'ประยุทธ์' ขออย่าขวางสร้างรถไฟ 'ดวงฤทธิ์' ชี้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อ

นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ชี้เจรจาโดยตรงกับรัฐบาลจีนเป็นรูปแบบที่ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น แนะควรเปิดประมูลเพื่อได้โนโลยีที่ดีที่สุด ผู้ผลิตเหล็กของไทย เรียกร้องรัฐบาลใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ ดวงฤทธิ์ ชี้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

17 มิ.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 ลงนามโดย  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวานนี้ (16 มิ.ย.60) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า เรื่องฝนตก น้ำท่วม น้ำขัง ก็คงต้องเร่งแก้ปัญหาระยะสั้น ให้บรรเทาความเดือดร้อนให้เร็วที่สุด ในเรื่องของการก่อสร้างการบูรณาการ ไม่ว่าจะแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะในเรื่องของระบบการส่งน้ำ ไม่ว่าจะการระบายน้ำต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก เพื่อจัดทำแผนงานให้รัดกุม ทุกอย่างเกิดขึ้นมาหลายสิบปีที่ไม่ยั่งยืน วันนี้เราก็ทำไปได้มากแล้ว ลองตามดู ก็ติดอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาทำไม่ได้ ประชาชนไม่ยินยอม อันนี้คือปัญหาสำคัญ การบุกรุกพื้นที่ของทางข้าราชการ จะสร้างถนน สร้างรถไฟ หรืออะไรก็แล้วแต่ รถไฟความเร็วสูงติดหมด พี่น้องประชาชนบุกรุกอยู่ ตนก็ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน แต่เราจะทำอย่างไร เพราะผิดกฎหมาย ต้องไปดูแลว่าจะทำอย่างไร

"ก็ขอร้องว่าอย่าไปขวางเลยเรื่องการก่อสร้างรถไฟอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ เพราะเป็นผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ การที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง ผมเห็นข่าวจากช่องหนึ่ง บอกว่าผมต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-โคราช เพราะว่าผมเป็นคนโคราช ดูซิคิดแบบนี้ได้อย่างไร ผมจะเกิดที่ไหนก็เรื่องของผม นั้นเรื่องส่วนตัวของผม แต่ผมทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ทำเพื่อพื้นที่เกิดของผมเพียงอย่างเดียว คิดแบบนี้ไม่ได้ แล้วเส้นทางเส้นนี้ต้องไปโคราชแล้วไปหนองคาย ไปเชื่อมต่อกับลาวไปยังจีน ไปยุโรปตะวันออก ไปยึดโยงทางด้านโน้น เราต้องทำด้านล่างลงไปอีก ไปเชื่อมต่อมาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย  ตะวันตก ตะวันออก พม่า ลาว กัมพูชา ต้องคิดแบบนี้ อย่ามองทุกอย่างเป็นประเด็นการเมืองทั้งหมด นั้นเรื่องส่วนตัวของผม ไม่ใช่เลย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก แนะควรเปิดประมูลเพื่อได้โนโลยีที่ดีที่สุด

วันเดียวกัน(16 มิ.ย.60) สปริงนิวส์ รายงานว่า เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศไทยในหลายด้าน แต่ในกรณีการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนด้วยวิธีเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลจีนเป็นรูปแบบที่ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น โดยเห็นว่าควรจะมีการเปิดกกว้างให้ผู้สนใจเข้ามาแข่งขันการประมูลเพื่อที่จะให้ไทยได้ระบบเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของโลกมาใช้ รวมทั้งสร้างความโปร่งใส โดยมองว่าแผนโครงการดังกล่าวไม่ดีมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ส่วนแผนการลงทุนขนาดใหญ่อื่นโดยภาพรวมถือว่าดี โดยเฉพาะการตั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว

ผู้ผลิตเหล็กไทย ร้องรัฐใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษกับจีนนำเข้าเหล็กจากจีนทั้งหมดมาใช้ในโครงการ โดย นาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่าหากรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขให้จีนนำเหล็กเข้าก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ทั้งหมด จะกระทบกับผู้ผลิตเหล็กในประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะเหล็กที่ไทยสามารถผลิตรองรับโครงการนี้ได้ เช่น การสร้างสถานีรถไฟในการทำหลังคา ที่ต้องใช้เหล็กแผ่น  เหล็กท่อ ส่วนโครงสร้างคอนกรีตผนังอาคาร ใช้เหล็กเส้น และ เหล็กแผ่นรีดร้อน ส่วนเหล็กที่ใช้ทำรางรถไฟความเร็วสูงต้องเป็นเหล็กพิเศษที่ไทยยังผลิตไม่ได้จะต้องนำเข้าจากจีนซึ่งผู้ประกอบการไทยยอมรับได้ ทั้งนี้สมาคมเหล็ก 7 สมาคมจะประสานกันในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อรองกับกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับจีนใช้เหล็กที่ผลิตจากในประเทศด้วย โดยมองว่าการที่จีนพยายามใช้เหล็กในประเทศตัวเองในโครงการนี้เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐ 

ดวงฤทธิ์ ชี้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อ

ขณะที่ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Duangrit Bunnag' ในลักษณะสาธารณะด้วยว่า การใช้อำนาจม.44 เพื่อละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายข้อ เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่คำสั่งหัวหน้าคสช. ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี สั่งไป ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศดังต่อไปนี้ทันที ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services: (MRA) ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS)  General Agreement on Trade and Services (GATS) Nation Treatment (WTO) Most Favored Nation : MFN (WTO) Principle of Non-Discrimination (WTO) UIA Accord การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของชาวต่างชาติในประเทศไทย ไม่ได้ถูกควบคุมไว้แต่เพียง พ.ร.บ.สถาปนิกในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับข้อตกลงอาเซียน ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ และ อื่นๆอีกมากมาย

"ในการที่รัฐบาลนี้ ได้ใช้ม.44 ในการอนุญาตให้สถาปนิกจากจีนเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตนั้น แม้ว่าจะอนุญาตให้เป็นการเฉพาะ แต่ก็เป็นการเปิดช่องให้สถาปนิกจากชาติอื่นเข้าเจรจาภายใต้หลักการว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ (Principle of Non-Discrimination) ของ WTO ได้ทันที นั่นแปลว่าเราได้เปิดประตูให้สถาปนิกทุกชาติทั่วโลกในสนธิสัญญา WTO เข้ามาปฏิบัติวิชาชีพในไทยได้อย่างเสรีทันที โดยไม่ต้องขอในอนุญาตปฏิบัติวิชาชีพ เท่ากับเราเปิดเสรีให้กับวิชาชีพไปแล้วแบบไม่เท่าเทียม คนไทยทำอาชีพนี้ต้องสอบกันแทบตาย แต่ต่างชาติเดินหิ้วกระเป๋าเข้ามาทำงานได้เลย ตึกพังคนไทยตาย ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆแม้แต่น้อย" ดวงฤทธิ์ โพสต์

ดวงฤทธิ์ โพสต์ด้วยว่า ถ้ารัฐบาลมีสติปัญญาอีกนิดเดียว และปรึกษากันบ้าง ตนก็จะแนะนำให้สถาปนิกจีนที่จะเข้ามาทำรถไฟความเร็วสูงนี้ เข้ามาทำงานภายใต้เงื่อนไขของ 'ภาคีสถาปนิกพิเศษ' ซึ่งมีกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สถาปนิกอยู่แล้ว ในกรณีที่เข้ามาทำงานในโครงการของรัฐ เช่นเดียวกับที่เราทำสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ต้องมาใช้ม.44 สร้างความเสียหายให้กับวิชาชีพมากขนาดนี้

"บรรดาคนที่อยู่รายล้อมท่านนายกฯ เกิดมาโง่แล้วไม่ฟังใคร ก็ควรจะนอนอยู่บ้านนะครับ ถ้าฉลาดก็ควรจะปรึกษาสภาสถาปนิกก่อนจะทำอะไรที่ทำให้ปั่นป่วนกันระดับโลกขนาดนี้" ดวงฤทธิ์ โพสต์ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท