โรงเรียนในสวีเดนไม่จำกัดเด็กด้วยเรื่อง 'ชาย-หญิง' ช่วยส่งเสริมโอกาสมากขึ้น

ในสวีเดนมีโรงเรียนอนุบาลของรัฐที่มีความก้าวหน้าในเรื่องเพศสภาพมากในระดับที่ไม่เข้าไปกำกับการแสดงออกทางเพศของเด็กหรือแบ่งแยกเพศเด็กแบบเหมารวม ซึ่งมีงานวิจัยชี้ว่าการทำเช่นนี้เด็กจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น

ล็อตตา ราจาลิน เมื่อครั้งพูดในงาน TEDx (ที่มา: YouTube/TEDx Talks)

6 ก.ค. 2560 ล็อตตา ราจาลิน ผู้อำนวยการของโรงเรียนอนุบาลแห่งดังกล่าวในสวีเดนเคยขึ้นพูดบนเวที TEDx เมื่อไม่นานมานี้ว่าโรงเรียนอนุบาลของเธอไม่แบ่งแยกเพศนักเรียนด้วยของเล่นที่ต่างกัน เด็กที่มีเพศกำเนิดเป็นชายหรือหญิงต่างก็สามารถเล่นตุ๊กตา หุ่นยนต์ ตัวต่อไม้ หรือรถของเล่น ได้มีหุ่นยนต์ที่สวมกระโปรงบัลเลต์โดยไม่ระบุว่าเป็นเพศใด

นอกจากเรื่องของเล่นแล้วโรงเรียนแห่งนี้ยังไม่จำกัดการแสดงออกในเรื่องต่างๆ โดยอ้างเพศในเชิงแบ่งแยกด้วย ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเก็บความรู้สึกโกรธ เด็กผู้ชายไม่จำเป็นต้องถูกกดดันให้ไม่ร้องไห้ แต่ละคนมีบุคลิกในแบบของตัวเองไม่ว่าจะเป็นโผงผางหรือแสดงออกมากน้อยได้ตามที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสมกับตัวเอง

ราจาลินเล่าว่าโรงเรียนของเธอจะไม่แปะป้ายทางเพศให้กับเด็ก ครูที่โรงเรียนจะถูกสอนไม่ให้เรียกเด็กว่าเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง แต่จะนับพวกเขาเป็นเด็ก เป็นมนุษย์ และเป็นเพื่อน ในประเทศสวีเดนมีคำบสรรพนามเรียกแทนคนอื่นที่เป็นกลางทางเพศอย่าง "เฮน" (Hen) ที่บัญญัติขึ้นเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งได้รับการบรรจุในพจนานุกรมทางการเมื่อ 2 ปีที่แล้วนี้เอง โดยคำว่า "เฮน" ถูกใช้แทนสรรพนามระบุเพศของภาษาสวีเดนอย่างคำว่า "ฮาน" (Han) และ "ฮน" (Hon) ได้

ในแง่ที่ว่าการเรียนการสอนที่ไม่ระบุเพศเช่นนี้จะส่งผลดีต่อเด็กหรือไม่นั้น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุปซอลาของสวีเดนที่ตีพิมพ์ในวารสารการทดลองจิตวิทยาเด็กระบุว่าเด็กที่เข้าโรงเรียนอนุบาลแบบที่ไม่กำหนดบทบาทางเพศมักจะเข้าไปเล่นกับเด็กที่เป็นเพศตรงข้ามมากกว่าและมักจะไม่รับอิทธิพลการเหมารวมทางเพศเมื่อเทียบกับเด็กที่ได้รับการสอนแบบกำหนดบทบาททางเพศทางวัฒนธรรมทั่วๆ ไป แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นว่าจะทำให้เด็กไม่แยกเพศเลยระหว่างชายหญิงเลย

เบน เคนวาร์ด นักวิจัยด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยอุปซอลาและอ็อกฟอร์ดบรูกส์เป็นคนเขียนการวิจัยเรื่องที่ให้เด็กได้เรียนโดยไม่แบ่งแยกทางเพศ เขาอธิบายถึงผลลัพธ์ว่าเด็กที่ได้เรียนแบบนี้มีแนวโน้มจะไม่เหมารวมทางเพศและไม่แบ่งแยกโดยอาศัยเพศเป็นข้ออ้าง เคนวาร์ดยอมรับว่างานวิจัของเขาอาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่ยังมีกลุ่มตัวอย่างไม่มากพอ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยต่อยอดออกไปพยายามจะค้นคว้าว่าการศึกษาระดับอนุบาลแบบเป็นกลางทางเพศนั้นจะทำให้เด็กประสบความสำเร็จมากขึ้นหรือไม่ แม้ว่าผลการวิจัยจะยังไม่ออกมาเป็นทางการแต่นักวิจัยที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อควอตซ์ระบุว่าหลักฐานการวิจัยชี้ให้เห็นแนวโน้มไปในทางนั้น คือเด็กที่มีการสอนอย่างเป็นกลางทางเพศจะมีพัฒนาการทางการเล่นและการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนหลากหลายมากกว่าเพราะได้เล่นของเล่นแบบที่ไม่ถูกจำกัดตามเพศ ทำให้เด็กมีพัฒนาการดีและมีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคตมากขึ้น

ในทางตรงกันข้ามมีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาพบว่าการแบ่งบทบาทในห้องเรียนโดยใช้เพศส่งผลลบต่อทั้งเด็กชายและเด็กหญิงเท่าๆ กัน เช่น เด็กผู้ชายมักจะได้รับการส่งเสริมให้เล่นตัวต่อมากกว่าซึ่งจะได้รับการพัฒนาเกี่ยวกับพื้นที่ ส่วนเด็กหญิงมักจะถูกคาดหวังให้ต้องยอมตามคำชี้แนะของผู้ใหญ่มากกว่าซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการได้ผลการเรียนที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าเด็กผู้ชายเป็นพวกอยู่ไม่นิ่งอยู่แล้วเป็นความเชื่อที่ส่งผลให้เด็กชายมีผลการเรียนทางลบด้วย

นอกจากนี้ยังเคยมีงานวิจัยเรื่องพัฒนาการเด็กปี 2553 ที่ระบุว่าเด็กที่ถูกสอนแบบเน้นว่าสองเพศต่างกันมากเกินไปมักจะไม่ค่อยเล่นกับคนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเพศตรงข้าม ในสวีเดนเองก็มีการแก้ไขกฎหมายให้โรงเรียนรัฐในทุกระดับต้องส่งเสริมนโยบายและการสอนเป็นกลางทางเพศมาตั้งแต่ปี 2541 แล้ว อย่างไรก็ตามกรณีของราจาลินเป็นกรณีแรกๆ ที่เน้นเรื่องความเป็นกลางทางเพศในเด็กระดับอนุบาล

แน่นอนว่าการกระทำที่ก้าวหน้าของราจาลินก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เธอเคยให้สัมภาษณ์ต่อนิวยอร์กไทม์เมื่อปี 2555 ว่าเธอได้รับจดหมาย อีเมลล์ และความคิดเห็นทางเว็บล็อกในเรื่องที่เธอทำแต่ส่วนใหญ่เป็นการแสดงความโกรธมากกว่าจะเป็นการโต้แย้งถกเถียงกัน กระนั้นราจาลินก็เชื่อว่าการทำให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้ต่างๆ ได้โดยไม่ถูกจำกัดและได้คิดจินตนาการเองมันเป็นปรัชญาการศึกษาที่สำคัญ "พวกเราไม่ได้ทำให้เด็กเสียอะไรไปเลย พวกเรามีแต่ทำให้เด็กได้รับมากขึ้น" ราจาลินกล่าวใน TEDx

เรียบเรียงจาก

Sweden’s gender-neutral preschools produce kids who are more likely to succeed, Quartz, 18-06-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท