Skip to main content
sharethis

'หมอมงคล' นำทีมเครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจี้อธิบดีกรมบัญชีกลางตอบ 9 ข้อ ประเด็นบัตรรักษาพยาบาลข้าราชการ ชี้ไม่มีประโยชน์ แก้ปัญหาเวียนเทียนรับยา ทุจริตรักษาไม่ได้ แถมซ้ำซ้อน สร้างภาระให้ รพ. สิ้นเปลืองงบประเทศโดยใช่เหตุ

 
 
17 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานเครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) กล่าวภายหลังยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลางเพื่อสอบถามปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการว่า ก่อนหน้านี้ คสร.ได้เคยยื่นหนังสือสอบถามอธิบดีกรมบัญชีกลาง 4 ข้อในประเด็นดังกล่าวมาแล้ว โดยอธิบดีกรมบัญชีกลางได้ตอบคำถามมาแต่ยังไม่ตรงประเด็น ไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน และขัดแย้งกันเอง ขณะเดียวกันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ก็ได้อนุมัติให้กรมบัญชีกลางทำโครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการด้วยวงเงิน 124 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มงบประมาณจากเดิมอีกกว่า 70 ล้านบาท ทำให้เกิดข้อสงสัยมากขึ้น คสร.จึงขอสอบถามอธิบดีกรมบัญชีกลาง 9 ข้อ ดังนี้
 
1. บัตรที่ใช้จะเป็นบัตรอะไร แม่เหล็กหรือบัตรสมาร์ทการ์ดหรืออื่นๆ 2. เงิน 124 ล้านบาทจะใช้ดำเนินการอะไรบ้าง และหลังจากนี้จะมีการใช้งบประมาณเพิ่มอีกเท่าไหร่ เพื่อทำอะไรอีกบ้าง 3. บัตรนี้จะใช้แก้ปัญหางบประมาณที่บานปลายและปัญหาอื่น เช่น การเวียนเทียนรับยา การทุจริตเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างไรบ้าง 4. คำตอบที่บอกว่าไม่ต้องรอการตรวจสอบค่าใช้จ่าย ธุรกรรมจะเสร็จภายในวันเดียวนั้น จะทำอย่างไรสำหรับคนไข้ในซึ่งใช้การเบิกจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Group : DRG) ซึ่งต้องรอแพทย์สรุปผลการรักษาและค่าใช้จ่ายทั้งหมด
 
5. บัตรที่จะทำใหม่นี้จะเพิ่มภาระโรงพยาบาลที่ต้องตรวจสอบสิทธิทางออนไลน์หรือไม่ เช่น ยังคงมีสิทธิของข้าราชการหรือบุคคลในครอบครัวหรือไม่ หรือมีสิทธิอื่นที่จะต้องไปใช้ก่อนหรือไม่ ถ้ามีบัตรแล้วไม่สามารถลดภาระของโรงพยาบาลและของผู้มีสิทธิจะทำบัตรเพื่ออะไร 6. การมีบัตรที่เพิ่มความสะดวกในการรับบริการจากที่มีอยู่เดิม กรมบัญชีกลางจะยืนยันได้หรือไม่อย่างไรว่าจะไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายยิ่งขึ้น 7. ตามกฎเกณฑ์เดิมผู้ที่มีสิทธิอื่น เช่น ผู้ประสบภัยจากรถ คู่สมรสของข้าราชการที่มีสิทธิของครูเอกชน รัฐวิสาหกิจ สิทธิประกันสังคม เป็นต้น จะต้องใช้สิทธิดังกล่าวก่อน ดังนั้นบัตรที่จะทำใหม่นี้จะป้องกันและแก้ไขการละเมิดกฎเกณฑ์เดิมนี้ได้อย่างไร
 
8.การออกบัตรเพิ่มอีก 1 ใบ โดยใช้งบประมาณเบื้องต้นอีก 124 ล้านบาท เป็นการสวนทางกับนโยบายบัตรประชาชน 1 ใบที่ให้ใช้ติดต่อหน่วยงานรัฐได้ทุกที่รวมทั้งโรงพยาบาลหรือไม่ 9.กรณีข้าราชการไม่ได้นำบัตรนี้ติดตัวไปด้วยเมื่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะให้บริการหรือไม่ ถ้าให้บริการไปก่อนแล้วเบิกตรงกับกรมบัญชีกลางจะได้หรือไม่ จะผิดเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางหรือไม่
 
“ขอให้อธิบดีกรมบัญชีกลางตอบให้ชัดเจนเพื่อจะอธิบายกับสังคมว่าโครงการบัตรรักษาพยาบาลข้าราชการนี้จะเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะขณะนี้สังคมมีความคลางแคลงใจว่าเป็นโครงการที่ไม่มีประโยชน์ ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณประเทศโดยไม่จำเป็น” นพ.มงคล กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net