Skip to main content
sharethis

คุยกับคนงานและเจ้าของร้านนวดไทยในเกาหลีใต้และนอร์เวย์ ถึงสวัสดิการรัฐ ความปลอดภัย การศึกษาที่ดีกว่าในไทย 

ภาพประกอบจากร้านนวด Al-Thai Homeostasis ประเทศนอร์เวย์

เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างในวงกว้าง ทำให้แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ กระทั่งวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่ง ที่ 33/2560 เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราใน พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวออกไป 180 วัน ให้นายจ้างและลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ภายใน 1 ม.ค. 2561 

แต่ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่รองรับแรงงานข้ามชาติ แรงงานไทยเองก็เดินทางไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อปลายปีที่แล้ว กรมการจัดหางานระบุว่า ตลอดปี 2559 มีจำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ และยังคงทำงานอยู่ในต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 114,437 คน โดยประเทศที่อนุญาตให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน จำนวน 35,027 คน เกาหลีใต้ จำนวน 12,590 คน อิสราเอล จำนวน 8,629 คน ญี่ปุ่นจำนวน 8,610 คน และสิงคโปร์ จำนวน 5,843 คน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ส่งกลับประเทศ ผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงวันที่ 30 ธ.ค.59 เป็นเงินจำนวน 112,997 ล้านบาท

แรงงานไทยที่เคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศเหล่านี้ บางส่วนเริ่มผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการลงทุนในหลายประเทศ หนึ่งในธุรกิจที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศคือ ธุรกิจนวดแผนไทย โดยพบว่า คนไทยเริ่มเป็นเจ้าของธุรกิจลักษณะนี้มากขึ้นทั้งในแถบเอเชียและยุโรป ในโอกาสนี้จึงได้สัมภาษณ์ ดวงพร แสงสุข ชาว ยโสธร ผู้เคยประกอบอาชีพหมอนวดในประเทศไทยหลายปีก่อนจะไปทำงานในร้านนวดแผนไทยที่ประเทศเกาหลีใต้ และสยามล สินสืบผล อายุ 29 ปี ชาวนครปฐม ผู้ประกอบการร้านนวดในนอร์เวย์ เพื่อทำความเข้าใจถึงสภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตใน 2 ประเทศนั้น

ลูกจ้างร้านนวดไทยในเกาหลีใต้

ดวงพร แสงสุข ชาวยโสธร หนึ่งในผู้ใช้แรงงานชาวอีสานในต่างประเทศ เผยว่า เคยทำอาชีพเป็นหมอนวดที่เมืองไทยมาหลายปีก่อนจะไปทำงานในร้านนวดแผนไทยที่ประเทศเกาหลีใต้โดยการชักชวนจากคนรู้จัก เพราะต้องการมีรายได้ที่เพียงพอสำหรับส่งลูกเรียนหนังสือและจุนเจือครอบครัว เธอบอกว่า งานนวดในประเทศไทยมักถูกมองไปในทางที่ไม่ดี แต่ในต่างประเทศ อาชีพหมอนวดเป็นอาชีพที่มีเกียรติเหมือนกับทุกๆ อาชีพ มีรายได้แต่ละเดือนตกอยู่ประมาณ 45,000 บาท เมื่อบวกค่าคอมมิชชั่น (Commission) 10% ก็จะมีรายได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 75,000 ต่อเดือน อีกทั้งยังมีสวัสดิการที่พัก อาหาร รวมถึงสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้ให้จ่ายในส่วนนี้เพียง 50% ของค่ารักษาทั้งหมด และเนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงทำให้มั่นใจในเรื่องความปลอดภัย กล้องวงจรปิดก็มีทุกมุมของประเทศ ที่สำคัญใช้งานได้ทุกตัว จึงพอใจที่จะทำงานในต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย และเมื่อมีโอกาสทำงานในต่างประเทศจึงทำให้รู้ว่า คนไทยยังล้าหลังมากในด้านการศึกษาและด้านดูแลสวัสดิการแรงงาน

นอกจากธุรกิจร้านนวดไทยแล้ว คนไทยก็นิยมทำธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งก็ได้รับความนิยมและเป็นช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนไทยในต่างประเทศได้ไม่น้อย

กิจการร้านนวดไทยในนอร์เวย์

ขณะที่สยามล สินสืบผล อายุ 29 ปี ชาวนครปฐม เธอเป็นผู้ประกอบการและเจ้าของร้านนวดไทยที่ ชื่อ Al-Thai Homeostasis เธอเผยว่า เริ่มจดทะเบียนบริษัทประกอบกิจการในนอร์เวย์เมื่อตอนต้นปีที่แล้ว (2559) ขั้นตอนการจดทะเบียนไม่ยุ่งยาก สามารถทำทุกอย่างได้เองผ่านอินเตอร์เน็ต การลงทุนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจ

สาเหตุที่เธอเลือกลงทุนธุรกิจนวดแผนไทยเริ่มขึ้นจากความชอบส่วนตัว บวกกับการใช้เงินลงทุนที่ไม่สูงมากและเป็นการลงทุนครั้งเดียวจบ ไม่ต้องซื้อวัตถุดิบตลอดเวลาเหมือนร้านอาหาร มีอิสระเรื่องเวลาซึ่งเหมาะกับชีวิตของเธอที่ขณะนี้มีลูก 2 คน เธอบอกว่า เอาเข้าจริงๆ กิจการร้านนวดของเธอเหมือนเป็นงานอดิเรกที่ได้เงินมากกว่า เพราะเป็นการให้บริการเมื่อมีลูกค้านัดหมาย ไม่ได้นั่งรอลูกค้าเหมือนร้านๆ อื่นที่เปิด-ปิดเป็นเวลา เป็นการทำเฉพาะเวลาที่เราสะดวกเท่านั้น และอาจถือว่างานหลักจริงๆ ของเธอคืองานบ้าน

ที่นอร์เวย์ ความนิยมใช้บริการนวดมีมากพอสมควร แต่อาจจะใหม่สำหรับลูกค้าบางคน เธอเล่าว่า ผู้ที่เคยเดินทางไปประเทศไทยจะมาเป็นลูกค้าประจำเยอะ แล้วพอพูดถึง Thai massage คนต่างชาติส่วนใหญ่มักคิดว่า เป็น ‘happy ending massage’ หรือการนวดเร้ากำหนัด (นวดเพื่อสำเร็จความใคร่) ที่หาได้ไม่ยากในไทย ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจพอสมควร  ลูกค้าที่ใช้บริการส่วนมากจะเป็นวัยทำงานไปถึงวัยผู้สูงอายุ เงินเดือนแต่ละเดือนไม่แน่นอน เฉลี่ยเป็นเงินไทยก็ตกประมาณเดือนละ 50,000 – 60,000 บาท อัตราค่าใช้บริการตกชั่วโมงละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งโดยทั่วไปในประเทศไทยจะตกอยู่ที่ชั่วโมงละ 200 – 500 บาท

คุณภาพชีวิตและสิทธิที่ได้รับ

เจ้าของร้านนวดแผนไทยในนอร์เวย ยังกล่าวอีกว่า ในประเทศนอร์เวย์ สิทธิของทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่แต่งงานกับคนที่นี่ ทุกคนต้องจ่ายภาษีเหมือนกัน สิทธิในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ การลงทุน รวมไปถึงเงินเกษียณอายุก็ได้เหมือนกัน เธอมีบ้านที่ประเทศนอร์เวย์ และคิดว่าจะลงหลักปักฐานที่นั่น เพราะคุณภาพชีวิตแตกต่างจากที่ประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ทั้งระบบการศึกษา ความปลอดภัย  สังคมและวินัยของผู้คน

“ใช้ชีวิตอยู่ที่นอร์เวย์ 5 ปี แทบจะนับครั้งได้เลยว่า มีข่าวอาชญากรรมทั้งหมดกี่ครั้ง มันแทบจะไม่มีเลย เราไม่ต้องคอยกังวลว่าเดินๆ ไปจะมีใครมาฉุด หรือว่าจะมีสิ่งก่อสร้างอะไรหล่นลงมาทับหัวเรา แค่ทำท่าว่าจะข้ามถนน รถแทบทุกคันก็จะหยุดให้ข้ามตั้งแต่เรายังไม่ทันคิดจะข้ามด้วยซ้ำ ไม่ต้องวิ่งหนีรถบนทางม้าลายเหมือนบ้านเรา เราจ่ายภาษีเยอะก็จริง แต่สิ่งที่เราจ่ายไปมันก็กลับมาหาเรา โรงเรียนก็เรียนฟรี เด็กๆ คนท้อง คนแก่ คนเป็นโรคป่วยร้ายแรง ได้รักษาพยาบาลฟรี” สยามล กล่าว

ต่างประเทศไม่ได้แค่มีด้านดี การศึกษาหาข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็น

อย่างไรก็ตาม เธอเตือนว่า คนที่อยากมีสามีฝรั่ง อยากมาใช้ชีวิตในต่างประเทศ แล้วคิดว่าจะสบายเป็นความคิดที่ผิด “เวลาเห็นคนต่างชาติไปบ้านเราเยอะๆ ไม่ใช่ว่าเขาจะรวย เพียงแค่ค่าครองชีพบ้านเรามันถูกกว่าบ้านเขาแค่นั้นเอง ฝรั่งก็เหมือนคนทุกประเทศ  มีทั้งร่ำรวยและยากจน ผู้หญิงไทยบางคนที่เรารู้จักก็ลำบากมาก เจอสามีไม่ดี ทำร้ายทั้งตัวเอง และลูก หากอยากจะตามสามีมา จึงควรประวัติของเขาให้ดีเสียก่อน  แล้วตัดสินใจให้ดี เคยมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้หญิงไทยถูกสามีฆ่าตายพร้อมกับลูกที่ต่างประเทศ” สยามล กล่าว พร้อมระบุอีกว่า อุปสรรคสำคัญคือเรื่องภาษาและความแตกต่างทางวัฒนธรรม บางครั้งคนไทยด้วยกันเอง สื่อสารกันยังไม่เข้าใจก็มี เพราะฉะนั้นศึกษาให้ดีก่อน ไม่ใช่แค่เรื่องแฟน แต่รวมไปถึงธุรกิจที่จะมาทำด้วย เพราะเคยได้ยินข่าว คนไทยถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศเยอะ โดนหลอกไปใช้งานฟรีบ้าง รวมทั้งหลอกมาขายบริการบ้างก็มี

ต้นปีที่ผ่านมา สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ประเมินว่า มีแรงงานไทยผิดกฎหมายอยู่ในต่างประเทศ 173,527 คน อยู่ที่ประเทศมาเลเซียสูงสุด 1 แสนคน ตามมาด้วยเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แรงงงานยื่นร้องทุกข์ที่ไต้หวันมากที่สุด ตามมาด้วยเกาหลีใต้และอิสราเอล ส่วนด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานไทยในต่างประเทศรอบ 7 เดือน (1 ต.ค. 2559 – 30 เม.ย. 2560) มีจำนวนแรงงานไทยที่มาร้องทุกข์เกี่ยวกับเงินสิทธิประโยชน์และไม่เกี่ยวกับเงินสิทธิประโยชน์รวม 10,238 คน ร้องทุกข์ที่ไต้หวันสูงสุด 5,118 คน (ไทเปและเกาสง) เกาหลีใต้ 1,975 คน และอิสราเอล 1,021 คน 

สำหรับ วารีรักษ์ รักคำมูล เป็นนักศึกษา สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบัน ฝึกงานกับประชาไท โดยสนใจประเด็นศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งคุณภาพชีวิต 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net