วงเสวนาสื่อสาธารณะ: วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ‘ปรับตัวสู่สื่อสาธารณะครบวงจร’

‘วรพจน์’ ระบุ ไทยพีบีเอสควรปรับตัวเป็นสื่อครบวงจร คอนเทนต์ออนไลน์ สร้างความเฉพาะให้คนจดจำ มีระบบจัดเก็บ archive ให้ดึงเนื้อหาไปใช้ได้ บาลานซ์ความสร้างสรรค์กับเนื้อหา ออกแบบระบบวัดเรตติ้งเชิงคุณภาพ เป็นสื่อสาธารณะที่กล้าพูด ย้ำ สื่อสาธารณะยังจำเป็น เสนอโมเดล โครงสร้างองค์กร BBC และทบทวนกฎหมายทุกสิบปี

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง: รูปจากเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

วงเสวนาเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเชิงสร้างสรรค์ The Creative Forum “วงแชร์ : สังคมไทยประมาณนี้ สื่อสาธารณะประมาณไหน" ร่วมมองอนาคตใหม่สื่อสาธารณะ วันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ไทยพีบีเอส Convention Hall 2 อาคาร D ชั้น 2 ดำเนินรายการโดย หทัยรัตน์ พหลทัพ และ โกวิท โพธิสาร

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบาย สื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) เริ่มจากการเล่าว่าได้ไปทำแบบสำรวจเล็กๆ คุยกับคนรู้จักในวงการสื่อ คอมเมนต์หลักที่ได้มา เช่น ประเด็นที่ไทยพีบีเอสควรเป็นคนชูกลับไม่ค่อยเห็น เช่น ข่าวเรื่องการส่งคนพม่ากลับประเทศ บางคนลืมไปแล้วว่ามีไทยพีบีเอส ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีทีวีดิจิทอลหลายช่อง และอาจเพราะเนื้อหาด้วย ที่คนจำไม่ได้เลยว่ามีเนื้อหารายการอะไรบ้างที่เป็นไทยพีบีเอส นี่อาจเป็นเสียงสะท้อนจากคนที่อายุยังไม่มากอายุประมาณ 20 กว่า

วรพจน์กล่าวต่อว่า รายการของไทยพีบีเอสทุกวันนี้ไม่ได้ต่างจากรายการของช่องทีวีใหม่ๆ สะท้อนให้เห็นว่ารายการไทยพีบีเอสอาจไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ความเฉพาะ” เพราะถ้าแยกรายการของไทยพีบีเอสออกจากช่องอื่นไม่ได้ อาจต้องกลับไปถามว่า ถ้าอย่างนั้นควรให้เงินสนับสนุนอยู่รึเปล่า เพราะการสนับสนุนคุณแปลว่าทำให้การแข่งขันในตลาดไม่เท่าเทียม

ในอนาคตจะมีทีวีสาธารณะเกิดขึ้นหลายช่อง แต่ถ้าไปดูหลักการจริงทีวีช่องอื่นๆ ยังไม่เป็นทีวีสาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความอิสระ เพราะการจะขอใบอนุญาตส่วนมากก็เป็นองค์กรของรัฐที่ทำ แต่ไทยพีบีเอสมีการออกแบบให้รายได้ที่มาเป็นอิสระจากอิทธิพลของรัฐและเชิงพาณิชย์ทั้งหลาย

วรพจน์กล่าวว่าประเด็นที่อยากฝากไว้ ประเด็นแรกคือสิ่งที่สื่อสาธารณะทั่วโลกต้องเจอ คือ digitization หรือมีความเป็นดิจิทอลมากขึ้น ไม่มากก็น้อยไทยพีบีเอสจะได้รับผลกระทบจากการมีช่องทีวีมากขึ้น และอีกส่วนคือสื่อออนไลน์ทั้งหลาย มีคนให้บริการคอนเทนต์ผ่านสิ่งที่ กสทช. เรียกว่า OTT (Over the Top - การเผยแพร่เนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ต) กรณีนี้สื่อสาธารณะทั่วโลกปรับจาก PSB (Public Service Broadcasting) มาเป็น PSM (Public Service Media) คือการเป็นสื่อที่ครบวงจรมากขึ้น เพราะคนดูคอนเทนต์ในโลกออนไลน์มากขึ้น ไทยพีบีเอสก็อาจจะต้องมาทำคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้น หรือปรับระบบสตรีมมิ่งให้ดีขึ้น จัดเก็บ archive ทั้งหลายให้ดีขึ้น สามารถดูย้อนหลังได้มากขึ้น หรืออย่างบีบีซีเขาทำสิ่งที่เรียกว่า creative archive คนทั่วไปสามารถดึงเนื้อหาหรือคลิปข่าวไปใช้ได้เลยตราบที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ไทยพีบีเอสในฐานะที่ได้เงินภาษีประชาชนควรเร่งทำสิ่งนี้เพราะมีประโยชน์มหาศาล คนสามารถนำคลิปข่าวไปต่อยอดได้

ประเด็นที่สอง คือเรื่องของประเด็น ทำอย่างไรให้รายการไทยพีบีเอสต่างจากช่องอื่น ต้องต่างจากทีวีของรัฐและทีวีเอกชน แต่ต้องบาลานซ์ระหว่างความสร้างสรรค์กับเนื้อหาให้ได้ ถ้าทำแต่อะไรน่าเบื่อก็จะไม่มีคนดู ซึ่งเนื้อหาก็ต้องเป็นเชิงประโยชน์สาธารณะ สะท้อนความหลากหลาย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก

ประเด็นที่สาม การวัดความสำเร็จ อาจไม่ใช่แค่เรตติ้ง แต่ต้องสร้างการวัดขึ้นมาเอง สมัยหนึ่งไทยพีบีเอสเคยจ้างเอแบคโพล แต่สุดท้ายก็เลิกไปอาจเพราะการออกแบบโพลในครั้งนั้นเป็นการวัดเชิงปริมาณมาก ๆ อาจยังไม่ได้วัดในเชิงอื่น ยกตัวอย่างบีบีซี มีการวัดเรตติ้งแบบทั่วไปในเชิงปริมาณ และมี Public Service Obligation คล้ายๆ หน้าที่ 6 ข้อของบีบีซี แต่ละรายการของบีบีซีจะเขียนว่าบรรลุข้อไหนบ้าง ไทยพีบีเอสต้องทำแบบนี้เพราะไม่ใช่แค่เรื่องบรรลุเป้าหมายของตัวเอง แต่แสดงให้เห็นว่าคุณรับผิดชอบกับสังคมด้วย ว่าคุณทำตามเป้าหมายนั้นจริงๆ

“สุดท้าย แน่นอนว่าการออกแบบกฎหมายที่ผ่านมาทำให้ไทยพีบีเอสมีอิสระจากทุนจากรัฐ แต่อาจไม่อิสระเชิงวัฒนธรรมนัก มีบางประเด็นไทยพีบีเอสยังไม่กล้าหาญพอที่จะนำเสนอ สุดท้ายถ้ามีนักการเมืองบางกลุ่มจะล้มไทยพีบีเอส ยกเลิกพ.ร.บ. มันก็จะจบไป แต่ถ้า 10 ปีที่ผ่านมาไทยพีบีเอสพิสูจน์ว่าตนเองเป็นสื่อสาธารณะที่แท้จริง สร้างอัตลักษณ์ว่าตนเองผลิตรายการเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง ผมคิดว่าอย่างไรสาธารณะก็จะต้องปกป้องคุณ เพราะฉะนั้นมันเป็นวิธีการที่ยั่งยืนที่สุดที่ไทยพีบีเอสจะยืนหยัดในสังคม” วรพจน์กล่าว

วรพจน์ชวนตั้งคำถามว่า สื่อสาธารณะยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เขาเล่าว่าเมืองนอกมีการถกเถียงเรื่องนี้กันมาก แต่ถ้ากลับไปเรื่องคอนเทนต์ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดเขาก็บอกว่ามันยังต้องมีอยู่ เพราะสุดท้ายถึงมีร้อยช่อง แต่ทุกช่องนำเสนอสิ่งที่ไม่มีสาระเท่าไหร่ หรือเป็นแต่ผลลบด้วย เช่น ถ้าแคร์แค่ตลาดก็อาจจะฉายหนังโป๊ 24 ชั่วโมงเลยก็ได้ นั่นอาจเป็นการตอบคำถามว่าทำไมเรายังต้องมีสื่อสาธารณะอยู่ เพื่อเป็นการผลิตวาทกรรมที่สำคัญที่เป็นการตั้งต้นการถกเถียงให้กับประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีนั้น disrupt (ก่อกวนระบบที่มีอยู่เดิมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง) ไปทั่ว สื่อสาธารณะก็จำเป็นต้องปรับตัว สุดท้ายก็ไปวัดที่ผลลัพธ์ว่าคนเสพสื่อสาธารณะไปแล้วเขาได้อะไร ไม่ได้วัดแค่ตัวปัจจัยนำเข้าหรือผลที่ออกมา

ทั้งนี้วรพจน์ยกตัวอย่าง BBC ในปีที่แล้วก็เพิ่งมีการทบทวนกฎบัตรของเขาไป เพราะทุกสิบปีเขาต้องทบทวน อาจนำเอาหลักการนี้มาใช้กับกฎหมายไทยด้วย

เคส BBC อาจเป็นเคสเฉพาะ อาจบอกไม่ได้ว่าเราต้องทำเหมือนเขา เขามีการไปศึกษาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการกำกับดูแลขององค์กร จากที่มี BBC Trust กับ BBC Executive เขาจะเปลี่ยนเหลือบอร์ดเดียว ให้ตัว ผอ.เป็นคนดูด้านเนื้อหาทั้งหมด ถ้ามีการทำ complain ขึ้นมา บอร์ดนี้จะเป็นคนดูแล รับเรื่อง และรับหน้ากับสังคม หรือเป็นคนกำหนดวิสัยทัศน์ต่างๆ เพื่อแบ่งแยกการทำงานให้ชัดเจน เรื่องนี้ไทยพีบีเอสอาจจะลองดูว่าควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

และบีบีซีเองก็เคยถูกวิจารณ์เรื่องที่เอารายการ The Voice มาทำ ว่าแทรกแซงการแข่งขันโดยไม่จำเป็นหรือเปล่า ก็มีการเสนอว่าจะปรับเรื่องคอนเทนต์อย่างไร ไทยพีบีเอสเองก็มีบริบทเฉพาะในการปรับเปลี่ยน แต่จะแก้กฎหมายอย่างไรอยากเห็นรายงานศึกษาทั้งหมด ทั้งรายงานเชิงโครงสร้าง และเชิงคอนเทนต์ว่ามีปัญหาอะไร เราจะได้แก้ได้ถูกจุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท