จากเปรี้ยว....ถึงประยุทธ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

\

 

เมื่อไม่นานมานี้สังคมไทยก็ทำให้ผู้ต้องสงสัยในคดีฆ่าหั่นศพกลายเป็นเน็ตไอดอลในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน จากเหตุการณ์ดังกล่าวสื่อมวลชนและชาวเน็ตต่างก็ช่วยเสนอข่าวทั้งในแง่มุมฆาตรกรรมที่เกิดขึ้น ช่องทางการหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การใช้ชีวิตส่วนตัวที่หรูหรา นอกจากนั้นยังมีการค้นแคะประวัติชีวิตรักของสาวน้อยในอดีตตลอดจนรสนิยมทางเพศของเธอ และในที่สุดผู้ต้องสงสัยฆ่าหั่นศพก็กลายเป็นเน็ตไอดอลไปอย่างรวดเร็ว

แต่ที่น่าสนใจสำหรับนักสังคมวิทยาคือคนไทยบางส่วนกลับไม่ได้มองเหตุการณ์นี้เป็นการฆาตกรรมหั่นศพ แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจด้วยการผลิตสิ่งของส่วนตัวต่างๆ ที่สาวเปรี้ยวใช้ออกมาขายออนไลน์เสมือนว่าหากได้ใช้ของแบบสาวเปรี้ยวแล้วน่าจะเป็นคนไม่ตกเทรนในสังคม มิหนำซ้ำในส่วนของการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานจับกุมก็มีภาพข่าวปรากฎว่าอาจให้ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ต้องหามากเกินไปหรือไม่ จนแทบจะกล่าวได้ว่าการสูญเสีย “น้องแอ๋ม” (เหยื่อฆาตรกรรมรายนี้)แทบจะไม่มีพื้นที่ข่าวเลย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดูเสมือนว่าสาวเปรี้ยวควรจะเป็นจำเลยของสังคมในฐานะผู้ต้องสงสัยฆ่าหั่นศพ แต่ต่อมากลับกลายเป็นสังคมไทยที่รุมประณามสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ที่เสนอข่าวแง่มุมของสาวเปรี้ยวที่นับวันยิ่งห่างไปจากคดีฆาตกรรมเข้าทุกที โดยความสนใจของข่าวกลายเป็นการนำเสนอลีลาชีวิตของหญิงสาวหน้าตาดีคนหนึ่งที่มีเรือนร่างน่ามองในสายตาชายหนุ่มทั้งหลาย ไม่เพียงแต่สังคมจะตั้งคำถามว่าสื่อกระทำตัวเหมาะสมแล้วหรือในกรณีการนำเสนอข่าวนี้ แม้กระทั่งท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธิ์เองก็ยังบ่นว่าสื่อมัวแต่เสนอข่าวสาวเปรี้ยวอยู่ได้โดยที่ข่าวดีๆ ที่มีประโยชน์สื่อกลับไม่ค่อยให้ความสนใจ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่น่าสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยที่ข่าวฆ่าหั่นศพกลายมาเป็นข่าวอื้อฉาว จริงอยู่ที่สื่อมีอิทธิพลต่อลักษณะของข่าว แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อลักษณะของข่าวและอยู่เบื้องหลังลักษณะข่าวที่เราเห็นกันทุกวันคือลักษณะความต้องการเสพข่าวของประชาชน ประชาชนผู้เสพข่าวต้องการเห็นการนำเสนอข่าวในลักษณะใดก็จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อรูปแบบข่าวที่จะปรากฏไม่ว่าจะเป็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ จอทีวี หรือในหน้าเว็ปต่างๆ ท่านนายกอาจต้องการเห็นสื่อไทยมีการนำเสนอข่าวเชิงบวกมากขึ้นแต่เนื่องจากสื่อต่างๆ ล้วนต้องทำมาหากินเพื่อสร้างรายได้จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการแข่งขันเสนอข่าวที่ประชาชนผู้เสพข่าวต้องการเสพ สื่อที่เสนอข่าวเชิงการพัฒนาประเทศ หรือข่าวสร้างสรรค์อาจอยู่ได้ไม่นานและต้องปิดกิจการลงในที่สุดเพราะจะหารายได้จากโฆษณาลำบาก

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเปรียบเสมือนวงจรอุบาทว์อย่างหนึ่งของสังคม ผู้เสพสื่อต้องการเห็นสาระอะไรสื่อก็จะสะท้อนสาระนั้นๆ ออกมา และภายใต้บรรยากาศการแข่งขันของบรรดาสื่อทั้งหลายสื่อที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เสพได้มากเท่าไหร่ก็จะประสพความสำเร็จในการทำธุรกิจสื่อได้มากเท่านั้น ดังนั้นการโทษสื่ออย่างเดียวคงไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากต้องการเห็นสื่อเสนอข่าวสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศประชาชนผู้เสพสื่อก็ต้องคิดสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศด้วย

ในส่วนของภาคการเมืองที่จริงก็ไม่ต่างอะไรจากการทำงานของสื่อเท่าไหร่ ในขณะที่สื่อทำหน้าที่เปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนความต้องการของประชาชนผู้เสพสื่อฉันใด การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็สะท้อนความต้องการของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงฉันนั้น อย่างในกรณีการได้มาซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ของประเทศสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ถึงแม้สังคมจะตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีบุคลิกก้าวร้าว โผงผาง และมีการตัดสินใจกำหนดนโยบายที่สวนกระแส แต่ที่จริงแล้วสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนี้น่าจะสะท้อนวัฒนธรรมทางความคิดของประชาชนชาวอเมริกันส่วนหนึ่งที่ร่วมใจกันไปลงคะแนนให้ประธานาธิบดีทรัมป์ หากเกิดอะไรขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมิกาตั้งแต่นี้ต่อไปคงจะไปโทษประธานาธิบดีทรัมป์คนเดียวไม่ได้ ประชาชนที่ไปลงคะแนนให้ประธานาธิบดีทรัมป์ควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย

มาถึงคำถาม 4 ข้อของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ที่ถามว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ รัฐบาลที่ได้มาจากการเลื่อกตั้งจะคำนึงถึงอนาคตของประเทศหรือไม่ หรือหากนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเข้ามาจะเกิดปัญหาแล้วจะทำอย่างไร ก็อยากจะเรียนว่าการเลือกตั้งก็ทำหน้าที่เป็นเพียงกระจกเงาอีกบานหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยเหมือนกันคล้ายๆ กับการทำงานของสื่อที่เสนอสาระสะท้อนความต้องการของผู้เสพสื่อ การเลือกตั้งตามเสียงข้างมากไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อหาคนดีคนเก่งเข้ามาเป็นรัฐบาล การเลือกตั้งไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลและคำนึงถึงอนาคตของประเทศ การเลือกตั้งทำหน้าที่อย่างเดียวคือเลือกคนที่ประชาชนต้องการเข้ามาเป็นรัฐบาล ดังนั้นประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงมีวัฒนธรรมทางความคิดอย่างไรประเทศก็จะได้นักการเมืองและรัฐบาลอย่างนั้น.

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นอาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า และที่ปรึกษางานวิจัยที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท