สำนักนายกฯ ติดอันดับ 4 ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือน มิ.ย. มูลค่าราว 129 ล้านบาท

ติดโผมาแล้ว 3 เดือนต่อกันด้วยงบโฆษณาเกิน 1 ร้อยล้าน ไทยพับลิก้าเปิดยอดงบโฆษณา 7 ปี พบ ร้อยละ 90 จัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษเพราะเร็วกว่าปรกติ แหล่งข่าวปัดเอื้อทุจริต อ้างถ้าถูกระเบียบก็ดำเนินตามขั้นตอน เปิดเทรนด์อุตสาหกรรมโฆษณาปี 2559 กลุ่มทีวียังครองแชมป์ หนังสือพิมพ์เป็นพระรองแต่ยอดลดลง ทีวีดิจิทัลมาแรงเติบโตขึ้นทุกปี

ตึกทำเนียบรัฐบาล ที่ตั้งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ที่มา:มทร. พระนคร)

เมื่อ 11 ก.ค. 2559 บริษัทวิจัยการตลาด นีลเส็น (Nielsen) เปิดโผ 10 อันดับองค์กรที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือน มิ.ย. 2560 พร้อมจำนวนเงินที่ใช้ไปกับงบโฆษณา ดังนี้

1. บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จํากัด: 329,136,000 บาท

2. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด: 147,080,000 บาท

3. บริษัท โคคา-โคล่า (ไทย) จำกัด: 135,125,000 บาท

4. สำนักนายกรัฐมนตรี: 129,377,000 บาท

5. บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ เซลส์ จำกัด: 128,978,000 บาท

6. ไทยประกันชีวิต: 103,662,000 บาท

7. บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หรือ P&G: 103,611,000 บาท

8. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (พับบลิค) จำกัด: 99,419,000  บาท

9. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน): 98,222,000  บาท

10. บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จํากัด : 95,019,000  บาท

(ดูภาพต้นฉบับ)

สำนักนายกรัฐมนตรีติดอันดับ 1 ใน 10 ขององค์กรที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 โดยในเดือน เม.ย. อยู่ในอันดับที่ 5 ใช้งบโฆษณา 123,765,000 บาท ส่วนในเดือน พ.ค. อยู่ในอันดับ 10 ใช้งบโฆษณา 102,030,000 บาท ในขณะที่บริษัท อสมท. จำกัด มหาชน รัฐวิสาหกิจสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ติดอันดับที่ 7 ในเดือน ม.ค. 2560 ใช้งบโฆษณา 133,113,000 บาท  (ดูเอกสารที่เกี่ยวข้อง)

เมื่อปี 2558 สำนักข่าว ไทยพับลิก้า ได้รายงานเรื่องเกี่ยวกับการใช้งบโฆษณาของสำนักปลัดเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สปน.) หน่วยงานที่อยู่ใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์ พบว่า ตั้งแต่ปี 2550-2557 (คาบเกี่ยวระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกญ จำนวน 6 คน ได้แก่ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) สปน. ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ไปทั้งสิ้น 282 โครงการ รวมมูลค่า 1,249,005,674 บาท โดยแบ่งเป็นงบประชาสัมพันธ์ประจำ คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามภารกิจประจำของ สปน. และหน่วยงานใต้สังกัด 18 หน่วยงาน และงบประชาสัมพันธ์ตามนโยบายของรัฐบาลนั้นๆ  เช่น โครงการค่านิยม 12 ประการของรัฐบาล คสช. (1 โครงการ มูลค่า 24 ล้านบาท) หรือโครงการสร้างภาพลักษณ์ประเทศ Modern Thailand ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์(2 โครงการ มูลค่ารวม 355 ล้านบาท) โดยพบว่า งบประชาสัมพันธ์ตามนโยบายที่มีทั้งหมด 48 โครงการ มีมูลค่ารวม 893.99 ล้านบาท สูงกว่างบประจำที่มี 234 โครงการ รวมมูลค่า 355.01 ล้านบาท

ไทยพับลิก้า ยังได้ยกข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกประการคือ งบประชาสัมพันธ์ของ สปน. เป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วย “วิธีพิเศษ” ถึง 161 โครงการจากทั้งหมด 282 โครงการ มูลค่ารวมคิดเป็น 90% ของโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของ สปน. ในช่วงเวลา 8 ปีที่ตรวจสอบ โดยแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลระบุว่า ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษเพราะมีการดำเนินการที่รวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดซ์้อจัดจ้างด้วยวิธีปรกติอื่นๆ “ส่วนจะเป็นการเปิดช่องเอื้อให้เกิดการใช้จ่ายงบอย่างไม่โปร่งใสหรือไม่ ในฐานะฝ่ายข้าราชการ หากทุกอย่างทำถูกต้องตามระเบียบก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน” แหล่งข่าวระบุ

อำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างอิงจากเว็บไซต์ของหน่วยงาน ระบุว่า  สำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รับผิดชอบการบริหารราชการทั่วไป เสนอแนะนโยบายและวางแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง และราชการเกี่ยวกับงบประมาณ ระบบราชการ การบริหารงานบุคคล กฎหมายและการพัฒนากฎหมาย การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ การปฏิบัติภารกิจพิเศษ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือส่วนราชการที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่มิได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะ

โครงสร้างสำนักนายกรัฐมนตรี (ที่มา:เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี)

โฆษณาในสิ่งพิมพ์ลดลง แต่ยังเป็นที่สองรองจากทีวี ทีวีดิจิทัลดาวรุ่งพุ่งแรง

นีลเส็นพบว่า ในเดือน มิ.ย. มีมูลค่ารวมการใช้งบโฆษณาทั้งสิ้น 8,366 ล้านบาท ลดลงจากเดือน พ.ค. เล็กน้อย โดยเดือนพ.ค. มีการใช้งบโฆษณาทั้งสิ้น 8,802 ล้านบาท และลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 16.20%

หากพิจารณาประเภทสื่อที่มีมูลค่างบโฆษณามากที่สุด จะพบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ ทีวีอนาล็อก 3,230 ล้านบาท ตามมาด้วยทีวีดิจิทัล 1,856 ล้านบาท และหนังสือพิมพ์ 645 ล้านบาท สำหรับสื่ออื่นๆ ได้แก่ สื่อเคเบิล 315 ล้านบาท, สื่อวิทยุ 379 ล้านบาท, สื่อแมกกาซีน 136 ล้านบาท, สื่อในโรงภาพยนตร์ 697 ล้านบาท, สื่อนอกบ้าน 514 ล้านบาท, สื่อเคลื่อนที่ 399 ล้านบาท, สื่อ ณ จุดขาย 68 ล้านบาท และสื่ออินเทอร์เน็ต 126 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว ที่ใช้งบไป 153 ล้านบาท

สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ปัจจุบันกลุ่มสื่อทีวี ทั้งฟรีทีวีรายเดิม (อนาล็อก) ,ทีวีดิจิทัล และเคเบิล/ทีวีดาวเทียม ยังครองส่วนแบ่งงบโฆษณาสูงสุดรวม 66% อันดับสองคือหนังสือพิมพ์ จากเดิมครองสัดส่วนราว 10-12% แต่ลดลงจนเหลืออยู่ที่ราว 9% สวนทางกับสื่อดิจิทัล หรือออนไลน์ที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2559 สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ประเมินเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล เติบโต 22% มีมูลค่า 9,972 ล้านบาท และยังขยายตัวต่อเนื่องทุกปีจากปัจจัยสัดส่วนประชากรไทยเข้าถึงและมีพฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น

ช่วง 5 ปีก่อนงบโฆษณาสื่อดิจิทัล มีสัดส่วนราว 1-2% ของอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่า 1 แสนล้านบาท ปี2559 สัดส่วนอยู่ที่ 8% และคาดการณ์ปี 2560 จะขยับเป็น 10% ก้าวขึ้นมาเป็นสื่อโฆษณาอันดับสอง รองจากสื่อทีวี ที่ครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุด

หมายเหตุสำคัญของข้อมูลจากนีลเส็น: มีการรวมข้อมูลจากสื่อกลางแจ้ง (outdoor) และสื่อเคลื่อนที่(transit) จาก JCDecaux (เจซีเดอโก) บริษัทบริการสื่อโฆษณานอกบ้าน สำหรับข้อมูลจากสื่อในสนามบินตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2560 และข้อมูลของสื่อนอกบ้านและขนส่งเคลื่อนที่ จาก JCDecaux ได้ถูกรวมเข้าไว้ในรายงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 โดยนีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่น สื่อเคลื่อนที่ (transit), ป้ายบิลบอร์ด, ป้ายโฆษณาบนทางเท้า, สื่อในสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2559 เป็นต้นมา

อินเทอร์เน็ต - ตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2559 นีลเส็นได้มีการขยายการเก็บข้อมูลโมษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตโดยครอบคลุม 50 เว็บไซต์ยอดนิยม สำหรับ 10 เว็บไซต์ยอดนิยมบนมือถือสำหรับภาพรวมการใช้งบโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมด กรุณาอ้างอิงข้อมูลจาก DAAT (Digital Advertising Association (Thailand))

สื่อในห้าง – นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูลสื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ทั้งนี้ ข้อมูลของสื่อในห้างTesco Lotus และ Big C ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2558 ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น และตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง, สื่อเคลื่อนที่, และสื่อในห้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท