Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมเพิ่งกลับจากการไปประชุมวิชาการของสมาคม International Association of Law and Mental Health หรือสมาคมนานาชาติว่าด้วยกฎหมายกับสุขภาพจิต การบรรยายในวันแรกเป็นเรื่องปรัชญาล้วนๆ และมีการบรรยายของ David Novak จากมหาวิทยาลัยโทรอนโท แคนาดา น่าสนใจมากๆ เลยอยากเอามาเล่ากันฟัง Novak เป็นอาจารย์ประจำสาขาศาสนศึกษา และสนใจเรื่องศาสนายิวเป็นพิเศษ แต่ในการบรรยายครั้งนี้เขาสวมหมวกเป็นนักปรัชญาและเสนอบทความที่มีชื่อเป็นประโยคคำถามว่า “To Whom Does My Body Belong?” คำตอบที่เขาเสนอก็คือว่า ผู้คนทั่วไปที่พูดถึงเรื่องสิทธิในการหยุดชีวิตตนเอง หรือสิทธิในการให้แพทย์หยุดชีวิตให้ มักอ้างเหตุผลในทำนองว่า “ร่างกายนี้เป็นของตนเอง” ดังนั้นจะทำอย่างไรกับร่างกายนี้อย่างไรก็ได้

อย่างไรก็ตาม Novak เสนอว่าการคิดแบบนี้มีปัญหา เนื่องจากมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกันเป็นอย่างมาก การอ้างว่าร่างกายนี้เป็นของตนเองอย่างเดียว จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง เขาเสนอว่าแทนที่จะมาถกเถียงกันว่าร่างกายของตนเองเป็นของใครกันแน่ เขาเสนอว่าเราควรคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด ภายใต้แนวคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีใครที่เป็นผู้ดูแลผู้อื่นอย่างเดียว แล้วก็ไม่มีใครที่มีแต่คนอื่นมาดูแลโดยไม่ดูแลคนอื่นเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ภารกิจของสังคมจึงอยู่ที่การจัดสรรและประสานการดูแลและการได้รับการดูแลเช่นนี้มากกว่า

การเสนอเช่นนี้ทำให้เราอาจมองเห็นว่า โนแวคไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิในการหยุดชีวิตตนเอง แต่เมื่อฟังไปก็กลับกลายเป็นว่า ภายใต้เครือข่ายของการดูแลและความเอื้ออาทรที่มนุษย์มีต่อกันนั้น การใช้สิทธิในการหยุดชีวิตตนเอง เป็นการกระทำอย่างหนึ่งซึ่งสะท้อนความอาทรนี้ออกมาด้วย ดังนั้นข้อเสนอของเขาก็คือว่า แทนที่จะคิดว่า ร่างกายนี้เป็นของเราคนเดียว เราจะทำอะไรกับร่างกายนี้ก็ได้ เขาเสนอว่าในกรณีที่มีการอ้างอิงถึงสิทธิที่เป็นตัวของตัวเอง ที่ตัวเองจะทำอะไรกับตัวเองก็ได้ เราควรหาอย่างอื่นมาคานการอ้างแบบนี้ ด้วยการชี้ให้เห็นว่าสังคมก็มีบทบาทในการกำหนดว่าใครเป็นใคร และในการหล่อเลี้ยงสมาชิกของสังคมให้ดำรงตนอยู่ด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีสิทธิในการหยุดชีวิตตนเองเมื่อเกิดความจำเป็น (เช่นในกรณีของการเจ็บป่วยหมดทางรักษา) เพราะภายใต้เครือข่ายของความเอื้ออาทร การหยุดชีวิตที่ทุกข์ทรมานอาจจะเป็นการแสดงความเอื้ออาทรอย่างสูงก็ได้ เนื่องจากร่างกายของเราไม่ใช่ของเราคนเดียว การตัดสินใจเกี่ยวกับว่าจะจัดการกับร่างกายของเราอย่างไร จึงเป็นเรื่องของสังคมที่จะพิจารณา แต่เขาก็เสนออีกว่า การให้อำนาจทั้งหมดแก่สังคมก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะจะกลายเป็นระบบเผด็จการที่คนหมู่มากทำอะไรก็ได้แก่คนหนึ่งคน การเป็นเผด็จการเช่นนี้ก็เป็นการละเมิดหลักการของความผูกพันโยงใยกันของมนุษย์ทั้งหมดเช่นเดียวกัน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า โนแวคไม่คัดค้านการอ้างสิทธิในการหยุดชีวิตตนเอง หรือสิทธิในการร้องขอให้แพทย์ช่วยยุติชีวิตให้ หากการใช้สิทธินั้นเป็นการแสดงออกถึงการที่สังคมเอื้ออาทรแก่ผู้อ้าง หรือการที่สังคมเห็นว่าผลประโยชน์สูงสุดจะตกแก่ผู้อ้างสิทธินี้เนื่องจากชีวิตไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรีอีกแล้ว ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่า เราจะตีความความหมายของคำว่า “อันตราย” (harm) อย่างไร หลักจริยธรรมข้อแรกของการแพทย์คือ “อย่าทำร้าย” (Do no harm) แต่ก็มีปัญหาว่า การยื้อชีวิตผู้ป่วยที่หมดทางรักษาจริงๆแล้ว เป็นการไม่ทำอันตรายหรือไม่ทำร้ายผู้ป่วย หรือเป็นตรงกันข้ามกันแน่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net