ถอดบทเรียนจากอเมริกา: จุดจบของหนังสือพิมพ์และทีวี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทราบกันดีว่า ความเปลี่ยนแปลงในวงการการสื่อสารทั่วโลก เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่ง จนแม้ผู้คนในวงการสื่อมวลชนเองก็ตามแทบไม่ทันเอาด้วยซ้ำ โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดปรากฎการณ์โซเชียลมีเดียขึ้น ทำให้การวางตนและวางองค์กรของสื่อมวลชนกระแสหลักเป็นไปอย่างอิหลักอิเหลื่ออย่างยิ่ง

โซเชียลมีเดียที่ทำให้มนุษย์ทุกคนบนโลกสามารถสื่อสารแนวปัจเจก ได้อย่างไม่ยากเย็นอะไรเลยนั้น ถ้าจะนับให้คนเหล่านั้นเป็นสื่อมวลชนไปด้วยก็อาจย่อมได้ด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาเหล่านี้มีการสื่อสารออกไปยังกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง แม้ว่า คนกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว จะเป็นเพื่อนของเขาก็ตาม

บางคนที่สื่อสารแนวนี้ออกไป ยังมีทักษะการสื่อสารมวลชนมากกว่าสื่อมวลชนอาชีพเสียอีก โดยที่วิธีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียแบบที่ว่านี้ กลับเป็นที่นิยมอย่างยิ่งของคนทั่วโลก

ปัจจุบันแทบไม่มีใครที่ไม่รู้จักไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม และผู้คนต่างก็ใช้เวลาหมดไปกับสื่อเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่หลายชั่วโมงในแต่ละวัน โดยที่สื่อเหล่านี้เป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสดหรือมีความรวดเร็วในการนำเสนอหรือสื่อสารมากกว่าสื่อกระแสหลักแบบเดิมๆ แหละนี่คือจุดเปลี่ยน

ความน่ากลัวและผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงของสื่อออนไลน์ดังกล่าวในครั้งนี้อยู่ตรงที่ การ“การหลอมรวมสื่อทุกประเภทเข้าด้วยกัน”ลงบนสื่อออนไลน์  ทั้งสื่อทีวี สื่อหนังสือพิมพ์ (สื่อกระดาษ)หรือสื่อแขนงอื่นๆ ทั้งหมด 

โดยสื่อทั้งหมดถูกรวบรวบเข้าไว้ในที่เดียวกัน แถมผู้บริโภคสื่อ จะชม จะอ่าน จะฟัง ตรงไหน เมื่อไหร่เวลาไหนก็ได้ เลือกเอาตามใจชอบอย่างอิสระแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน

เป็นเหตุให้วงการสื่อมวลชนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจเรียกได้ว่า เป็น“การปฏิวัติ”ของวงการสื่อมวลชนโลกเลยทีเดียว

แน่นอนว่า สื่อมวลชนทุกประเทศได้รับผลกระทบ นับแต่สื่อมวลชนในอเมริกาซึ่งได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกๆ เป็นต้นมา

สาเหตุที่สื่อมวลชนในอเมริกาได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกๆ ก็เนื่องจาก ระบบโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นระบบการหลอมรวมสื่อที่สำคัญที่สุดนั้น เกิดขึ้นในประเทศนี้ก่อนประเทศใดในโลก การสื่อสารมวลชนแบบสองทางทำให้การเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารบนโลกใบนี้

ด้วยเหตุนี้ ที่สื่อมวลชนแบบเก่าๆ กลายเป็นสื่อล้าหลัง สื่อมวลชนในโลกเก่าได้หายไปหรือกำลังจะหายไปในไม่เร็วก็ช้าเป็นสิ่งที่คาดหวังได้

ที่เห็นกันแล้วในส่วนของสื่อที่หายไป คือ สื่อกระดาษ เช่น หนังสือพิมพ์และแมกกาซีนต่างๆ ที่ค่อยๆ ทยอย ปิดตัวทีละรายสองราย และค่อยๆหายหน้าหายตาไปเรื่อยๆ เหมือนที่ครั้งหนึ่งโลกเคยมีคาสเซ็ท เทป แต่ตอนนี้ไม่มีการใช้และหลงเหลือระบบเทคโนโลยีของสื่อประเภทนี้อีกต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ภาวะความน่าสะพรึงกลัวที่กำลังเกิดขึ้นกับสื่อแบบเก่าอย่างทีวีก็คือ พฤติกรรมของคนสมัยใหม่ที่นิยมดูทีวีน้อยลงอย่างฮวบฮาบ ทีวี(ที่ใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบเดิมๆ) กำลังจะเจอประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือนการสูญพันธุ์ของคาสเซ็ทที่ในที่สุดก็จะเหลือเพียงร่องรอยทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

สื่อเก่านั้น พยายามดิ้นเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าสื่อในอเมริกาหรือสื่อที่ใดในโลก รวมถึงสื่อมวลชนในประเทศไทยที่จะต้องเจอกับสถานการณ์เลวร้ายชนิดวิกฤต แม้หลังจากการประมูลทีวีดิจิตัล 20 กว่าช่อง ผ่านไปได้เพียงไม่กี่ปี ซึ่งความจริงก็ไม่ต่างอะไรกับการที่สื่อทีวีแบบเก่าเหล่านั้นต่างเดินไปติดกับดักของวัฒนธรรมสื่อยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะในยามที่สื่อโซเชียลมีเดียขึ้นมาอยู่แถวหน้าเป็นเบอร์หนึ่ง หาใช่สื่อเป็นทีวีตามที่คาดหวังกันแต่อย่างใดไม่แถมสื่อออนไลน์ดังกล่าว ไม่ต้องประมูลให้เมื่อยตุ้ม

ไม่แปลกที่สื่อทีวีดิจิตัลของไทย มีอาการซวนเซ จะล้มแหล่มิล้มแหล่อย่างเห็นได้ชัด แม้แค่ในช่วง 3 ปีแรกของสัญญากับกสทช.เท่านั้น ทำเอาผิดหวังกันทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ (กสทช.) ที่คาดกันว่า การประมูลทีวีดิจิตัลจะทำรายได้มหาศาลให้กับรัฐ และทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ทางฝ่ายผู้ลงทุนคือสื่อทีวีเอง จนในปัจจุบันก็เห็นสภาพกันเป็นอย่างดีว่า เป็นไปตามที่คาดกันไว้หรือไม่ อเนจอนาถกันมากมายเพียงใด?

สื่อทีวีในอเมริกาเองก็ใช่จะอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างจากสื่อทีวีในเมืองไทย ทีวีช่องหลักทุกช่องในอเมริกาปรับตัวลงไปอยู่ในภาคออนไลน์ทั้งหมด รวมถึงการพยายามเน้นจุดขายที่จำเพาะเจาะจงไปยังกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้ามากขึ้น ในขณะที่สื่ออเมริกันเองโดนท้าทายจากคู่แข่งเฉพาะด้านมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ช่องทีวีด้านข่าวนานาชาติ สื่อทีวีอเมริกันโดนท้าทายจากทีวีช่องนานาชาติของจีน ของญี่ปุ่นหรือทีวีนานาชาติของอาหรับ ในด้านบันเทิงเองเวลานี้ฮอลลีวูดไม่จำเป็นต้องพึ่งทีวีช่องกระแสหลักหรือต้องตั้งบริษัททีวีเป็นของตนเองเหมือนเมื่อก่อน

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นดูเหมือนธุรกิจทีวีในอเมริกาเองก็ยังไม่มีทางออกใหม่ๆ นอกจากนำธุรกิจลงสู่สื่อออนไลน์ทุกทางเท่าที่จะทำได้ นอกนั้นก็คือการพยายามเซฟค่าใช้จ่ายหรือการลงทุนด้วยการให้พนักงานหรือลูกจ้าง ทำทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้ เช่น นักข่าวต้องทำงานเป็นช่างภาพในเวลาเดียวกัน ซึ่งระบบการทำงานในอเมริกาที่ว่านี้มีมานานกว่า 10 ปีแล้ว ทุกช่องทีวีต่างดิ้นรนเหมือนกันหมด เพราะทีวีในอเมริกาไม่อิงระบบอุปถัมภ์ เหมือนทีวีบางช่องในไทย พีบีเอสของอเมริกานั้น นับว่ายืนอยู่บนลำแข้งของตนเองโดยแท้ เพราะต้องอาศัยศรัทธาจากมหาชนอเมริกันเป็นหลักในการระดมทุน (Fund Raising) เพื่อกิจการ หาได้อาศัยทุนง่ายๆ จากภาครัฐเหมือนไทยพีบีเอสแต่อย่างใดไม่

การปรับตัวของสื่อมวลชนอเมริกันเอง ผู้ที่เป็นสื่อมวลชนต้องรอบจัดมากขึ้น กล่าวคือนอกจากสื่อมวลชนต้องมีความรู้เรื่องงานข่าวหรืองานข้อมูลแล้ว ยังจำเป็นต้องรู้ในเรื่องเทคโนโลยีในด้านการสื่อสารควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะช่องทางการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์และอื่นๆ

เพื่อนอเมริกันที่ทำงานเป็นนักข่าวที่ลอสแองเจลิส ไทม์ เล่าให้ฟังว่า กรอบการทำงานของเขาที่บริษัทกำหนดให้ทำนั้น ละเอียดและรัดกุม มีความยุบยิบมากขึ้น เขาไม่เพียงแต่เป็นผู้รายงานข่าวหรือเหตุการณ์หรือข่าวสารทั่วไปเท่านั้น หากยังต้องเขียนบทความหรือบทวิเคราะห์ข่าว ส่งสำนักงานแอล.เอ.ไทม์ อย่างน้อยสัปดาห์ละเรื่องอีกด้วย นับเป็นการบ้าน “ภาคบังคับ” ที่นักข่าวที่นั่นทุกคนต้องทำส่ง 

ไม่นับรวมถึงการให้ความเห็น (comments) เกี่ยวกับเหตุการณ์ข่าวที่เกิดขึ้น ในโซเชียลมีเดียและทีวีช่องต่างๆ เพื่อเรียกน้ำย่อยจากแฟนข่าวของเขาเองหรือแฟนของหนังสือพิมพ์

เป็นงานภาคบังคับที่ต้องทำให้ได้ มิใช่แต่เขียนข่าวส่งเพียงอย่างเดียว

ระบบเขียนข่าวส่งอย่างเดียวนั้นล้าหลังแล้ว พูดกันว่า ใครๆ ก็ทำได้ แม้แต่คนนอกวงการฯ ก็เพราะมีคนทำหน้าที่นี้กันในสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมากแล้ว และที่สำคัญ พวกเขาทำได้ดีมากกว่าคนที่ทำสื่ออาชีพเสียอีก 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท