นิธิ เอียวศรีวงศ์: รัฐบาลทหารกับการเลือกตั้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คนที่ห่วงที่สุดว่าจะมีการเลือกตั้งหลังงานออกพระเมรุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ น่าจะเป็นคณะทหารที่ทำการยึดอำนาจบ้านเมืองมากว่า 3 ปีมากกว่านักการเมือง เพราะการเลือกตั้งจะเป็นความชอบธรรมเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่แก่พวกเขา ถึงอย่างไรรัฐธรรมนูญก็เขียนให้การสืบทอดอำนาจโดยตรงหรือโดยแฝงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว

นับตั้งแต่การรัฐประหารใน 2490 เป็นต้นมา การเลือกตั้งและผลของการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำหนดขึ้นเองทั้งนั้น และหากไม่นับรัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับเดียว ผู้มีอำนาจย่อมรวมทหารอยู่ด้วยเสมอ และถืออำนาจกำกับผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดบ้าง บางส่วนบ้างเสมอมา ฉะนั้น นายกฯ ทหาร หรือรัฐบาลทหาร จึงไม่เคยลงจากตำแหน่งเพราะแพ้การเลือกตั้งสักที ถึงอย่างไรก็รวบรวมเสียงสนับสนุนในสภาให้พอจัดตั้งรัฐบาลทหารได้เสมอ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง ก็ต่อเมื่อทหารทำท่าว่าจะกลับเข้ากรมกองเพื่อเตรียมรบกับตำรวจ แทนที่จะยืนเท้าสะเอวปกป้องรัฐบาลอยู่เบื้องหลังต่อไป เช่นเดียวกับ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลงเลือกตั้งเพราะไม่มีกองทัพหนุนหลังแล้ว ส่วน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ พลเอกสุจินดา คราประยูร ไม่เคยและไม่คิดจะสมัครรับเลือกตั้งเลย

แน่นอนครับ การได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง (บางส่วนหรือทั้งหมดก็ตาม) ย่อมเป็นความชอบธรรมทางการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เป็นความชอบธรรมที่ไม่แข็งแกร่งเท่ากับได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ของสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกในพรรคของตนเองเกินครึ่ง ยิ่งมากมายท่วมท้นขึ้นไปเท่าไร ก็ยิ่งไม่ต้องอาศัยความชอบธรรมจากทางอื่นมากขึ้นเท่านั้น

(ลองนึกเถิดว่า ถ้าทักษิณ หรือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้นำกองทัพด้วย จะหมดท่ากันไปสักเท่าไรแล้วนี่)

แปลกดีนะครับ ทหารเองเป็นผู้กำหนดกติกาของการเลือกตั้งและผลของการเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ แต่กลับไม่กล้าลงเลือกตั้ง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเลือกตั้ง และสืบมาจนถึงทุกวันนี้ กองทัพไม่สามารถสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่ตนเองได้ ต้องอาศัยความชอบธรรมในการยึดอำนาจจากภายนอกกองทัพเสมอมา

ไม่ต่างจากกองทัพฟิลิปปินส์ (อาศัยความชอบธรรมจากกลุ่ม cacique หรือเจ้าพ่อท้องถิ่นซึ่งใช้การเลือกตั้งเป็นการจัดสรรอำนาจระหว่างกัน) กองทัพพม่า (ใช้บทบาทการกู้ชาติและรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของสหภาพเป็นความชอบธรรมทางการเมืองของตน แต่เป็นความชอบธรรมที่ไม่แข็งแกร่งนัก เพราะวิธีรักษาเอกภาพของสหภาพที่กองทัพทำอยู่ ไม่บังเกิดผลมากไปกว่าตัวหนังสือในกฎหมาย และทำให้ต้องใช้วิธีบีบบังคับด้วยความรุนแรงสูง)

แม้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นสรวงสวรรค์ของนักการเมืองในคราบทหาร แต่รูปแบบของการถืออำนาจทางการเมืองของกองทัพไม่จำเป็นต้องเหมือนฟิลิปปินส์-พม่า-ไทย (อาศัยความชอบธรรมจากภายนอก) อย่างเดียว กองทัพกัมพูชาและอินโดนีเซียลงเลือกตั้ง และสร้างความชอบธรรม (ส่วนหนึ่งที่ใหญ่พอสมควร) จากผลการเลือกตั้ง สามารถครองอำนาจได้อย่างสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน…เกิน 3 ทศวรรษ… ทั้งคู่

ในกรณีกัมพูชา ความจำเป็นในการจัดเลือกตั้ง อาจมาจากสหประชาชาติ ซึ่งเป็นผู้นำยุติความขัดแย้งในกัมพูชา และร่างรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายซึ่งขัดแย้งกันอยู่ (รวมจีน, ไทย และสหรัฐ ซึ่งไม่อยู่ในสนามรบโดยตรงหรือโดยเปิดเผย) ยอมรับได้ รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ จึงบังคับให้มีการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กองทัพกัมพูชาซึ่งประกอบด้วยพลพรรคเขมรแดงทางภาคตะวันออก ซึ่งรอดพ้นจากการกวาดล้างของเขมรแดงฝ่าย พล พต (ซึ่งมีฐานกำลังทางทหารที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของตาม็อก) จะถืออำนาจต่อไปในกัมพูชาได้อย่างไร

ผมอยากให้สังเกตด้วยนะครับว่า การเลือกตั้งในกัมพูชาไม่ได้เพียงให้ความชอบธรรมแก่ผู้ถืออำนาจจากประชาชนกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว ยังได้ความชอบธรรมจากมหาอำนาจที่แทรกแซงกัมพูชาอย่างหนักอยู่ในเวลานั้น โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปตะวันตก ซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือหลักแก่การฟื้นฟูกัมพูชา การเลือกตั้งในกัมพูชา ยังทำให้จีนสบายใจขึ้นที่กัมพูชาไม่เป็นต้นเหตุให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับตะวันตกด้วย

การเลือกตั้งจึงดีแก่ทุกฝ่ายมากกว่าที่กองทัพกัมพูชาจะยึดอำนาจแล้วฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งภายใน 1 ปี

นับเป็นโชคดีของกองทัพกัมพูชา ท่ามกลางความจำเป็นที่การแย่งชิงอำนาจต้องไปอยู่ที่หีบบัตรเลือกตั้ง กองทัพได้ ฮุน เซน เข้ามาเป็นผู้นำ เพราะเขาฉลาดทางการเมือง ตัดสินใจไม่พลาด และกล้าตัดสินใจในยามฉุกเฉินได้ทันท่วงทีเสมอ อันที่จริงแล้ว ฮุน เซน ก็เด่นอยู่เหมือนกันในบรรดากองกำลัง “แนวร่วมเพื่อเพื่อความหลุดพ้นแห่งชาติ” (United Front for National Salvation) แต่ไม่ใช่คนเด่นที่สุด ผู้ที่น่าจะเป็นผู้นำของที่แท้จริงของ “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” คือ จันสี (Chan Sy) ซึ่งถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน (จนบัดนี้ก็ไม่มีใครแน่ใจว่าเขาตายตามธรรมชาติหรือไม่) และทำให้ ฮุน เซน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน 1985 (2528) สืบมาจนทุกวันนี้

ผมอยากให้สังเกตตรงนี้ด้วยว่า ผู้นำกองทัพของประเทศที่อยู่ภายใต้เผด็จการทหารเป็นเวลานานๆ นั้น ไม่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำเพราะอยู่ใน “เส้นสาย” ที่ถูกต้อง แต่ต้องผ่านการชิงไหวชิงพริบกันมาในกองทัพอย่างหนัก ฉวยจังหวะได้ทันท่วงที ใช้ความสามารถทางการเมืองและการทหารที่จะทำให้ฝ่ายอื่นกลุ่มอื่นยอมรับหรือต้องยอมรับ จึงสามารถเถลิงอำนาจขึ้นเป็นผู้นำกองทัพได้ เนวินของพม่าก็ใช่ ซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซียก็ใช่ และผมคิดว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ใช่ (ในระดับหนึ่ง)

แม้ว่าบนเส้นทางที่พวกเขาขึ้นสู่อำนาจนั้น อาจมีคนบาดเจ็บล้มตาย หรือตกทุกข์ได้ยากอยู่มากบ้างน้อยบ้างก็ตาม แต่กองทัพจะได้ผู้นำที่มี “ฝีมือ” (ด้านดีด้านร้ายหรือทั้งสองด้านก็ตาม) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฮุน เซน เป็น “เผด็จการ” ที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเสมอมา ไม่ใช่ชนะเลือกตั้งเฉยๆ แต่ชนะอย่างท่วมท้นด้วย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นเมื่อเร็วๆ นี้ พรรคฝ่ายค้านสามารถนำผู้สนับสนุน 50,000 คน เดินขบวนในพนมเปญก่อนวันเลือกตั้งได้ แต่ในวันเดียวกันนั้น ฮุน เซน นำผู้สนับสนุนพรรคประชาชนกัมพูชาของตน 150,000 เดินขบวนไปตามถนนในพนมเปญด้วย เขาไม่เข้ามามีบทบาทในการหาเสียงเลือกตั้งมานานแล้ว แต่เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้อาจชี้ชะตาการเมืองของเขาในการเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า เขาจึงต้องแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นเสียหน่อย

พรรคของ ฮุน เซน มีมวลชนครับ แม้เป็นมวลชนจัดตั้ง แต่ก็เป็นมวลชนที่เทคะแนนให้เขาในคูหาเลือกตั้งได้จริง

ฮุน เซน รู้มาตั้งแต่ต้นแล้วว่า การเลือกตั้งจะเป็นความชอบธรรมที่แข็งแกร่งของเขา ฉะนั้น เขาจะวางนโยบายและดำเนินการทุกอย่างที่จะทำให้วางใจได้ว่า เขาจะชนะการเลือกตั้ง และเพื่อบรรลุเป้าหมาย เขาสร้างระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่ใหญ่มาก อันมีตัวเล่นใหญ่ๆ คือข้าราชการ, กองทัพ, ธุรกิจเอกชน และอำนาจท้องถิ่น แต่เขาไม่ได้รอให้พวกเหล่านี้ไปกดขี่บังคับเอาคะแนนเสียงจากประชาชนให้เขา (หากทำเช่นนั้น ป่านนี้เขาคงหมดอำนาจไปนานแล้ว เพราะตัวเล่นใหญ่ๆ ในระบบอุปถัมภ์ย่อมล้มเขาลง เพื่อเอาคนอื่นขึ้น หรือเป็นเสียเอง… แหะๆ ประชารัฐนั้นไม่ให้ความมั่นคงแก่อำนาจทางการเมืองแก่ใครสักเท่าไร) ตัวเขาเองต่างหากที่เป็นผู้ดึงคะแนนเสียงได้

เพราะ ฮุน เซน วางนโยบายให้เป็นที่ชื่นชมอย่างจริงใจจากประชาชนระดับล่างด้วย รัฐบาล ฮุน เซน ทำนโยบายพัฒนาชนบททั่วประเทศ ดึงเอางบประมาณมาสร้างโรงเรียน, สร้างสะพาน, สร้างถนน, สร้างวัด และสร้างคลองส่งน้ำ อันเป็นนโยบายที่รัฐบาลสีหนุ หรือลอนนอลไม่เคยทำมาก่อน ถึงเขมรแดงทำ ก็ทำในลักษณะที่คนชนบทไม่ได้ประโยชน์โดยตรง นอกจากนี้ พรรคประชาชนกัมพูชายังแจกเงิน, แจกจักรเย็บผ้า และแจกเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ฯลฯ แก่ผู้คนในชนบทอีกด้วย อันเป็นสิ่งที่คนชนบทอยากได้มานานแล้ว แต่ไม่เคยได้มาไว้เป็นของตนสักที – ทุกชิ้นเขียนข้อความว่าเป็น “อำนวย” (ของขวัญ) จากท่านนายกฯ ฮุน เซน

ฮุน เซน และพรรคของเขาจึงชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอยทุกที ยิ่งชนะก็ยิ่งล้ำเส้นได้มาก เช่น เด็ดหัวหรือเด็ดตัวฝ่ายค้านที่ทำท่าจะมีอนาคตทางการเมืองออกเสียแต่เนิ่นๆ (ระเบิดบ้าง ปืนบ้าง ตั้งข้อหาจับเข้าคุกบ้าง) บางคนอาจจะแย้งว่าเพราะล้ำเส้นต่างหากจึงทำให้ชนะเลือกตั้งขาดลอย ก็อาจเป็นได้ทั้งนั้นนะครับ

แต่ขอให้สังเกตด้วยว่า พรรคฝ่ายค้านทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่เคยสามารถวางนโยบายหาเสียงให้แตกต่างจากพรรคของ ฮุน เซน ได้เลย พรรคฝ่ายค้านที่เสนอทางเลือกเชิงนโยบายอันเดียวกับรัฐบาล จะไปเลือกมันทำไมครับ

สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ ฮุน เซน เป็นเผด็จการทหารที่เล่นการเมืองมวลชนเป็นครับ นี่เป็นคุณสมบัติที่มักไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง แต่ทำให้เผด็จการทหารกัมพูชาแตกต่างจากเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน และมีความสำคัญมาก

เผด็จการทหารอีกคนหนึ่งที่ “เล่น” หรืออย่างน้อยก็ “จัดการ” กับการเมืองมวลชนเป็นคือนายพลซูฮาร์โต เช่นเดียวกับ ฮุน เซน เขาได้อำนาจเด็ดขาดในช่วงที่ประเทศเพิ่งหลุดพ้นจากภาวะเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจอย่างถึงที่สุด ความช่วยเหลือของอเมริกันที่หลั่งไหลกลับเข้ามา ก็ทำให้โฉมหน้าของอินโดนีเซียเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแล้ว ยังไม่พูดถึงการลงทุนจากต่างชาติ ที่พากันเข้ามาดูดซับทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างจากอินโดนีเซีย ซ้ำราคาน้ำมันในตลาดโลกยังสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้นำรัฐบาลมีเงินมากพอจะขยายและพยุงระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในกองทัพ, ข้าราชการ, นักการเมือง และผู้นำท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งแรกหลังได้อำนาจใน 1971 (2514) พรรคร่วมโกลคาร์ของซูฮาร์โตจึงได้ชัยชนะ และจะได้ชัยชนะเหนือพรรคอื่นๆ สืบต่อมาอีก 25 ปี

ซูฮาร์โตทำให้พรรคฝ่ายค้านทั้งหมด ไม่สามารถวางนโยบายที่เป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนชาวอินโดนีเซียได้ นโยบายของฝ่ายค้านไม่มีอะไรแตกต่างจากรัฐบาล ยกเว้นประเด็นพิเศษบางอย่างของพรรค เช่น ปกป้องศาสนาอิสลามจากการคุกคามของคนต่างศาสนา หรือขยายเสรีภาพให้แก่ประชาชน ฯลฯ โดยสรุปก็คือ มุ่งเรียกคะแนนเสียงจากคนเพียงบางกลุ่มเป็นพิเศษเท่านั้น

หากดูเฉพาะตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าซูฮาร์โตประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบกับสมัยซูการ์โน แม้ว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเหล่านั้นอาจกระจุกอยู่ในมือของบริษัทบริวาร และนายทุนจีนที่แวดล้อมประธานาธิบดีเพียงหยิบมือเดียว แต่ก็ก่อให้เกิดการจ้างงานและการไหลสะพัดของเงินตราไปถึงมือประชาชนในวงกว้างด้วย แม้เพียงน้อยนิดแต่ก็ดีกว่าไม่มีเสียเลย ที่เลือกพรรคโกลคาร์ตลอดมา ก็เพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านั้น

จริงอยู่ ควบคู่ไปกับนโยบายที่คนอินโดนีเซียพอใจแล้ว ซูฮาร์โตยังใช้อำนาจกดขี่บังคับไปพร้อมกัน ไม่ต่างจากเผด็จการทหารทั่วไป เช่น ตรวจข่าวหนังสือพิมพ์, ห้ามชุมนุม, จับกุมคุมขังปัญญาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ฯลฯ

แต่ทำทั้งหมดนี้เพื่อช่วงชิงความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ทำไปโดยไร้จุดมุ่งหมายมากไปกว่ารักษาอำนาจเถื่อนๆ ของตนเอาไว้

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเผด็จการทหารที่ไม่กลัวการเลือกตั้งเหมือนกัน เพราะนายพลเหล่านั้นรู้วิธีที่จะจัดการกับการเมืองมวลชน อันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในโลกปัจจุบันไปเสียแล้ว ซ้ำร้ายการเลือกตั้งยังเป็นความชอบธรรมที่มั่นคงกว่าความชอบธรรมจากทางอื่นใดทั้งสิ้นเสียด้วย

มีข้อที่น่าสังเกตว่า ทั้ง ฮุน เซน และซูฮาร์โต ต่างเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่มั่งคั่งนัก (หรือถึงยากจนทีเดียว) และแวดล้อมอยู่ในหมู่ชาวบ้านในชนบท ฮุน เซน อาจไม่จนเท่าซูฮาร์โต เพราะปู่ของเขาซึ่งเป็นจีนแต้จิ๋วเป็นเจ้าของที่นาผืนใหญ่ เขาจึงสามารถเข้ามาพนมเปญเพื่อบวชเณรและศึกษาเล่าเรียนได้ตั้งแต่อายุ 13 และเพิ่งเข้าร่วมกับเขมรแดงเมื่อนายพลลอนนอลยึดอำนาจใน 1970 (2513)

ส่วนซูฮาร์โตเกิดในครอบครัวที่แตกแยก ถึงพ่อรับราชการกับฮอลันดาก็มีตำแหน่งเล็กๆ คือเป็น “แก่ฝาย” ในท้องถิ่น ชีวิตวัยเด็กต้องพเนจรไปรับความอุปถัมภ์จากญาติฝ่ายมารดาบ้าง บิดาบ้าง แต่ก็เรียนหนังสือไปได้ไม่สูงนัก ต้องตัดสินใจไปเป็นทหารให้แก่กองทัพอาณานิคมของฮอลันดา แล้วไต่เต้ามาในอาชีพทหาร

ผมเชื่อว่า จะหานายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยไทยที่มีประวัติพอเทียบเคียงกับสองจอมเผด็จการนี้ไม่ได้ อีกทั้งกองทัพไทยก็ไม่เปิดโอกาสให้ลูกชาวบ้านซึ่งเป็นพลทหารได้ไต่เต้าขึ้นไปสู่ยศตำแหน่งสูงๆ ได้มากนัก (แทบจะไม่มีเอาเลยด้วยซ้ำ) นายทหารในกองทัพที่จะร่วมกันทำรัฐประหารจึงล้วนเป็นคนใน “ชนชั้น” กลาง อันมีแหล่งรายได้ที่ห่างไกลจากวิถีการผลิตทางเกษตรกรรมของชาวบ้าน (ที่จริงผมพูดอย่างนี้กับนักการเมืองไทยเกือบทั้งหมดก็ได้เหมือนกัน) และด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากมากที่เผด็จการทหารไทยจะหันไปแสวงหาความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง

หากถูกสถานการณ์บังคับ ก็พอใจจะ “ซื้อ” นักการเมืองมาร่วมพรรค หรือตั้งรัฐบาลผสม มากกว่าตั้งพรรคการเมืองของตนเองแล้วรณรงค์หาเสียงจริงจัง ทำให้ฐานความชอบธรรมยังอยู่ที่นักการเมืองซึ่งได้รับเลือกตั้งมากกว่านายกฯ อำนาจต่อรองของนายกฯ ที่มาจากเผด็จการทหารจึงมีน้อยลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ต้องกลับมาทำรัฐประหารใหม่อีกครั้งหนึ่ง อาศัยความชอบธรรมจากภายนอก แล้วก็ไม่รู้จะเดินต่อไปอย่างไร ดังเช่นรัฐบาลถนอม-ประภาสหลังรัฐประหาร 2514 ซึ่งไม่ได้รับความชอบธรรมจากภายนอก จึงจบเห่

ตราบเท่าที่ทหารไทยยังกลัวเลือกตั้ง รัฐบาลทหารก็ยังต้องอาศัยความชอบธรรมจากภายนอกกองทัพเสมอไป หากแหล่งภายนอกไม่ให้หรือไม่อาจให้ความชอบธรรมแก่อำนาจล้นเกินของกองทัพได้ เมื่อนั้นก็จะเหลือวิธีรักษาอำนาจอยู่อย่างเดียว นั่นคือความรุนแรง
 

 

ที่มา: www.matichonweekly.com

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 มิถุนายน 2560
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท