Skip to main content
sharethis

กทม. ทหาร ลงพื้นที่ป้อมมหากาฬร่วมกับชาวชุมชนและนักวิชาการต่อเนื่องเป็นวันที่สอง พิจารณาคุณค่า 5 ด้านของบ้าน ประชุมสรุปครั้งต่อไปวันที่ 2 -3 ก.ค. พร้อมเสนอข้อมูลต่อผู้ว่า กทม.และรัฐบาล

22 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการลงพื้นที่เพื่อพิจารณาคุณค่าบ้านเป็นวันที่ 2 ต่อจากวานนี้(21 มิ.ย.60) โดย คณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1) ชุมชนและนักวิชาการ 2) กรุงเทพมหานคร  3) ทหาร

พรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ลงสำรวจชุมชนเพื่อพิจารณาคุณค่าบ้านเป็นวันที่สอง หลังจากนี้จะมีการประชุมสรุปของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 2-3 ก.ค. ที่จะถึงนี้ และจะนำเสนอผลที่ได้ต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานคร แม่ทัพภาค 1 และคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ต่อไป

“สองวันนี้มีการให้ข้อมูลตามความเป็นจริงว่าเราอยู่มานานเท่าไร ทำไมต้องอยู่ เพราะเรามีประวัติชุมชน มีศิลปวัฒนธรรม ตามข้อเสนอ 5 ด้านที่นักวิชาการเสนอไว้ ถ้าถามว่าพอใจไหม ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าอยู่ได้หรือไม่ แต่ก็มีการสรุปในเรื่องของบ้าน แต่ถ้าความพอใจของชุมชนก็คือได้อยู่ที่นี่ต่อ”

พรเทพ ยังกล่าวอีกว่า “วันที่ 2 -3 ก.ค. นี้ จะต้องดูข้อมูลชุมชนและข้อมูลเพิ่มเติมจากนักวิชาการ และจะนำข้อมูลนี้นำเสนอต่อผู้ว่า กทม. แม่ทัพภาค 1 และรัฐบาลต่อไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่เราและชุมชนต้องการ ไม่ใช่แค่รักษาบ้านและคุณค่าบ้านไว้อย่างเดียว แต่ต้องมีคนด้วย ถ้าต้องอนุรักษ์บ้านแล้วคนออกไปมันก็ไม่มีคุณค่าของชุมชนและไม่เห็นวิถีชีวิต”

เว็บไซต์มติชน รายงานว่า มีการลงพื้นที่พิจารณาคุณค่าบ้านเป็นวันที่ 2 ต่อเนื่องจากวานนี้ โดยมีคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ลงพื้นที่ โดยในวันนี้เป็นการพิจารณาบ้านที่ “ถูกแขวน” คือ เป็นบ้านที่ กทม. ยังไม่ตัดสินใจในการดำเนินการ เช่น บ้านเลขที่ 107 ลักษณะบ้าน 2ชั้น ตั้งอยู่ริมคลองโอ่งอ่าง ซึ่ง ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ให้ความเห็นว่า มีความสำคัญโดยตั้งอยู่บนแนวแกนตรอกพระยาเพชรปาณี สะท้อนคุณค่าสังคมและกลไกการจัดการและการพัฒนาชุมชน

จากนั้นคณะกรรมการ 3 ฝ่ายได้ไปยังบ้านเลขที่ 179 ที่นักวิชาการระบุว่าเป็นบ้านที่แสดงหลักฐานการตั้งชุมชนบ้านไม้ชานพระนครและมีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และ บ้านเลขที่ 159  ระบุว่ามีข้อมูลว่าสร้างก่อนพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ.2535 ประเด็นสำคัญคือ ตัวบ้านมีการอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2495 ซึ่งขัดแย้งกับฐานข้อมูลข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ระบุว่ามีผู้ย้ายเข้ามาในปี พ.ศ.2532

สุดจิต เศวตจินดา สนั่นไหว สมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ กล่าวว่า บ้านหลายหลังที่มีการพิจารณาคุณค่าในวันนี้อาจดูเหมือนบ้านธรรมดา ไม่คงทนถาวร แต่ก็สะท้อนถึงความพยายามแก้ปัญหาของมนุษย์ ที่จะทำให้ตนสามารถอยู่อาศัยได้ เป็นภาพแห่งความจริงของชีวิต หากฝืนทำสวนสาธารณะหลังกำแพง จะกลายเป็นสวนที่เปล่าเปลี่ยว ไม่ได้อะไร

ขณะที่ สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ กล่าวว่า เวลามีการถกเถียงในประเด็นกฎหมาย ตนอยากแสดงความเห็นว่า เมื่อครั้งที่มีการเวนคืนนั้น กทม.กระทำในช่วงที่ชุมชนไม่ได้มีโอกาสปกป้องตัวเอง เนื่องจากสังคมไทยในช่วงเวลานั้นยังไม่เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ ปัญหาที่ชุมชนป้อมมหากาฬได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นผลมาจากโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติตั้งแต่ปีพ.ศ.2502 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ต้องมีการรื้อถอนบ้านและย้ายชุมชนที่อยู่ในแนวกำแพงป้อมมหากาฬออกทั้งหมด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทำเป็นสวนสาธารณะแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ต่อมา กทม.ทำการเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ.2535 ตั้งแต่นั้นก็มีปัญหาไล่รื้อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปีนี้มีการรื้อถอนบ้านเรือนไปแล้ว 19 หลัง อย่างไรก็ตาม ชาวชุมชนป้อมมหากาฬก็มีการต่อสู้เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยโดยใช้แนวคิดการพัฒนาสวนสาธารณะป้อมมหากาฬด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามกระบวนการ co - creation ที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและการออกแบบจากทุกภาคส่วน (ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ) รวมถึงมีการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ 1. ชุมชนและนักวิชาการ 2. กรุงเทพมหานคร และ 3. ทหารที่เข้ามาเป็นคนกลาง โดยมีความพยายามหาทางออกด้วยการพิสูจน์คุณค่าของบ้านแต่ละหลัง โดยบ้านที่จะได้รับการอนุรักษ์ต้องมีการพิสูจน์ให้ครบถ้วนทั้ง 5 ด้านด้วยกัน คือ 1) ด้านคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ 2) ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง 3) สังคมและวิถีชีวิต 4) โบราณคดีและการตั้งถิ่นฐาน และ 5) คุณค่าในด้านวิชาการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net