นายกฯ ห่วง นร. นศ. ใช้มือถือบันทึกเสียงแทนจดในห้องเรียนไม่พัฒนาความคิด ความจำ

ห่วง ถ้าจดบันทึกจะช่วยคิด ช่วยจำ ทางปลัด ศธ. ขานรับ กำชับสถานศึกษาเข้มงวดนำมือถือเข้าห้องเรียน ใช้ได้เฉพาะจำเป็น ติดต่อผู้ปกครอง เว็บฯ ศธ. ระบุ แนวทางการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ต้องมีทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ 
 
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 สำนักข่าวเดลินิวส์ รายงานว่า ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ นายกฯ ย้ำเรื่องการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาว่า ให้ดูความพร้อมของโรงเรียนและครูด้วย ควรนำความรู้เรื่องภูมิศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา (องค์ความรู้ วิชาการของศาสตร์ทั้ง 4 ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริงที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน (ที่มา:steamedthailand.org)) และการประเมินผลผู้เรียนในทุกระดับชั้น ทุกวิชาจะต้องได้รับการประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อสอบในการประเมิน ควรเป็นแบบข้อเขียน เพื่อฝึกให้เด็กได้เขียนและคิดวิเคราะห์เป็น และให้นำระบบอีเลิร์นนิ่ง มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย
 
"นายกฯ เป็นห่วงว่าปัจจุบันการเรียนการสอนในชั้นเรียน นักเรียน นักศึกษา ไม่นิยมจดบันทึก ทั้งที่การจดบันทึกจะช่วยให้เด็กได้คิดและช่วยจำ แต่ผู้เรียนกลับใช้วิธีการนำโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูป บันทึกเสียงแทนการจด ดังนั้น ในส่วนของ ศธ. ผมจะกำชับให้สถานศึกษาทุกระดับ เข้มงวดเรื่องการนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องเรียน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการใช้โทรศัพท์มือถือ จะเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ใช้ได้เฉพาะนอกเวลาเรียนที่มีความจำเป็นในการติดต่อผู้ปกครองเท่านั้น ซึ่งโรงเรียนบางแห่งเข้มงวดในเรื่องนี้อยู่แล้ว" ปลัด ศธ.กล่าว
 
เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ระบุถึงแนวทางการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไว้ดังนี้

ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์โลกมีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 และ 19 ระบบการศึกษา ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง

ในประเทศสหรัฐอเมริกาแนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยภาคส่วนที่เกิดจากวงการนอกการศึกษา ประกอบด้วย บริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อๆว่า เครือข่าย P21

หน่วยงานเหล่านี้มีความกังวลและเห็นความจำเป็นที่เยาวชนจะต้องมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 จึงได้พัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ขึ้น สามารถสรุปทักษะสำคัญอย่างย่อๆ ที่เด็กและเยาวชนควรมีได้ว่า ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม หรือ 3R  และ 4C ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้

  • 3 R ได้แก่ Reading (การอ่าน), การเขียน(Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic) และ
  • 4 C (Critical Thinking - การคิดวิเคราะห์, Communication- การสื่อสาร Collaboration-การร่วมมือ และ Creativity-ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท