หลังใช้ ม.44 ยังไม่ชัดเจนว่าจะหยุดการไหลกลับของแรงงานข้ามชาติหรือไม่

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติระบุหลังใช้มาตรา 44 จะมีผลเลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราใน พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าวฉบับใหม่ และเปิดโอกาสให้นายจ้าง-ลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ แต่จะหยุดการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติหรือไม่ยังไม่ชัดเจน ต้องรอดูมาตรการอื่นๆ ขณะที่ผู้สังเกตการณ์แรงงานข้ามชาติเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ด่านแม่สอด-เมียวดีเผยว่าผู้คนเดินทางกลับฝั่งพม่าเนื่องจากกลัวผลกระทบจากกฎหมายฉบับใหม่ หลายคนขนข้าวของที่จะพอติดตัวได้ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงกลับไปด้วย บ้างขอกลับไปตั้งหลัก-บ้างขอกลับไปทำงานบ้านเกิด

000

ภาพหน้าแรกของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560

5 ก.ค. 2560 หลังจากที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา และมีรายงานการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเป็นจำนวนหลายหมื่นคนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงสัปดาห์นี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยมาตรการหนึ่งก็คือ ให้เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราในพระราชกำหนดฉบับใหม่ และให้นายจ้าง-ลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ภายใน 1 มกราคม 2561 นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นักวิจัยชี้ต้องดูมาตรการอื่นนอกจาก ม.44
ว่าจะส่งผลต่อการกลับของแรงงานข้ามชาติหรือไม่

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ (ที่มา: แฟ้มภาพ/MW)

ด้านอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ กล่าวถึงผลของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 ว่ามีผล 4 ประการ ข้อ 1 การเลื่อนการใช้บังคับ 4 มาตราในพระราชกำหนดคือมาตรา 101 มาตรา 102 มาตรา 119 และมาตรา 122 ทำให้ยังไม่มีการใช้บทลงโทษกรณีการไม่มีใบอนุญาตทำงาน กรณีจ้างคนงานที่ไม่มีใบอนุญาตไปจนถึง 1 มกราคมปี 2561

ข้อ 2 ให้นายจ้างและคนงานดำเนินการให้ถูกกฎหมายฉบับใหม่ โดยกรณีที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปดำเนินการให้ถูกต้อง จะได้รับการยกเว้นการดำเนินการตามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งวิธีการในส่วนของรายละเอียดต้องรอดูประกาศของ รมว.กระทรวงแรงงาน

ข้อ 3 ห้ามเจ้าหน้าใช้อำนาจมิชอบกับคนงาน หากฝ่าฝืนให้ผู้บังคับบัญชาเอาผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

และข้อ 4 ให้กระทรวงแรงงานไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายใน 120 วัน ในการปรับปรุงให้มีการรับฟังความคิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามจากข้อ 4 เชื่อว่าหากกระทรวงแรงงานนำไปปรับปรุงแก้ไขคงไม่รื้อพระราชกำหนดทั้งฉบับ เพราะทั้งฉบับมีถึง 160 มาตราและลงรายละเอียดมาก แต่ก็ดูมีจุดขัดแย้งพอสมควร เพราะอีกด้านหนึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เตรียมนำพระราชกำหนดมาพิจารณาและลงมติรับรองให้เป็นพระราชบัญญัติ และถึงแม้ สนช. จะลงมติรับรองแล้วมาตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อแก้ไข ก็จะไปขัดกับการดำเนินการของกระทรวงแรงงานตามคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือไม่

ทั้งนี้นอกจากการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แล้วในช่วงรัฐบาล คสช. ยังมีการออกพระราชกำหนด ในกรณีที่รัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายเร่งด่วน โดยในปี 2558 เคยมีการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งก็เป็นมาตรการที่ประกาศออกมารวดเร็วและสร้างผลกระทบเช่นเดียวกับพระราชกำหนดล่าสุดนี้

เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางกลับภูมิลำเนาระลอกใหญ่ของแรงงานข้ามชาติก่อนหน้านี้ อดิศรชี้ว่าในช่วงปี 2557 ภายหลังรัฐประหารก็มีแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชาซึ่งไม่มั่นใจในสถานการณ์ในไทยเดินทางกลับระลอกใหญ่และขนข้าวของส่วนตัวกลับไปด้วย แต่หลังจากมีการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ คนงานก็ค่อยเดินทางกลับเข้ามาใหม่ แต่ในกรณีของปี 2560 ปัจจัยที่ทำให้แรงงานเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด นอกจากปัจจัยจากฝ่ายของแรงงานแล้ว ยังมีปัจจัยจากนายจ้างที่เกิดความไม่มั่นใจที่จ้างงานด้วย หลังมีมาตรการและการเพิ่มบทลงโทษตามพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ ซึ่งปัจจัยจากนายจ้างไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงของการเดินทางกลับระลอกใหญ่ในปี 2557

ต่อคำถามที่ว่าหลังการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 33/2560 จะส่งผลต่อการเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติหรือไม่ อดิศรกล่าวว่ายังไม่ชัดเจน โดยต้องพิจารณาประกอบกับมาตรการอื่นๆ ที่จะติดตามมาหลังจากนี้ด้วย

อนึ่งก่อนหน้านี้เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนโดยชี้ว่าการจัดการนโยบายแรงงานข้ามชาติไม่จำเป็นต้องตราเป็นพระราชกำหนด และรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ทั้งยังเรียกร้องให้ยุติมาตรการกวาดล้างจับกุมแรงงานข้ามชาติ ออกมาตรการด่วนที่จะสร้างความมั่นใจต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการว่ามาตรการการจัดระบบแรงงานข้ามชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เพื่อยับยั้งการไหลออกของแรงงาน สืบเนื่องจากมีกระแสข่าวการปิดล้อมจับกุมแรงงานข้ามชาติ ในหลายพื้นที่ ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ผู้สังเกตการณ์เผยสถานการณ์แรงงานพม่าเดินทางกลับด้าน อ.แม่สอด
มีทั้งขอกลับไปตั้งหลัก และขอกลับไปทำงานบ้านเกิด

แรงงานข้ามชาติจากพม่าเดินทางข้ามชายแดนไทยด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก มาถึงเมืองเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง เพื่อเตรียมเดินทางกลับภูมิลำเนาในหลายพื้นที่ของพม่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 (ที่มา: รวีพร ดอกไม้/เอื้อเฟื้อภาพ)

 

ด้านรวีพร ดอกไม้ ผู้ประสานงานคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ซึ่งสังเกตการณ์การเดินทางกลับของแรงงานจากประเทศพม่าด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก และเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ให้ข้อมูลว่าหลังบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน จนถึง 3 กรกฎาคม 2560 มีแรงงานจากพม่าเดินทางกลับที่ด่านชายแดนด้าน อ.แม่สอด แล้ว 27,000 ราย และหากนับถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ตัวเลขอาจสูงถึง 30,000 ราย

สำหรับแรงงานที่เดินทางเพื่อข้ามแดนที่ด่าน อ.แม่สอด มีทุกเพศทุกวัย และส่วนมากไม่ได้เดินทางกลับเพื่อไปร่วมงานบุญเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่สำคัญในฝั่งพม่า แต่เดินทางกลับเนื่องจากกลัวผลกระทบจากการออกพระราชกำหนดฯ ฉบับใหม่ โดยจำนวนมากนอกจากกระเป๋าเสื้อผ้าแล้วยังนำสิ่งของที่พอนำกลับไปได้ เช่น พัดลม และบางคนก็มีนำสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นแมวกลับไปด้วย

สำหรับเอกสารประกอบการทำงานนั้น เท่าที่ได้สอบถามมีทั้งผู้ที่เข้าเมืองตามขั้นตอนแต่ไม่ได้ต่ออายุหลังพ้นกำหนดในบัตรอนุญาตทำงาน อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาตทำงานตามช่องทาง MOU รวมทั้งผู้ที่ไม่มีเอกสารทำงาน ในจำนวนนี้มีบางรายที่เดินทางกลับ หลังจากนายจ้างบอกให้กลับภูมิลำเนาเพื่อให้กลับมาทำเอกสารให้ถูกต้อง และมีหลายรายที่เดินทางกลับเพราะญาติที่บ้านโทรศัพท์มาบอกให้รีบกลับหลังทราบข่าวว่าทางการไทยใช้กฎหมายฉบับใหม่

ทั้งนี้เท่าที่นักวิจัยมีโอกาสพูดคุยกับแรงงานที่เดินทางกลับ หลายรายระบุว่าหลังจากทราบข่าวต้องการเดินทางกลับไปตั้งหลัก หรือดำเนินการเรื่องเอกสารให้เรียบร้อยแล้วกลับมาทำงานเมืองไทยใหม่ แต่ก็มีหลายรายบอกว่าจะไม่กลับมาแล้วโดยจะกลับไปทำนาที่บ้าน บ้างก็ระบุว่าจะไปหางานทำในย่างกุ้ง ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวหลังพม่าเปิดประเทศ

โดยวิธีการเดินทางกลับนั้น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในจังหวัดที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เช่น ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฯลฯ เป็นผู้จัดหาพาหนะสำหรับขนส่งแรงงานมาที่ด่านชายแดน โดยเท่าที่สอบถามแรงงานที่โดยสารมากับรถที่ ตม. ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่มีบางส่วนที่แรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาชายแดนเพราะเหมารถพาหนะมาเอง

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ ตม.ฝั่งไทย และ ตม.พม่า ด้านเมืองเมียวดีจะจัดหาพาหนะสำหรับรับแรงงานกลับภูมิลำเนา โดยไปส่งทุกเมืองในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงที่ติดต่อกับชายแดนไทย รวมทั้งไปส่งถึงภาคย่างกุ้ง แต่ในส่วนของแรงงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ห่างจากชายแดนด้าน อ.แม่สอด เช่น มาจากภาคสะกายและรัฐคะฉิ่น ซึ่งมาจากตอนเหนือของพม่า เจ้าหน้าที่พม่าจะพาไปส่งที่เมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองชุมทางในรัฐมอญ ก่อนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาอีกทอดหนึ่ง

นอกจากการแจกน้ำดื่มและอาหารสำหรับรับประทานระหว่างการเดินทางแล้ว เจ้าหน้าที่ในฝั่งพม่ายังมีการแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่จะกลับมาทำงานที่เมืองไทย เตรียมเอกสารและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอีกด้วย และเท่าที่สอบถามการจัดพาหนะให้แรงงานจากพม่าในฝั่งเมืองเมียวดียังไม่พบว่ามีการเก็บค่าใช้จ่ายกับผู้ที่เดินทางกลับแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท