Skip to main content
sharethis

คลิปจากการเสวนาหัวข้อ De-centering Lanna History วิทยากรโดย สุวิภา จำปาวัลย์ อำนวยวิทย์ ธิติบดินทร์ และภูเดช แสนสา โดยผู้นำเสนอชี้ให้เห็นถึงปัญหาข้อจำกัด และมุมมองใหม่ๆ สำหรับการศึกษาล้านนาคดีอย่างน่าสนใจ

อ่านระหว่างบรรทัดตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
การเสริมสิทธิธรรมพระเจ้ากาวิละ

สุวิภา จำปาวัลย์ จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอเรื่อง ประเด็นแฝงเร้นในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ โดยหัวข้อนี้ผู้นำเสนอศึกษาร่วมกับเกริก อัครชิโนเรศ ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาคดี ทำการศึกษาตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และอื่นๆ ซึ่งเป็นเอกสารที่บันทึกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้ากาวิละ และมีการเขียนตำนานผูกใหม่ๆ แทรกขึ้นมาด้วย

โดยจุดมุ่งหมายของการแต่งตำนานเหล่านี้เพื่อรองรับสถานะ และสร้างสิทธิธรรมขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ของพระเจ้ากาวิละ และทำให้กลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ในสมัยเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง เพื่อสร้างสำนึกความเป็นหนึ่งเดียวกันทางประวัติศาสตร์

มองล้านนาผ่านความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
ข้ามขีดจำกัดรัฐชาติ และไปให้ข้ามภูมิภาค

อำนวยวิทย์ ธิติบดินทร์ นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เสนอการนิยามชุมชนทางการเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ 5 หัวเมืองในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ว่าเป็น Principality หรือรัฐที่ปกครองโดยเจ้าชาย ไม่ใช่ Kingdom หรืออาณาจักร เพราะถ้าเรียกว่า Kingdom ต้องมีผู้ปกครองคนเดียวเหนือดินแดนทั้งหมด แต่พบว่า 5 หัวเมือง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน นั้นบางครั้งขัดแย้งกัน ระบบการเงินใช้เงินตราคนละระบบ กฎหมายก็ใช้คนละระบบ

ถ้าอ่านบันทึกปี ค.ศ. 1887 ยังระบุว่าน่านมีกฎหมายเอกเทศ ถ้าอ่านบันทึกของเจ้าหน้าที่การทูตอังกฤษในช่วงปี ค.ศ. 1900 ต้นๆ ในช่วงที่มีปัญหากับสยามและฝรั่งเศส เพราะต้องแบ่งเขตแดนกับฝรั่งเศสที่บริเวณเชียงราย คนที่บอกว่าเขตแดนเชียงราย พม่า แล้วจะไปยูนนานอยู่ที่ไหน เป็นคนอังกฤษชื่อ วิลเลียม อาร์เชอร์ เสนอให้แบ่งเขตแดนที่แม่น้ำกก ถ้าตอนนี้ใช้แม่น้ำกก สยามจะเปลี่ยนไปจากนี้เยอะ แต่อาร์เชอร์เสนอให้ขึ้นไปอีก 30 กม. ทางเหนือ ไปใช้เขตแดนตรงแม่น้ำสายตรงท่าขี้เหล็ก อันนี้เป็นตัวอย่างของการขาดการเข้าถึงเอกสาร ซึ่งรู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่

ส่วนปัญหาที่สอง ผู้ศึกษาซึ่งศึกษาประเด็นการค้าทางไกลเรื่องวัวต่างในประเด็นเรื่องการขนเงิน สนใจพ่อค้าวัวต่างเอาเงินใส่ห่ออย่างไร ขนอย่างไร ลาตัวหนึ่งคนเงินได้อย่างไร เขาเสนอว่าพื้นที่ภาคเหนือของสยามหรือ Lanna Principality ที่เป็นทางผ่านของเงินรูปี เงินรูปีตรงนี้สามารถเชื่อมโยงไปได้ไกลถึงเมืองลาซาในทิเบต

เวลาดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ จะต้องพิจารณาการเคลื่อนที่ของสินค้า หรือขององค์กรทางธุรกิจ เมื่อเราดูสิ่งเหล่านี้จะพบว่าพื้นที่ภาคเหนือหรือ Lanna Principality มีขอบเขตความเชื่อมโยงที่ไกลออกไปจากที่ถูกจำกัดไว้มากกว่ารัฐชาติ

ตัวอย่างอีกประเด็น เช่น บันทึกของสหรัฐอเมริกาก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระบุว่าไม้สักจากภาคเหนือถูกส่งไปไกลสุดถึงโมซัมบิก ในแอฟริกาใต้

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นล้านนาเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นค่อนข้างมาก แต่ปัญหาที่เจอคือเวลาพูดคำว่าล้านนา เราจะพบเจอความขัดแย้ง ความย้อนแย้งว่าล้านนาคืออะไรกันแน่ เพราะถ้าล้านนาในความหมายขั้วทางการเมืองที่เข้าใจ ตัวเขาจะหมายถึงแค่เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ในขณะที่แม่ฮ่องสอนเป็นดินแดนที่ถูกแย่งชิงกันไปมาระหว่างสยามกับอังกฤษ ส่วนเชียงรายก็เป็นดินแดน แต่เป็นเพราะว่าอังกฤษอยากอยู่ไกลกับฝรั่งเศสมากที่สุด จึงยกดินแดนให้สยามเพื่อเป็นกันชนกับฝรั่งเศสในภาคพื้นทวีป

เราเข้าถึงเอกสารค่อนข้างน้อย เอกสารในหอจดหมายเหตุก็เป็นมุมมองของไทย ข้อเสนออีกประเด็นคืออาจต้องเริ่มกระบวนการที่พื้นฐานมากๆ คือดูวิธีการศึกษา และรวบรวมเอกสารสำหรับการศึกษาล้านนาใหม่

ปัญหาของการศึกษาล้านนา ไม่ได้แตกต่างจากการศึกษาในภูมิภาคอื่น ล่าสุดมีความพยายามของสมาคมเอเชียศึกษาที่สหรัฐอเมริกาที่พยายามให้มีการศึกษาข้ามพรมแดน ที่ไม่ใช่แค่ข้ามพรมแดนประเทศอย่างไทยพม่า แต่เสนอให้ศึกษาข้ามภูมิภาคเช่น ภาคเหนือของไทยกับภาคใต้ของจีน ภาคเหนือของไทยกับเอเชียใต้ ที่ยังมีคนทำค่อนข้างน้อย ทั้งนี้คิดว่าเรานั่งทับทรัพยากรที่มีค่าค่อนข้างมากแต่เราอาจไม่รู้ว่าในระดับโลก ในเวทีการแข่งขันระดับโลกยังมีความสนใจในพื้นที่ๆ เราทำอยู่ แต่อาจมีมองในมุมมองที่แตกต่างกันไป

สลายศูนย์กลางของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา

ภูเดช แสนสา มีข้อเสนอว่าจะพยายามสลายศูนย์กลางของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างไร ทั้งในประเด็นขอบเขตพื้นที่ ผู้คน เอกสารหลักฐาน และการตีความทางประวัติศาสตร์

ภูเดชยังชี้ให้เห็นถึงมายาคติอาณาบริเวณของล้านนา ที่ไม่ใช่แค่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และเอาเข้าจริงแล้วแต่ละยุคสมัยมีความไม่แน่นอน แลอาณาบริเวณยังเกี่ยวข้องกับพื้นที่รัฐชาติปัจจุบันทั้งไทย ลาว พม่า และจีน รวมทั้งข้อเสนอทบทวนโลกทัศน์ประวัติศาสตร์ล้านนา

นอกจากนี้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในอนาคต เขายังชี้ชวนให้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองบริวารใหญ่น้อยของล้านนากว่าร้อยเมืองทั้งภายในและนอกประเทศไทย ประวัติศาสตร์ชุมชนหมู่บ้าน ทั้งที่ราบและที่สูง ประวัติศาสตร์ชีวิตของชาวบ้าน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจล้านนา ฯลฯ เพื่อให้เห็นภาพรวมของความเป็น "ล้านนา" ในแต่ละยุคสมัยที่ดำเนินสืบเนื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน

เสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเวทีวิชาการ “ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่” เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับชมคลิปจากเวทีวิชาการ “ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่” ทั้งหมดที่ https://goo.gl/Ltzjrz

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net