ฉลุย สนช.ไร้เสียงค้านวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 61 กลาโหมอู้ฟู่ เพิ่มจากปีก่อน 8.8 พันล้าน

วางเงินรวม 2.9 ล้านล้าน ประยุทธ์ ยันใช้งบฯ ซื้อของจำเป็น เน้นทุกหน่วยใช้งบประมาณพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด วอน สนช.สนับสนุนช่วยผ่านกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ด้าน รมช.กลาโหมยัน จะใช้งบฯจัดหายุทโธปกรณ์ตามความจำเป็นและทดแทนอาวุธที่ล้าสมัย ทัดเทียมกับต่างประเทศ หลังได้รับงบฯเพิ่มขึ้นจากปี 60

แฟ้มภาพ

8 มิ.ย. 2560 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลา 2.30 ชั่วโมง ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว วงเงิน 2,900,000 ล้านบาท ต่อที่ประชุม สนช.จากนั้น ที่ประชุม สนช.จึงเปิดให้สมาชิก สนช.ทั้ง 18 คนที่แปรญัตติเริ่มอภิปราย โดยส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน แต่แสดงความเป็นห่วงกระทรวงที่ได้รับงบประมาณน้อย ไม่คุ้มค่าและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆได้ชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิก และ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงสรุป

จากนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว วาระแรก ด้วยคะแนน 216 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 50 คน กรอบเวลาดำเนินการ 90 วัน แปรญัตติ 15 วัน 
 
สำหรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 นี้ ลดลงจากงบประมาณปี 2560 จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท และตั้งเป็นงบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท โดยเป็นการจัดสรรตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 6 ยุทธศาสตร์ 56 แผนงาน เช่น ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 2.7 แสนล้านบาท ,ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ จำนวน 3.3 แสนล้านบาท และยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 1.2 แสนล้านบาท สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ 5.1แสนล้านบาท งบกลาง 3.9 แสนล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 3.5 แสนล้านบาท กระทรวงการคลัง 2.3 แสนล้านบาท และที่ถูกจับตาคือ กระทรวงกลาโหม 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
 
ในส่วนคำชี้แจงสรุป พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอบอกข่าวดีถึงจัดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ (ไอเอ็มดี)  เป็นอันดับที่ 27 จากเดิมปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 28 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น สะท้อนความพยายามของไทยทุกภาคส่วนที่ปรับตัวดีขึ้น พร้อมยืนยันไม่ได้ใช้เงินในการทำให้การจัดอันดับสูงขึ้นอย่างที่มีการวิจารณ์จากบางกลุ่ม พร้อมยอมรับว่าเรื่องที่ไม่ดีมีอยู่จริงแต่จะต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป หากมัวแต่จับผิดประเทศจะเดินไปไม่ได้ ทั้งนี้ เห็นว่า จะต้องมีการค้นคว้าวิจัยต่อ ยอดในทุกหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องมีการใช้งบจัดซื้อสิ่งของที่จำเป็น หากสิ่งใดใช้ไม่ได้แล้วต้องเลิกใช้  ต้องปลดล็อคให้หมดทุกกระทรวง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ยืนยันรัฐบาลมองทุกประเด็น ทุกปัญหาว่ามีทางออก หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ซึ่งรัฐบาลได้วางอนาคตตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในแผนแม่บทไว้แล้ว ภาครัฐต้องช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนด้วย ส่วนการจัดทำโพลมองว่าการถามไล่ไม่ใช่ไม่ได้ผล ต้องทำแบบตนอย่างที่ถามคำถาม 4 ข้อไป และคิดว่าต่อไปจะทำอีก เชื่อว่าไม่มีรัฐบาลใดทำอย่างตนและไม่มาพูดทุกวันศุกร์ให้โดนว่าอย่างตน มีอะไรตนในฐานะนายกรัฐมนตรีก็รับผิดชอบ 

“ความจริงน่าให้กระทรวงกลาโหมไปวิจัยเรื่องการทำเรือดำน้ำ แต่ใครจะกล้าดำลงไปยังไม่รู้เลย วันนี้เราต้องพัฒนาวิจัยด้านต่างๆให้งบประมาณกองทุนต่างไปพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพ ยันไม่ได้บูรณาการข้ามกระทรวงเพียงอย่างเดียวแต่ต้องใช้งบประมาณร่วมกันให้ได้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนเรื่องการสร้างรถไฟฟ้าเห็นว่ามีความสำคัญเพราะวันนี้จีนสร้างเชื่อมโยงกับหลายประเทศแล้ว ขณะที่สปป.ลาวก็สร้างแล้ว ตอนนี้ไทยช้ามา 3 ปี ติดขัดปัญหาหลายอย่าง ขอให้คำนึงว่า รถไฟมีทั้งขาไปและขากลับ ไม่ได้ขนของมาขายในประเทศอย่างเดียวแต่เราก็ได้ส่งออกด้วย จึงอยากขอสนช.มองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย และสนับสนุนให้ช่วยผ่านกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เช่นนั้น ตนอาจต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จลุล่วงเสียที นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า หากตนยังอยู่ในตำแหน่ง ปีหน้าการจัดทำงบประมาณจะต้องเข้มข้นกว่านี้ 

รมช.กลาโหม ยันจะใช้งบฯจัดหายุทโธปกรณ์ตามความจำเป็น

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงตอนหนึ่งด้วยว่า กระทรวงกลาโหม ได้รับงบประมาณ 2.2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างใหม่ และรองรับแผนงานด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์และบูรณาการ พร้อมยืนยันว่า จะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าให้มีประสิทธิภาพ ส่วนการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพนั้น จะจัดหาตามความจำเป็นตามแผนพัฒนากองทัพที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณน้อย แต่ก็ได้รับเพิ่มขึ้นตามลำดับจนถึงปัจจุบัน เพื่อจัดหาอาวุธทดแทนในส่วนที่หมดอายุหรือล้าสมัยเพื่อให้กองทัพทัดเทียบกับประเทศอื่นๆ

อิสรา กางงบฯ ระบุกลาโหมอู้ฟู่ ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ 1.3 หมื่นล้าน

ขณะที่วานนี้ (8 มิ.ย.60) ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา รายงาน ร่าง พ.ร.บ. นี้ ว่า 2 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบปัญหาชายแดนใต้ คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ตั้งงบประมาณไว้ 10,055.2 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ได้รับการจัดสรร 10,410.4 ล้านบาท และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ตั้งงบประมาณไว้ 2,596.6 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย โดยปี 2560 ศอ.บต.ได้รับการจัดสรรงบอยู่ที่ 2,620.8 ล้านบาท

ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ในภาพรวมงบประมาณทั้งหมดหากพิจารณาแยกรายกระทรวง ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ งบกระทรวงกลาโหมในยุครัฐบาลทหารพุ่งขึ้นมาติดอันดับท็อปไฟว์ หรือ 1 ใน 5 ที่ได้รับจัดสรรสูงที่สุดเลยทีเดียว โดยงบกลาโหมได้รับการจัดสรรไว้ถึง 2.22 แสนล้านบาท เป็นรองแค่กระทรวงศึกษาธิการ, งบกลาง, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลังเท่านั้น

ที่น่าสนใจคืองบกระทรวงกลาโหมปี 2561 ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นจากงบปี 2560 ถึง 8.8 พันล้านบาท ถือเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงในอันดับต้นๆ ของกลุ่มกระทรวงด้วยกัน และหากนับย้อนไปตั้งแต่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง จะพบว่างบกลาโหมไต่ระดับสูงขึ้นตลอด ตั้งแต่งบปี 2558 จำนวน 1.9 แสนล้าน เป็นทะลุ 2 แสนล้านในปี 2559 แล้วขยับขึ้นเป็น 2.1 แสนล้านในปี 2560 และล่าสุด 2.22 แสนล้าน ในปี 2561 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท