Skip to main content
sharethis
ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนปฏิรูปการเมือง สปท. เผยชงปฏิรูปงานรัฐสภา เลิกจัดสรรงบไปดูงานต่างประเทศของ กมธ. ส.ส.-ส.ว. หลังพบแฝงไปเที่ยว พร้อมเสนอเลิกจัดหาโน้ตบุ๊ก อ้างมีสมาร์ทโฟนกันอยู่แล้วจะไปซื้อให้สิ้นเปลืองทำไม 
 
24 มิ.ย. 2560 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ในการประชุม สปท.วันที่ 27มิ.ย. กมธ.จะเสนอรายงานการปฏิรูปการปฏิบัติงานในรัฐสภาให้ที่ประชุม สปท.ให้ความเห็นชอบ โดยสาระสำคัญ คือการปฏิรูปการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติให้เกิดประสิทธิ ภาพในทางปฏิบัติ อาทิ การเสนอยกเลิกการจัดสรรงบประมาณการศึกษาดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ
       
นายเสรี กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมา กมธ.ทั้งสองสภามักจัดสรรงบประมาณจำนวนมากไปดูงานต่างประเทศแต่ละปีหลายครั้ง โดยใช้ภาษีของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติพบว่า แฝงการไปท่องเที่ยว จึงควรยกเลิกการดูงานต่างประเทศทั้งหมด หากกมธ.คณะใดอยากไปดูงานต่างประเทศต้องออกงบประมาณเอง ยกเว้นการเดินทางไปประชุมองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ หรือประชุมทวิภาคีระหว่างรัฐสภาต่างประเทศให้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการเดินทางไปราชการโดยเคร่งครัด นอกจากนี้ยังเสนอให้ยกเลิกการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวแบบพกพาให้แก่สมาชิกรัฐสภาด้วย เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาทุกคนมีสมาร์ทโฟนที่มีคุณภาพเทียบเท่าเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาที่รัฐสภาจัดให้สมาชิกอยู่แล้ว หากไปจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ให้อีกจะสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
       
นายเสรีกล่าวว่า ขณะเดียวกัน กมธ.ยังมีข้อเสนอเรื่องการสร้างมาตรฐานจริยธรรมสมาชิกรัฐสภา โดยเสนอให้มีการตราข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยระบุให้ชัดเจนว่าพฤติการณ์แบบลักษณะใดเป็นการผิดจริยธรรมที่ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง รวมทั้งจะมีบทลงโทษเช่นใดบ้าง เพราะที่ผ่านมาประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาขาดความชัดเจนในการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม เพราะไม่ได้กำหนดระดับความร้ายแรงของการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมและบทลงโทษที่ชัดเจนไว้ ดังนั้นจึงควรมีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมให้ชัดเจน หลังจากเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว โดยนำมาตรฐานจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญวางมาตรฐานกลางไว้มาบังคับใช้ ทั้งนี้กมธ.มีข้อเสนอขั้นตอนการลงโทษการกระทำผิดจริยธรรมตามระดับความร้ายแรงดังนี้ 1. กรณีฝ่าฝืนจริยธรรมไม่ร้ายแรงอาทิ การขาดประชุม การเซ็นชื่อโดยไม่เข้าประชุม ให้มีบทกำหนดโทษว่ากล่าวตักเตือน และให้ผู้ฝ่าฝืนลงนามรับรองการฝ่าฝืนในครั้งนั้น เป็นลายลักษณ์อักษร หากมีการฝ่าฝืนจริยธรรมเกิดขึ้นอีก ผู้ฝ่าฝืนต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการขอโทษต่อที่ประชุมสภา หากยังกระทำผิดมากกว่าสองครั้งขึ้น ถือเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก ถือว่าเข้าข่ายกระทำผิดร้ายแรง
       
นายเสรีกล่าวว่า 2.กรณีฝ่าฝืนจริยธรรมที่ร้ายแรง เช่น การเสียบบัตรแทนกัน การใช้ความรุนแรงชกต่อย การขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ หรือการแสดงพฤติกรรมคุกคามข่มขู่สมาชิกด้วยกันในห้องประชุมสภา รวมถึงพฤติกรรมประพฤติผิดศีลธรรมที่กระทบต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ต้องถูกลงโทษทั้งทางประมวลจริยธรรม และทางสังคมควบคู่กันไปด้วย อาทิ การขอโทษต่อที่ประชุมสภา การตัดสิทธิต่างๆเช่นค่าเดินทาง ค่าตอบแทน การขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมถึงการให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อเท็จจริงการกระทำผิดให้สาธารณชนรับทราบโดยทั่วกัน นอกจากนี้ยังให้มีบทลงโทษทางแพ่งร่วมด้วย เช่น การปรับเงิน 1 แสน - 5 แสนบาท ทั้งนี้การจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมภายในองค์กรเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติตนของสมาชิกให้เป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรม ให้คัดเลือกจากบุคคลที่มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นที่ประจักษ์ เป็นผู้ที่สมาชิกให้ความเคารพศรัทธาโดยใช้มติเสียงข้างมากของที่ประชุมสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net