Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

เมื่อวันพุธที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมาสำนักข่าวจากประเทศสหราชอณาจักรหลายสำนักรายงานถึงเหตุการณ์ชาวมุสลิมสองคนถูดสาดน้ำกรดใส่โดยไม่มีสาเหตุ ในย่านตะวันออกของกรุงลอนดอน สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า Jameel Muhktar และ Resham Khan ถูกจู่โจมทั้งๆที่พวกเขานั่งอยู่บนรถขณะติดไฟแดงในช่วงเช้าวันนั้น ทั้งสองคนได้รับบาดแผลไหม้รุนแรงบนใบหน้าและร่างกาย ถึงขนาดที่ Muhktar หนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายมีอาการอยู่ในขั้นโคม่าในช่วงแรก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่า ข่าวการถูกทำร้ายร่างกายของชาวมุสลิมคู่นี้ถือว่าเงียบเชียบมากเมื่อเทียบกับข่าวอื่นๆในบ้านเรา และอาจจะถือว่าได้รับความสนใจจากคนในประเทศสหราชอณาจักรน้อยเช่นกัน เมื่อเทียบกับข่าว “ก่อการร้าย” ที่เกิดขึ้นในสหราชอณาจักรก่อนหน้านี้

ในที่สุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน หลังจากที่อาการของ Muhktar ดีขึ้นแล้ว เขาก็ออกมาทำลายความเงียบอันแปลกแยกนั้น โดยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวหลายสำนักและตั้งคำถามกับคนทั้งโลกว่า “ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงไม่ถูกเรียกว่าเป็น "การก่อการร้าย" บ้างเล่า?”[1]

Muhktar ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นการล้างแค้นรึเปล่า แต่ว่าพวกเราคือคนบริสุทธิ์ พวกเราไม่สมควรที่จะต้องเจอกับอะไรแบบนี้ ผมไม่เคยเจอผู้ชายคนที่ลงมือทำร้ายผมมาก่อนเลย ผมไม่เคยมีปัญหากับใคร ญาติของผมเธออายุเพิ่งจะแค่ 21 ทำไมต้องมีคนทำอย่างนี้กับเราด้วย”[2]

“คุณลองคิดดูว่าถ้าเกิดบทบาทของพวกเราสลับกัน กลายเป็นคนเอเชียที่ทำร้ายคนอังกฤษผิวขาวโดยไม่มีสาเหตุ คนทั้งประเทศคงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การก่อการร้าย” แน่นอน”[3]

ผมคิดว่าประเด็นที่ Muhktar หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงนี้น่าสนใจไม่น้อย และผมก็เห็นด้วยกับเขาว่าถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นคนขาวที่ถูกทำร้าย กระแสข่าวคงจะไม่เงียบกริบเช่นนี้ และตามร้านขายหนังสือและอินเตอร์เน็ตคงเต็มไปด้วยพาดหัวข่าวขนาดใหญ่ถึงเหตุการณ์ก่อการร้ายชวนระทึกขวัญกลางกรุง

ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศสหราชอณาจักรเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นทั่วไป เช่นเดียวกับประเทศไทย ข่าวการเสียชีวิตของพระสงฆ์และทหารในภาคใต้มักจะได้รับความสนใจและได้รับการพาดหัวข่าวใหญ่โตพร้อมกับคำว่า “ก่อการร้าย” ในขณะที่การเสียชีวิตของชาวมุสลิมในภาคใต้นั้นแทบไม่มีพื้นที่เหลืออยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์เลยด้วยซ้ำ ทั้งๆที่งานวิจัยและสื่อกระแสรองจำนวนหนึ่งก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มีชาวมุสลิมมลายูจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในภาคใต้ไม่น้อยไปกว่าข้าราชการและชาวไทยพุทธเลย

ผมพยายามนึกหาคำตอบว่าทำไมสิ่งที่ Muhktar พูดจึงถูกต้อง ทำไมในชั่ววินาทีแรกที่เราเห็นข่าวนี้เราจึงไม่จัดมันว่ามันอยู่ในข่าวก่อการร้าย? ทำไมเหตุการณ์การทำร้ายชาวมุสลิมถึงได้รับความสนใจน้อยกว่าข่าวคนผิวขาวถูกทำร้าย? คำถามเหล่านี้ดึงผมให้กลับไปนึกหนังสือเกี่ยวกับการก่อการร้ายบางเล่มที่ผมได้อ่านเมื่อไม่นานมานี้ ผมขบคิดถึงเนื้อหาในหนังสือเหล่านั้นจนได้คำตอบว่า เหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย Muhktar และ Khan นั้น ไม่ถูกจัดเป็นการก่อการร้าย เพราะนิยามการก่อการร้ายกระแสหลักนั้นมันคับแคบจนเกินไป

หนังสือและงานวิจัยเกี่ยวกับการก่อการร้ายหลายชิ้นเห็นตรงกันว่า นิยามกระแสหลักของคำว่าก่อการร้ายนั้นมักจะถูกให้ความหมายโดยรัฐ เนื่องจากในยุคสมัยใหม่นี้รัฐเป็นหนึ่งในผู้เล่นทางการเมืองที่ทรงอำนาจที่สุด ดังนั้นนิยามก่อการร้ายที่เราใช้กันจึงมักจะถูกให้ความหมายโดยใช้รัฐเป็นศูนย์กลาง

พูดง่ายๆคือให้ความหมายก่อการร้าย โดยดูว่าใครเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐ ถ้ารัฐเป็นพระเอก ก็ย่อมมีตัวร้าย ซึ่งตัวร้ายในกรณีนี้ก็คือคนที่ต่อต้านรัฐ หรือก็คือผู้ก่อการร้ายนั่นเอง

เมื่อนิยามนี้ถูกผลิตซ้ำบ่อยๆเข้าผ่านหน่วยงานรัฐและสื่อต่างๆ แม้ทุกครั้งจะไม่ได้พูดถึงนิยามของมันอย่างชัดแจ้ง แต่การนำเสนอข่าวทุกครั้งประชาชนที่รับสื่อก็รับเอาความหมายโดยนัยของคำว่าก่อการร้ายไปโดยไม่รู้ตัว

เราเรียนรู้ไปโดยไม่รู้ตัวว่าก่อการร้าย จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการ "ต่อต้านรัฐ" เท่านั้น ทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย

การนิยามการก่อการร้ายว่าต้องเกี่ยวกับการต่อต้านรัฐเท่านั้น ทำให้ความรุนแรงต่อกลุ่มคนที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับรัฐ (เช่น ชาวมุสลิม คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิพลเมือง) ถูกจัดว่าไม่เป็นการก่อการร้ายโดยอัตโนมัติ เพราะการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐนั้นมิได้เป็นการต่อต้านรัฐแต่อย่างใด (ในบางกรณีอาจจะเป็นการช่วยเหลือรัฐด้วยซ้ำ) อย่างเช่นกรณีการทำร้ายร่างกาย Muhktar และ Khan เป็นต้น

การนิยามคำว่าก่อการร้ายที่คับแคบเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาหลายประการ และเป็นหนึ่งในอุปสรรคหลักในการต่อสู่กับการก่อการร้ายอย่างยั่งยืน ดังที่ผมจะแสดงให้เห็นต่อไปนี้

ปัญหาประการแรกที่เกิดจากนิยามก่อการร้ายที่คับแคบ คือ ปัญหาคนกลุ่มน้อยในสังคมถูกตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้ง่ายเกินความเป็นจริง เนื่องจากคนกลุ่มน้อยในสังคมมักจะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐเพราะมีอัตลักษณ์ของกลุ่มไม่ตรงกับอัตลักษณ์แห่งชาติ ฉะนั้น เมื่อคนกลุ่มนี้ใช้ความรุนแรงก็จะถูกมองว่าเป็นการต่อต้านรัฐหรือการก่อการร้ายโดยทันที ในขณะที่ คนผิวขาวหรือชาวพุทธที่เป็นคนส่วนมากต่อให้ทำร้ายคนมุสลิมก็จะไม่ถูกมองว่าเป็นการก่อการร้าย

นอกจากนี้ คำว่าก่อการร้ายนั้นมักโดนเชื่อมโยงกับชุดมายาคติอื่นๆอยู่เสมอ เช่น เมื่อเรานึกถึงการก่อการร้าย เรามักนึกถึงกลุ่มสุดโต่งทางศาสนา เรามีคำอธิบายไว้ในหัวก่อนแล้วว่า ก่อการร้ายนั้นเกี่ยวข้องกับศาสนา และศาสนาคือรากของปัญหา ฉะนั้น ถ้ามีการใช้ความรุนแรงที่ถูกจัดประเภทว่าเป็นการก่อการร้ายเกิดขึ้น เรามักจะเชื่อมโยงได้โดยทันทีว่า ผู้ที่นับถือศาสนาเดียวกับผู้ก่อการร้ายย่อมเป็นผู้ก่อการร้ายเช่นกัน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าความรุนแรงต่อคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับรัฐเกิดขึ้น ก็จะไม่ถูกนับรวมว่าเป็นการก่อการร้าย และชุดคำอธิบายที่ว่าการก่อการร้ายเกี่ยวข้องกับศาสนานั้นก็จะไม่สามารถนำมาใช้อธิบายได้ ดังนั้น เมื่อเกิดการทำร้ายชาวมุสลิมขึ้น เราจึงมักจะมองว่าความผิดที่เกิดขึ้นย่อมเกิดจากตัวบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือเชื้อชาติแต่อย่างใด เช่น ในกรณีของ Muhktar และ Khan สังคมมักจะมองว่าความผิดตกอยู่กับผู้สาดกรดเพียงคนเดียว ไม่ได้ตกอยู่กับคนผิวขาว หรือชาวคริสต์ทุกคน

เมื่อระบบคิดเช่นนี้เกิดขึ้น คนกลุ่มน้อยซึ่งถูกมองว่าไม่เป็นพวกเดียวกับรัฐจึงมักจะตกเป็นเป้าของการถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่นๆในสังคม

และน่าเศร้าที่คนกลุ่มน้อยเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มที่เปราะบาง (vulnerable) ในสังคมอยู่แล้ว และมักมีชีวิตลำบากกว่าเพื่อนร่วมสังคมคนอื่นๆแต่ต้น เพราะมีอัตลักษณ์ของกลุ่มที่ไม่เหมือนกับอัตลักษณ์ที่รัฐและคนส่วนใหญ่เชิดชู จึงจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหาอัตลักษณ์ของรัฐและระบบสังคมอย่างมากเพื่อให้กลมกลืนอยู่ได้ และยังไม่รวมถึงปัญหาการเป็นพลเมืองชั้นสอง การไม่ได้รับการดูแลจากรัฐเท่ากับสมาชิกคนอื่นๆ และการเลือกปฏิบัติ

ฉะนั้น เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ถูกเหยียบซ้ำด้วยนิยามก่อการร้ายแบบคับแคบและการตีตราทางสังคม คนกลุ่มนี้อาจถูกบีบให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่เหมือนพลเมืองทั่วไปได้ เช่น ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้เพราะหางานยากกว่า หรือเพราะไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะจากรัฐได้ จึงทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงกว่าคนปกติ

และเมื่อไม่สามารถใช้ชีวิตตามกรอบสมัยใหม่ได้ คนกลุ่มนี้อาจต้องใช้วิธีการรุนแรงเพื่อต่อสู้กับสังคมที่ไม่เหลือที่ยืนให้กับพวกเขา เช่น เมื่อหางานไม่ได้ก็ต้องปล้นชิง หรือ บางคนอาจหันไปเข้ากับกลุ่มก่อการร้ายจริงๆ เกิดเป็นวัฎจักรความรุนแรงที่ไม่สิ้นสุด และยิ่งตอกย้ำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อแบบฝังลึกลงไปอีกว่าคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะก่อการร้ายมากกว่ากลุ่มอื่น

ยิ่งไปกว่านั้น การนิยามการก่อการร้ายแบบคับแคบที่นับรวมเฉพาะการต่อต้านรัฐเท่านั้น เป็นการทำให้สังคมเมินเฉยกับ "การก่อการร้ายโดยรัฐ" และเป็นการให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงปราบปรามคนกลุ่มน้อยโดยอ้อม เช่น เรามักไม่มองว่าการทำร้ายชนกลุ่มน้อยโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพม่า, การฆ่าล้างชาวจีนในอินโดนีเซีย, การปราบปรามฝ่ายซ้ายของรัฐไทยในยุค 2490s-2520s, หรือการกำราบชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการก่อการร้าย ทั้งๆที่การใช้ความรุนแรงเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นการสร้างความหวาดกลัว (Terrorise) ให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อเป้าหมายทางการเมืองบางอย่างเช่นเดียวกับการก่อการร้ายแบบอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม รัฐส่วนใหญ่มักจะมีนิยามอื่นที่สวยหรูเพื่อใช้แทนคำว่าก่อการร้ายโดยรัฐอยู่แล้ว เช่น คำว่า “การจัดการกับผู้ก่อความไม่สงบ" หรือคำว่า “การสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคม” เป็นต้น

ปัญหาของการนิยามการก่อการร้ายที่คับแคบเช่นนี้ยังไม่หมด การนิยามการก่อการร้ายโดยเน้นรัฐเป็นศูนย์กลางยังทำให้เรามักจะคิดว่าการแก้ปัญหาต้องทำโดยรัฐและใช้กำลังทหารเท่านั้น เพราะการนิยามก่อการร้ายแบบคับแคบนี้แสดงให้เห็นเพียงว่าคู่ขัดแย้งมีแค่ ‘รัฐ’ และ ‘ผู้ต่อต้านรัฐ’ เท่านั้น และเมื่อมีผู้ต่อต้านรัฐก็ย่อมต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามเป็นธรรมดา ทั้งๆที่จริงๆแล้วปัญหาการก่อการร้ายส่วนใหญ่แทบไม่ได้เกิดจากประเด็นเรื่องการทหารเลย ผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ดีๆรู้สึกทะเยอทะยานอยากเป็นใหญ่ แล้วจะแบ่งแยกประเทศอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่แรงผลักดันที่ทำให้เขาก่อการร้ายมักจะมาจากความลำบากทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่น การได้รับการปฏิบัติแบบพลเมืองชั้นสอง การไม่มีสิทธิเสรีภาพเหมือนที่สมาชิกกลุ่มอื่นมี การไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการสาธารณะได้ จนไม่สามารถแข่งขันและปรับตัวในตลาดเสรีได้ การไม่สามารถแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มได้ รวมไปถึงปัญหาการถูกเหยียดหยาม และการถูกกลั่นแกล้งในสังคม เป็นต้น

เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในระยายาวจึงไม่ใช่แค่การใช้ยุทธวิธีแบบรัฐนำหรือใช้กำลังทหารนำ (state-led / military-led) เพียงอย่างเดียว เราต้องมองใหม่ว่าการก่อการร้ายไม่ใช่ปัญหา "ความมั่นคงของรัฐ (state security)" เหมือนที่นิยามการก่อการร้ายกระแสหลักชี้นำ แต่มันคือปัญหา "ความมั่นคงของมนุษย์ (human security)" ที่ไม่สามารถแก้ไขได้หากปราศจากความร่วมมือจากภาคประชาสังคม และมาตรการอื่นๆ เช่น การให้โอกาสทางการศึกษา การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ/ความยากจน และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มน้อย เป็นต้น[4]

เราควรระลึกอยู่เสมอว่าการก่อการร้ายนั้นเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการต่อต้านรัฐเท่านั้น แต่ตัวรัฐเองก็ก่อการร้ายได้เช่นกัน และเราเองในฐานะประชาชนในสังคมก็อาจจะมีส่วนในการสนับสนุนการก่อการร้ายอยู่ ผ่านการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และการผลิตซ้ำมายาคติบางประการโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

 

เชิงอรรถ

[2] แปลจาก “I don’t know if people are trying to retaliate. We’re innocent people. We didn’t deserve that. I’ve never seen this guy in my life. I don’t have any problems with anybody. My cousin is 21. She’s a business student. Why would anyone do that to us?”

[3] แปลจาก “if the roles had been reversed and an Asian man had attacked an English couple with acid, “the whole country knows it would be classed as a terror attack””

[4] ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาก่อการร้ายอย่างยั่งยืนได้ใน Nelles, W. (2003) Comparative Education, Terrorism and Human Security: From Critical Pedagogy to Peacebuilding? และ Sen, A. (2006) Identity and Violence: The Illusion of Destiny. 


เกี่ยวกับผู้เขียน: พสิษฐ์ วงษ์งามดี เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net