Skip to main content
sharethis

กมธ.กฎหมายลูก กกต. แจงเหตุ เซ็ตซีโร่ กกต. หวั่นปัญหาปลา 2 น้ำ ทำงานลำบาก ปัดรับใบสั่ง คสช. ด้านมีชีชัยเชียร์เซ็ตซีโร่ยกชุด เชื่อไม่กระทบการทำงาน ระบุกมธ. ใจเด็ด ด้านสมชัยรับผลเซ็ตซีโร่ แต่ระบุเลวร้ายกว่าที่คิด แต่ไม่น้อยใจชิงลาออกก่อน เผยอาจกลับไปทำงาน ‘พีเน็ต’ ต่อ<--break- />

2 มิ.ย. 2560 พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงกรณีที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากมีมติให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ หลังกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ว่า เนื่องจากตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ให้อำนาจ กกต. มากขึ้น ทั้งการจัดการเลือกตั้ง การไต่สวนสอบสอบ กรรมาธิการฯ จึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูป กกต. ใหม่

 “นอกจากนี้ หากให้ทำงานร่วมกับ กกต. ที่สรรหามาใหม่  ซึ่งคุณสมบัติที่แตกต่างกัน จะเกิดปัญหาในการทำงานลักษณะปลา 2 น้ำ จะไม่เป็นผลดีต่อการทำงานในอนาคต  จึงได้กำหนดให้ กกต. ชุดปัจจุบัน ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะได้ กกต. ชุดใหม่ 7 คน” พล.ท.พิศณุ กล่าว พร้อมประเมินว่า จะได้ กกต. ชุดใหม่ หลังกฎหมายลูก กกต. มีผลบังคับใช้ใน 60 วัน

ส่วนข้อสังเกตที่ว่าความเห็นของกรรมาธิการฯ จะเป็นบรรทัดฐานการพิจารณากฎหมายลูกขององค์กรอิสระอื่นนั้น พล.ท.พิศณุ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละกรรมาธิการฯ และเห็นว่า การทำงานของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน  ไม่จำเป็นต้องเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน  และปฏิเสธว่า กรรมาธิการฯ ไม่ได้รับใบสั่ง หรือรับงานจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อหวังเลื่อนการเลือกตั้ง

มีชีชัยเชียร์เซ็ตซีโร่ยกชุด เชื่อไม่กระทบการทำงาน ชมกมธ. ใจเด็ด

ด้านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เปิดเผยว่า ได้เห็นเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. โดยคร่าวๆ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาแล้ว หลักการเรื่องเซตซีโร่ให้สรรหา กกต.ใหม่ทั้งหมดนั้น กรธ.เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ยอมรับว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่พิจารณากฎหมายนี้มีความเด็ดขาดกว่า กรธ. เพราะเรื่องนี้มีปัญหาเนื่องจากโครงสร้างและจำนวน กกต.มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการให้เพิ่ม กกต.ขึ้นอีก 2 คน เพื่อให้มีบุคคลจากฝ่ายกฎหมายไว้ดูแลหลักเกณฑ์ให้เป็นไปตามที่ กกต.วางไว้ ให้การเลือกตั้งมีความเข้มแข็งและเด็ดขาด หากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้เลือกใหม่ทั้งหมด ความยุ่งยากในการสรรหา กกต.เพิ่มเติมก็จะไม่มีปัญหา

ส่วนจะเป็นการตัดสิทธิคณะกรรมการสรรหาเนื่องจากจะเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติของ กกต.นั้น มีชัยกล่าวว่า หากไม่ต้องพิจารณาเรื่องคุณสมบัติแล้ว คณะกรรมการสรรหาก็ไม่ต้องมาดูตรงนี้ แต่ให้สรรหาใหม่เลย และไม่ถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าการจะดำรงอยู่ของกรรมการองค์กรอิสระให้เป็นไปตามกฎหมายลูก เนื่องจากองค์กรอิสระแต่ละองค์กรมีปัญหาและอำนาจหน้าที่ต่างกันไป ดังนั้น แม้จะมีหลักการเซตซีโร่ กกต. แต่ก็ต้องพิจารณาเป็นองค์กรไป อยู่ที่ความจำเป็นของแต่ละองค์กร ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีปัญหาอำนาจหน้าที่เหมือนเดิมก็ไม่มีเหตุ แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. อาจจะมีเหตุเป็นปัญหาอยู่ ที่มีปัญหาตอนสรรหาที่ไม่สอดคล้องตามหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิ หรือหลักการปารีส ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะมีการเซตซีโร่

สมชัย รับผลเซ็ตซีโร่ ระบุเลวร้ายกว่าที่คิด แต่ไม่น้อยใจชิงลาออกก่อน เผยอาจกลับไปทำงาน ‘พีเน็ต’ ต่อ

ขณะเดียวกันสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีข้อเสนอเซตซีโร่ กกต.ทั้ง 5 คน ว่า เรื่องนี้เป็นสถานการณ์ที่ยิ่งกว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่ตนประเมินไว้ว่าอาจจะมีกรรมการที่ขัดคุณสมบัติต้องพ้นตำแหน่งแต่กรรมการที่คุณสมบัติครบก็ทำหน้าที่ต่อ แต่การที่ กมธ.มีมติให้เซตซีโร่ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่เกินความคาดคิด แต่ก็ต้องขอขอบคุณ กมธ.ที่ยังให้ กกต.ชุดนี้ทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ คาดว่าจะมีเวลาทำงานที่เหลืออีก 4-6 เดือน ซึ่งในเวลานี้เราต้องทำงานให้เต็มที่และเตรียมการที่ดีที่สุด ส่งมอบงานที่สมบูรณ์ที่สุดให้ กกต.ชุดใหม่ ยืนยันว่า กกต.ชุดนี้จะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งจนถึงการทำงานวันสุดท้าย ไม่มีการอู้งาน ทั้งนี้ กกต.มีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นกติกา เมื่อผู้ออกกฎหมายเห็นว่าเป็นแนวทางที่เป็นผลดี เราก็ยอมรับและต้องปฏิบัติตาม แต่ในแง่เหตุและผลตนมองว่าควรจะหาเหตุและผลให้ดีกว่านี้ เพราะการที่ กมธ.ให้เหตุผลว่าอำนาจ กกต.ตามรัฐธรรมนูญใหม่มีอำนาจมากขึ้นก็ต้องให้ กกต.ที่มีคุณสมบัติสูงมาทำหน้าที่ ทั้งที่ กกต.ปัจจุบันหลายคนยังมีคุณสมบัติครบตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ทำไมต้องให้ออกทั้งชุด ซึ่งรู้สึกว่าเป็นเหตุผลไม่เพียงพอ และ กมธ.ก็จะต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้าใจว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวันที่ 9 มิ.ย. นี้ สนช.คงจะมีมติเป็นไปตามที่ กมธ.เสนอ ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังว่า สนช.จะมีความเห็นต่างออกไปจาก กมธ.

สมชัยกล่าวต่อว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะเรียกประชุมผู้บริหาร และพนักงาน สำนักงาน กกต.เพื่อหารือว่าอะไรเป็นงานที่สำคัญอันดับต้นๆ และต้องเลือกทำให้สำเร็จ ซึ่งต้องยอมรับว่าระยะเวลาแค่นี้ไม่อาจทำทุกเรื่องได้ ต้องเลือกงานสำคัญที่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ ก่อนส่งมอบงานให้ กกต.ชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่มี กกต.คนใดน้อยใจและชิงลาออกในระยะเวลารักษาการแน่นอน เพราะนอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปัญหา ซึ่งหากลาออกหลายคนอาจจะทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ไม่สามารถประชุมได้ ดังนั้น ด้วยความรับผิดชอบ กกต.ก็จะเดินหน้าทำงานต่อไปอย่างเต็มที่

สมชัยกล่าวอีกว่า ส่วนตนหลังจากพ้นตำแหน่ง กกต.ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือกตั้งในฐานะองค์กรเอกชนต่อไป ซึ่งตนจะหวนคืนสู่มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) และจะทำให้พีเน็ตเข้มแข็ง เพื่อตรวจสอบการเลือกตั้งในอนาคตให้สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งจะมีการประสานงานกับ กกต.ชุดใหม่ เพื่อให้การเลือกตั้งในอนาคตเกิดผลดีและมีประสิทธิภาพ

เมื่อถามว่า กกต.จะมีการทำความเห็นแย้งภายหลัง สนช.ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ตามกรอบเวลาหลังจากที่ สนช.มีมติผ่านกฎหมาย ก็จะต้องส่งร่างฯศาลรัฐธรรมนูญและกกต.ภายใน 15 วัน หลังจากนั้นหากเราตรวจสอบแล้วพบว่ามีประเด็นสาระที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของคุณสมบัติ ทาง กกต.ก็สามารถมีมติส่งเรื่องกลับไปยัง สนช.ภายใน 10 วัน ซึ่งตามขั้นตอน สนช.ก็จะพิจารณาเพื่อดูว่าเป็นไปตามข้อเสนอของ กกต.หรือไม่ภายใน 30 วัน ส่วน กกต.จะยื่นความเห็นแย้งหรือไม่คงตอบไม่ได้ ต้องรอดูกฎหมายก่อน ซึ่งเราจะต้องดูรายละเอียดบนพื้นฐานและเหตุผล ไม่ใช่บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนตัวเพื่อให้ประเทศชาติเป็นสังคมนิติรัฐปกครองด้วยกฎหมายอย่างแท้จริง ต้องมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

เมื่อถามว่า มองว่าข้อเสนอเซตซีโร่ครั้งนี้เป็นการตั้งธงไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ต้องไปถามเขาตนตอบไม่ได้ แต่ประเด็นที่เราเป็นห่วงแต่ก็คิดว่าจะไม่เกิดขึ้นคือ การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นมาตรฐานกับองค์กรอิสระอื่นๆ หรือไม่ แต่องค์กรอื่นก็คงสบายใจได้ เพราะเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะใช้กับ กกต.เพียงองค์กรเดียว โดยอ้างว่า กกต.เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งจึงต้องดำเนินการเรื่องนี้ แต่การร่างกฎหมายที่เป็นมาตรฐานจะต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทุกองค์กร แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีการนำโมเดลนี้มาใช้กับองค์กรอื่น อาจมีเหตุผลอื่นมากล่าวอ้างเพื่อลดมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่กระทบกับการเลือกตั้ง เพราะหาก กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำงานประมาณช่วงเดือนตุลาคมจะถือว่า กกต.ชุดใหม่มีเวลาทำงาน 1 ปี ในการเตรียมการจัดเลือกตั้ง

เรียบเรียงจาก: เว็บข่าวรัฐสภา , สำนักข่าวไทย , ผู้จัดการออนไลน์ , มติชนออนไลน์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net