทธิเกิดความหวาดกลัว แทนที่เจ้าหน้าทีรัฐจะเร่งหาข้อเท็จจริงของการสังหาร ชัยภูมิ แต่กลับสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในพื้นที่  และในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงขอสะท้อนความเห็นของ Michel Forst ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ เกี่ยวกับสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไปยังรัฐบาลไทย โดยกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับคุณไมตรีเป็นกรณีของการข่มขู่คุกคามที่ชัดเจนมาก  เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องให้ความเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และตนหวังว่าจะไม่มีใครถูกคุกคาม ถูกแก้แค้น ถูกกล่าวหา หรือถูกเชิญตัวไปสอบถามอันเนื่องมาจากการพบปะพูดคุยกับท่านผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ เกี่ยวกับสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในแบบนี้อีก”กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว

ทั้งนี้ตัวแทนเครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกหลายองค์กรได้ร่วมกันนำเสนอประเด็นที่ถูกข่มขู่คุกคามในพื้นที่ของตนเองและได้ได้ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องต่อ มิเชล โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. ขอให้ผู้รายงานสหประชาชาติติดตามการขอมาเยี่ยมเยี่ยมประเทศไทยอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไทย  เพราะ ผู้รายงานพิเศษได้ขอมาเยี่ยมอย่างเป็นทางการแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังไม่ตอบรับความประสงค์ของผู้รายงานพิเศษ และขอให้ติดตามการมาเยี่ยมนักปกป้องสิทธิในประเทศไทยในชุมชนและพื้นที่ต่าง

2. ขอให้ทำงานอย่างต่อเนื่องตื่นตัวเข้มแข็งที่จะหาทางคุ้มครองหรือป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นอีกในอนาคตและให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เท่าที่จะสามารถทำงานร่วมทั้งรัฐบาลไทยและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อที่จะทำงานในการสร้างพื้นที่และบริบทสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยกับนักปกป้องสิทธิในประเทศไทยให้พวกเขาสามารถทำงานต่อได้โดยที่ไม่ต้องถูกข่มขู่คุกคาม

3. ให้พิจาณาในเรื่องของการอำนวยความสะดวกและให้รวมรวมว่าแหล่งทุนที่สนับสนุนนักปกป้องสิทธิในกรณีของการถูกฟ้อง หรือการใช้อำนาจในทางกฎหมายในการกลั่นแกล้งโดยเฉพาะให้ช่วยพิจารณาด้วยว่ากลไกหรือเงินทุนในลักษณะใดที่จะส่งเสริมนักปกป้องสิทธิที่ถูกกลั่นแกล้งทางคดีได้อย่างเร่งด่วน

4. อยากให้ช่วยย้ำกับรัฐบาลไทยว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่จะต้องให้การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิตามปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิของยูเอ็นที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกปฏิญญานี้ของ

5. ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการใช้อำนาจในการคุกคามในการทำร้ายหรือในการฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิและจะต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่อนุญาตให้รัฐบาลคุกคามนักปกป้องสิทธิได้ จะต้องยกเลิกนโยบายเหล่านี้และต้องเปลี่ยนกฎหมายและระบบนโยบายต่างๆ ให้ได้มาตรฐานในเรื่องของการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนในระหว่างประเทศ

และ 6. ขอให้ช่วยกระตุ้นเตือนให้ประเทศไทยแสดงความรับผิดชอบที่จะทำตามปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมากขึ้น และจากล่าสุดของการประชุมหลักของสหประชาชาติได้มีมติในเรื่องของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิผู้หญิงในปี 2556 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองข้อมติ 68/181 ซึ่ง เป็นข้อมติแรกของทางสมัชชาที่เกี่ยวกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ข้อ มติดังกล่าวแสดงออกถึงความกังวลเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและการใช้ความ รุนแรงเชิงระบบและเชิงโครงสร้างที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกวัย ต้องเผชิญ นอกจากนี้ ข้อมติ 68/181 ยังเรียกร้องให้รัฐสมาชิกใช้มาตรการที่จำเป็นในการรับรองความปลอดภัย และเพิ่มมุมมองเรื่องเพศลงในความ พยายามที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมอันเอื้ออำ นวยต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐบาลไทยจะต้องทำให้ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิเป็นจริงได้และให้ดำเนินวิธีการให้มติว่าด้วยเรื่องนักปกป้องสิทธิผู้หญิงสามารถเป็นจริงได้ และให้นำปฏิญญาและมติของสหประชาชาติไปปรับทัศนคติต่อเจ้าหน้าที่ไทยให้เข้าในเรื่องการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ์ผู้หญิงมากขึ้นด้วย และทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะมีการยุติการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิ์ และจะไม่ถูกตอบโต้จากเจ้าหน้าที่รัฐ และให้ประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ใน สหประชาชาติเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท