Skip to main content
sharethis

ชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ชี้ผลกระทบ ก.ม.แรงงานคนต่างด้าวใหม่ แรงงานหายไปจากตลาดทะเลไทยและตลาดค้าปลาอื่นๆ ขอรัฐเสนอข่าวไม่ขัดแย้งกัน จะทำอะไรควรมีเวลาให้ลูกจ้างและนายจ้างได้เตรียมตัวกัน

แฟ้มภาพ ประชาไท

17 ก.ค. 2560 จากกรณีเมื่อเดือนที่ผ่านมารัฐบาลออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 จนสร้างผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างในวงกว้าง แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ ก่อนที่วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราใน พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ให้นายจ้างและลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ภายใน 1 ม.ค. 2561 แทน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 18 ก.ค. พ.ศ. 2560 รายงานว่า สมพจน์ ยิ่งยวด ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับ ไตรพล ตั้งมั่นคง ที่ปรึกษา ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การบังคับใช้ 4 มาตรา ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คือมาตรา 101, 102, 119 และมาตรา 122 ซึ่งเข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นนั้น ได้ก่อปัญหาให้กับขบวนการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก ทั้งยังปฏิบัติยาก เมื่อลูกจ้างกับนายจ้างเกิดความกลัว ก็เลยต้องกลับไปตั้งหลักที่ประเทศของตนก่อน จึงขอให้ภาครัฐเขียนกติกาที่ชัดเจน แล้วแจ้งให้ประชาชน-นายจ้าง-ลูกจ้างต่างด้าว ได้ทราบ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดการรับรู้ในทางเดียวกันและข่าวต้องไม่ขัดแย้งกัน จึงอยากเสนอว่าเมื่อรัฐจะทำอะไรก็ตาม ควรมีเวลาให้ลูกจ้างและนายจ้างได้เตรียมตัวกันตามสมควร

“สภาพขณะนี้ทางสมาชิกของชมรม ก็ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะแรงงานหายไปจากตลาดทะเลไทยและตลาดค้าปลาอื่นๆ ประกอบกับขณะนี้เรือประมงก็ออกหาปลากันไม่ได้ สินค้าสัตว์นํ้าก็มีเข้ามาค้า-ขายในตลาดน้อยอยู่แล้วจึงถูกซํ้าด้วยปัญหาคนงานที่หายไปอีก” ประธานชมรมผู้ขายปลาฯ กล่าว

สมพจน์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้ยากในทางปฏิบัติก็คือสภาพแรงงานต่างด้าวยังไม่นิ่ง ดังนั้นถ้าจะให้การจ้างงานสงบ ก็ควรอนุญาตให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ทั้งปี เหตุเพราะทั้งล้งและเรือประมง ต่างก็มีปัญหากันทั้งปี ดังนั้นเมื่อราชการปิดการจดทะเบียน แต่เกิดปัญหาการจ้างงานขึ้น นายจ้างก็ไม่สามารถขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวได้ในช่วงนั้น ทางชมรมจึงอยากเสนอให้มีการจดทะเบียนและการขออนุญาตใช้แรงงานได้ทั้งปี เหมือนการทำบัตรประชาชนหรือการขอใบอนุญาตต่างๆ ทั่วไป เพราะสภาพลูกจ้างย้ายนายจ้าง หรือนายจ้างย้ายลูกจ้าง มีเกิดขึ้นทุกวัน จะได้สับเปลี่ยนกันได้ตลอดเวลา ในช่วง 180 วันที่ทำการผ่อนผันจึงน่าจะทำเรื่องการจดทะเบียนขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวได้อย่างไม่ต้องมีการจำกัดเวลา โดยถือเป็นวาระแห่งชาติและให้เป็นวาระเร่ง ด่วน

“การผ่อนผันไป 180 วันก็อาจจะทำกันไม่ทัน เพราะเมื่อลูกจ้างเดินทางกลับประเทศของตนแล้วจะกลับมาอีกก็มีความยุ่งยากมากมาย ขณะนี้พวกที่เดินทางกลับประเทศของตนมีทั้งแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายและพวกที่อยากกลับอยู่แล้ว” สมพจน์ กล่าว

นอกจากนี้ กำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตนเห็นด้วยกับการจัดระเบียบ แต่ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป สภาพที่เกิดขึ้นก็เพราะมีผู้ทำผิดกฎหมายเยอะและมีการทำให้คนเกิดความกลัว ซึ่งทางรัฐควรทำประชาคมให้เรียบร้อยก่อน ไม่ใช่ก่อให้เกิดผลกระทบแล้วมาตามแก้ภายหลัง ซึ่งก็จะยุ่งยากและเกิดความเดือดร้อนต่างๆ ตามมา

“ทางด้านประมงนั้นได้รับผลกระทบมาเป็นปีแล้ว เนื่องจากเรือต้องจอดและไม่มีแรงงานลงเรือ ทางออกที่รัฐน่าจะทำคือ การอนุญาตให้มีการจดทะเบียนแรงงานทดแทนในระยะสั้น หรือการผ่อนผันชั่วคราวด้วยใบอนุญาตทดแทน เพื่อให้คนงานสามารถลงไปทำงานในเรือประมงได้ก่อน และเรือประมงจะได้ออกทะเลไปจับปลาได้ โดยไม่ต้องจอดรอค้างอยู่ จากนั้นก็ให้มีการขึ้นทะเบียนต่อไปเพื่อแรงงานจะได้มีใบอนุญาตถูกต้อง” นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าว

ตรวจต่างด้าวแหล่งบันเทิงด่านนอก อ.สะเดา

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานด้วยว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่ามีแรงงานจากจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนหลายพันคนมีใบอนุญาตทำงานในตำแหน่งแม่บ้าน แต่ไปทำงานขายบริการในสถานบันเทิงในจังหวัดสงขลาว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดสงขลาได้ร่วมกับกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาและสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดา เข้าตรวจสอบสถานบันเทิง ณ บริเวณบ้านด่านนอก ต.สำนักขาม อ.สะเดา จำนวน 3 แห่ง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

วรานนท์  กล่าวอีกว่า โดยได้ตรวจสอบแรงงานตำแหน่งพนักงานเสริฟจำนวน 47 คน เป็นคนไทย 23 คน เมียนมา 13 คน และคนพื้นที่สูง 11 คน ซึ่งคนต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง ทั้งนี้ ไม่พบแรงงานจากจีนแผ่นดินใหญ่ทำงานขายบริการแต่อย่างใด แต่เป็นกรุ๊ปทัวร์มาท่องเที่ยวและพักอาศัย ณ บริเวณบ้านด่านนอก (จังโหลน) โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แก่นายจ้างและลูกจ้าง เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

"จังหวัดสงขลามีแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งสิ้น 58,338 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 44,873 คน ลาว 2,752 คน โดยที่ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 13 (ชนกลุ่มน้อย , พื้นที่สูง เช่น เมียนมา ไทยใหญ่ ไทยลื้อ จีน ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า เป็นต้น) จำนวน 407 คน นายจ้าง จำนวน 102 ราย เป็นตำแหน่งกรรมกร 221 คน ผู้รับใช้ในบ้าน 61 คน และพนักงานเสริฟ 125 คน" วรานนท์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net