Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ตั้งแต่ไหนแต่แล้วอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พอมีเครดิตในด้านต่างๆ อยู่บ้าง หนึ่งในนั้นก็คือเครดิตในเรื่องการศึกษา เรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดสมาคมศิษย์เก่าสถาบันการศึกษาอเมริกันในประเทศไทยขึ้นมานานหลายปีดีดักแล้ว แม้ว่าการทำงานของสมาคมดังกล่าว จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีลักษณะลอยอยู่บนก้อนเมฆมากเพียงใดก็ตาม

การเกิดขึ้นของสมาคมดังกล่าวนัยว่าเป็นการรวมกลุ่มของผู้ที่เคยศึกษาตามสถานศึกษาต่างๆ ในอเมริกามาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มตระกูลชนชั้นสูงในเมืองไทย ที่แทบจะไม่ยึดโยงอะไรเป็นการทั่วไปกับคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยเอาเลย

ด้วยเหตุที่อเมริกาพอมีเครดิตทางการศึกษาอยู่บ้างนี้เองนอกจากจะมีนักเรียนไทยอยู่จำนวนไม่น้อยตามสถาบันการศึกษาในอเมริกาในตอนนี้แล้ว ความมีเครดิตของสถาบันการศึกษาของอเมริกันได้ดึงดูดให้ผู้คนทางด้านการศึกษาหรือด้านวิชาการ เดินทางมาดูงานยังประเทศนี้ปีหนึ่งๆ จำนวนมาก และแน่นอนว่า มันได้สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศนี้

นั่นหมายความว่า แม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะออกมาเต้นจังหวะร็อค เอ็น โรลล์ ประณามด่าทอประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่เป็นเหตุให้อเมริกาขาดดุลการค้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว รู้ๆ กันว่าอเมริกา ได้เปรียบดุลการค้าจากการค้าการศึกษามากที่สุดในบรรดาประเภทการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด 

มหาวิทยาลัย วิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกา สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ ทั้งจากการลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาต่างชาติ และจากการยกโขยงมาดูงานในอเมริกา ไม่รวมรายได้จากการท่องเที่ยวที่เป็นผลพลอยได้จากรายได้หลักในส่วนของการศึกษาหรือส่วนวิชาการ

และในบรรดาชนชาติที่นิยมยกโขยงกันมาดูงาน คือ ชนชาติไทย ที่นิยมมากันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ชนิดที่ไม่รู้ว่ามาเพื่ออะไร? เป้าหมายของการมานั้นอาจเพื่อการศึกษาหรืองานวิชาการ แต่ที่น่าสนใจกลับอยู่ที่ลูกหาบหรือพวกขุนพลอยพยักที่ติดตามมาด้วยเพื่อแสวงประสบการณ์นี่สิ เรียกว่า “กินฟรีเที่ยวฟรี” โดยใช้งบประมาณของรัฐไทยกันให้เปรมฯ ซึ่งก็มีให้เห็นตลอดระยะที่ผ่านมา เพราะเป็นที่รู้กันอย่างเป็นธรรมเนียมแล้วว่าสำหรับคนไทยแล้ว การดูงานต่างประเทศกับการเดินทางท่องเที่ยวไม่มีอะไรแตกต่างกัน

และที่ว่าเป็นธรรมเนียมก็เพราะว่าหน่วยงานต้นสังกัดหรือสังกัดนั้น ต่างยอมรับกันกลายๆ ไปแล้วว่า การดูงานคือการท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตาอย่างหนึ่ง การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือดูงานแบบไทยๆ โดยงบประมาณของรัฐ จึงไม่ถือเป็นการคอร์รัปชั่น มิหนำซ้ำยังช่วยให้การจัดการงบประมาณแต่ละปีเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น

จึงไม่แปลกที่หลังจากกลับจากการดูงานเมืองนอกแต่ละทริพแล้ว อย่าว่าแต่จะมีการประเมินผลจากการไปดูงาน แม้แต่รายงานใดๆ ก็ไม่ปรากฎให้เห็น และไม่จำเป็นต้องนำเสนอต่อหัวหน้าหน่วยหรือหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด  ยิ่งหัวหน้าหน่วยมาเองด้วยก็ยิ่งสบาย เพราะไม่ต้องกลับไปรายงานใคร

การดูงานแบบไทยๆ จึงมีความละม้ายคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับการเที่ยวไปกินไปหรือเที่ยวฟรีกินฟรี โดยใช้เงินงบประมาณของหลวง และไม่เรียกว่าทุจริตคอร์รัปชั่นอีกด้วย ซึ่งหากเป็นธรรมเนียมฝรั่งแล้ว ผู้ที่ไปดูงานต้องเสนอรายงานหรือเสนอสิ่งที่ได้จากการไปดูงานต่อหัวหน้าส่วนหรือหน่วยงานต้นสังกัดทุกครั้ง

การยกพวกยกโขยงกันมาดูงานในอเมริกาของหน่วยงานรัฐไทยจึงเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและสนุกสนาน ด้วยไม่มีใครในรัฐบาลให้ความสนใจติดตามตรวจสอบ โดยเฉพาะการดูงานด้านศึกษา ทุกอย่างมีเหตุผลให้ศึกษาได้หมด ยกโขยงกันมายอย่างสนุกสนานบันเทิง ถ้าเจ้านายมาก็มีลูกน้องหรือผู้ติดตามตามมาด้วยจำนวนหนึ่ง ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้านายทุกสถานที่ทุกกาลเวลา

ในแง่ของการศึกษานั้น นอกจากกลุ่มต่างๆ พากันยกโขยงมาดูงานที่ทำกันแบบไทยๆ ที่มีลักษณะเที่ยวฟรีกินฟรีแล้ว ในอเมริกาเองยังมีเรื่องของการนำเสนอ (present) งานวิชาการ ซึ่งในส่วนนี้ตอนหลังคือในขณะนี้เอง เป็นส่วนที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับเอกชนอเมริกันในฐานะของ “ผู้จัดอีเว้นท์งานวิชาการ” นับว่า “ธุรกิจผู้จัดอีเว้นท์” สร้างรายได้จำนวนมากให้กับเอกชนและมหาวิทยาลัยของอเมริกัน โดยเฉพาะรายได้จากนักวิชาการละสถาบันทางวิชาการของไทยที่นิยมมาใช้บริการกันเป็นจำนวนมากเรื่อยมา เชื่อกันว่าเป็นรายได้ทางการศึกษาที่ช่วยลดยอดการขาดดุลการค้าของอเมริกากับประเทศต่างๆ ที่ยังมีความเชื่อฝังหัวในเรื่องเครดิตการนำเสนองานวิชาการในอัสดงคตประเทศ อย่างอเมริกา

วิธีการก็คือ ผู้จัดอีเว้นท์ทางวิชาการในอเมริกาจะประสานงานกับมหาวิทยาลัยในอเมริกาบางแห่ง สร้างเวทีจำลอง เอาหน้าม้ามานั่งฟังการนำเสนองานวิชาการ โดยผู้ที่ต้องการมาโชว์งานวิชาการจากต่างประเทศต้องจ่ายค่าตอบแทนที่ถือเป็นค่าบริการให้ผู้จัดอีเว้นท์ ซึ่งแน่นอนว่าผู้จัดอีเว้นท์อเมริกันเองก็ต้องเข้าใจอย่างดีว่า ผู้นำเสนองานวิชาการต้องการอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงไม่พ้นภาพของการนำเสนอที่ยิ่งใหญ่ สมบูรณ์ มีผู้สนใจฟังในห้องประชุมจำนวนหนึ่ง พอที่จะคุยได้ว่า “ล้นห้อง”

และนี่คือ ธุรกิจประเภทหนึ่งในอเมริกา ที่ทำรายได้ได้ดีในช่วงหลายปีมานี้  เพราะฉะนั้น ที่โชว์กันว่านักวิชาการไทยได้รับเชิญให้ไปพูดหรือเสนอผลงานในอเมริกา เผลอๆ หลายรายก็ใช้บริการของบริษัทจัดอีเว้นท์ทางวิชาการประเภทนี้ บริษัทสามารถเซ็ตฉากต่างๆ ได้ทั้งหมดตามที่ผู้จ้างคือนักวิชาการ (ผู้อยากได้ชื่อ อยากได้หน้า ได้ชื่อเสียง) ต้องการ

ไม่อยากกล่าวว่า ธุรกิจดังกล่าวต้มตุ๋นคนดูหรือไม่ เพราะธุรกิจนี้อาจมีประโยชน์กับบางมหาวิทยาลัยของไทยที่ต้องการโปรโมทมหาวิทยาลัยของตนให้มีชื่อในวงการ มันเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมายในอเมริกาเหมือนธุรกิจล็อบบี้ยีสต์ เป็นเพราะผู้ทำธุรกิจมีความเข้าใจจุดโหว่ช่องว่างของธุรกิจการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาที่ให้ค่าปริญญาแบบสูงส่งประเสริฐสุด อเมริกา ก็เลยถูกทำให้เป็นแหล่งชุบตัวของนักวิชาการที่ต้องการชื่อเสียงจากการได้ชื่อว่านำเสนองานวิจัยของตนในเวทีอินเตอร์

นี่เป็นธุรกิจที่ได้กำลังไปได้สวยในอเมริกา จนมหาวิทยาลัยบางแห่งของไทยทนความเย้ายวนไม่ไหว ลงทุนโปรโมทสถาบันของตนผ่านองค์กรจัดอีเว้นท์ทางวิชาการนี้  สถาบันอุดมศึกษาของไทยน่าจะมาดูงานการสร้างฉากนำเสนองานวิชาการแบบนี้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ และยังได้ชื่อว่าเคารพต่อความหลากหลายอีกด้วย

ในเมื่อการศึกษา 4.0 เองก็ต้องการให้ไทยแลนด์เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียนแล้ว  การทำอีเว้นท์ด้านการนำเสนองานวิชาการก็น่าจะสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมการศึกษาแบบไทยๆ และวัฒนธรรมการศึกษาแบบอาเซียนได้ เพราะจะว่าไปแล้ว การเปิดให้มีเวทีทางวิชาการหรือด้านวิจัยก็ถือว่ามีคุณอยู่ในตัวแล้ว

อย่าไปเกี่ยงว่าเป็นการจัดฉากงานวิชาการเพื่อสนองต่อวัฒนธรรมจำอวดปริญญาเลย  อย่างน้อยก็ยังดีกว่าให้บริษัทจัดอีเว้นอเมริกันคาบไปกินอยู่ ดังที่เห็นเช่นทุกวันนี้...

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net