ASEAN Weekly: พินิจความมั่นคงชายแดนพม่า-ประชาธิปไตยเปลี่ยนไม่ผ่าน

ASEAN Weekly สัปดาห์นี้ พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ พูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดุลยภาค ปรีชารัชช ชวนพินิจประเด็นความมั่นคงชายแดนพม่า หลังจากรัฐบาลพม่าได้รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่นำโดยประธานาธิบดีถิ่น จ่อ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจี ที่แม้จะมีการริเริ่มการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อผ่านมา 1 ปีเศษก็ยังไม่มีความคืบหน้า มิหนำซ้ำหลายพื้นที่สถานการณ์กลับย่ำแย่ เช่น การปะทะกันระหว่างพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือกับกองทัพพม่า หรือเหตุความไม่สงบจนบานปลายไปสู่วิกฤตมนุษยธรรมระลอกใหม่ในรัฐยะไข่

ทั้งนี้ดุลยภาคชี้ว่าความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ในพม่านั้นซ่อนปมชนวนมาเนิ่นนานและมีบริบททางประวัติศาสตร์ ร้าวลึก ยากที่จะประสาน แม้พม่าดูเข้าใกล้ประชาธิปไตยมากขึ้น มีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เหตุที่ยังมีความรุนแรง มีการปะทะทางทหารประปรายนั้น เป็นเพราะหนึ่ง ประเด็นคลาสสิกของพม่าที่มีสภาพเป็นรัฐซ้อนรัฐ และรัฐขุนศึก มีการเมืองของขุนศึกที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดอย่างเดียว แต่มีทั้งความคับข้องใจของชุมชนชาติพันธุ์ตนเองต่อการครอบงำของชนชาติพม่าแท้ และประเด็นในมิติเชิงทรัพยากรท้องถิ่นด้วย

สอง คำถามต่อมาคือ ตกลงพม่าเป็นประชาธิปไตยแบบไหนกันแน่ เพราะยังมีความขัดแย้งซ้อนอยู่ คำตอบอาจไม่ได้กินความเฉพาะประเด็นการทหารอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงมิติในเชิงศาสนาและชาติพันธุ์เพราะความรุนแรงไม่ใช่แค่เฉพาะในรัฐยะไข่ แต่ยังอยู่ในโครงสร้างรัฐและสังคม

โดยดุลยภาคเสนอด้วยว่าปัจจุบันพม่าเป็นรัฐเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนผ่านจากรัฐเผด็จการอำนาจนิยมเต็มพิกัดใต้เงากองทัพ ไปสู่รัฐเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตย คือเนื้อในยังมีความเป็นเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งสะท้อนลักษณะของระบอบพันธุ์ทาง หรือระบอบลูกผสม (Hybrid) มีทั้งของเก่าและของใหม่มาปะทะกัน ซึ่งบางทีก็รอมชอม บางทีก็ยันกัน พม่าในปัจจุบันจึงเป็นรัฐเปลี่ยนผ่านจากรัฐอำนาจนิยมแบบเข้ม ไปสู่รัฐอำนาจนิยมแบบอ่อน และหากเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เชิงบวกก็อาจนำไปสู่การโจนทะยานมีประชาธิปไตยที่เป็นปึกแผ่น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพม่าอยู่ในช่วงตั้งไข่ กำลังแปลงสัณฐาน เปลี่ยนรูปโฉมไปสู่องค์ประกอบแบบประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง ได้รัฐบาลพลเรือน แต่ความรุนแรงยังคงมีอยู่ ซึ่งเหตุไม่ใช่แค่กองทัพพม่าห้ำหันกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความรู้สึกของผู้คนในพม่าเองที่อาจจะไม่พอใจชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในประเทศ โดยพม่าอยู่ในทางแพร่งที่มี 2-3 ทางเลือก 

ได้แก่ หนึ่งไปทางประชาธิปไตยเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องระวังระบบเลือกตั้งแบบกินรวบ เอื้อให้ชนชาติพม่าแท้ แต่ไม่เอื้อให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิมีเสียง ซึ่งผิดฝากับประชาธิปไตยประเภทที่สอง คือประชาธิปไตยแบบแสวงหาฉันทามติ ที่จะเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในพม่ามีส่วนรวมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

นอกจากนี้ ทางแพร่งที่สามคือประชาธิปไตยแบบสมานฉันท์ หรือ Consociational Democracy ที่ให้ชนกลุ่มน้อยเข้ามาแบ่งอำนาจปกครอง ซึ่งเหมาะกับโครงสร้างรัฐที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งถ้าพม่าสามารถพัฒนาประชาธิปไตย 2 ข้อหลังนี้ได้ก็จะแก้ไขจุดอ่อนของระบบการเมืองพม่าได้ อย่างไรก็ตาม พม่ายังคงอยู่ในจุดของประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมาก ใช้ระบบ Winner takes all ใช้ความมั่นคงเป็นตัวตั้ง ซึ่งพม่ายังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยบนพื้นฐานของสังคมที่แตกแยก ร้าวลึก เปราะบาง ซึ่งรัฐอื่นๆ ที่มีโครงสร้างเหมือนรัฐพม่าเน้นย้ำเรื่องนี้ แต่กรณีของพม่าประเด็นเหล่านี้ยังคงถูกตีตกไป

ติดตาม ASEAN Weekly ย้อนหลังที่ 

https://www.facebook.com/AseanWeekly/ หรือ https://www.youtube.com/prachatai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท