Skip to main content
sharethis

เปิดการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 แคเธอรีน บาววี ยกกรณีศึกษา ‘ครูบาศรีวิชัย’ เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบจากการก่อรูปรัฐไทยที่มีต่อผู้คนธรรมดาซึ่งยังส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน ชี้ไม่มีบุคคลใดที่จะมีความสำคัญมากไปกว่า "ครูบาศรีวิชัย" ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ภาคเหนือในห้วงศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะช่วงของการผนวกดินแดนล้านนาเข้าสู่ส่วนกลาง

นอกจากนี้แคเธอรีนยังเสนอการกำหนดช่วงเวลาการผนวกภาคเหนือเข้าสู่ส่วนกลางประสบผลอย่างจริงจังเสียใหม่ โดยเสนอว่าแรงต่อต้านช่วงท้ายๆ จบลงหลัง 21 เมษายน พ.ศ. 2479 เมื่อครูบาศรีวิชัยซึ่งถูกควบคุมตัวในวัด รวมทั้งถูกส่งตัวมาสอบสวนที่กรุงเทพฯ หลายครั้งหลายครา ยอมลงนามเอกสารว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายลักษณะการปกครองคณะสงฆ์

ปาฐกถา "Khruba Srivichai: From Sacred Biography to National Historiography" (แปลอย่างไม่เป็นทางการ - "ครูบาศรีวิชัย: จากชีวประวัติตนบุญ สู่ประวัติศาสตร์นิพนธ์แห่งชาติ") โดย แคเธอรีน บาววี (Katherine A. Bowie) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา โดยการปาฐกถาเป็นส่วนหนึ่งช่วงพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 "Globalized Thailand?" Connectivity, Conflict, and Conundrums of Thai Studies" เมื่อ 15 ก.ค. 2560 ที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่

(ซ้าย) แคเธอรีน บาววี (ขวา) ครูบาศรีวิชัยและคณะศิษย์ ถ่ายภาพที่เชิงบันไดขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2478

ช่วงแรกของการนำเสนอแคเธอรีนกล่าวว่าสาเหตุที่ต้องศึกษาเรื่องดังกล่าวเป็นเพราะไม่มีบุคคลใดที่จะมีความสำคัญมากไปกว่า "ครูบาศรีวิชัย" ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ภาคเหนือของไทยในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งพระสงฆ์รูปนี้ถูกขนานนามว่าเป็น "ตนบุญ" ของล้านนา มากไปกว่านั้นก็คือเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบจากการก่อรูปรัฐ (State Formation) ของรัฐไทย ที่มีต่อผู้คนธรรมดา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวยังคงมีผลมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันกองทัพ ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์และรัฐ และบทบาทของระบบการศึกษา คำถามเกี่ยวกับกระบวนการของประวัติศาสตร์นิพนธ์ของไทย ว่าประวัติศาสตร์ไทยจดจำหรือหลงลืม หรือจดบันทึกช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างไร

แคเธอรีนกล่าวด้วยว่า ในการนำเสนอเกี่ยวกับครูบาศรีวิชัย ก็จะได้เห็นว่าชีวิตของครูบาศรีวิชัยเกี่ยวข้องกับหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ การเมือง ศาสนา สถาปัตยกรรม เศรษฐกิจ การศึกษา ภาษา และการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม

ในบทคัดย่อตอนหนึ่งนำเสนอว่า ครูบาศรีวิชัย (ค.ศ.1878-1939/ พ.ศ.2421-2482) เป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในภาคเหนือของไทย ทั้งยังสร้างถนนขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ ครูบาศรีวิชัยมีส่วนร่วมในการก่อสร้างหรือบูรณะวัดกว่า 100 แห่งทั่วภาคเหนือ แม้ว่าครูบาศรีวิชัยในปัจจุบันถูกรับรู้อย่างกว้างขวางในเชิงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ด้านคาถาอาคมและการทำสมาธิ แต่ในช่วงชีวิตของครูบาศรีวิชัยถูกจับและนำไปกักขังไว้ภายในวัดครั้งแล้วครั้งเล่า ครูบาศรีวิชัยถูกส่งตัวมายังกรุงเทพฯ เพื่อสอบสวนในช่วงทศวรรษ 1920 และถูกส่งตัวมาอีกครั้งในปี 1935-1936 และไม่ได้รับอนุญาตให้กลับภาคเหนือในปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) จนมีพระสงฆ์กว่า 400 รูปและสามเณรถูกจับสึก และครูบาศรีวิชัยเองยอมที่จะลงนามในเอกสารที่จะปฏิบัติตามกฎมหาเถระสมาคมของส่วนกลาง เมื่อ 21 เมษายน พ.ศ. 2479

การศึกษาก่อนหน้านี้มักเสนอว่าการที่ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมตัวไว้ในวัดเป็นเพราะไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อแรกใช้บังคับไม่ได้นำมาใช้ในภาคเหนือจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467) และนอกจากนี้ก็ไม่มีคำอธิบายต่อกรณีที่ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมตัวหลายครั้งหลายครา จนนำมาสู่การถูกสอบสวนครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) นอกจากนี้ยังมีความสนใจทางวิชาการน้อยมากต่อสาเหตุแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการที่ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมตัวครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นไม่นานหลังการยึดอำนาจของคณะราษฎรเมื่อ ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475)

งานวิจัยของแคเธอรีนเสนอว่าการใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเมื่อ ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในภาคเหนือเมื่อ ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) และภายหลังพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ซึ่งยิ่งมีการขยายตัวของการจัดการศึกษาหลังปี พ.ศ. 2475 ซึ่งสองสิ่งนี้มีคำอธิบายที่น่าสนใจ โดยทั้งการเกณฑ์ทหารและการศึกษาภาคบังคับเป็นปัจจัยสำคัญของการกระบวนการก่อรูปรัฐสมัยใหม่ นักประวัติศาสตร์มักเสนอว่าการผนวกดินแดนทางตอนเหนือเริ่มมีผลตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่แคเธอรีนระบุว่าขอท้าทายประวัติศาสตร์นิพนธ์นี้เสียใหม่ โดยขอโน้มน้าวว่าเหตุการณ์สำคัญที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อ 21 เมษายน ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) เมื่อครูบาศรีวิชัยยอมลงนามในเอกสารดังกล่าว

โดยการนำเสนอของแคเธอรีนจะวางชีวประวัติอันชวนถกเถียงของครูบาศรีวิชัยกับบริบทของการก่อรูปรัฐไทยและแรงกดดันของบริบทโลกในช่วงชีวิตของครูบาศรีวิชัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net