ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

วิพากษ์ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ผ่านบทความ “7 เรื่องจริงของ “เด็กรัฐศาสตร์” อยากบอกว่าเราไม่ได้หัวรุนแรงนะ!”[1]

บทความนี้มุ่งเน้นชี้ให้เห็นถึงความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บางส่วน เนื่องจากในสังคมทั่วไปแล้ว ผู้คนย่อมต้องมองว่านิสิตคณะรัฐศาสตร์เป็นผู้ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง (Political Awareness) ในระดับที่สูงเป็นพิเศษ เพื่อที่จะได้เป็นพลเมือง (Active Citizen) ที่จะมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงอีกด้วย แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปในแนวทางนั้นโดยทั่วไปไม่ ข้าพเจ้าจะเริ่มด้วยการอาศัยการวิพากษ์ บทความเรื่อง “7 เรื่องจริงของ “เด็กรัฐศาสตร์” อยากบอกว่าเราไม่ได้หัวรุนแรงนะ!” มาประกอบกับทรรศนะของผู้เขียนซึ่งมีต่อการศึกษาและประสบการณ์ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยอาศัยการวิพากษ์อธิบาย ตั้งข้อสังเกต และข้อเสนอแนะความคิดเห็นผ่านมุมมองทางการเมือง ซึ่งจะขอกล่าวเริ่มด้วยทางเนื้อหา 7 ข้อ ซึ่งทางผู้เขียนขอคัดเลือกมา 4 ข้อ จากบทความดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

พินิจ ตั้งข้อสังเกต และความคิดเห็นต่อความน่าฉงน 4 ข้อ ที่มีการเขียนว่าเป็น “เรื่องจริง” ของเด็กคณะรัฐศาสตร์

1.บางคนที่เรียนก็ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง

ข้าพเจ้าคิดว่านิสิตคณะรัฐศาสตร์บางคนที่ข้าพเจ้ารู้จักนั้นแลดูขาดความสนใจทางการเมืองอย่างยิ่งยวด แต่ข้าพเจ้าก็ขอตั้งข้อสังเกต โดยมองว่า การศึกษาเกี่ยวกับระบบการเมืองถือเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับนักรัฐศาสตร์ หากผู้เรียนรัฐศาสตร์ไม่ได้สนใจการเมืองเลย ก็อาจเกิดข้อกังขาถึงคุณภาพการศึกษาของนักรัฐศาสตร์ผู้นั้น ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์ระบบการเมืองแบบรัฐศาสตร์ ผ่านการศึกษาแนวทางหลายมุมมอง[2] โดยยกตัวอย่าง เช่น มุมมองการศึกษาแบบปรัชญาการเมือง เป็นมุมมองที่มุ่งเน้นการถามคำถามต่อมนุษย์โดยตรง การปกครองที่ดีเป็นอย่างไร คนเราจะมีเสรีภาพอย่างไรภายใต้การปกครอง อะไรคือสิ่งที่เป็นอยู่ (What is?) และอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น (What ought?) ซึ่งเป็นมุมมองในเชิงอุดมคติ มุมมองวิเคราะห์สถาบันการเมืองการปกครอง เป็นมุมมองที่อธิบายรูปแบบการปกครองของรัฐ บทบาทขององค์กรต่างๆของรัฐ ที่มาของอำนาจรัฐและการแบ่งแยกอำนาจรัฐอีกด้วย หรือมุมมองวิเคราะห์การเมืองเรื่องอำนาจ เป็นมุมมองที่ชี้ให้เห็นถึงการพยายามไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งอำนาจ เมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ ผู้ที่มีอำนาจย่อมสามารถตัดสินใจและบังคับให้ผลเป็นไปตามความต้องการของตนได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีอำนาจ ดังคำกล่าวที่ว่า “ถ้าหากว่าความมั่งคั่งเป็นหัวใจของปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจฉันใด อำนาจก็เป็นหัวใจของปรากฏการณ์ทางการเมืองฉันนั้น” เป็นต้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าความสนใจทางการเมืองเป็นสิ่งที่สมควรมีอย่างยิ่งยวดสำหรับนักรัฐศาสตร์

2. เราไม่ได้หัวรุนแรงขนาดนั้น

ข้าพเจ้ามิได้มีความคิดเห็นขัดแย้งว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือร่วมเดินขบวนทางการเมือง (หรือแม้แต่การทำกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆนอกเหนือจากในบทความดังกล่าว) เป็นสิทธิการแสดงออกพื้นฐานทางการเมือง ตามวิถีการเมืองระบบประชาธิปไตย แต่เรื่องความ “หัวรุนแรง” นั้น ข้าพเจ้ามองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่พวก “หัวรุนแรง” เพราะเป็นการแสดงออกของผู้ที่มองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมของสังคม (Social Injustice) ในฐานะที่เขาเป็นวิญญูชนที่เป็นพลเมืองผู้รู้ผิดชอบชั่วดีก็ย่อมต้อง “อินมาก” และต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม (Moral Courage) ในการออกมาชี้ให้เห็นถึงความไม่ถูกต้องในสังคม และร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ปัญหาความไม่ชอบธรรมของสังคมดังกล่าว การจะเรียกผู้ที่ใช้สิทธิการแสดงออกพื้นฐานทางการเมือง ตามวิถีการเมืองระบบประชาธิปไตย ด้วยจิตวิญญาณวิญญูชน ว่าเป็นพวก “หัวรุนแรง” ก็คงเป็นอะไรที่กล่าวอ้างเกินจริงไปเสียบ้าง

3. คนส่วนมากมีแนวคิดของตัวเอง

ข้าพเจ้าก็เห็นว่าระบบการศึกษาภายในคณะรัฐศาสตร์ทำให้คนส่วนมากสามารถมีแนวคิดเป็นของตัวเองได้ แต่การแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างชัดเจนนั้นเป็นสิ่งที่น่าสงสัยว่าจะกล้ากระทำหรือไม่ หรือกระทำออกมาอย่างถูกต้องเพียงใด ข้าพเจ้าเคยประสบกับเหตุการณ์ที่มีนิสิตจำนวนหนึ่งนิยมแนวคิดสังคมนิยม (Socialism) ตามทฤษฎีมาร์กซิสต์ (เพื่อความชัดเจนมากขึ้น คือ คนส่วนมากนี้นิยมแนวคิดของระบบคอมมิวนิสต์) มีการแสดงตนว่าต่อต้านระบบทุนนิยมและระบบชนชั้นที่สร้างโดยพวกนายทุน แต่ตนเองกลับไม่กล้าวิจารณ์หรือแสดงออกต่อต้านนายทุนในสังคมที่กำลังกระทำการไม่ชอบธรรมอย่างเปิดเผย ออกแนวเป็นชาวมาร์กซิสต์ตามกระแสเสียมากกว่า เมื่อมีการเรียนในระดับชั้นปีที่สูงขึ้น ข้าพเจ้าก็พบว่าคนที่เคยบอกข้าพเจ้าว่าเป็นชาวมาร์กซิสต์บางคนนั้นก็กลายเป็นชาวเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalism) ซึ่งก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าสนับสนุนระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว ทำให้ข้าพเจ้าก็ยังกังขาว่าการศึกษาคณะนี้สอนให้เรามีแนวคิดเป็นของตนเอง หรือสอนให้เรามีแนวคิดตามที่อาจารย์สอนครั้งล่าสุด?

4. จบแล้วก็ทำงานได้หลากหลาย

ข้าพเจ้ายอมรับว่านิสิตผู้ที่เรียนจบคณะรัฐศาสตร์สามารถทำงานได้หลากหลายสายงานจริงตามที่บทความดังกล่าวได้เขียนไว้ แต่เกิดความฉงนและอยากให้ตั้งข้อสังเกตถึงสิ่งที่ควรเป็น (What ought to be?) เพิ่มเติม โดยขอยกตัวอย่างในส่วนของ “อาชีพที่ตรงกับความชอบของตัวเอง” จากบทความดังกล่าวผู้เขียนบทความนั้นได้ยกตัวอย่างเพื่อนที่ประกอบอาชีพบางอาชีพ เช่น ล่ามในโรงพยาบาล หรือผู้ช่วยนักวิจัย เป็นต้นนั้น ก็อาจต้องมาลองพิจารณากันอีกทีว่าจำเป็นต้องเรียนคณะรัฐศาสตร์หรือไม่? หากเรียนในคณะอื่นจะมีองค์ความรู้ที่ตรงสายงานนั้นมากกว่าหรือไม่? ประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างผู้ที่จบคณะรัฐศาสตร์และผู้ที่จบในคณะอื่นๆนั้นจะเป็นอย่างไรหากเทียบกันในการประกอบอาชีพประเภทเดียวกันนั้น? ผู้ที่ตัดสินใจเลือกเรียนคณะนี้สมควรจะมาเรียนเพื่อศึกษาด้านรัฐศาสตร์ และสามารถนำองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ไปใช้ในการทำงานหรือไม่? เขาตัดสินใจมาเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ได้อย่างถูกต้องแน่แล้วหรือ? ก็เป็นประเด็นที่ข้าพเจ้ามองว่าอาจแสดงถึงความไม่ประสาในการตัดสินใจเรียนของผู้เรียนรัฐศาสตร์พอสมควร โดยผู้เรียนรัฐศาสตร์อาจมิได้ตั้งใจที่จะเข้ามาศึกษาในคณะรัฐศาสตร์นี้เสียแต่แรกก็เป็นได้ ทั้งนี้เมื่อเขาไม่มีความต้องการในการประกอบอาชีพที่อาศัยองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์แล้ว ก็อาจจะควรเลือกเรียนคณะที่องค์ความรู้ตรงสายงานและอาจไม่คาดหวังให้มีความตื่นตัวทางการเมืองระดับที่สูงเหมือนคณะรัฐศาสตร์

จากประเด็นทั้ง 4 ข้อ ที่ยกอ้างอิงจากบทความดังกล่าวนั้น ข้าพเจ้ามองว่าเป็นการสร้างค่านิยมที่เฉื่อยชาทางการเมืองให้เกิดแก่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นนิสิตที่ควรจะมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมากกว่านิสิตคณะอื่นๆเป็นพิเศษ โดยข้าพเจ้าจะขอวิพากษ์ความเฉื่อยชาทางการเมืองดั่งที่วิเคราะห์ได้จากเนื้อหา 4 ข้อ ของบทความข้างต้น ผ่านการวิเคราะห์นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บางส่วน ดังต่อไปนี้

วิพากษ์ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เรามักมีความคาดหวังว่านิสิตคณะรัฐศาสตร์พึงต้องมีความตื่นตัวทางการเมืองในระดับสูง แต่การณ์โดยทั่วไปก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เราจะพบว่ามีวิชาเรียนและกิจกรรมของชมรมต่างๆที่สามารถส่งเสริมให้นิสิตสามารถมีความตื่นตัวทางการเมือง และกลายเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวสูงทางการเมือง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การเรียนและกิจกรรมคณะที่ส่งเสริมเรื่องดังกล่าวกลับไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากนิสิตบางส่วน อันอาจมีแนวคิดที่มาในลักษณะเดียวกับกับบทความดังกล่าว ทำให้ไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องสนใจการเมือง อาจมองว่าการมาเรียนเป็นเพียงการเก็บวิชาเรียนและหน่วยกิตให้ครบเพื่อให้เรียนจบและนำใบปริญญาไปสมัครงานประกอบอาชีพ แม้จะมีการเรียนในเรื่องที่ส่งเสริมความเป็นพลเมือง เช่น เรื่องความตระหนักในความเท่าเทียมในเรื่องหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน หรือเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ก็ล้วนเป็นเรื่องที่นิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วนมีความเข้าใจกันสูงอยู่แล้ว แต่พวกเขากลับเรียนไปในลักษณะ “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” ไม่มีการนำองค์ความรู้ที่เรียนไปทดสอบว่า “ปฏิบัติได้จริง (practical)” หรือไม่? โดยนิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วนอาจละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่งในหลักของสิ่งที่เรียนมา และไม่มีส่วนร่วมกิจกรรมที่นำองค์ความรู้ไปปฏิบัติดังกล่าว ทั้งๆที่ตนเองก็อาจเห็นความไม่ชอบธรรมในสังคมที่เกี่ยวกับปัญหานั้นๆเกิดขึ้น อาจไม่แม้แต่จะให้ความสนใจด้วยซ้ำ แม้ว่าคณะรัฐศาสตร์จะเป็นคณะที่มีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย หรือแบบมีส่วนร่วม (participant political culture) สูง แต่อาจเป็นเพราะปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา[3] อันมีผลมาจากวัฒนธรรมทางสังคมและค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมที่สืบทอดมาเป็นเวลานาน มักมีลักษณะที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการเมืองที่มาจากเผด็จการ ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย “ล้มลุกคลุกคลาน” ซึ่งอาจส่งผลให้นิสิตจำนวนมากนั้นยังมีความคุ้นชินอยู่กับวัฒนธรรมแบบเผด็จการ ทำให้ไม่รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความตื่นตัวทางการเมือง แม้ว่าตนเองจะมีความรู้และเข้าใจถึงความไม่ชอบธรรมนั้นๆก็ตาม มองว่าตนมีความคุ้นชินและไม่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมในสังคม ใยตนจึงจะต้องไปสนใจสังคมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอันไม่กระทบกับตน จึงดำรงตนเป็นเพียงแต่ผู้สังเกตการณ์ (Observer) ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย[4]  ซึ่งประพันธ์โดย Martin Niemöller ผู้ต่อต้านนาซียุคเรืองอำนาจ โดยประพันธ์ว่า

“ครั้งแรก “เขา” มาจับพวกคาทอลิก
แต่ฉันเป็นโปรเตสแตนต์, ฉันจึงเฉยเสีย
ต่อมา “เขา” มาจับคอมมิวนิสต์
แต่ฉันไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์, ฉันจึงไม่ได้ทำอะไร
ต่อมา “เขา” มาจับพวกสหภาพแรงงาน
แต่ฉันไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น, ฉันจึงยังนิ่งอยู่
จากนั้น “เขา” มาจับคนยิว
แต่ฉันไม่ได้เป็นคนยิว, ฉันจึงยังนิ่งเฉยดังเดิม
และเมื่อถึงเวลาที่ “เขา” มาจับฉัน
ก็ไม่เหลือใครสักคนที่คิดจะพูดหรือทำอะไร”

“They first came for the Catholics,
but I was a Protestant, so did nothing.
Then they came for the Communists,
but I wasn’t a communist, so I did nothing.
Then they came for the trade unionists,
but I wasn’t a trade unionist, so I did nothing.
Then they came for the Jews,
but I wasn’t a Jew, so I did nothing.
By the time they came for me,
there was nobody to speak up.”

และข้าพเจ้าก็สนใจที่จะยกคำพูดตัวละคร Steve Trevor จากภาพยนตร์ เรื่อง Wonder Woman [5] ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เนื้อเรื่องดำเนินไปในขณะที่โลกกำลังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้

“My father told me once, he said,
"If you see something wrong happening in the world,
you can either do nothing, or you can do something".
And I already tried nothing.”

(ข้อความแปลเป็นภาษาไทยโดยข้าพเจ้าเอง)
“พ่อของผมเคยบอกกับผมครั้งหนึ่ง เขากล่าวว่า
ถ้าลูกเห็นสิ่งผิดปกติกำลังเกิดขึ้นกับโลกใบนี้
ลูกสามารถเลือกได้ว่าจะไม่ทำอะไรเลย หรือลูกจะเลือกอะไรบางอย่าง
และผมก็เคยตัดสินใจว่าจะไม่ทำอะไรไปแล้ว”

บทสรุป

ในทรรศนะของข้าพเจ้านั้น สังคมไทยกำลังคาดหวังกับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ในการร่วมแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม แต่นิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วนกลับเลือกเพิกเฉย หรือเลือกที่จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น โดยอาจลืมคำนึงไปว่าที่ความไม่ชอบธรรมในสังคมยังดำรงอยู่ได้ ก็เพราะว่าผู้เห็นความไม่ถูกต้องนั้นเพิกเฉยต่อการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็มีที่มาจากการที่นิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วนมีความเฉื่อยชาทางการเมืองดั่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งข้าพเจ้าก็คาดหวังว่าสิ่งที่บทความนี้ได้นำเสนอผ่านการติชมโดยสุจริต จะก่อให้เกิดการพัฒนาด้านความตื่นตัวทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์บางส่วนเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นกำลังในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม และเพื่อพัฒนาประเทศชาติของพวกเราในฐานะนักรัฐศาสตร์ต่อไปในอนาคต

 

เชิงอรรถ

[1] อ้างอิงจากบทความ “7 เรื่องจริงของ “เด็กรัฐศาสตร์” อยากบอกว่าเราไม่ได้หัวรุนแรงนะ!” - https://www.dek-d.com/admission/44906/

[2] อ้างอิงแนวคิดการวิเคราะห์การเมืองแนวต่างๆ - หนังสือ ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น (2556) พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว., หน้า 1-12

[3] อ้างอิงแนวคิดจากบทความ “วัฒนธรรมทางการเมืองและการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิณ ในประเด็นวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย (democratic political culture) และปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา – หนังสือ ครูการเมือง ความคิด ชีวิต และผลงาน ของศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิณ (2560) ประจักษ์ ก้องกีรติ วรรณภา ติระสังขะ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว กองบรรณาธิการ, หน้า 91-113

[4] อ้างอิงจากเว็บไซต์ที่กล่าวถึงบทประพันธ์ของ Martin Niemöller อันมีที่มาจากบทความ “First they came for the Socialists…” - http://moui.net/blog/2011/12/first-they-came-for-the-socialists/

[5] อ้างอิงจากคำพูดตัวละคร Steve Trevor ในภาพยนตร์เรื่อง Wonder Woman - http://www.imdb.com/title/tt0451279/quotes

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ธรณ์เทพ มณีเจริญ เป็นนิสิตสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท