Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องตั้งผู้มีความรู้และความเข้าใจปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในระดับสากลเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ 

28 มิ.ย. 2560 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้มีความรู้และความเข้าใจปัญหากระบวนการ ยุติธรรมทางอาญาในระดับสากลเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ โดยระบุว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เรื่องการปฏิรูปตำรวจกำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ  ทั้งในส่วนของรัฐบาลเองโดยให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายรับผิดชอบ  รวมทั้งการแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ซึ่งยังไม่สามารถแถลงให้ประชาชนทราบได้ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่ชัดเจนนั้น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ เห็นว่า ปัญหาตำรวจที่สำคัญซึ่งประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานก็คือ ความยุติธรรมในการสอบสวนคดีอาญา อันเนื่องมาจากขาดการตรวจสอบจากพนักงานอัยการระหว่างสอบสวน ไม่สอดคล้องกับหลักการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสากล   ก่อให้เกิดปัญหาพนักงานสอบสวนถูกผู้บังคับบัญชาตำรวจสั่งไม่ให้รับคำร้องทุกข์จากประชาชนเพื่อลดสถิติคดี  หรือให้แจ้งข้อหาแก่บุคคลโดยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากระทำผิดเพื่อปิดคดี หรือการสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพในการหาตัวผู้กระทำผิดเสนอให้อัยการสั่งงดสอบสวน  หรือแม้กระทั่งการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานเพื่อเสนอให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง  หรือเมื่อสั่งฟ้องแล้วในที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง รวมทั้งกรณีที่มีผู้ต้องขังร้องเรียนว่าศาลได้พิพากษาลงโทษตนทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ หรือ ตกเป็น ”แพะรับบาป” และพยายามรวบรวมหลักฐานนำไปเสนอศาลให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่นับร้อยราย  ไม่ว่าจะเป็นกรณีคดี ครูจอมทรัพย์  คดีสองสามีภรรยาเก็บเห็ด เป็นต้น
 
ปัญหาการสอบสวนที่ไม่ได้เป็นไปด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศและสั่นคลอนความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรง การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้หากประสบความสำเร็จจะจุดเปลี่ยนสำคัญในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง แต่หากล้มเหลวจะทำให้สังคมไทยติดหล่มไปอีกนาน ซึ่งคุณสมบัติของประธานกรรมการปฏิรูปตำรวจ จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงทิศทางการปฏิรูปว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว
 
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ  (Police Watch) จึงขอเรียกร้องมายังท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาว่า  ในการคัดเลือกและแต่งตั้งบุคคลผู้จะเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 นี้  นอกจากจะต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ สุจริต  ไม่มีประวัติด่างพร้อย  และมีความกล้าหาญทางจริยธรรมเป็นที่ประจักษ์แล้ว  คุณสมบัติสำคัญที่สุดก็คือ  จะต้องเป็นมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในระดับสากลเป็นที่เชื่อถือยอมรับของผู้คนทั้งนักวิชาการและประชาชนทั่วไปทุกระดับด้วย    รวมทั้งขอเน้นให้ดำเนินการปฏิรูปตำรวจและระบบงานสอบสวนดังนี้
 
1. โอนหน่วยตำรวจที่มีกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เป็นเจ้าพนักงานตามกฏหมาย 9 หน่วยไปรับผิดชอบตามมติ สปช.และผ่านความเห็นชอบตามมติครม.แล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 
 
2. ให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีอาญาสำคัญหรือคดีที่มีโทษจำคุกเกินสิบปี หรือเมื่อมีประชาชนร้องเรียนตั้งแต่เริ่มคดี
 
3. การออกหมายเรียกบุคคลมาแจ้งข้อหาหรือเสนอศาลออกหมายจับให้เสนอพนักงานอัยการให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ
 
4. ปรับระบบงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนออกจากโครงสร้างองค์กรแบบมีชั้นยศแบบทหารที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะงาน  กำหนดหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลยพินิจทางคดีของพนักงานสอบสวนให้เป็นไปตามพยานหลักฐานและกฎหมายในลักษณะเดียวกับพนักงานอัยการ
 
สุดท้ายนี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจหวังว่าข้อเสนอ ทั้งการคัดเลือกบุคคลผู้จะแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการ   รวมทั้งแนวทางปฏิรูปตำรวจและระบบงานสอบสวนตามข้อ 1 –  4 จะได้รับการพิจาณาจากท่านและเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ไม่เป็นธรรมโดยเร็ว 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net