สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 พ.ค.-3 มิ.ย. 2560

 
ส่งทหารปลดประจำการ ไปฝึกงานญี่ปุ่น
 
กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำให้ทหารกองประจำการ นำร่องโครงการฝึกปฏิบัติงานที่ญี่ปุ่น ฝึกฟรี มีรายได้ตลอดการฝึกงาน พร้อมเตรียมขยายผลจัดส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ซึ่งเป็นความร่วมมือตามข้อตกลงระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย
 
นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทหารกองประจำการเป็นกำลังพลที่มีคุณภาพ เป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังมีความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ มีระเบียบวินัย ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงเป็นที่มาของการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการส่งเสริมการมีงานทำให้กับทหารกองประจำการ เพื่อให้มีทักษะฝีมือ สามารถประกอบอาชีพได้ตามความถนัด สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานภายหลังปลดประจำการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ประสานกองทัพบกส่งเสริมการมีงานทำแก่ทหารที่จะปลดประจำการไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านองค์กร IM Japan โดยประชาสัมพันธ์โครงการให้กับทหารและฝึกอบรมทักษะภาษาญี่ปุ่นที่ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา พล ม.2 รอ.สนามเป้า ปตอ.พัน 1 ทุ่งสีกัน และกรมการทหารสื่อสารสะพานแดง ซึ่งมีทหารกองประจำการสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 38 คน ผ่านการสอบคัดเลือก จำนวน 24 คน เป็นศูนย์สอบกรุงเทพมหานคร 13 คน และศูนย์สอบจังหวัดนครราชสีมา 11 คน และได้เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิค ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 จังหวัดปทุมธานีระยะเวลา 4 เดือน จำนวน 6 คน 2 รุ่นๆ ละ 3 คน รุ่นที่ 1 อบรมระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม – 24 มีนาคม 2560 รุ่นที่ 2 วันที่ 30 มกราคม – เมษายน 2560 สำหรับรุ่นที่ 1 ได้รับการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่นแล้ว จำนวน 2 คน ซึ่งได้เดินทางไปญี่ปุ่นแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนรุ่นที่ 2 อยู่ระหว่างการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่น
 
การฝึกปฏิบัติงานที่ญี่ปุ่นตามโครงการ IM Japanมีระยะเวลา 1 ปี หรือ 3 ปี โดยตลอดระยะเวลา ในการฝึกปฏิบัติงาน จะได้รับเบี้ยเลี้ยง หรือค่าจ้างตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น เมื่อฝึกปฏิบัติงานครบจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และรับเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งยังมีโอกาสเข้าทำงานในสถานประกอบการญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยอีกด้วย มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว จำนวน 6,665 บาท เช่น ค่าตรวจสุขภาพก่อนเข้าอบรม ค่าหนังสือเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น
 
นายธนากร วิชพล อายุ 23 ปี จากจังหวัดชัยภูมิ เข้ารับราชการทหารกองประจำการปี 2559 ที่กองพันทหารขนส่ง 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 สังกัดทหารบกค่ายสุรนารี ได้รับการคัดเลือกไปฝึกงานที่บริษัท UNION MAEDA CO.,LTD) ประเภทกิจการ การแปรรูปโลหะ ได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 43,400 บาท กล่าวว่า การเป็นทหารกองประจำการทำให้มีระเบียบวินัย ฝึกความอดทน และมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งการไปฝึกงานครั้งนี้จะได้นำความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยี และภาษาญี่ปุ่นกลับมาใช้ในการประกอบอาชีพเมื่อกลับมาประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายจะทำงานในสถานประกอบการของญี่ปุ่นในประเทศไทย หรือเป็นล่าม และจะเก็บรวบรวมเงินเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัวต่อไป
 
ด้านนายบุญนาค พันธ์สะอาด อายุ 24 ปี จากจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ารับราชการทหารกองประจำการปี 2557 สังกัด ทบ.2 จทบ. กท. (กรมการทหารสื่อสาร กรุงเทพมหานคร) ได้รับการคัดเลือกไปฝึกงานที่บริษัท OZAWA SEISAKUSHO LTD. ประเภทกิจการการแปรรูปโลหะ ได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 41,000 บาท โดยบุญนาคฯ คาดหวังว่าจะนำความรู้ ทักษะและเทคนิคที่ได้จากญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านภาษามาประกอบธุรกิจส่วนตัวประเภทจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์
 
นายวรานนท์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานยังมีเป้าหมายในการจัดส่งทหารกองประจำการไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ซึ่งเป็นความร่วมมือตามข้อตกลงระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 1186 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 28/5/2560
 
เครือข่ายลูกจ้างทวงถาม ก.ม.ลูกประกันสังคมอืด
 
วันที่ 28 พ.ค.60 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเปิดอภิปรายเวทีสาธารณะ “2 ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค มาตรา 63(2) ผู้ประกันตนได้อะไร” ว่า หลังการแก้พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการแก้ปัญหาของผู้ประกันตนไปแล้วหลายเรื่อง แต่ยังจำเป็นต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆให้ดีขึ้น สำนักงานประกันสังคมจึงได้จัดชุดสิทธิประโยชน์ในการตรวจสุขภาพป้องกันโรคขึ้นมา แต่จนถึงตอนนี้ยังมีผู้ประกันตนไปใช้สิทธิน้อย ดังนั้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้มาก โดยสำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแพทย์คลินิกโรคจะต้องเข้าไปให้ความรู้และส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกในสถานประกอบการ
 
ด้านนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายผู้ประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่าเกือบจะครบ 2 ปี แล้วที่พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ประกาศใช้ แต่กฎหมายลูกต่างๆ ที่ต้องดำเนินการกลับทำได้ช้ามาก และสิ่งสำคัญตอนนี้ มีหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง บางรายการมีการกำหนดช่วงอายุในการได้รับสิทธิตรวจสุขภาพ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว
 
ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการปรับปรุงจัดโปรแกรม บริการตรวจให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสถานประกอบการ ลักษณะงาน และตั้งกองทุนส่งเสริมป้องกันโรคในระดับพื้นที่หรือระดับนิคมอุตสาหกรรม โดยการมีส่วนร่วมของนายจ้าง และผู้ประกันตนนอกจากนี้ ขอให้มีการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนทดแทนบางส่วนมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่เกิดจากการทำงาน อีกประการผู้ประกันตนต้องเข้าถึงการฝากครรภ์ตามมาตรฐาน และควรเป็นการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการคลอด โดยใช้งบเหมาจ่ายรายหัวเช่นเดียวกับความเจ็บป่วยอื่นๆและให้ได้รับสิทธิเงินค่าชดเชยเหมือนเดิม
 
นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามที่กระทรวงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมเมื่อปี 2559 เพื่อส่งเสริมให้ทหารกองประจำการให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือ ซึ่งมีทหารกองประจำการสมัครเข้าร่วมโครงการ 38 คน ผ่านการสอบคัดเลือก 24 คน และได้เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14จ.ปทุมธานี 2 รุ่น รุ่นที่ 1 ได้รับการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่น แล้ว 2 คน และเดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนรุ่นที่ 2 ซึ่งอบรมวันที่ 30ม.ค.– เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกจากนายจ้างญี่ปุ่น ซึ่งโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 1 ปี หรือ 3 ปี นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว กรมการจัดหางานยังมีเป้าหมายส่งทหารกองประจำการไปทำงานที่เกาหลีใต้ด้วย
 
ด้าน นายธนากร วิชพล อายุ 23 ปี จากจ.ชัยภูมิ เข้ารับราชการทหารกองประจำการปี 2559 ที่กองพันทหารขนส่ง 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 สังกัดทหารบกค่ายสุรนารี กล่าวว่า ตนได้รับการคัดเลือกไปฝึกงานประเภทกิจการการแปรรูปโลหะ ได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 43,400 บาท ขณะเดียวกันก็จะนำความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยีและภาษาที่ได้จากฝึกงานครั้งนี้กลับมาใช้ในการประกอบอาชีพเมื่อกลับมาประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายจะทำงานในสถานประกอบการของญี่ปุ่นในประเทศไทย หรือเป็นล่าม และจะเก็บรวบรวมเงินเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัวต่อไป
 
 
7 สหวิชาชีพเสนอเลิก “ลูกจ้างรายวัน” ยกระดับเป็น พนง.สธ.
 
(29 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่า ภายหลังเครือข่าย 7 สหวิชาชีพทางการแพทย์ เข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเสนอและรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาการบรรจุข้าราชการและการแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังคนในการปฎิบัติหน้าที่ของ 7 สหวิชาชีพ
 
ล่าสุด นายสมคิด เพื่อนรัมย์ นักภายภาพบำบัด ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายออกมาระบุว่า การพูดคุยในวันนั้นทางเครือข่ายฯ ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ข่าวที่ระบุว่าจะมีการอนุมัติเพิ่ม 308 อัตรา “บรรจุตำแหน่งบุคลากรการแพทย์” ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเป็นอัตราเดิมที่ 7 สหวิชาชีพได้รับการจัดสรรไว้ตั้งแต่ต้นปี 2560 รวมกับวิชาชีพพยาบาล ที่ได้รับการจัดสรร 8,792 ตำแหน่ง
 
“7 สหวิชาชีพ ขอเพียงกระทรวงสาธารณสุขทำตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้ก่อนหน้านี้ คือ สหวิชาชีพได้รับการบรรจุ 75% พยาบาล 95% แพทย์ ทันตแพทย์ 100% ของจำนวนกรอบอัตรากำลังที่ควรมี”
 
สำหรับประเด็นที่ผู้บริหาร สธ.อ้างว่าจะทยอยบรรจุตำแหน่งให้กับ 7 สหวิชาชีพนั้นก็ไม่มีกรอบเวลาและรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น เงินเดือนเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร สิทธิที่เพิ่มมีอะไรบ้างแค่ไหนอย่างไร ที่สำคัญจะเริ่มใช้ได้ช่วงไหน ดังนั้นจึงอยากจะขอความชัดเจนตรงนี้ เพราะมีน้องๆ ลูกจ้างฯ ที่ตกค้างสะสมมาตั้งแต่ปี 2554 ร่วมเกือบ 3,000 คน แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เหมือนบางวิชาชีพที่รู้แน่ว่าจะได้ครบภายใน 3 ปี
 
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ออกคำสั่งยกเลิก “ตำแหน่งลูกจ้างรายวัน” เปลี่ยนเป็น “พนักงานกระทรวง” ไว้ก่อนทั้งหมด เพื่อความชัดเจนเรื่องปัญหาลูกจ้างรายวัน ควบคู่ไปกับการเก็บฐานข้อมูลลูกจ้างรายวันทั้งระบบของกระทรวงสาธารณสุข
 
“ทุกครั้งที่ได้คุยกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นลูกจ้างรายวันจะรู้สึกสงสารพวกเขามากๆ เพราะเขาจะได้รับค่าตอบแทน 500-600 บาท/วัน หากวันไหนเขาป่วยหรือมีธุระไม่สามารถมาทำงานได้ก็จะไม่ได้รับเงินเลย ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคง ถือเป็นความเดือดร้อนที่แสนสาหัส ขณะที่เงินเดือนของลูกจ้างอยู่ที่ 11,230 บาท/เดือน หักประกันสังคมแต่ละเดือนจะเหลือเงินน้อยมาก ในขณะที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 15,960 บาทต่อเดือน พร้อมสิทธิข้าราชการต่างๆ ซึ่งแม้จะไม่สูงมากนักแต่ก็ยังมีสวัสดิการถือเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตคนเหล่านี้ได้บ้าง นี่คือความทุกข์ใจที่ 7 สหวิชาชีพต้องเจอมาอย่างยาวนาน ทั้งที่การทำงานของพวกเราก็หนักและเหนื่อยไม่น้อยกว่าหมอและพยาบาล จึงอยากขอความเป็นธรรมให้มีการเปิดตำแหน่งราชการเพื่อเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตบุคลากรวิชาชีพอย่างเราบ้าง”
 
นายสมคิดยังยกตัวอย่างวิชาชีพกายภาพบำบัดว่าเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด เป็นวิชาชีพเราที่มีข้าราชการน้อยนิดเท่าเศษเม็ดฝุ่น ก่อตั้งกายภาพบำบัดมาได้ 50 กว่าปีมีข้าราชการแค่ 1,445 คน จะเอาตำแหน่งเกษียณที่ไหนไปให้น้องๆ ได้ เป็นเรื่องที่คนในวิชาชีพท้อมาก จึงอยากให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงมีการเกลี่ยตำแหน่งราชการให้มีความเป็นธรรมมากกว่านี้ โดยเฉพาะเทียบกับพยาบาลถือว่าห่างไกลกันมาก เพราะมีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการกว่า 83,000 คน จนพวกเรารู้สึกเหมือนเป็นคนชายขอบไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ในกระทรวงเลย
 
“สำหรับผมที่เป็นตัวแทนน้องๆ กายภาพบำบัดและเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ รู้สึกผิดหวังท้อแท้มากที่สุด คือ การให้พวกเรารอตำแหน่งว่างจากคนที่เกษียณอายุราชการ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนคนที่เกษียณอายุราชการ ปี 2560-2570 ของนักกายภาพบำบัดทั่วประเทศ มีเพียง 65 ตำแหน่งเท่านั้น เอาแค่มีคนที่ตกค้างถึงปัจจุบันก็ 1,327 คนรวมอนาคตอีกเท่าไหร่ น้องๆ ต้องรอคนเกษียณอายุไปอีกกี่ร้อยปีกี่พันปีถึงจะได้บรรจุครบกันทุกคน”
 
 
กอช.อ้อนคลังแก้กฎหมาย ดึงเงินรัฐอุดหนุนเพิ่มขึ้น หลังยอดสมาชิกใหม่อืด
 
กอช. เต้นวอนคลังเร่งแก้กฎหมาย หลังจำนวนสมาชิกใหม่อืด เล็งเพิ่มวงเงินการออมเป็น 25,000 บาท/ต่อปี พร้อมขอรัฐสนับสนุนเพิ่มเป็น 2.5 พันบาท แถมเปิดกว้างรับสมาชิกตั้งแต่แรกเกิด
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กอช. ได้เห็นชอบการแก้ไขกฎหมาย กอช. เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบ จำนวน 24-25 ล้านคน เข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น โดยได้เสนอการแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ซึ่งอยากให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาเพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ เนื่องจากปัจจุบัน กอช. มีสมาชิก 5.4 แสนราย และการสมัครสมาชิกลดลงเหลือเดือนละ 1-2 พันรายเท่านั้น ซึ่ง กอช. ได้เร่งพยายามทำประชาสัมพันธ์ให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนมากขึ้น และได้ตามเป้า 1 ล้านราย ในปีนี้
 
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายคือ การส่งเงินสมทบของสมาชิกจากเดิมไม่เกิน 1.32 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่จำและอธิบายให้สมาชิกเข้าใจได้ยาก จึงขอเพิ่มเงินสมทบของสมาชิกไม่เกิน 2.5 หมื่นบาทต่อปี เป็นตัวเลขที่จำได้ง่ายและมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สมาชิกที่ออกจำนวนมากๆ จะได้มีเงินเพื่อใช้การดำรงชีวิตหลังเกษียณเพิ่มมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังเสนอให้แก้ไขเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลสูงสุดไม่เกิน 1.2 พันบาท เป็น 2.5 พันบาท โดยสัดส่วนการสมทบของรัฐบาลยังยึดตามช่วงอายุของสมาชิกเหมือนเดิมคืออายุ 15-30 ปี รัฐบาลสมทบ 50% อายุ 30-50 ปี รัฐบาลสมทบ 80% และอายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐบาลสมทบ 100%
 
นายสมพรกล่าวอีกว่า หากกระทรวงการคลังเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายและบังคับใช้ได้ทันในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก กอช. มากขึ้น เพราะเห็นว่ารัฐบาลจ่ายสมทบให้มากขึ้น โดยภาพรวมของการใช้งบประมาณกรณีที่เพิ่มเงินสมทบเป็น 2.5 พันบาทต่อปี ถ้าคิดจากฐานสมาชิกที่ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 ล้านราย เท่ากับรัฐต้องจ่ายเงินสมทบเป็นปีละ 2.5 พันล้านบาท เทียบจากปี 2559 ที่ใช้รูปแบบการจ่ายสมทบปัจจุบัน รัฐต้องจ่ายเงินสมทบราว 600-700 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ ในอนาคตต่อไป กอช.ยังมีแนวคิดให้แก้ไขกฎหมายให้ทุกคนทุกวัยเข้าเป็นสมาชิก กอช. ได้ตั้งแต่แรกเกิดและอายุเกิน 60 ปี ก็ยังเป็นสมาชิกได้ เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนการออมให้พอมีพอใช้หลังเกษียณอายุ ซึ่งควรทำตั้งแต่แรกเกิดโดยให้พ่อแม่เป็นผู้ทำธุรกรรรมให้ก่อน
 
"การออมของ กอช. เป็นการออมเพื่อมีกินตอนแก่เท่านั้น ไม่ได้เป็นการออมเพื่อให้เกิดความร่ำรวย กองทุนจึงกำหนดเพดานการออมว่าไม่ให้เกินเท่าไร ส่วนที่ปัจจุบันกำหนดสมาชิกต้องเป็นอายุ 15-60 ปี เพราะถือเป็นวัยแรงงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งในอนาคตไม่มีความจำเป็นควรเปิดให้ทุกคนทุกเพศทุกวันทุกอายุเป็นสมาชิกของกองทุนได้หมด" นายสมพรกล่าว
 
 
อาชีวะเล็งตั้งศูนย์ประสานงาน EEC ภาคตะวันออก
 
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ประชุมหารือการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ณ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูชลบุรี จำกัด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามข้อสั่งการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล สอศ. จึงเตรียมความพร้อมในการจัดการอาชีวศึกษา โดยพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการในสถานประกอบการ ทั้งหลักสูตรสำหรับนักศึกษาและหลักสูตรต่อเนื่องสำหรับพัฒนากำลังคน เพื่อการรองรับอุตสาหกรรมเป้าเหมายในพื้นที่ EEC ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติในด้านความพร้อมของบุคลากรและกำลังคนของประเทศไทย โดยมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) สอศ. จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่จังหวัดชลบุรี สอศ. ได้ตรวจเยี่ยมความพร้อมของสถานที่เพื่อใช้ในการจัดตั้งศูนย์ คือวิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี สำหรับพื้นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สอศ. ได้เตรียมความพร้อมไว้ที่วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง เตรียมความพร้อมไว้ที่วิทยาลัยเทคนิคระยอง รวมถึงการขยายพื้นที่จัดตั้งศูนย์ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการกำลังคนอย่างถูกต้องเป็นลำดับต่อไป
 
 
Gallup ระบุไทยเป็นชาติที่เปิดให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมกับองค์กรมากที่สุดในอาเซียน
 
บริษัทวิจัยด้านการบริหารจัดการองค์กรชื่อดังเปิดเผยผลสำรวจ การเปิดโอกาสให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร โดยสำรวจจากประเทศภาคพื้นทวีปเอเชีย พบในกลุ่มประเทศอาเซียนฟิลิปปินส์เป็นผู้นำด้านการเปิดให้ลูกจ้างเข้ามามีส่วนร่วมในองค์กรมากที่สุด ส่วนไทยเป็นประเทศที่กีดกันการมีส่วนร่วมน้อยที่สุด
 
โดยในโพลแบ่งข้อมูลสำคัญเป็น 3 ส่วนคือ การมีส่วนร่วมองค์กร ไม่มีส่วนร่วมกับองค์กร และถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในองค์ร โดยกลุ่มประเทศผู้นำในการเปิดให้มีส่วนร่วมในเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์และศรีลังกา ด้านไทยและสิงคโปร์เป็นอันดับที่ 2ร่วม ในกลุ่มประเทศอาเซียน
 
ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออก มีแนวโน้มกับการมีส่วนร่วมในองค์กรที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งในฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน โดยเฉพาะในฮ่องกงนั้นถือว่าเป็นจุดที่มีการกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมของลูกจ้างสูงที่สุดในอาเซียน แต่ที่น่าสนใจคือประเทศไทยกลับกลายเป็นประเทศที่มีการกีดกันให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมน้อยที่สุดในประเทศที่ได้รับการสำรวจ
 
น่าสนใจว่าข้อมูลเหล่านี้บ่งบอกอะไรในการบริหารจัดการองค์กรในแต่ละประเทศ เมื่อประเทศที่เปิดให้มีส่วนร่วมน้อยอย่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกกลับมีความก้าวหน้าเชิงเศรษฐกิจที่มากกว่า ซึ่งอาจจะสะท้อนความสามารถในการบริหารของผู้นำองค์กรด้วย
 
 
ก.แรงงาน จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่ม 200 บาทต่อหัว เมื่ออบรมลูกจ้างเกิน 70 เปอร์เซ็นต์
 
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 -นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 (พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ) กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนลูกจ้าง หากไม่จัดหรือจัดฝึกอบรมแต่ไม่ครบตามสัดส่วนที่กำหนด ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากยิ่งขึ้น
 
โดยการใช้มาตรการจูงใจ ด้านการยกเว้นและลดหย่อนภาษีอากร รวมทั้งการให้สิทธิและประโยชน์ในด้านต่างๆ และจากนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการให้แรงงานไทยมีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 20 ปี กระทรวงแรงงาน ที่มีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังคนของประเทศให้เป็น “Productive Manpower” ภายใน 5 ปี และในปี 2560 ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ อบรมและพัฒนาพนักงานแล้วกว่า 2.9 ล้านคน นำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีกว่า 1,500 ล้านบาท
 
"กพร. มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการ ผู้ประกอบอาชีพ หรือผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้ความสนใจในการพัฒนากำลังแรงงานให้มากขึ้น ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานได้เห็นชอบ ให้จ่ายเงินอุดหนุนจำนวน 200 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน แก่ผู้ประกอบกิจการที่ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างในปี 2560 ในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 70 ของลูกจ้างทั้งหมด ตัวอย่างเช่น สถานประกอบกิจการมีลูกจ้างทั้งหมด 1,000 คน ฝึกอบรมพนักงานในปี 60 จำนวน 850 คน ซึ่งจัดอบรมพนักงานเกินกว่าร้อยละ 70 จำนวน 150 คน (ร้อยละ 70 ของลูกจ้างเท่ากับ 700 คน) มีสิทธิขอรับเงินอุดหนุนจำนวน 30,000 บาท เป็นต้น ซึ่งจะประกาศใช้ในเดือนมิถุนายน 2560 นี้"อธิบดี กพร. กล่าว
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า การให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนที่จ่ายให้สถานประกอบกิจการนั้น เป็นการส่งเสริมและสร้างมาตรการจูงใจที่นอกเหนือจากการลดหย่อนภาษีร้อยละ 100 สำหรับค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการฝึกอบรม โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการร่วมกันพัฒนากำลังแรงงาน ช่วยให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง มีพนักงานที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถตรงกับความต้องการ และพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ต่อไป
 
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละกรณี สามารถติดต่อสถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2643 6039 หรือ 0 2245 4035
 
 
นายจ้างยังต้องการแรงงาน "ปวช.-ปวส.-อนุปริญญา" มากที่สุด 82,022 อัตรา
 
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2560-นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวถึงกรณี ตัวเลขจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่า อัตราการว่างงานเดือนเมษายน 2560มีผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน หรือคิดเป็น 1.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2559 อยู่ที่ 0.97% และเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งทำให้เกิดการแสดงความเห็นเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยชี้แจงว่า ในความเป็นจริง ตลาดแรงงานมีความต้องแรงงานอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงแรงงานมีข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงาน ตั้งแต่ตุลาคม 2559 - เมษายน 2560 ที่พบว่า นายจ้าง/สถานประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานมายังกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 219,896 อัตรา เฉลี่ย 31,414 อัตรา/เดือน
 
"มีความต้องการแรงงานมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 37,491 อัตรา ซึ่งกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือกลุ่มอาชีพงานพื้นฐาน จำนวน 74,981 อัตรา รองลงมาได้แก่ กลุ่มอาชีพพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด จำนวน 40,540 อัตรา กลุ่มอาชีพเสมียน เจ้าหน้าที่ จำนวน 38,101 อัตรา กลุ่มงานช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 24,638 อัตรา และกลุ่มงานผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ จำนวน 13,718 อัตรา"โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับ ปวช. – ปวส./อนุปริญญา มากที่สุด 82,022 อัตรา รองลงมาได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา 71,759 อัตรา ระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 36,476 อัตรา และระดับปริญญาตรีและสูงกว่าจำนวน 29,639 อัตรา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยังมีตำแหน่งงานว่างรองรับผู้ที่ต้องการทำงาน
 
"พร้อมกันนี้ กระทรวงแรงงานยังจัดให้มีบริการฝึกทักษะอาชีพ ให้แก่กำลังแรงงานในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการอีกเป็นจำนวนมาก โดยจัดบริการให้ทุกกลุ่มทั้งทหารปลดประจำการ คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงได้ร่วมกับสถานประกอบการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา โดยการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้กับนักเรียน/นักศึกษาในสถานประกอบการก่อนที่จะจบการศึกษาเพื่อให้มีประสบการณ์และความถนัด"โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวอ้วยว่า นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการจ้างงานเร่งด่วนในช่วงหน้าแล้งเพื่อรองรับแรงงานในพื้นที่ เช่น การจ้าง ขุดลอกคูคลองในพื้นที่การปรับภูมิทัศน์ในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรช่วงรอฤดูเก็บเกี่ยวอีกด้วย
 
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและอัตราการว่างงาน รายเดือนตั้งแต่ ปี 2555 – 2560 (เม.ย.) พบว่า จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและอัตราการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยในช่วงต้นปี (ปลายไตรมาส 1) เป็นช่วงนอกฤดูการเกษตร และปลายฤดูการท่องเที่ยว อาจเป็นเหตุทำให้จำนวนผู้ประกันตนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจะเพิ่มสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 2 และจะค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับภาวการณ์จ้างงาน
 
ในตลาดแรงงาน เดือนเมษายน 2560 ตัวเลขในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จำนวน 10,523,934 คน มีอัตราการขยายตัว 1.80% (YOY) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีผู้ประกันตน จำนวน 10,338,067 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 185,867 คน
 
“ทั้งนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ดำเนินการวางแผนรับมือ ตลอดจนปรับบทบาทของกระทรวงให้สามารถพัฒนาแรงงานตามความต้องการของตลาดได้ในทุกมิติต่อไป ”นายอนันต์ชัย กล่าว
 
 
เผยภาพสุดทรุดโทรม อ.สถาปัตย์ลาดกระบังฯ ห่วงคุณภาพชีวิตพนักงานนิคมรถไฟ
 
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปริญญา ชูแก้ว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เผยแพร่ภาพชุด “นิคมรถไฟ” ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยเสนอแนะให้การรถไฟแห่งประเทศไทยวางแผนการพัฒนานิคมรถไฟ อย่างตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของพนักงาน เนื้อหาระบุดังนี้
 
“ตลอดระยะเวลาผ่านมา นิคมรถไฟยังคงรักษาบทบาทสำคัญในการบรรเทาการขาดแคลนที่พักอาศัยให้กับพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยบางส่วนและครอบครัว และสามารถดำรงรักษาบ้านพักซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและการใช้สอย รวมทั้งมีความงดงามในลักษณะพื้นถิ่นอีกด้วย
 
ปัจจุบัน นิคมรถไฟหลายๆ แห่ง มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ สภาพบ้านพักทรุดโทม และมีผลกระทบต่อสภาพสังคมเศรษฐกิจ รวมทั้งคุณภาพการพักอาศัยของพนักงานและครอบครัวในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ดังนั้น รัฐบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องควรมีการจัดทำแผนการพัฒนานิคมรถไฟ โดยควรตระหนักถึงความสำคัญของนิคมรถไฟและคุณภาพชีวิตของคนรถไฟเป็นสำคัญ”
ทั้งนี้ นายปริญญา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านการรื้ออาคารสถานีรถไฟเก่า เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า โดยเคยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้สั่งการยุติการรื้อสถานีในเส้นทางรถไฟทางภาคอีสาน
 
 
การท่าเรือแห่งประเทศไทย เตรียมพัฒนาอาคารแฟลต 26-29 เป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน กทท. เข้าพักอาศัย
 
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้พนักงานกทท. เข้าพักอาศัยในอาคารแฟลต 26-29 เป็นการชั่วคราว โดยฝ่ายบริหารเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเคหะชุมชนคลองเตยระยะที่ 3 ซึ่งเดิม ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 วงเงิน 1,159.372 ล้านบาท สร้างแฟลตรองรับชุมชน 5 ชั้น 11 หลัง จำนวน 1,168 หน่วย ใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 584.392 ล้านบาท หลักจากจัดชาวชุมชนเข้าอยู่อาศัยในอาคารแฟลตแล้ว ยังเหลือแฟลต 26-29 จำนวน 620 หน่วย ผู้ได้สิทธิเลือกขึ้นอาคารแฟลต อ้างว่าไม่ประสงค์จะเข้าพักอาศัย โดยอ้างว่ามีขนาดเล็ก (28.8 ตารางเมตร) จึงว่างมาถึงปัจจุบัน
 
โดย กทท. จะนำอาคารแฟลตดังกล่าว มาบริหารจัดการ และพัฒนาให้เป็นที่พักอาศัยของพนักงาน กทท. โดยไม่กระทบต่อการบริหารจัดการด้านที่พักอาศัยให้กับชาวชุมชนแออัด เนื่องจาก กทท. ได้มีนโยบายในการพัฒนา และบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบบริเวณนอกเขตรั้วศุลกากร ทกท. การพัฒนาที่พักอาศัยชุมชนคลองเตยสมัยใหม่ (Smart Community) บริเวณองค์การฟองหนังที่ กทท. ได้รับคืนจากกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ซึ่งจะใช้แนวทางการก่อสร้างอาคารสูงบริเวณชุมชนดินแดงเป็นต้นแบบในการดำเนินการ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ ตลอดจนการดำเนินชีวิตของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี
 
​สำหรับการพัฒนาอาคารแฟลต 26-29 นั้น กทท. จะดำเนินการซ่อมแซมอาคารแฟลตให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และให้ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ตรวจสอบพนักงานที่แจ้งตามประสงค์ไว้และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของ กทท. จัดพนักงานเข้าพักอาศัยและบริหารจัดการ โดยจัดทำสัญญาให้พนักงานผู้พักอาศัยต้องดำเนินการตามรายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเช่าอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว เพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงาน กทท. คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินโครงการฯ ประมาณ 6 เดือน หลังจากที่ได้รับงบประมาณและผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้ว
 
 
กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการฯ จ.พัทลุง ร้องไม่ได้รับเงินเดือนถึง 2 เดือน พร้อมยื่น 4 ข้อเรียกร้องจี้นายกฯ
 
(30 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุง ว่า ที่สำนักงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพัทลุง ศาลากลางจังหวัดพัทลุง ตัวแทนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 1 จำนวน 24 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม เขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 1 จำนวน 52 ราย และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม เขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง เขต 2 จำนวน 72 ราย เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรม ผ่านศูนย์ดำธรรมจังหวัดพัทลุง ถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม ยังไม่ได้รับเงินเดือน จำนวน 2 เดือน อีกทั้งยังมีแนวโน้มถูกปรับลดอัตราตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม ว่างงานในทันทีเป็นจำนวนมาก
 
ดังนั้น กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม จ.พัทลุง ขอยื่นเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จำนวน 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้ปรับลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนต่อสัญญาทุก 6 เดือน เป็นต่อสัญญาทุก 1 ปี 2.ค่าครองชีพขอให้ปรับตามวุฒิการศึกษาที่ใช้ในการสมัคร 3.ให้โอกาสพัฒนาตนเองในสายงานที่ปฏิบัติ เพื่อความเจริญก้าวหน้า และ 4.ขอพิจารณาเกณฑ์ในการจัดสรรพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม เนื่องจากเกณฑ์ที่ประกาศล่าสุดเป็นเกณฑ์ที่สูง และไม่สอดคล้องต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้มีผลกระทบ
 
นางเปมิกา มูสิกะปาละ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม จ.พัทลุง ซึ่งเป็นตัวแทนยื่นหนังสือฯ กล่าวทั้งน้ำตาว่า คณะนี้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม จ.พัทลุง ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตอนนี้ยังไม่รับเงินเดือน จำนวน 9,000 พันบาทต่อเดือน มาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว อีกทั้งล่าสุดมีการประกาศเกณฑ์ที่สูง และไม่สอดคล้องต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้มีผลกระทบจะถูกปรับลดอัตราตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มผู้ปฏิบัติงานพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนร่วม มีความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังไม่ได้รับความมั่นคง ทั้งที่เป็นตำแหน่งสนับสนุนด้านการศึกษา ในการช่วยเหลือ และพัฒนากลุ่มผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ทางสมอง และทางการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนเหล่านี้ได้อยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข และยังพัฒนาความสามารถนักเรียนผู้พิการให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
 
 
อนุมัติตำแหน่ง-อัตราเงินเดือน บรรจุ ขรก.พยาบาลรอบแรก 1,200 อัตรา
 
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์แนวทางการแก้ไขปัญหาการบรรจุแต่งตั้ง “ตำแหน่งพยาบาล” ของกระทรวงสาธารณสุข ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.) ได้พิจารณาและอนุมัติการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือน เพื่อบรรจุตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพรอบแรกจำนวน 1,200 อัตรา พร้อมทำหนังสือไปยังเขตสุขภาพให้ดำเนินการบรรจุให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 30 มิถุนายน 2560 โดยให้ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพที่รอบรรจุมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ส่วนตำแหน่งที่เหลืออีก 1,000 อัตรา บวกอีก 2,992 อัตรา ตามมติของ คปร.จะนำเข้า อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข จะรีบจัดสรรและสำรวจว่าจะไปอยู่จังหวัดใด
 
สำหรับในส่วนตำแหน่งอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือแนวทางการดำเนินงาน โดยมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
 
1.จัดทำแผนกำลังคน เป็นการกำหนดความต้องการว่าโรงพยาบาลหรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอต้องการคนเท่าไหร่ เป็นวิชาชีพอะไรบ้าง ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
 
2.กำหนดว่าแต่ละวิชาชีพจะจ้างงานอย่างไร เป็นข้าราชการกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่ละวิชาชีพแตกต่างกันไป โดยสายงานสนับสนุนจะถูกกำหนดสัดส่วนให้เป็นข้าราชการตามที่ ก.พ.กำหนด ส่วนสายงานหลักกำหนดให้เป็นข้าราชการได้ร้อยละ 90 ขึ้นไป
 
“สำหรับ 7 วิชาชีพที่มาพบผม ได้มีการพูดคุยกันและตกลงกำหนดให้เป็นข้าราชการร้อยละ 75 ต้องไปดูว่าขณะนี้เป็นข้าราชการแล้วเท่าไหร่ ยังขาดอยู่อีกเท่าไหร่ เพื่อนำไปเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อดูอัตรากำลังแผนอัตรากำลังด้านสาธารณสุข”
 
นอกจากนี้ ในส่วนที่ไม่ใช่ข้าราชการจะจ้างด้วยวิธีการใด เช่น พนักงานราชการ ให้แก้ไขระเบียบให้สามารถลาไปเรียนต่อได้หรือเพิ่มสวัสดิการด้านอื่นๆ ใกล้เคียงข้าราชการ หรือเป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอัตราค่าจ้าง เช่น ได้รับเงินเดือนมากกว่า 1.2 เท่า
 
ทั้งนี้ ในการจ้างงานได้กำหนดทุกจังหวัดดำเนินการให้เป็นไปตามแผนกำลังคนตามความต้องการและเงินงบประมาณที่มี โดยมติ คปร.ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขหลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณหรือเงินบำรุงของโรงพยาบาลไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุขต้องขอเงินงบประมาณมาใช้ในการจ้างงานเป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราว โดยจะเร่งดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด
 
3.กำหนดกติกาในการบรรจุพนักงานราชการหรือลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ เช่น กรณีโรงพยาบาลมีผู้เกษียณอายุ ลูกจ้างชั่วคราวหรือพนักงานราชการที่จะบรรจุไปเป็นข้าราชการ จะมีสิทธิประโยชน์ ควรนับเวลาราชการ เงินเดือนอย่างไร ต้องมีกำหนดพูดคุยกับคณะกรรมการและนำไปหารือกับ ก.พ. อีกครั้ง
 
 
กระทรวงแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างก่อสร้างสู่ Green Jobs รองรับการขยายตัวตลาด อสังหาริมทรัพย์ในประเทศ
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึง การลงนามความร่วมมือกับ นายณัฐพงศ์ สิงห์ศิลารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคและผลิตภัณฑ์ บริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด ในการพัฒนาช่างก่อสร้างป้อนตลาดแรงงาน เพื่อบริการประชาชนและสังคม พร้อมปลูกจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม Green Jobs โดยระบุว่าจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ส่งผลให้สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนั้น กพร.ได้ร่วมมือกับบริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด เพื่อพัฒนาช่างก่อสร้างป้อนตลาดแรงงาน เพื่อบริการประชาชนและสังคม พร้อมปลูกจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม Green Jobs
 
ทั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้ดำเนิน "โครงการปั้นช่างปูกระเบื้อง การก่ออิฐมวลเบาและทำกันซึมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยกระดับฝีมือช่างไทย" จัดฝึกอบรมสาขาการปูกระเบื้อง โดยใช้วัสดุกาวซีเมนต์และวัสดุยาแนวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสาขาการก่ออิฐมวลเบาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในปี 2560 จะดำเนินการฝึกอบรมในพื้นที่หน่วยงานสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 แห่ง ได้แก่ ร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี จันทบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ สุโขทัย สุราษฎร์ธานี เป็นต้นตั้งเป้าหมายดำเนินการ 300 คน
 
 
“เครือข่าย 7 สหวิชาชีพ” แย้ง ปลัดสธ. 308 ตำแหน่งที่อนุมัติให้คือ ตัวเลขเก่าที่อนุมัติไว้แล้ว จี้ยกเลิกระบบลูกจ้างรายวัน
 
"เครือข่าย 7 สหวิชาชีพ" แย้ง ปลัดสธ. 308 ตำแหน่งที่อนุมัติให้คือ ตัวเลขเก่าที่อนุมัติไว้แล้ว จี้ยกเลิกระบบลูกจ่างรายวัน เพราะเดือดร้อนสาหัส อยากมีความมั่นคงในชีวิตบ้าง เพราะทำงานหนักเหมือนกัน ระบุอยากให้เกลี่ยตำแหน่งเป็นธรรมมากกว่านี้ เพราะให้รออัตราเกษียณคงไม่ไหว คงต้องรอเป็นพันปีแน่ ชี้นักกายภาพบำบัดอีก 10 ปีมีเกษียณแค่ 65 คน แต่คนตกค้างนับพันคน วอนผู้ใหญ่ในกระทรวงจริงใจแก้ปัญหา ไม่ซื้อเวลา เพราะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น
 
นายสมคิด เพื่อนรัมย์ นักภายภาพบำบัด ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย 7 สหวิชาชีพทางการแพทย์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการเข้าพบ นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารสุข เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ผ่านมานั้น การพูดคุยในวันนั้น ทางเครือข่ายฯไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบรรจุข้าราชการและการแก้ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังคนในการปฎิบัติหน้าที่ของ 7 สหวิชาชีพแต่อย่างใด
 
"ที่สำคัญที่มีข่าวว่ามีการอนุมัติ 308 อัตรานั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นอัตราเดิมที่จะมีการจัดสรรไว้แล้ว ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นการจัดสรรพร้อมกันกับวิชาชีพพยาบาล ที่ได้รับการจัดสรร 8,792 ตำแหน่ง หรือเกือบหมื่นตำแหน่ง โดย7 สหวิชาชีพได้รับการจัดสรรเพียงแค่ 308 ตำแหน่งเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอย้ำว่าการอนุมัติดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า ไม่ใช่ความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาตามที่สื่อมวลชนและสังคมเข้าใจแต่อย่างใด จีงอยากขอความจริงใจในการแก้ปัญหาและไม่ควรซื้อเวลา เพราะปัญหามีอยู่นานแล้ว จึงไม่เป็นผลดีกับใครทั่งสิ้น " นายสมคิด กล่าว
 
นายสมคิด กล่าวต่อไปว่า ทางเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ ไม่ได้มีปัญหาหรือความกังวล เรื่องการบริหารตำแหน่งว่างของวิชาชีพต่างๆ เป็นอำนาจที่กระทรวงฯ สามารถนำไปปรับเกลี่ยหรือบริหารได้ ขอเพียงกระทรวงฯทำตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้ก่อนหน้านี้ คือ สหวิชาชีพได้รับการบรรจุ 75% พยาบาล 95% แพทย์ ทันตแพทย์ 100% ของจำนวนกรอบอัตรากำลังที่ควรมี
 
อย่างไรก็ตามเรื่องการจ้างบุคลากรแบบใหม่ที่ปลัดและผู้บริหารออกมาพูด รวมถึงเรื่องที่ผู้บริหารระบุว่าจะทยอยบรรจุตำแหน่งให้กับ 7 สหวิชาชีพนั้น ก็ไม่มีกรอบเวลาและรายละเอียดที่ชัดเจน อาทิเช่น เงินเดือนเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร สิทธิที่เพิ่มมีอะไรบ้างแค่ไหนอย่างไร ที่สำคัญจะเริ่มใช้ได้ช่วงไหน ดังนั้น จึงอยากจะขอความชัดเจนตรงนี้ด้วย เพราะมีน้องๆลูกจ้างฯ ที่ตกค้างสะสมมาตั้งแต่ปี 2554 ร่วมเกือบ 3,000 คน แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เหมือนบางวิชาชีพที่รู้แน่ว่าจะได้ครบภายใน 3 ปี
 
ผู้ประสานงานเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ อยากให้กระทรวงมีความชัดเจนเรื่องปัญหาลูกจ้างรายวัน โดยออกคำสั่งยกเลิก ตำแหน่งลูกจ้างรายวันเปลี่ยนเป็นพนักงานกระทรวงไว้ก่อนทั้งหมด โดยทำควบคู่ไปกับการเก็บฐานข้อมูลลูกจ้างรายวันทั้งระบบของกระทรวงสาธารณสุข
 
"ทุกครั้งที่ได้คุยกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นลูกจ้างรายวันจะรู้สึกสงสารพวกเขามากๆ เพราะเขาจะได้รับค่าตอบแทน 500-600 บาท/วัน ถ้าหากวันไหนเขาป่วยหรือมีธุระไม่สามารถมาทำงานได้ก็จะไม่ได้รับเงินเลย ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีความมั่นคง ถือเป็นความเดือดร้อนที่แสนสาหัส ขณะที่เงินเดือนของลูกจ้างอยู่ที่ 11,230 บาท/เดือน หักประกันสังคม แต่ละเดือนจะเหลือเงินน้อยมาก ในขณะที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 15,960 บาทต่อเดือน พร้อมสิทธิข้าราชการต่างๆ ซึ่งแม้จะไม่สูงมากนัก แต่ก็ยังมีสวัสดิดการถือเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตคนเหล่านี้ได้บ้าง นี่คือความทุกข์ใจที่ 7 สหวิชาชีพต้องเจอมาอย่างยาวนาน ทั้งที่การทำงานของพวกเราก็หนักและเหนื่อยไม่น้อบกว่า หมอ และ พยาบาล จึงอยากขอความเป็นธรรม ให้มีการเปิดตำแหน่งราชการ เพื่อเป็นความมั่นคงให้กับชีวิตบุคลากรวิชาชีพอย่างเราบ่าง"
 
นายสมคิด กล่าวว่า วิชาชีพกายภาพบำบัด เป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด เป็นวิชาชีพเราที่มีข้าราชการน้อยนิดเท่าเศษเม็ดฝุ่น ก่อตั้งกายภาพบำบัดมาได้ 50 กว่าปีมีข้าราชการแค่ 1,445 คน จะเอาตำแหน่งเกษียญที่ไหนไปให้น้องๆได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในวิชาชีพท้อมาก จึงอยากให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงมีการเกลี่ยตำแหน่งราชการให้มีความเป็นธรรมมากกว่านี้ โดยเฉพาะเทียบกับพยาบาลถือว่าห่างไกลกันมาก เพราะมีการบรรจุพยายาบาลเป็นข้าราชการกว่า 83,000 คน จนพวกเรารู้สึกเหมือนเป็นคนชายขอบไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ในกระทรวงเลย
 
" สำหรับผมที่เป็นตัวแทนน้องๆกายภาพบำบัดและเครือข่าย 7 สหวิชาชีพ รู้สึกผิดหวัง ท้อแท้มากที่สุด คือ การให้พวกเรารอตำแหน่งว่างจากคนที่เกษียญอายุราชการ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนคนที่เกษียญอายุราชการ ปี 2560-2570 ของนักกายภาพบำบัดทั่วประเทศ มีเพียง 65 ตำแหน่งเท่านั้น เอาแค่มีคนที่ตกค้างถึงปัจจุบันก็ 1,327 คนรวมอนาคตอีกเท่าไหร่ น้องๆต้องรอคนเกษียณอายุไปอีกกี่ร้อยปีกี่พันปีถึงจะได้บรรจุครบกันทุกคน"
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท