Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้อ่านบทความ “ความเฉื่อยชาทางการเมืองของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ” ซึ่งเขียนโดยนิสิตปีสองของคณะ หลังอ่านจบข้าพเจ้าก็เกิดคำถามขึ้นว่า เหตุใดในยุคที่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งสามารถก้าวขึ้นไปเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ได้ภายในระยะเวลาเพียงสองภาคการศึกษา อีกทั้งยังสามารถจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่เรียกเสียงฮือฮาได้จากทั้งใน และต่างประเทศ ยังถูกหาว่าเฉื่อยชาทางการเมืองได้ หากเป็นเช่นนั้น ในสมัยของข้าพเจ้าที่แทบไม่มีกิจกรรมใดๆ เลย นอกจากงานเสวนาเล็กๆ ที่จัดโดยกลุ่มหรือชมรม ตามโอกาส ตามความสะดวก คงถูกเรียกว่า ตายด้านทางการเมืองเป็นแน่แท้ แต่ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่าความตื่นตัวทางการเมืองของข้าพเจ้าก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวผู้เขียนบทความเท่าใดนัก ข้าพเจ้าจึงอยากจะสนทนากับผู้เขียนบทความข้างต้นเล็กน้อย ด้วยหวังว่าท่านจะอ่านด้วยจิตอันมีไมตรี

ผู้เขียนได้พูดถึงเรื่อง “อำนาจมิติที่ 3” ซึ่งถือเป็นวิชาเบิกเนตรของนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง ผู้เขียนได้อธิบายทฤษฎีดังกล่าวได้อย่างถูกต้องแม่นยำราวกับกางตำราเขียน แต่ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้เขียนคงจะหลงลืมหนึ่งในแนวคิดจากวิชาเบิกเนตรดังกล่าวที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือความแตกต่างระหว่าง อัตตวิสัย (subjectivity) และ วัตถุวิสัย (objectivity) ข้าพเจ้าไม่อยากใช้คำใหญ่คำโต จึงขอเรียกอัตตวิสัยว่า “มุมมองแบบมีอคติ” ส่วนวัตถุวิสัยว่า “มุมมองแบบปราศจากอคติ” ซึ่งข้าพเจ้าคงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติม

เหตุใดข้าพเจ้าจึงมองว่าสองแนวคิดนี้สำคัญ เนื่องจากเมื่อเราเข้าใจแก่นของอำนาจมิติที่สาม เมื่อเราเข้าใจว่าทุกความเชื่อ ค่านิยม และอุดมการณ์ที่เราเคยยึดถือมาตั้งแต่จำความได้ล้วนหลอกลวงและโป้ปด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเรามักจะอัญเชิญอุดมการณ์อื่นๆ เข้ามาแทนที่อุดมการณ์ที่โป้ปดนั้น อาจจะเป็นเสรีนิยม ประชาธิปไตย สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วเราก็จะยึดมันเป็นสารณะ ว่านี่แหละถูกต้อง นี่แหละจริงแท้ เชื่อว่ามันคือสิ่งถูกต้องอย่างเป็น “วัตถุวิสัย” โดยหารู้ไม่ว่าเราได้ตกไปอยู่ใต้อำนาจมิติที่สามอีกชุดหนึ่งไปแล้วโดยปริยาย

มาถึงตรงนี้อาจเกิดคำถามว่า แล้วมุมมองแบบใดถือเป็นมุมมองส่วนบุคคล และแบบใดถือว่าปราศจากอคติ ซึ่งคำตอบของข้าพเจ้าก็คือ “มุมมองแบบปราศจากอคตินั้นไม่มีอยู่จริง” แม้วิทยาศาสตร์ซึ่งดูเป็นตัวแทนของความจริงแท้ไร้ซึ่งอคติ ก็ยังหนีไม่พ้นอิทธิพลของอคติทางสังคม อย่าลืมว่าในอดีต การแพทย์ตะวันตกเคยถือว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศคือผู้พิการทางจิต และความต้องการทางเพศของผู้หญิงถือเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา การพึงระลึกอยู่เสมอว่าความเชื่อของเรามิใช่ความจริงแท้จึงสำคัญเสียยิ่งกว่าการตระหนักในอุดมการณ์ที่ครอบงำเราอยู่เสียอีก

ที่กล่าวมาข้างต้นคือข้อถกเถียงระดับทฤษฎี ต่อไปนี้คือข้อถกเถียงรายประเด็น

ประการแรก ผู้อ่านมองว่าในขณะที่คณะรัฐศาสตร์สอนเรื่อง “ความตระหนักในความเท่าเทียมในเรื่องหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน หรือเรื่องสิทธิมนุษยชน” แต่นิสิตในคณะ (ผู้อ่านใช้คำว่า “พวกเขา” เรากับตนเองมิใช่นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) “เรียนไปในลักษณะ รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ไม่มีการนำองค์ความรู้ที่เรียนไปทดสอบว่า ปฏิบัติได้จริง” คำถามแรกของข้าพเจ้าคือ วิธีการใดกันที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่คณะรัฐศาสตร์สอนนั้น “ปฏิบัติได้จริง” ตามที่ผู้เขียนกล่าว เพราะองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่ผู้เขียนยกมานั้น เป็นเรื่องของชุดคุณค่า และอุดมคติเสียส่วนใหญ่ หากใช้ศัพท์แสงของผู้เขียนคือ เป็นเรื่องของ “What ought to be” มันจึงมิใช่สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ดั่งองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ที่ฟันธงได้ว่าโลกโคจรรอบพระอาทิตย์

แต่ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อก็คือ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ไม่ยอมออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง จึงมองว่าไม่ได้ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมา หากนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ ข้าพเจ้าต้องขอกล่าวว่าผู้เขียนยังไม่ประสบความสำเร็จในเรียนรัฐศาสตร์ เพราะรัฐศาสตร์ไม่ได้สอนเพียงแค่ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม หรือ สิทธิมนุษยชน หากเป็นเช่นนั้นรัฐศาสตร์ก็ไม่ต่างจากการท่องสูตรคูณเป็นนกแก้วนกขุนทอง ตรงกันข้าม รัฐศาสตร์สอนวิธีการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมือง เข้าใจว่าเหตุใดจึงเกิดเสื้อเหลือง เสื้อแดง เหตุใดจึงเกิดการรัฐประหาร เหตุใดจึงมีการถอนหมุดคณะราษฎร์ การตอบคำถามเหล่านี้ต้องอาศัยองค์ความรู้และสติปัญญามากกว่าการพร่ำบ่นว่า “รัฐประหารเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตย” มากนัก แน่นอน ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่า “รัฐประหารเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตย” แต่รัฐศาสตร์สอนให้ข้าพเจ้าทำความเข้าใจมันให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก เข้าใจจนถึงต้นตอของการรัฐประหาร และค้นหา “วิธีการ” ที่จะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ข้าพเจ้าเชื่อว่านิสิตคณะรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่คงตระหนักดีว่า “รัฐประหารเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตย” (หาไม่แล้ว คณะนี้คงจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง) แต่ “วิธีการ” ที่แต่ละคนใช้ย่อมต่างกัน ตามแต่เงื่อนไขทางสังคมของแต่ละคน และ วิธีการวิเคราะห์ (approach) ของแต่ละคน นิสิตบางคนอาจศรัทธาประชาธิปไตย แต่ฐานะทางเศรษฐกิจทำให้พวกเขาไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ เช่น ต้องช่วยแม่ขายปาท่องโก๋ เลยไปเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือนิสิตที่ศรัทธาประชาธิปไตยบางส่วนอาจจะวิเคราะห์มาอย่างแยบยลแล้วว่า การเคลื่อนไหวในรูปแบบกระบวนการนักศึกษานั้นไม่สามารถสั่นคลอนระบอบอำนาจนิยมของประเทศนี้ได้ สู้รักษาประวัติของตนให้ขาวสะอาด แล้วสมัครเข้าไปทำงานราชการเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบจากภายในจะไม่ฉ,าดกว่าหรือ ท่านกล้าหาญมาจากไหนกันจึงตัดสินว่าผู้ที่ไม่ออกมาเคลื่อนไหวนั้น “เฉื่อยชา” ทางการเมือง  ท่านกำลังมองว่าวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมของท่านนั้นดีที่สุด และนิสิตท่านอื่นต้องเชื่อเช่นนั้น ปฏิบัติเช่นนั้น ไม่สำคัญว่าเงื่อนไขทางสังคมของพวกเขาคืออะไร “ท่านใจแคบไปหรือไม่?”

ในแง่หนึ่ง ตัวผู้เขียนก็ตระหนักดีว่าพฤติกรรม “ความเฉื่อยชาทางการเมือง” นี้ ในแง่หนึ่งเป็นผลมาจากการที่สังคมไทยยังคงอยู่ในระบอบอำนาจนิยม แต่คำถามของข้าพเจ้าคือ ในเมื่อผู้เขียนเล็งเห็นถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างได้อย่างลึกซึ่งถึงเพียงนี้ เหตุใดยังคงโยนบาปให้กับปัจเจกเสียเอง ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เป็นเหยื่อของโครงสร้างอันบัดซบนี้ไม่ต่างจากท่าน

ประการที่สอง ผู้เขียนกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเคยประสบกับเหตุการณ์ที่มีนิสิตจำนวนหนึ่งนิยมแนวคิดสังคมนิยม (Socialism) ตามทฤษฎีมาร์กซิสต์ แสดงตนว่าต่อต้านระบบทุนนิยมและระบบชนชั้นที่สร้างโดยพวกนายทุน แต่ตนเองกลับไม่กล้าวิจารณ์หรือแสดงออกต่อต้านนายทุนในสังคมที่กำลังกระทำการไม่ชอบธรรมอย่างเปิดเผย ออกแนวเป็นชาวมาร์กซิสต์ตามกระแสเสียมากกว่า” เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าก็ตระหนักได้ว่า คนประเภทนี้มันมีอยู่ทุกรุ่นทุกสมัยจริงๆ

เปล่า ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงเหล่า มาร์กซิสต์ตามกระแสที่ผู้เขียนพูดถึง ข้าพเจ้ากำลังพูดถึง เหล่ามาร์กซิสต์ “จริงแท้” ที่มักพิสูจน์ความจริงแท้ของตนโดยการแปะป้ายว่าผู้อื่นว่าเป็นของปลอม หากผู้เขียนเป็นมาร์กซิสต์จริงแท้ ข้าพเจ้าคงไม่มีโอกาสได้อ่านข้อเขียนของท่าน เพราะท่านคงจะกำลังง้วนอยู่กับการจัดตั้งมวลชนตามต่างจังหวัดกับเหล่าชาวนาและกรรมกรโรงงาน หรือไม่ก็กำลังถือปืนสู้กับรัฐไทย

สำหรับข้าพเจ้า การศึกษาแนวคิดสังคมนิยมของคณะรัฐศาสตร์มิได้มีจุดประสงค์เพื่อให้นิสิตออกไปปฏิวัติสังคมให้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่เราศึกษามันในฐานะ “แว่น” ในการมองสังคม สังคมนิยมทำให้เราสามารถมองเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมของระบบทุนนิยม ซึ่งเราเคยเชื่อว่ามันเป็นระบบทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ สังคมนิยมมทำให้เราเห็นอกเห็นใจเหยื่อของระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นแรงงาน ขอทาน หรือโสเภณี ทำให้เรามองพวกเขาในฐานะเหยื่อของระบบอันฟอนเฟะและต้องการความช่วยเหลือเอื้ออาทร มิใช่แค่เหล่าผู้เกียจคร้านที่ไม่ควรได้สวัสดิการใดๆ จากรัฐ แน่นอน ท่านอาจโต้แย้งว่าหากทำเช่นนั้นก็เท่ากับยอมประนีประนอมกับระบอบทุนนิยม แต่คำถามคือ ในเมื่อระบบทุนนิยมยังคงดำรงอยู่ และจะไม่มีทางล่มสลายไปในระยะเวลาอันสั้น เราก็ควรจะผลิตมนุษย์ที่มองเห็นความอยุติธรรมของมันบ้างแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดีมิใช่หรือ?

เมื่อพูดเช่นนี้ท่านผู้เขียนอาจจะโต้แย้งว่า “ใครบอกว่าข้าพเจ้าเป็นมาร์กซิสต์จริงแท้ ข้าพเจ้ากำลัง ‘กังขาว่าการศึกษาคณะนี้สอนให้เรามีแนวคิดเป็นของตนเอง หรือสอนให้เรามีแนวคิดตามที่อาจารย์สอนครั้งล่าสุด?” ซึ่งข้าพเจ้าก็จะตอบว่านั่นไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอันใด หากจะพูดแบบอ้างอาวุโส แม้กระทั่งตอนข้าพเจ้าเรียนอยู่ปี 4 แนวคิดของข้าพเจ้าก็ยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะแนวคิดย่อมของเราย่อมเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเราเจอแนวคิดใหม่ที่ดีกว่า หรือสมเหตุสมผลกว่า การไม่ยอมเปลี่ยนแปลงต่างหาก คือความล้มเหลวของการเรียนรัฐศาสตร์

ข้าพเจ้าจะขอสรุปทิ้งท้ายบทความชิ้นนี้โดยละวางทฤษฎี และหลักวิชาลง แต่จะพูดในฐานะสิงห์ดำถึงสิงห์ดำด้วยกัน ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ผู้เขียนได้แสดงความกล้าหาญที่จะวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาภายในคณะ แม้จะตระหนักดีว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของท่าน แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความกล้าหาญ คือการเปิดกว้างต่อความเห็นต่าง ท่านมีแนวทางของท่านก็จงเชื่อมั่นแล้วทำมันให้ดี แต่การกล่าวหาผู้อื่นที่มีแนวทางต่างจากท่านว่าล้มเหลว เฉื่อยชา ไม่เคยจะยังประโยชน์ใด การทำงานสายนักกิจกรรมนั้นไม่ง่าย หลายครั้งเราจัดกิจกรรมสายตัวแทบขาด หวังให้คนตื่นตัวและสนใจ แต่ต้องพบกับความจริงที่ว่ามีคนเข้าร่วมเพียงหยิบมือ เมื่อประสบปัญหาดังกล่าว แต่นักกิจกรรมทั่วไปจะเพียรถามว่า “เหตุใดพวกเขาจึงไม่ออกมา” แต่นักกิจกรรมชั้นดีจะถามว่า “ทำอย่างไรพวกเขาจึงจะออกมา” ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อเลยว่า บทความของท่านจะไม่ทำให้ใครออกมาร่วมกับท่านอย่างแน่นอน หรืออย่างน้อย ลองคิดถึงวันที่ท่านต้องถูกคุมขังคุกคาม จากระบอบอำนาจนิยมไทย ท่านอยากได้ยินเสียงใดระหว่าง “ปล่อยเพื่อนกู” หรือ “สมน้ำหน้ามึง”

ข้าพเจ้าขอขอบคุณผู้เขียนอีกครั้ง หากท่านอ่านมาถึงบรรทัดนี้ได้ แสดงว่าท่านก็คงเปิดรับให้กับความเห็นต่างอยู่มิน้อย หวังว่าเราจะมีโอกาสได้สนทนาผ่านตัวอักษรกันในโอกาสต่อไป

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net