'มีชัย' แจงเซ็ตซีโร่ กสม. เพื่อให้ที่มาสอดคล้องกับหลักการปารีส

ประธาน กรธ. แจง เซ็ตซีโร่ กสม. เพื่อให้ที่มาของ กสม.ไทยสอดคล้องกับหลักการปารีส แก้ปัญหาการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ด้านประธาน กสม. ค้านระบุหลักการปารีสไม่ได้กำหนดกระบวนการสรรหาว่าต้องมีกระบวนการเช่นนั้น

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 

20 มิ.ย. 2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการเซ็ตซีโร่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า การกำหนดให้สรรหา กสม. ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ที่มาของ กสม.ไทยสอดคล้องกับหลักการปารีส ซึ่งจะทำให้ กสม.มีความหลากหลาย และเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหาความขัดแย้งเหมือนในอดีต  เพราะ กรธ.ได้บัญญัติแก้ปัญหาในอดีตที่การทำงานของ กสม. มีลักษณะแบบต่างคนต่างทำ เปลี่ยนมาให้ใช้รูปแบบการทำงานแบบคณะกรรมการและหาข้อยุติด้วยการใช้มติร่วมกัน  พร้อมกับให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องที่ต้องการข้อมูลเป็นการเฉพาะได้   ทั้งนี้  ก่อนการยกร่าง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ทางกรธ.ได้มีการชี้แจงต่อคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(ICC) แล้ว ซึ่ง ICC ก็มีท่าทีพอใจกับการทำให้ที่มาของ กสม.ไทยมีความหลากหลาย  จึงเชื่อมั่นว่า เมื่อร่างกฎหมายลูกฉบับนี้มีผลบังคับใช้  จะทำให้ไทยได้รับการคืนระดับคุณภาพด้านสิทธิมนุษยชนของไทยกลับมาดีขึ้น 

ประธาน กสม. ค้าน มีชัย

ขณะที่เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา วัส ติงสมิตร ประธาน กสม.โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กสม. ที่ให้ประธาน กสม. และ กสม.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.ป.กสม.ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.ป.กสม.ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า กสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

วัส ติงสมิตร ประธาน กสม.

สำหรับเหตุผลของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่บอกว่า ต้องรีเซ็ต กสม.เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่ประเทศไทยถูกทักท้วงว่ามีปัญหาว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (หลักการปารีส) ซึ่งตรงกับเหตุผลในร่าง พ.ร.ป.กสม.ของ กรธ.ที่ระบุว่า กสม.ชุดปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับหลักการสากลเกี่ยวกับกระบวนการได้มา ซึ่ง กสม.จะต้องมาจากความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนั้น ประธาน กสม.กล่าวว่า เป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง เพราะหลักการปารีสไม่ได้กำหนดกระบวนการสรรหาว่าต้องมีกระบวนการเช่นนั้น

“กฎเกณฑ์ตามร่าง พ.ร.ป.กสม.ของ กรธ.ดังกล่าว ไม่มีปรากฏในหลักการปารีส" ประธาน กสม.กล่าว

ประธาน กสม.ย้ำอีกว่า หลักการปารีสกำหนดแต่เพียงว่า การกำหนดองค์ประกอบของสถาบันแห่งชาติควรประกอบด้วยสมาชิกของสถาบัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการเลือกตั้งหรือด้วยวิธีอื่นใด จะต้องเป็นกระบวนการที่มีหลักประกันที่ทำให้มั่นใจได้ว่าสถาบันจะเป็นตัวแทนที่หลากหลายของพลังทางสังคม หรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่จะทำให้สถาบันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับตัวแทนของกลุ่มต่างๆ หรือโดยผ่านการเข้าร่วมของตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ รวมทั้งองค์กรวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมทนายความ แพทย์ สื่อมวลชน

นอกจากนั้นก็เป็นกระแสแนวคิดทางปรัชญา ศาสนา รวมทั้งมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติเหมาะสม รัฐสภา และหน่วยงานต่างๆของรัฐ ซึ่งควรมีส่วนร่วมในการพิจารณาที่มีหน้าที่เพียงการให้คำแนะนำเท่านั้น ประธาน กสม.กล่าวว่า กรธ.คิดร่าง พ.ร.ป.กสม. ดังกล่าวมาได้อย่างไร เพราะเป็นการกำหนดที่เกินเลยจากหลักการปารีสค่อนข้างมาก ไม่ยืดหยุ่น และสรรหามาได้ยาก

“รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ กรธ. สร้างมาได้กำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาไว้ระดับเทพแล้ว ยังกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการสรรหามาเป็น กสม. ให้เกินเลยไปจากมาตรฐานสากล ซึ่งจะกลายเป็นปัญหายุ่งยากในการสรรหาทั่วไปและสรรหาซ่อมในอนาคตต่อไปได้” ประธานกสม.กล่าว

ส่วนประเด็นที่อ้างว่าการทำงานของ กสม.มีปัญหา หรือที่มาของ กสม.ชุดปัจจุบันขาดความหลากหลายจึงต้องรีเซ็ต กสม.ทั้งชุดนั้น ประธาน กสม. เห็นว่า ไม่ถูกต้องทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะ กสม. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นชุดที่ 3 นี้ มีผลงานออกมาทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศมากขึ้นและต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งองค์ประกอบของกสม.ชุดปัจจุบันก็มีความหลากหลาย มีทั้งอดีตข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับงานสิทธิมนุษยชน ผู้พิพากษา นักจิตอาสา และภาคประชาสังคม

ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า กสม.ชุ ดปัจจุบันสามารถทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างชัดแจ้งทั้งด้านการคุ้มครองสิทธิฯและด้านส่งเสริมสิทธิฯ 

“เมื่อเร็วๆนี้นายกรัฐมนตรียังได้มาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกับการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ กสม. ร่วมกับ 8 องค์กรพันธมิตรจัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง การเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก จนเป็นที่ชื่นชมทั้งภายในและระหว่างประเทศอันเป็นผลดีต่อประเทศโดยรวม” ประธาน กสม. ย้ำ

นอกจากนี้ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า การรีเซ็ตองค์กรอิสระใดๆ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้ที่อาสาเข้ามาทำงานที่ต้องละทิ้งงานเดิมมาทำงานให้องค์กรอิสระ

“งานของ กสม. น่าจะมีผลกระทบกระเทือนแน่นอน เพราะโครงการต่างๆกำลังเดินไปด้วยดี จะหยุดชะงักทันที” ประธาน กสม. ตอบคำถามที่ว่าหาก กสม.ถูกรีเซ็ตจะกระทบต่อการทำงานหรือไม่

ประธาน กสม. ชี้ให้เห็นทางออกของเรื่องนี้ที่จะทำได้มากที่สุดคือ เขียนในบทเฉพาะกาลของ พรป.องค์กรอิสระให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งเฉพาะรายที่เป็นบุคคลผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใหม่ ไม่ใช่ให้พ้นไปทั้งชุด เพราะไม่เป็นธรรมต่อผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระนั้น

ประธาน กสม. กล่าวย้ำในที่สุดว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาทั้งในด้านหลักการเขียนและการนำไปใช้ในทางปฏิบัติ จึงขอให้ผู้มีอำนาจในการเขียน พ.ร.ป.กสม.เปิดใจให้กว้าง พิจารณาให้รอบคอบ และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้อื่น ควรคิดแก้ไขปัญหาอื่นๆที่รอการแก้ไขอยู่ก่อนจะมาคิดรีเซ็ตองค์กรอิสระให้เกิดปัญหาเพิ่มไปอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท