วงเสวนาระบุ สื่อประกอบสร้างข่าว 'เปรี้ยว' อย่างละคร หวั่นกระทบการตัดสินคดี

นักวิชาการด้านสื่อชี้ สื่อกระแสหลักปัจจุบันเสมือนการสร้างละครเรื่องหนึ่ง มีตัวละคร ความขัดแย้ง อารมณ์ ความรู้สึก กรณีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ สื่อนำเสนอแง่มุมชีวิตหลากหลายนอกจากเรื่องฆาตกรรม  นักกฎหมายอาญาระบุ สื่อปั่นดราม่าอาจสร้างอคติ กระทบรูปคดี ความเป็นกลางในกระบวนการยุติธรรม

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังนั่ง, หน้าจอ และ สถานที่ในร่ม

ภาพงานเสวนา (ที่มา: เฟซบุ๊ก สถานีวิทยุจุฬาฯ CU RADIO)

วันที่ 7 มิ.ย. 2560 มีงานเสวนา "ฆ่าหรือค่า สื่อดราม่าความรุนเเรงในสังคมไทย" นำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการในกรณีการนำเสนอข่าวผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพและอำพรางคดีที่ จ.ขอนแก่น ณ อาคารจามจุรี 4 ห้องประชุม 202 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา คือ รศ.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักวิชาการด้านจิตวิทยา ผศ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อ ผศ.ปารีนา ศรีวนิชย์ นักวิชาการด้านกฎหมายอาญา ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชสังคม ดำเนินรายการโดยอลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

นักวิชาการสื่อสะท้อนการประกอบสร้างความจริงอิงหลักละครผ่านข่าวเปรี้ยว  

มรรยาทกล่าวว่า ข่าวโปรเม เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟ มือวางอันดับ 1 ของโลก มีเรื่องราวสมบูรณ์ในตัวของมันอยู่แล้ว ขณะที่มุมมองเรื่องราวของเปรี้ยวมีความลึกลับ ซับซ้อน อาจมองว่า เปรี้ยวเป็นสินค้าที่ขายได้จากหน้าตารูปร่าง มีเรื่องราว มีแง่มุมชีวิต ในแง่ตัวละครกลมซึ่งมีหลายมิติ ทั้งความดี ความเลวของเปรี้ยว ไม่ได้มีมิติเพียงหนึ่งเดียวเหมือนตัวละครแบน  พยายามนำเสนอเป็นคน ไม่ได้ร้ายสุดๆ มีทั้งมุมมองทั้งร้ายและดี ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ขายได้ พร้อมทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและการกระทำที่ผิดแปลก โดยสามารถกระตุ้นเร้าสัญชาตญาณทางเพศ ความรุนแรง ขับเคลื่อนสองอย่างประกอบกัน ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ที่กล่าวว่า มนุษย์ขับเคลื่อนด้วยความก้าวร้าวรุนแรงและแรงขับทางเพศ โดยสื่อกระแสหลักนำเสนอเพื่อให้คนสนใจเป็นจำนวนมากต่อจากกระแสสื่อสังคมออนไลน์

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวอีกว่า ประชาชนในสังคมมีความอยากรู้อยากเห็น ตามทฤษฎีของเรื่องเล่าที่ว่า มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกของเรื่องเล่า ทั้งในแง่ของการเป็นผู้เล่าเรื่อง และชอบฟังเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วย อารมณ์ ตัวละครและความขัดแย้ง เนื่องจากมนุษย์ชอบตัดสินคนด้วยอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง มากกว่าตรรกะเหตุผลและความจริงที่ปรากฏโดยเรื่องเล่าเต็มไปด้วยอารมณ์มีพลังมากกว่าการอธิบายด้วยเหตุผลและส่งผลต่อปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ในทันที หลักการหลังความจริง หรือ Post-truth ที่กล่าวว่า คนใช้ความรู้สึกตัดสินใจมากกว่าการใช้เหตุผลจึงเป็นเรื่องที่เกิดมานานมากแล้ว

มรรยาท กล่าวย้ำอีกว่า ประชาชนในสังคมตัดสินคนด้วยหน้าตาเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมทั้งถูกกระตุ้นเร้าด้วยบริบทที่มีสื่อรอบตัวและเข้าถึงสื่อได้ทุกที่ ทุกเวลา ยกตัวอย่าง คนใช้มือถือสมาร์ทโฟนในการติดตามข่าวสารต่างๆ และผนวกทักษะการใช้สื่อ ทำให้อยากร่วมลงในการเล่าเรื่อง ท้าทายด้วยการร่วมสืบ ร่วมขุดคุ้ย ยิ่งได้ลึก ยิ่งเจ๋ง รู้สึกเป็นที่ยอมรับ เลยขุดอย่างต่อเนื่อง โดยมีเพจนักสืบออนไลน์ เป็นจุดรวมของผู้อยากร่วมเล่าเรื่องและเล่าแบบลึกๆ และพอรู้มาอยากบอกต่อคนอื่นๆ บนสื่อสังคมออนไลน์  

ในมุมมองเชิงจิตวิทยา สมโภชน์ กล่าวว่า กรณีของหนังสือพิมพ์ในประเทศเยอรมันนำเสนอข่าวดีๆ กลับปิดตัวลง ขณะที่หนังสือพิมพ์อีกฉบับเสนอข่าวร้ายๆ ลึกลับพบว่า มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมองกรณีศึกษาข่าวเปรี้ยวและข่าวโปรเม คนสนใจข่าวเปรี้ยวมากกว่า เนื่องด้วยความเป็นข่าวร้าย ทั้งนี้ มรรยาท ค้นพบว่า จากยอดคำค้นหาคำว่า “เปรี้ยว” ผ่าน กูเกิล เทรนด์ มีสัดส่วนถึงร้อยละกว่า 80 ในช่วงค้นหาสูงสุดในวันที่ 3 มิถุนายน 2560 เวลาประมาณ 22.00 น. เป็นช่วงเวลาที่เปรี้ยวถูกจับได้ขณะที่หนีออกไปแนวชายแดน ขณะที่ข่าว “โปรเม” ในช่วงค้นหาสูงสุดมีเพียงร้อยละ 5

นักกฎหมายชี้ ข่าวเปรี้ยวไม่เพียงดราม่า อ่านสนุก ยังสะท้อนผลกระทบการตัดสินคดี

การนำเสนอสื่อละครยังสร้างการรับรู้ที่ผิดออกไปจากความเป็นจริง ปารีนา นักวิชาการด้านกฎหมายอาญา เห็นว่า ละครที่มีเรตติ้งดีพร้อมทั้งเป็นละครที่อยู่ในกระแสหลักมีภาพเกี่ยวกับความรุนแรงเยอะมาก และเป็นความผิดการกระทำทางอาญาแต่เรากำลังยอมรับ เราเห็นภาพพฤติกรรมของคนร้ายที่ทำการข่มขืน อาจทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งเลียนแบบ  มีภาพที่พระเอกข่มขืนนางเอก ลักพาตัวในตอนจบ กลับยกให้เขาเป็นฮีโร่ของเรื่อง  ซึ่งการกระทำของเขามันไม่ถูกต้องและไม่มีการดำเนินคดี แต่กลับใช้ประเด็นความรักเป็นตัวนำพาเนื้อเรื่องแทน

ในอีกมุมมองหนึ่งผลกระทบการพิจารณาคดีจากการนำเสนอสื่อมีผลเช่นกัน นักวิชาการด้านกฎหมายอาญา กล่าวว่า การประกอบสร้างนำเสนอของสื่อทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง การนำเสนอของสื่อมีดราม่านิดๆ ต้องมีเทคนิคในการนำเสนอ ด้วยการทำให้สมจริง การเล่าเรื่องเป็นฉากๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากข้อเท็จจริงที่เป็นจริงเสมอไป แต่เกิดจากข้อมูลที่สื่อมีอยู่และได้มา ณ เวลานั้น และเอามาเล่าเรื่องเชื่อมต่อกันเพื่อให้คนติดตามเท่ากับเป็นการชี้นำให้สังคมเชื่อว่า เรื่องต้องเป็นแบบนี้ แม้ว่าข้อเท็จจริงที่นำเสนอภายหลังจากการพิจารณาจะเป็นอย่างไร สังคมก็พร้อมที่จะไม่เชื่อถ้ามันแตกต่างจากข้อมูลที่สื่อนำเสนอตั้งแต่ครั้งแรก เพราะการอ่านคำพิพากษาของศาล ไม่สนุกเท่าเรื่องที่สื่อนำเสนอ   

ปารีนา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งนี้ข้อมูลที่สื่อมีอยู่ และเล่าออกมาเป็นเรื่อง ทำให้สื่อนำเสนอสนุกกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้แจงข้อมูลของคดี หรือการอ่านคำพิพากษาของศาล ซึ่งข้อมูลเยอะมากที่สื่อเข้าถึงไม่ได้ แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงข้อมูลได้ไม่เท่ากัน เพราะอำนาจและความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน การนำเสนอข้อมูลแบบที่สื่อนำเสนอ อาจทำให้เกิดอคติ และการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นกลางและไม่เป็นธรรม  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท