สุรพศ ทวีศักดิ์: ปัญญาชนกับการกลับสู่ประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“...คนมีโอกาสจะโหวตแบบคนเสื้อแดงมากกว่าแบบคนเสื้อเหลือง คนเสื้อเหลืองมีแนวโน้มเป็นเสียงข้างน้อยยาวนาน เพราะฉะนั้นความคับข้องใจคือ เลือกตั้งกี่ครั้งเขาก็ไม่ชนะ ถ้าเสียงข้างมากไปใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกลายเป็นทรราชเสียงข้างมาก คนที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ในระบบก็จะหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ ถ้าทั้งสองฝ่ายอยากกลับไปสู่ประชาธิปไตยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ และเข้าใจความคับข้องใจของกันและกัน แทนที่จะหาวิธีแบ่งแยกพวกเราพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะในกลุ่มปัญญาชนของทั้งสองฝ่าย มักมีถ้อยคำเหน็บแนมกระทบกระแทกคนอีกฝั่ง

ถ้าทั้งสองฝั่งอยากเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องเข้าใจ ให้เกียรติ และเห็นอกเห็นใจคนที่มีความคิดต่างทางการเมืองต่างจากตนมากขึ้น และหา "จุดร่วม" ร่วมกันเพื่อกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย และสร้างประชาธิปไตยในรูปแบบที่สมบูรณ์มากขึ้น “

บางส่วนจากปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ 2560 “ประชาธิปไตย กลไกตลาด รัฐ และทุน” โดยสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
(ที่มา http://prachatai.org/journal/2017/06/72102?utm_source=dlvr.it)

ผมตีความว่ามุมมองแบบนี้คือส่วนขยายของ “ทฤษฎี 2 นคราประชาธิปไตย” ที่ว่าคนต่างจังหวัด คนชนบทตั้งรัฐบาล คนชั้นกลางในเมืองล้มรัฐบาล ตอนนี้ก็ขยายมาเป็นเลือกตั้งกี่ครั้งฝ่ายเสื้อแดงก็ชนะเพราะเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ฝ่ายเสื้อเหลืองมีแต่แพ้ เพราะเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย

คีย์เวิร์ดอยู่ที่ข้อความว่า “ถ้าเสียงข้างมากไปใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกลายเป็นทรราชเสียงข้างมาก คนที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ในระบบก็จะหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ” ข้อความนี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับวาทกรรมทางการเมืองที่สร้างความเชื่อว่ามี “ทรราชเสียงข้างมาก” และประชาชนส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนเลือกรัฐบาลที่ต่อมากลายเป็นทราชเสียงข้างมาก ก็ยินดีกับการเป็นทรราชเสียงข้างมากด้วย หรือไม่สามารถมีวิจารณญาณที่ถูกต้อง และไม่ตรวจสอบ หรือไม่ต่อต้านอำนาจทรราชนั้นเลย จึงจำเป็นที่อีกฝ่ายต้องหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ

ผมไม่ได้ปกป้องทักษิณหรือพรรคเพื่อไทย และยังเห็นว่าพวกเขาทำสิ่งที่เป็นปัญหาหลายอย่าง ตามที่วิจารณ์กัน ตั้งแต่เรื่องฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรณีกรือเซะ ตากใบ มีข้อบกพร่องในโครงการรับจำนำข้าว เรื่อยมาถึงแทนที่จะนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองระดับชาวบ้าน กลับจะออกกฎหมาย “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” เป็นต้น

แต่ถ้าทั้งหมดนั้นอาจารย์สมเกียรติหรือฝ่ายเสื้อเหลืองจะเรียกว่า “ทรราชเสียงข้างมาก” แล้วจะเรียกรัฐบาล คสช.ว่าอะไร เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจาก “การใช้วิธีล้มโต๊ะ” ที่ไม่มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบในสภา และประชาชนก็ไม่มีเสรีภาพตรวจสอบ แต่ทำโครงการใหญ่ๆ ใช้งบประมาณมหาศาลกว่ารัฐบาลที่เรียกกันว่าทรราชเสียงข้างมากและออกกฎหมายอื่นๆ ทำสิ่งอื่นๆ มากกว่าอีกหลายเท่า

คำถามคือ มันมีการสร้างมายาคติ “ทรราชเสียงข้างมาก” ไหม? เหมือนกับการสร้างมายาคติเรื่อง “ความโปร่งใส ตรวจสอบได้” ที่เป็นวาทกรรมสงวนไว้ใช้กับนักการเมืองเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้กับรัฐบาลที่มาจากวิธีการล้มโต๊ะที่พวกตนสนับสนุน (ขณะที่เคยกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไม่ตรวจสอบรัฐบาลทรราชเสียงข้างมากที่พวกตนเลือกมา)

ย้อนไปประเด็น “เลือกตั้งเมื่อไรฝ่ายเสื้อแดงก็ชนะ” คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? ข้อเท็จจริงก็คือการเลือกตั้งเป็นเวทีต่อรองทางการเมืองเวทีเดียวที่เป็นรูปธรรมที่สุดของคนต่างจังหวัด คนชนบท ขณะที่ชนชั้นกลางในเมืองมีเครื่องมือต่อรองอื่นๆ ที่เหนือกว่าเช่น สื่อมวลชน เวทีวิชาการ สถาบันวิชาการ (อย่างทีดีอาร์ไอเป็นต้น) กองทัพ ศาลรัฐธรรมนูญและอื่นๆ ฉะนั้น การเกิดปรากฏการณ์เสื้อแดงที่ “ยึดการเลือกตั้ง” เป็นเวทีต่อสู้ต่อรองทางการเมืองมันก็คือผลสะท้อนจากการที่คนต่างจังหวัด คนชนบทมีเวที/เครื่องมือ/อำนาจต่อรองน้อยกว่ามายาวนานนั่นเอง

ขณะที่คนเสื้อเหลืองที่อาจารย์สมเกียรติบอกว่าเป็น “เสียงข้างน้อย” นั้น เป็นเสียงข้างน้อยที่ผูกโยงกับอำนาจรัฐราชการใช่หรือไม่ และมีอำนาจต่อรองทางการเมืองเหนือกว่ามาตลอดใช่หรือไม่ เช่นอำนาจต่อรองผ่านช่องทางสื่อ เวทีวิชาการ สถาบันวิชาการ เวทีการเมืองบนท้องถนนในกรุงเทพฯ และยังอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือต่อรองได้อีกด้วย (ซึ่งคนชนบท คนต่างจังหวัดไม่มีปัญญาใช้เครื่องมือต่อรองทางการเมืองที่ทรง “ประสิทธิภาพชั้นเทพ” นี้ได้เลย)

ก่อนรัฐประหาร 2549 พรรคไทยรักไทย (ขณะนั้น) เสื่อมความนิยมลงมากแล้วจากการเปิดโปงของ พธม.แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร จึงเกิดคนเสื้อแดง และยิ่งเกิดการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ยิ่งเกิดกระแสคนเหนือ คนอีสานเลือกพรรคการเมืองพรรคเดียว ขณะที่ภาคใต้เขาเลือกพรรคการเมืองพรรคเดียวมาก่อนหน้านานมากแล้ว

คำถามคือ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เสนอให้ใช้มาตรา 7 ไม่ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ไม่มีการสลายการชุมนุมที่มีคนตายร่วม 100 คน แต่ผู้สั่งการไม่มีความผิด และไม่มีแกนนำพรรคมาเป็นแกนนำ กปปส.จนทำให้เกิดการล้มเลือกตั้ง (เป็นต้น) มันจะเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าเลือกตั้งทีไรคนเสื้อแดงก็ชนะ

พูดตรงๆ คือ ถ้าเสื้อเหลืองและพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์มี “จุดยืน” ที่ชัดเจนหนักแน่นว่า จะต่อสู้ผลักดันวาระทางการเมืองของพวกตนผ่าน “กระบวนการประชาธิปไตย” เท่านั้น มันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดสภาวะทางการเมืองแบบเสื้อแดงชนะเลือกตั้งตลอด

ยิ่งเมื่อลงลึกในรายละเอียด ก็ไม่ใช่การเมืองระหว่างมวลชนเหลือง-แดงที่เป็นพลังมวลชนอิสระ แต่เป็นมวลชนที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกกันว่าระบบอำนาจรัฐราชการอย่างซับซ้อน และดำเนินไปภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่ระบบอำนาจรัฐราชการพยายามดึงอำนาจจากประชาชนมาไว้ที่พวกตนเองมากขึ้นโดยลำดับ (อย่างที่นักวิชาการอื่นๆ วิเคราะห์) เวลาพูดถึง “ทรราช” จึงไม่ได้มีแต่ “ทรราชเสียงข้างมาก” ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ก็นั่นแหละการพูดถึงทรราชจากการเลือกตั้งย่อมถนัดปากนักวิชาการยุคนี้มากกว่า เพราะปลอดภัยดี

ส่วนประเด็นที่ว่า “กลุ่มปัญญาชนของทั้งสองฝ่าย มักมีถ้อยคำเหน็บแนมกระทบกระแทกคนอีกฝั่ง” นี่ก็คล้ายกับข้อวิจารณ์ว่านักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยทำตัวเป็น “เจ้าสำนักเฟซบุ๊ก” และ “สำนึกหายไป” นั่นแหละ

เป็นข้อวิจารณ์ที่ไม่ดูบริบทและความซับซ้อนของปัญหา ละเลยหรือมองข้ามปัญญาชนที่มีส่วนสนับสนุน “วิธีการล้มโต๊ะ” ทั้งโดยตรงและโดยปริยาย ไม่พูดถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิชาการ สื่อจำนวนมากที่เข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลจากรัฐประหาร เป็นเนติบริกร รัฐศาสตร์บริกรเต็มไปหมด ขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐทั้งวิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย และใช้นักวิชาการฝ่ายตนเสนอความเห็นผ่านสื่อกระแสหลักได้ทุกช่องตลอดเวลา คุกคาม ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแม้กระทั่งทางเฟซบุ๊กตลอดเวลา สภาพการณ์ทั้งหมดมันคือเงื่อนไขให้เกิดปรากฏการณ์อย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลและอาจารย์สมเกียรติวิจารณ์นั่นแหละ

แต่ว่าตามจริง โลกของเฟซบุ๊กก็ไม่ได้เป็นแค่ที่วิจารณ์กันดอก ยังมีการสร้างความรู้ ความคิดที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” ในเรื่อง “ปัญหาแกนกลาง” มาก่อนที่ปัญญาชนผู้นำทางความคิดนำมาพูดถึงในปาฐกถาเสียอีก

สำหรับผม การแซะหรือกระแทกกันระหว่างปัญญาชนเหลือง-แดง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เป็นอุปสรรคของการกลับไปสู่ประชาธิปไตย เพราะเรื่องแซะหรือกระแทกกันในแวดวงปัญญาชนก็ไม่ได้มีแต่ยุคนี้ ถ้าจะหา “จุดร่วม” ต้องเริ่มจากทุกฝ่ายแสดง “จุดยืน” ปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย

พูดอย่างซีเรียสคือ ถ้าประเทศนี้มี “ปัญญาชน” อยู่จริง ย่อมจะเกิดพลังปัญญาชนสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยได้ ด้วยการที่ปัญญาชนเหลือง-แดง หรือฝ่ายเป็นกลาง หรือปัญญาชนของสถาบันวิชาการต่างๆ อย่างเช่นทีดีอาร์ไอเป็นต้น ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้กับนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิดอย่างไผ่ ดาวดิน และคนระดับชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ถูกขังลืม

ถ้าปัญญาชนในประเทศนี้ช่วยกันพูด ช่วยกันเขียน หรือรวมกลุ่มแสดงจุดยืนปกป้องสิทธิเสรีภาพของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือใครก็ตามที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือถ้าปัญญาชนทุกฝ่ายหรือที่ไม่เลือกฝ่ายร่วมกันส่งเสียงปฏิเสธการละเมิดสิทธิเสรีภาพจากอำนาจรัฐ และยืนยันวิถีทางประชาธิปไตยเป็นทางออกกันอย่างพร้อมเพรียงจริงๆ ก็ยังพอมีหวังครับ

แต่เท่าที่เห็น ปัญญาชนแถวหน้าที่นานๆ ทีจึงจะออกมาเทศนา ก็ไม่เคยพูดคำว่า #ปล่อยสมยศ #ปล่อยไผ่ เลยสักแอะ และแทบจะไม่เคยเห็นออกมายืนหยัดปกป้องเสรีภาพของคนทุกสี ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเท่าที่ควรจะเป็น นี่ไม่ใช่ “แซะ” นะครับ แต่พูดความจริง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท