Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานส่งไปรษณียบัตรถึงอธิบดีกรมอุทยาน ให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในเขตป่า ขณะที่ พีมูฟ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ด้าน12 องค์กรภาคประชาชนออกแถลงการณ์หลังถูกทหารปิดกั้นเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อแสดงจุดยืนของชุมชนในเขตอนุรักษ์ต่อร่าง พรบ.ทั้ง 2 ฉบับ

13 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่า  ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ สมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กว่า 150 คน เดินทางไปยังที่ทำการไปรษณีย์หนองบัวระเหว เพื่อส่งไปรษณียบัตรถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นิตยา ม่วงกลาง ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ระบุว่า การส่งไปรษณียบัตร ส่งข้อความถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อให้ชะลอการนำร่าง พรบ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่จะส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในเขตป่า คือ ร่าง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ...และร่าง พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ...เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วนำกลับมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

นิตยา บอกอีกว่า ไปรษณียบัตรที่ส่งไปมีราว 300 แผ่น ซึ่งมาจากชาวบ้านที่ร่วมกันซื้อมาเพื่อส่งไปยังกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยหัวหน้าไปรษณีย์หนองบัวระเหว เป็นผู้ออกมารับการส่งด้วยตนเอง พร้อมยืนยันว่าจะส่งถึงปลายทางก่อนวันที่ 15 มิ.ย. 2560 ซึ่งกรมอุทยานฯ ประกาศให้มีการเสนอข้อคิดเห็น  รวมทั้งได้ออกค่าจัดส่ง(อีเอ็มเอส)ให้ทั้งหมด ด้วยเงินส่วนตัวอีกด้วย

ในวันเดียวกันขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขปส.หรือพีมูฟ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมต.กระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อให้ชะลอการออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน

นอกจากนี้หลังจากกรณีเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2560 ทหาร ตำรวจเชิญตัวคณะกรรมการบริหาร พีมูฟ เข้าไปชี้แจงกับ ผกก.สน.วังทองหลาง เรื่องการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมกำหนดท่าทีและจุดยืนของภาคประชาชนและชุมชนในเขตอนุรักษ์ต่อร่าง พรบ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ..และร่าง พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ..ที่จัดขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ณ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และในวันที่จัดงานเวทีสัมมนา(12 มิ.ย.2560) ทหาร ตำรวจ ได้เข้ามาปิดกั้นบริเวณทางเข้าและขอตรวจค้นผู้เข้าร่วมเวทีการสัมมนาดังกล่าว แม้หลังจากการเจรจาได้ข้อตกลงตามที่เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ สามารถให้จัดเวทีสัมมนาได้ แต่ไม่ให้แฉลงข่าว และเจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ในเวทีสัมมนาตลอดทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันสื่อมวลชน รวมทั้งนักข่าวสถานีโทรทัศน์หลายสำนัก ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้นมิให้เข้าไปรายงานข่าวได้เช่นกัน

เครือข่ายภาคประชาชน 12 องค์กร ประกอบด้วย 1.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  2.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 3.เครือข่ายสลัมสี่ภาค 4.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด 5.สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ 6.สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ 7.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคม และการเมือง 8.กลุ่มจับการปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) 9.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน 10.สมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม 11.เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และ12.เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ ได้ร่วมออกแถลงการณ์ต่อการถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจปิดกั้น มีรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและเครือข่ายองค์กรพันธมิตร

เรื่อง ขอให้รัฐบาลชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ และเปิดให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา 77

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีการรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ… ร่างพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ…. ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน และร่างพระราชบัญญัติ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและเครือข่ายองค์กรพันธมิตร ได้ติดตามเนื้อหาเนื้อหาและกระบวนการยกร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยได้จัดให้มีการจัดสัมมนารับฟังเพื่อกำหนดท่าทีและจุดยืนของภาคประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ณ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 ก่อนการจัดสัมมนา 1 วัน ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจวังทองหลาง ได้เดินทางมายังมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเชิญตัวแกนนำพีมูฟไปยัง สน. เพื่อหว่านล้อมให้ยกเลิกการจัดสัมมนาและการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเนื่องจากอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะและคำสั่ง คสช. ซึ่งได้ใช้เวลาในการเจรจาพูดคุยและอธิบายถึงความเป็นมาของการจัดเวทีสัมมนาดังกล่าว ว่าไม่มีเนื้อหาใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ระบุให้การออกกฎหมายใดรัฐจะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและรอบด้าน ซึ่งที่ผ่านมาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้มีกระบวนการและกลไกการแก้ไขปัญหาและผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนร่วมกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่าการจัดเวทีในครั้งนี้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในวันนี้ (วันที่ 12 มิถุนายน 2560) เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.วังทองหลาง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าดำเนินการตั้งจุดสกัด เพื่อขัดขว้างไม่ให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังการสัมมนาและนำเสนอข่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้ยังมีการตรวจค้นประชาชนที่เดินทางมาเข้าร่วมเวทีดังกล่าวอย่างเข้มงวด

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและองค์กรร่วมจัดตามรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอแถลงจุดยืนและท่าทีอย่างเป็นทางการดังต่อไปนี้

1. P-move และองค์กรร่วมจัด มีความกังวลและห่วงใย ในท่าที และการปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง ที่สกัดกั้นมิให้สื่อมวลชน เข้าไปทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าว ในการสัมมนาครั้งนี้ ทั้งที่ได้มีการเจรจาและทำความเข้าใจถึงความเป็นมาประเด็นเนื้อหาและกระบวนการในการสัมมนาจนได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า ไม่มีเนื้อหาและกระบวนการใดเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองและเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือขัดต่อคำสั่ง คสช.แต่อย่างใด ดังนั้นพฤติกรรมดังกล่าวจึง เป็นการปฏิบัติที่หมิ่นเหม่ต่อการคุกคามสื่อมวลชน และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

2. ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ,ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน และร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมนโยบายที่ดินแห่งชาติไว้ก่อน ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา77 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 จึงทำให้ การตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

p-move และองค์กรร่วมจัด เห็นว่า การเร่งรัดตรากฎหมาย โดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรอบด้านนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังส่งผลให้กฎหมายที่ตราออกมาสร้างผลต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรง ยากจะเยียวยา ดังปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วจากการใช้ พ.ร.บ. จราจรและ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเดินเรือในเขตน่านน้ำไทย ฉบับที่ 17 พ.ศ.2560 ที่สร้างผลกระทบกับชุมชนชายฝั่ง และชาวประมงพื้นบ้านอย่างกว้างขวางอยู่ในปัจจุบัน

3. P-moveและองค์กรร่วมจัด เห็นว่ากระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็น ต่อร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ พ.ร.บ.สงวนและคุมครองสัตว์ป่า ผ่านทางเว็บไซต์ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่า ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตรากฎหมายดังกล่าวสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึงและรอบด้าน

4. ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเดินการจัดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจากชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงให้เป็นไปตาม รธน.มาตรา 77 อย่างเคร่งครัด ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net