Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




ในบรรดาประเทศที่ล้มเหลวในเรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั่วโลก ไทยน่าจะมาเป็นอันดับหนึ่ง จากความล้มเหลว น่าจะกำลังกลายเป็นหายนะอยู่ในขณะนี้ เมื่อแรงงานชาติต่างๆ ต่างพากันแห่ข้ามพรมแดนกลับบ้าน จาก พ.ร.ก.ประหลาดฉบับล่าสุดที่เพิ่งออกมาใหม่ ความแปลกประหลาดของตรรกะรัฐในการบริหารแรงงานที่ไม่ใช่ไทย ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่น่าจะเป็นครั้งที่สร้างความเดือดร้อน ล่มจม ให้กับผู้คนตั้งแต่ระดับครัวเรือนที่มีลูกจ้างทำงานบ้าน เลี้ยงดูเด็ก ไปจนกระทั่งธุรกิจขนาดใหญ่

รัฐไทยน่าจะเป็นรัฐที่ไม่มีทางพาตนเองให้พ้นจากอุดมการณ์สมัยสงครามเย็นได้ จนแล้วจนรอด ทั้งที่ประกาศตนเป็นประเทศ 4.0 และพยายามจะ neo-liberalize ในทางสำนวนโวหารในตลอดเวลาที่ผ่านมา น่าแปลกที่ในโลกยุคโลกาภิวัตร ที่ประเทศที่ด้อยพัฒนาทั้งหลาย ต่างพากันพยายามถีบตนเองทางเศรษฐกิจ หันมาคิดคำนวณว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างตลาดที่จะสามารถขูดรีดแรงงานให้เป็นสินค้าที่สร้างกำไรได้มากที่สุด แต่รัฐอย่างไทย วันๆได้แต่นั่งคิดว่า จะผลิตบัตรและเอกสารประเภทไหน จึงจะควบคุมแรงงานที่ไม่ใช่ไทย ไม่ให้เดินทาง ไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ไม่ให้ย้ายงาน ไม่ให้ทำอย่างอื่นนอกจากรับจ้างกับเป็นคนใช้ ไม่ให้ผันตัวไปขายของหรือประกอบการ ฯลฯ

ชายแดนจึงไม่ต่างไปจาก concentration camp ที่มีไว้กักกันนักโทษแรงงาน ให้ทำงานตามข้อกำหนดของรัฐเอกสารเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับกลไกของตลาด และธรรมชาติของการไหลเวียนของแรงงานในโลกทุนนิยมโดยสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับการใช้รัฐราชการในการบริหารเศรษฐกิจและกิจการทุกประเภท ความล้มเหลวไม่ได้เพียงเกิดจากการขาดสติปัญญาในการเข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป และสังคมมนุษย์ที่มีพลวัตเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากการขัดกันเองในหน่วยงานราชการ ความไร้ประสิทธิภาพ และการแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการคอรัปชั่น

ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ในทุกๆสองหรือสามปี แรงงานข้ามชาติจะถูกบังคับให้ต้องลงทะเบียนด้วยระบบเอกสารประเภทใหม่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นบัตรสีชมพู พาสปอร์ตสีม่วง พาสปอร์ตสีน้ำเงิน พาสปอร์ตสีแดง ใบอนุญาตตาม ม.14 ฯลฯ มิหนำซ้ำ กลไกในการควบคุมกำกับแรงงาน ก็ยังย้ายไปมา หรือแข่งกันเอง ระหว่างมหาดไทย กับกระทรวงแรงงาน

ในตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ผลผลิตจากการใช้ตรรกะแบบสงครามเย็นในการจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐราชการไทย จึงได้แก่ ความสิ้นเปลืองและ inflation ของเอกสาร กับระบบส่วยที่สร้างความร่ำรวยให้กับรัฐชายแดนที่รีดไถแรงงานผ่านวัตถุเอกสาร ในขณะเดียวกัน รัฐกลับไม่เคยสามารถสร้างระบบทะเบียนเพื่อควบคุมกำกับแรงงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือมีประสิทธิภาพเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงของตน/หรือของชาติตามที่มักอ้างได้ ในอำเภอชายแดนเช่นแม่สอด ตัวเลขแรงงานที่รัฐเพียรพยายามลงทะเบียนผ่านระบบบัตรสีชมพู ลดลงจาก 40,000 คนในปี 2557 เหลือเพียงครึ่งหนึ่งในปี 58 และ 59 ทั้งที่จำนวนแรงงานข้ามชายแดนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

การใช้รัฐราชการและกลไกเอกสารอันล้าหลังในการควบคุมจำกัดแรงงาน ทำให้ไทยน่าจะเป็นประเทศที่ทั้งแรงงานและนายทุน ต้องจ่ายเงินเพื่อลงทะเบียนในเอกสารใหม่ๆ ตลอดเวลา และจ่ายส่วยจากกระบวนการเอกสาร และช่องว่างจากระเบียบที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่แพงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ดิฉันคิดว่า ไม่น่าจะมีเมืองชายแดนที่ไหนในโลก ที่แรงงานต้องพิสูจน์อัตลักษณ์ของตนเองอยู่ตลอดเวลาผ่านเอกสาร ที่บ่อยและถี่ที่สุด และถูกรีดไถจากตำรวจมากที่สุดเท่าในไทย ในถนนแคบๆไม่กี่สายกลางเมืองแม่สอด มีตำรวจที่มักมาตั้งด่านตรวจจับเพื่อตรวจบัตรและรีดไถ ไม่ต่ำกว่ายี่สิบกว่าจุด ไม่นับด่านนอกเมืองอีกหลายด่าน ในขณะเดียวกัน กลุ่มทุนธุรกิจในเมืองชายแดนของไทย ก็เป็นธุรกิจในพื้นที่ที่มีต้นทุนสูงมากจากการต้องจ่ายส่วยเอกสารแรงงานให้กับรัฐในระดับต่างๆ นั่นอธิบายว่า เหตุใดค่าแรงในชายแดน จึงไม่เคยเหยียบอัตราขั้นต่ำ และเหตุใดการพยายามกดบังคับไม่ให้แรงงานไหลเข้าชั้นในเพื่อแสวงหางานที่มีค่าจ้างสูงกว่า จึงล้มเหลวมาโดยตลอด

เมื่อสองสามปีก่อน สมัยที่ดิฉันทำวิจัยอยู่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในฝั่งลาว ซึ่งนักธุรกิจจีนบริหารอยู่ พบว่ามีแรงงานพม่าไม่น้อยกว่า 10,000 คนทำงานอยู่ในเขตดังกล่าว แรงงานหลายราย อพยพมาจากไทย เมื่อถามว่าทำไม พวกเขาตอบว่า ถึงแม้ที่นี่จะทำงานหนักกว่ามาก หัวหน้างานชาวจีนกดขี่หนักกว่าคนไทย และค่าแรงจะไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่อยู่ที่นี่แล้วสบายใจกว่า ไม่มีตำรวจมารีดไถเรื่องบัตรให้ต้องคอยเสียส่วย หรือต้องคอยหลบหนีพวก ตม.มาคอยกวดจับเพื่อส่งกลับประเทศ

ในเขตดังกล่าว ไม่มีบัตรสารพัดสีให้ต้องไปต่อลงทะเบียนและจ่ายเงิน ที่นั่นรัฐแทบไม่ได้เข้ามายุ่มย่ามกับแรงงานข้ามชาติ การเป็น หรือไม่เป็นพลเมือง ไม่มีความสำคัญสำหรับตลาดเสรีนิยมใหม่ที่นั่น และที่น่าสนใจคือ แม้ว่าจะเป็นเขตที่มีแรงงานข้ามเข้ามาทำงานอยู่ตลอดเวลา กลับไม่พบว่ามีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ในพรมแดนชาติที่ยุติบทบาทและหน้าที่ด้านความมั่นคง (แม้ว่าจะชั่วคราวก็ตามที) และบทบาทของรัฐถูกแทนที่ด้วยกลไกตลาดเสรี เส้นแบ่งระหว่างบนดินและใต้ดิน หรือถูกกม. ผิดกม. กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย หรือไม่ทำเงินอีกต่อไป

ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษในชายแดนตะวันตกของไทยนั้น คงยังต้องเผชิญกับหายนะจากการใช้รัฐราชการที่ล้าหลัง และขาดสติปัญญาในการควบคุมชายแดนและแรงงานต่อไปอีกยาวนาน เสรีนิยมใหม่ภายใต้ระบอบทหารนี่ น่าจะพากันเจ๊งตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นเสียด้วยซ้ำไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net