Skip to main content
sharethis
ในอินเดียมีโครงการฝึกฝนให้ผู้ที่เคยเป็นเหยื่อและรอดจากการค้ามนุษย์ตอนเป็นเด็กและเคยถูกบังคับให้ทำงานบริการทางเพศให้กลายมาเป็นทนายความผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกับพวกเธอ
 
15 ก.ค. 2560 โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า "สคูลฟอร์จัสติส" หรือ "โรงเรียนเพื่อความยุติธรรม" (School for Justice) ที่ตั้งขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาโดยกลุ่มต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ชื่อว่า "ฟรีอะเกิร์ล" (Free a Girl) กลุ่มสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่ให้ทุนสนับสนนผู้หญิงที่พ้นออกมาจากการค้ามนุษย์บังคับทำงานทางเพศโดยยังไม่ถึงวัยได้ โดยทุนสนับสนุนพวกเธอจะกลายไปเป็นทุนการศึกษามหาวิทยาลัยเพื่อให้เรียนจบในระดับปริญญาตรีสาขาเกี่ยวกับกฎหมาย
 
เอวิลีน โฮลสเกิน ผู้ก่อตั้งฟรีอะเกิร์ลกล่าวว่าเป้าหมายของโครงการนี้เป็นไปเพื่อเสริมพลังให้กับอดีตคนถูกค้ามนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายของอินเดียให้เอื้อต่อการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ได้เพราะผู้ก่อเหตุมักจะไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้โครงการนี้ยังมุ่งส่งเสริมให้มีความตระหนักรู้ในเรื่องการค้ามนุษย์ในเด็กมากขึ้นด้วย
 
พวกเขาเริ่มโครงการด้วยการส่งคนที่รอดพ้นจากการค้ามนุษย์มาได้ 19 คน ไปศึกษาต่อ และจะส่งไปอีก 15 คนในปีหน้า หนึ่งในผู้รอดพ้นจากการค้ามนุษย์นามแฝงว่าซังกิตาเล่าว่า เธอต้องจากครอบครัวเพื่อไปทำงานตั้งแต่อายุ 9 ขวเพราะความยากจนโดยเธอไปเป็นคนทำงานบ้านในบ้านหลังใหญ่แห่งหนึ่ง รวมทั้งยังทำงานเป็นคนสวน ยามเฝ้าประตู กวาดถูบ้าน และที่นั่นก็มีผู้ชายล่วงละเมิดทางเพศเธอ หลายปีต่อมาเธอก็ออกจากบ้านหลังนั้นแต่ก็กลับบ้านเกิดตัวเองไม่ได้เพราะไม่มีเงินหรือลู่ทางใดๆ เลย เธอขอความช่วยเหลือจากหญิงที่ขอทานริมถนนคนหนึ่งแต่หญิงคนนั้นก็พาเธอไปที่ซ่องแล้วก็ขายเธอตั้งแต่ตอนที่เธออายุ 13 ปี
 
ซังกิตาบอกว่าที่เธอเข้าร่วมโครงการนี้เพาะต้องการต่อสู้กับการค้าประเวณีเด็กและช่วยเหลือคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกับเธอ เธอรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้กลายเป็นทนาย คนที่ได้รับทุนนี้จะรวมรายจ่ายทั้งค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าการเดินทางเข้าไปด้วย
 
จากข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่ามีผู้หญิงและเด็กในอินเดียหลายล้านคนที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่อขายบริการทางเพศ คนค้ามนุษย์มักจะล่อลวงพวกเธอด้วยโอกาสทางหน้าที่การงานหรือการแต่งงานแต่หลังจากนั้นก็จะบังคับให้พวกเธอค้าบริการทางเพศ ฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่าอินเดียมีกฎหมายห้ามการค้ามนุษย์ระดับแรงๆ แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้เสมอไปแม้ว่าจะมีการสืบสวนคดีค้ามนุษย์ถึงราว 3,000 กว่าคดีแต่ผู้ต้องหาค้ามนุษย์ร้อยละ 77 ก็ถูกตัดสินให้พ้นผิด
 
แนวคิดของโครงการฟรีอะเกิร์ลเกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาติดต่อกับองค์กรด้านการสื่อสารในอัมสเตอร์ดัม เจ. วอลเตอร์ ธอมป์สัน เพื่อให้ทำโฆษณาสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์บังคับเด็กทำงานบริการทางเพศในอินเดีย บาส คอร์สเตน ประธาน เจ. วอลเตอร์ ธอมป์สัน กล่าวว่าคน 19 คนอาจจะไม่ถึงขั้นเปลี่ยนระบบได้ แต่ก็สามารถเป็นตัวแทนของประเด็นนี้ทำให้ประเด็นนี้มีการพูดถึงและสร้างการกดดันจากนานาชาติจนกลายเป็นการเปลี่ยนระบบได้
 
ปัญหาการถูกเหมารวมตีตรา
 
อย่างไรก็ตามปัญหาท้าทายใหญ่ๆ อย่างหนึ่งสำหรับโครงการสคูลฟอร์จัสติสคือเรื่องการตีตราผู้เคยถูกบังคับทำงานบริการทางเพศ หลังจากที่พวกเธอได้รับการช่วยเหลือออกจากซ่องแล้วครอบครัวของพวกเธอก็ไม่ยอมรับพวกเธอกลับบ้าน นอกจากนี้ในบางกรณีฝ่ายรัฐบาลอินเดียกลับไปจับกุมคนที่เป็นเหยื่อการถูกบังคับค้าบริการเสียเอง แทนที่จะให้ความช่วยเหลือพวกเธอ ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแต่ในประเทศอินเดียเท่านั้น การเหยียบซ้ำเหยื่อที่ถูกบังคับค้าบริการเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นด้วย
 
ผู้ใช้นามสมมุติชื่อ กัลยานี หนึ่งในผู้รอดพ้นจากการค้ามนุษย์บอกว่าสังคมบางส่วนทำเหมือนพวกเธอ "เป็นอื่น" ไม่ควรอยู่ในสังคมกระแสหลักหรืออาจจะถูกเหยียดต่ำเหมือนไม่ควรมีชีวิตอยู่ แม้แต่บ้านเธอเองก็ไม่ยอมรับ โฮลสเกินบอกว่าสังคมที่ดึงดันในอคติของตัวเองเหล่านี้ไม่ได้มองคนถูกบังคับเหล่านี้เป็นเหยื่อ แต่มองว่าเป็น "หญิงไม่ดี" หรือ "หญิงขี้เกียจหางานอย่างอื่นทำ"
 
อีกปัญหาหนึ่งคือการที่ผู้รอดจากการค้ามนุษย์เผชิญกับแผลใจของตัวเองจากช่วงที่ถูกบังคับค้าประเวณี เป็นสิ่งที่พวกเธอต้องพยายามฝ่าฟันเพื่อให้ผ่านการเรียนการสอนหลายปีจนเรียนจบได้รับปริญญา พวกเขายังพยายามขยายโครงการเช่นนี้ไปยังบราซิลและประเทศอื่นๆ ด้วย
 
โฮลสเกินเปิดเผยว่าโครงการสคูลฟอร์จัสติสต้องใช้จ่ายกับนักศึกษา 3,400 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี มีผู้บริจาคเป็นการส่วนตจากเนเธอร์แลนด์ทำให้พวกเขามีทุนพอใช้ไปอีก 2 ปีข้างหน้าแล้ว อย่างไรก็ตามพวกเขายังมีแผนการจะหาผู้บริจาคเพิ่มจากอินเดียและที่อื่นๆ เพื่อทำให้มีผู้รับทุนการศึกษาเพิ่มอีกในปี 2561 เป็นต้นไป
 
โฮลสเกินบอกอีกว่าเรื่องราวของเยาวชนหญิงเหล่านี้ล้วนแต่มีความสำคัญ พวกเธอถูกบีบบังคับจากการค้ามนุษย์ไม่ได้เลือกทำด้วยตัวเอง พวกเธอถึงเป็นคนกล้าหาญที่กล้าพูดถึงเรื่องนี้ออกมา
 
 
เรียบเรียงจาก
 
This ‘School For Justice’ Trains Sex Trafficking Survivors To Be Lawyers, Huffington Post, 13-07-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net