Skip to main content
sharethis

เมืองอิดลิบ ประเทศซีเรีย ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงที่บีบบังคับกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนกดหัวประชาชน แต่กลุ่มพลเรือนบางส่วนในอิดลิบก็พากันต่อสู้กดดันกลุ่มติดอาวุธด้วยสันติวิธี รวมถึงจัดตั้งกันเองขึ้นมาวางระบบจัดการตนเองขึ้นมาโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลกลางซีเรีย ทั้งการจัดการด้านสาธารณูปโภครวมถึงการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาเอง

30 พ.ค. 2560 เมื่อพูดถึงความขัดแย้งในซีเรียภาพมักจะชวนให้นึกถึงเรื่องราวสงครามกลางเมืองที่กลุ่มติดอาวุธหลายพรรคหลายพวกสู้รบกับรัฐบาลหรือสู้รบกันเองสลับกับการแทรกแซงด้วยกำลังอาวุธจากต่างชาติทั้งฝั่งชาติตะวันตกและรัสเซีย บางครั้งก็มีเรื่องของเมืองที่ถูกครอบครองโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มักจะมีแนวคิดการอ้างใช้ศาสนาแบบสุดโต่งในการกดขี่ประชาชนในพื้นที่ หรือความโหดร้ายของฝ่ายรัฐบาลซีเรียที่ทำให้มีการโต้ตอบด้วยกำลังอาวุธ

แต่ท่ามกลางเรื่องราวที่มีคนใช้อาวุธต่อสู้กันหลายกลุ่มก็มีเรื่องราวของกลุ่มพลเมืองภายในท้องถิ่นที่สามารถต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธได้โดยไม่ใช้อาวุธใดๆ นั่นคือกลุ่มพลเมืองในเมืองอิดลิบที่ถูกกลุ่มติดอาวุธ 'เจอิช อัลฟาต์ฮ' ยึดครองหลังขับจากกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ขับไล่กองกำลังรัฐบาลออกไปได้ในปี 2558 โดยที่กลุ่มติดอาวุธนี้มีผู้นำกลุ่มเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรงอย่างอัลนุสรา และอัลกออิดะฮ์

เว็บไซต์ Waging Nonviolence นำเสนอว่าการยึดครองของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ทำให้เกิด การต่อสู้ขัดขืนจากประชาชนเพื่อพยายามยึดกุมอำนาจในการปกครองเมืองกลับคืนมา จากที่กลุ่มติดอาวุธเข้ายึดครองและแต่งตั้งผู้คนของตัวเองแบบไม่ได้มีกระบวนการจนทำให้เกิดสภาวะการกดขี่ประชาชน ลิดรอนสิทธิมนุษยชนและลิดรอนเสรีภาพผู้คนในพืนที่โดยอ้างใช้กฎหมายของอิสลาม แต่ฝ่ายประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านในระดับพลเมืองก็พยายามเผชิญหน้ากับกลุ่มติดอาวุธด้วยการจัดตั้งสภาท้องถิ่นของตัวเองเมื่อป้องกันไม่ได้ฝ่ายที่มีกองกำลังแทรกแซงกิจการส่วนพลเรือน และให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามกลางเมืองในซีเรียเคยมีการประท้วงรัฐบาลอำนาจนิยมของบาชาร์ อัลอัสซาด โดยพลเรือนชาวซีเรียมาก่อนในช่วงปี 2554 ที่มีปรากฏการณ์ 'อาหรับสปริง' รัฐบาลซีเรียโต้ตอบด้วยการปราบปรามสังหารประชาชน มีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มฉวยโอกาสโต้ตอบรัฐบาลไปพร้อมๆ กับการยึดครองพื้นที่บางแห่งในซีเรีย

การจัดการตนเอง

สักหร์ บาธ ทนายความและสมาชิกกลุ่มเยาวชนอิดลิบบอกว่าพวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าการที่พลเรือนออกมาประท้วงตั้งแต่แรกก็เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมและการทุจริตทุกรูปแบบ กลุ่มเยาวชนของบาธดำเนินการประท้วงรัฐบาลกลางซีเรียมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นในปี 2554 และในตอนนี้ก็ออกมาต่อต้านกลุ่มติดอาวุธที่ยึดครองเมืองของพวกเขา กลุ่มเยาวชนอิดลิบยังทำโครงการช่วงเหลือและบรรเทาทุกข์ต่างๆ รวมถึงการฟื้นฟูโรงเรียนและจัดทีมอาสาสมัครจัดระเบียบฝูงชนและการจราจร บาธบอกว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มประชาสังคมของพวกเขาได้รับชื่อเสียงและการสนับสนุนจากชุมชน

เมืองอิดลิบเป็นเมืองที่มีการจัดระบบการต่อต้านขัดขืนระดับพลเมืองมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลางซีเรีย มีกลุ่มวิชาชีพที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อต้านของปัญญาชนอิดลิบระดับชาติมาตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2554 เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาความขัดแย้งของศาสนานิกายต่างๆ ในสังคมซีเรีย พวกเขาเคยจัดประชุมรวมถึงเชิญฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมาร่วมอภิปรายกับชุมชน ในช่วงนั้นพวกเข่ายังได้รับการสนับสนุนจากชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในซีเรียเริ่มทำการจัดการตนเองโดยอยูนอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การเป็นยามเฝ้าเมืองในตอนกลางคืน และการคอยดูแลการจราจร

ภายใน 6 เดือนหลังจากที่กลุ่มติดอาวุธยึดพื้นที่ของพวกเขาประชาชนอิดลิบก็จัดตั้งองค์กรพลเมือง "อัลอิดลิไบเฮาส์" ขึ้นมาได้โดยมีนักกิจกรรมรวมกับสมาชิกมากกว่า 400 คน มีการจัดประชุมเพื่อหายุทธวิธีกดดันกลุ่มติดอาวุธให้คืนการบริหารฝ่ายพลเรือนให้กับเมืองของพวกเขาทุกสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ผ่านสื่อ การประท้วง นั่งปักหลักเรียกร้องสิทธิและแสดงการต่อต้านการควบคุมเมืองโดยกลุ่มหัวรุนแรง อับด อัลลาตีฟ ราฮาบี หัวหน้าฝ่ายการจัดการของอัลอิดลิไบเฮาส์บอกว่าพวกเขาสร้างกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อรวบรวมปากเสียงของประชาชนและเป็นตัวแทนชุมชนในการใช้เจรจาต่อรองกับสภาศาสนาของกลุ่ติดอาวุธ

กลุ่มติดอาวุธพยายามสลายการชุมนุมรวมถึงเรียกกลุ่มพลเรือนผู้ประท้วงว่าเป็นพวกต่อต้านอิสลามและพวกโลกวิสัยซึ่งทำให้ชื่อเสียงของกลุ่มติดอาวุธแย่ลงไปอีก แต่จำนวนผู้ชุมนุมในจัตุรัสใจกลางเมืองก็เพิ่มมากขึ้น บาธบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มติดอาวุธพวกนี้จะควบคุมความไม่พอใจของประชาชนหรือละเลยการเรียกร้องของพวกเขาได้

สร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิพื้นฐานของสตรี

Waging Nonviolence ระบุว่าผู้หญิงยังมีส่วนร่วมในการต่อสู้และจัดตั้งกลุ่มหลายกลุ่มด้วย โดยมีองค์กรสร้างความตระหนักรู้ในบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อการสร้างสังคม รวมถึงให้การศึกษาและฝึกอาชีพต่างๆ มีหน่วยรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ศูนย์ดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีการริเริ่มโครงการสิ่งทอและอาหารทำมือช่วยเหลือผู้หญิงที่ออกจากบ้านไม่ได้

กลุ่มผู้หญิงในอิดลิบยังต้องต่อสู้กับกลุ่มนักเทศน์หญิงที่กลุ่มติดอาวุธจ้างวานให้คอยบังคับใช้กฎหมายศาสนาอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการห้ามออกมาเดินข้างนอกโดยไม่มีผู้ชายเดินด้วยหรือการแสดงใบหน้า มีคนรวมตัวกันชุมนุมต่อต้านนักเทศน์เหล่านี้มากกว่า 200 คน พวกเขารวมตัวกันได้ภายในเวลาไม่ถึง 20 นาที มีการประท้วงแบบนี้ซ้ำๆ จนกระทั่งขับไล่นักเทศน์ออกไปได้ ชาดี ซิดานี สมาชิกสภาท้องถิ่นของอิดลิบเปิดเผยว่ายังมีกลุ่มผู้หญิงนักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาอาสาสมัครคอยไปเยี่ยมเยียนกลุ่มผู้หญิงที่ด้อยโอกาสเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพวกเธอเพื่อโต้ตอบกับการที่นักเทศน์พยายามเจาะเข้าหากลุ่มผู้หญิงคนจนและคนด้อยโอกาสในการโน้มน้าวให้รับแนวทางกฎหมายสุดโต่งของอิสลาม

จัดเลือกตั้งกันเอง

ราฮาบีกล่าวว่าคณะกรรมการของอัลอิดลิไบเฮาส์จะเสนอชื่อทนายความและผู้พิพากษาของตัวเองในการวางกฎเกณฑ์และข้อบังคับในการจัดการเลือกตั้ง คุ้มครองสิทธิของผู้เลือกตั้งที่มีเสรีในการเลือกผู้แทนของตัวเองรวมถึงทำให้ผู้ที่ได้รับการเสนอขื่อคอยสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง ด้วยการสนับสนุจากชุมชนทำให้อัลอิดลิไบเฮาส์สามารถจัดตั้งคูหาเลือกตั้งทั้งกล่องใส่บัตรลงคะแนนและห้องส่วนตัวเพื่อให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนอย่างไม่ให้ผู้อื่นเห็น การจัดการเลือกตั้งเองเช่นนี้มีผู้เข้าร่วม 900 คน ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีสื่อ นักกิจกรรมชุมชน กลุ่มทนายความและผู้พิพากษาคอยบันทึกภาพเพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างชอบธรรม

กลุ่มนักกิจกรรมระดับพลเมืองเหล่านี้ต้องเผชิญปัญหาจากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการโจมตีทางอากาศของรัฐบาลกลางซีเรีย การสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธหลายฝ่ายและกองกำลังรัฐบาล การกดดันจากกลุ่มศาสนาอิสลามแบบสุดโต่งที่พยายามขัดขวางและทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่มนักกิจกรรม แต่ซิดานีบอกว่าพวกเขาก็ยังประชุมและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อไป

หลังจากที่กลุ่มพลเมืองรวมตัวกันจัดตั้งตัวเองได้สามเดือนพวกเขาก็วางระบบบริการสาธารณะต่างๆ สำเร็จทั้งระบบประปา ไฟฟ้า การผลิตอาหาร การคุ้มครองทางสิทธิพลเมือง การป้องกันอัคดีภัย รวมถึงมีฝ่ายอำนวยการด้านการคมนาคม การสื่อสาร การเกษตร และสิ่งแวดล้อม โดยที่ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมพูดถึงปัญหาต่างๆ ในสภาประชาชนด้วย

แต่แน่นอนว่าเรื่องราวของการต่อต้านขัดขืนในระดับประชาชนของเมืองอิดลิบจะไม่จบลงแค่นี้ ราฮาบีบอกว่าพวกเขามีเป้าหมายต่อไปคือจะพยายามกดดันให้กลุ่มติดอาวุธวางมือจากการควบคุมภาคส่วนของศาลและภาคส่วนความมั่นคง รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่เหลืออย่างการจดทะเบียนที่ดิน แล้วนำมันกลับคืนสู่มือของฝ่ายพลเรือนให้ได้ พวกเขารวบรวมกลุ่มและองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นเข้าด้วยกันเพื่อทำให้เสียงของพวกเขามีพลังขึ้น

จูเลีย ทาเลบ ที่ปรึกษาอาวุโสเกี่ยวกับโครงการพัฒนาและการสร้างสันติระบุในบทความของ Waging Nonviolence ว่าในขณะที่องค์กรนานาชาติและผู้บริจาคปฏิเสธจะทำงานกับพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธเพราะกลัวว่าทรัพยากรของพวกเขาจะตกไปอยู่ในมือของฝ่ายหัวรุนแรง แต่ยุทธวิธีที่สำคัญที่สุดในการต่อกรกับกลุ่มหัวรุนแรงคือการส่งเสริมกลุ่มริเริ่มฝ่ายพลเรือนเช่นที่แสดงให้เห็นในอิดลิบที่ผู้คนพยายามทำให้เกิดสันติภาพและความเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์กับชุมชนตัวเอง

 

เรียบเรียงจาก

Syrians roll back extremism in Idlib without military intervention, Julia Taleb, Waging Nonviolence, 23-05-2017

https://wagingnonviolence.org/feature/syrians-roll-back-extremism-idlib/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net