สํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติขอ รบ.ไทยแก้ ก.ม. 112

แถลงการณ์ระบุ คนโดนดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่จำนวนคนแก้ต่างและได้รับการยกฟ้องน้อยลงจากร้อยละ 24 เหลือร้อยละ 4 วอนแก้กฎหมายให้สอดคล้องมาตรฐานนานาชาติ

13 มิ.ย. ในเฟซบุ๊ก UN Human Rights-Asia ได้โพสต์แถลงการณ์ที่ออกโดยสํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในประเด็นการดำเนินคดีในกฎหมายอาญามาตรา 112 ในประเทศไทย

แถลงการณ์มีขึ้นหลังการพิพากษาคดีหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยศาลทหารตัดสินจำคุก 'วิชัย' กรณีสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมด้วยชื่อและภาพคนอื่น พร้อมโพสต์ผิดตาม ม.112 รวม 10 ครั้ง เป็นจำนวน  70 ปี สารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 30 ปี 60 เดือน ถือเป็นสถิติคำพิพากษาที่รุนแรงที่สุดภายใต้กฎหมายมาตรานี้

แถลงการณ์มีใจความดังนี้

เรามีความกังวลในประเด็นการเพิ่มจำนวนของผู้ถูกดำเนินคดีและได้รับโทษในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2014 รวมถึงการตัดสินโทษจำคุก 35 ปีแก่วิชัย เทพวงศ์ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ศาลทหารไทยตัดสินว่าวิชัยมีความผิด หลังจากโพสต์รูป วิดีโอและคอมเมนท์บนเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาดูหมิ่นราชวงศ์ เขาถูกตัดสินให้จำคุก 70 ปี แต่ลดโทษเหลือ 35 ปีเนื่องจากจำเลยสารภาพ

คำตัดสินข้างต้นถือว่าเป็นคำพิพากษาที่รุนแรงที่สุดภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่รู้จักกันในนามกฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ โดยคำพิพากษาที่หนักที่สุดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 2015 กรณีศาลทหารตัดสินจำคุกจำเลย 3 รายเป็นเวลาคนละ 25-30 ปีตามจำนวนกรรมที่กระทำการหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์

ระหว่างปี 2011 และ 2013 มีผู้ถูกสอบสวนในคดีหมิ่นฯ ถึง 119 คน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2014-2016 จำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าโดยมีจำนวนทั้งสิ้นอย่างน้อย 285 คน

สถิติจากทางการไทยระบุว่า จำนวนผู้ที่แก้ต่างในคดีหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ได้สำเร็จมีจำนวนลดลงอย่างมาก ช่วงปี 2011-2013 มีประมาณร้อยละ 24 เท่านั้นที่ได้รับการยกฟ้อง แต่หลังจากนั้นอีก 3 ปี จำนวนผู้ได้รับการยกฟ้องลดลงเหลือร้อยละ 10 โดยประมาณ และในปีที่แล้วมีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

ขณะที่ทางสำนักงานของพวกเราตระหนักถึงประเด็นที่มีความซับซ้อนและอ่อนไหวที่รายล้อมกฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ของประเทศไทย พวกเรายังคงมีความกังวลใจถึงอัตราการดำเนินคดีและการพิพากษาด้วยโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรี ซึ่งหมายรวมถึงการวิจารณ์บุคคลสาธารณะด้วย

การกักขังบุคคลเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีนั้น ละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) มาตราที่ 19 ซึ่งเป็นกติกาที่ไทยเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2499 และในปี 2560 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทำการทบทวนรัฐบาลไทยในประเด็นการนำข้อกติกาของ ICCPR ไปใช้ และได้ข้อสรุปว่าไทยควรทบทวนกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยทำให้มีความสอดคล้องกับมาตราที่ 19 ของข้อกติกา

เรายังมีความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการไต่สวนตั้งแต่การรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2557 คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ส่วนมากได้รับการไต่สวนในศาลทหาร และเป็นการพิจารณาคดีลับ โดยจำเลยส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัว และบางรายถูกฝากขังก่อนไต่สวนเป็นเวลานาน ในขณะที่เรามีความยินดีกับการตัดสินใจของรัฐบาลที่ยกเลิกการพิจารณาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในศาลทหาร ทางเราขอย้ำให้ภาครัฐนำข้อเรียกร้องของเราไปปฎิบัติกับคดีที่ค้างอยู่โดยให้มีผลย้อนหลัง

ทางสำนักงานข้าหลวงฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์โดยทันที ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานของสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ และขอให้ทบทวนคดีที่ถูกพิจารณาภายใต้อาญามาตรา 112 ทั้งหมด

โฆษกสํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ:

รูเพิร์ท คอลวิลล์

สถานที่:

กรุงเจนีวา

ที่มา: เฟซบุ๊ก  UN Human Rights - Asia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท