Skip to main content
sharethis
19 ก.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าว ที่ห้องประชุม อาคารศาลอาญา ชั้น 12 ว่า สืบเนื่องจาก ศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ แถลง ข่าวการลาออกจากราชการศาลยุติธรรม วานนี้ (18 ก.ค.60) โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมและ องค์กรภายในของศาลยุติธรรม ซึ่งสาธารณชนสมควรที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้
 
ประเด็นการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการกลั่นกรองเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) นั้น  โฆษกศาลยุติธรรม  ระบุว่า อ.ก.ต. ประจำชั้นศาลจะประกอบด้วยข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล จำนวน 7 คน รวม 21 คน ล้วนแต่เป็นผู้มีตำแหน่งสำคัญในแต่ละชั้นศาล การดำเนินการกลั่นกรองเสนอความเห็น ของ อ.ก.ต. จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมและระเบียบคณะกรรมการศาลยุติธรรม ว่าด้วยองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง และวิธีดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2554 ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ต. เป็นการประชุมโดยอิสระ เช่น การอภิปราย แสดงความคิดเห็น การออกเสียงลงคะแนน และตีความ ทั้งนี้ อ.ก.ต. ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานที่เกี่ยวข้องกับ ประเด็นความเหมาะสมของ ศิริชัย ในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในด้านการบริหารจัดการ สำนวนคดี และได้ให้โอกาส ศิริชัยชี้แจงถ้อยคำถึง 2 ครั้ง ตลอดจนยังได้ให้โอกาส ศิริชัยเสนอ พยานบุคคลและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจนสิ้นกระแสความ มิได้เป็นการรวบรัดแต่อย่างใด ซึ่งที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนด้วยมติเสียงข้างมากถึง 19 ต่อ 1 ของจำนวนอนุกรรมการที่มาประชุม เห็นว่า ศิริชัย ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา
 
ประเด็นการพิจารณาลงมติของ ก.ต.ที่ไม่สามารถทบทวนมติได้นั้น โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า ก.ต. ประกอบด้วย ประธาน ศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน ซึ่งเป็น ข้าราชการตุลาการในชั้นศาลฎีกาจำนวน 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์ จำนวน 4 คน และชั้นศาลชั้นต้น จำนวน 2 คน และยังมี ก.ต. อีก 2 คน ซึ่งวุฒิสภาเลือกจากบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม บุคคลดังกล่าวล้วนเป็นผู้ทรงเกียรติและดำรงตำแหน่งสำคัญ ไม่มีบุคคลใดที่จะมา แทรกแซงได้ซึ่งในการพิจารณาลงมติของ ก.ต. กระทำโดยเปิดเผยและสามารถตรวจสอบรายงานการประชุม ของ ก.ต. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้อันเป็นหลักประกันแก่ข้าราชการตุลาการทุกคนที่จะได้รับการพิจารณา อย่างเป็นธรรม แม้การดำเนินงานตามมติของ ก.ต. ในเรื่องการเลื่อนตำแหน่งจะไม่สามารถทบทวนได้ แต่ได้มีการกลั่นกรองข้อเท็จจริงจาก อ.ก.ต. จำนวนถึง 21 คน มาแล้ว หลักการดังกล่าวนี้ศาลยุติธรรม ใช้มาอย่างยาวนาน และได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ไม่อาจทบทวนความเป็นอิสระ โดยองค์กรอื่นได้ ซึ่งในการออกเสียงลงคะแนนยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ 14 ต่อ 0 ของจำนวน ก.ต. ที่เข้าประชุม ไม่เห็นชอบให้ ศิริชัย ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา อีกเช่นกัน (เนื่องจาก ชีพ จุลมนต์ ก.ต. ชั้นศาลฎีกา ออกจากห้องประชุม) และเมื่อ ก.ต.ไม่ให้ความเห็นชอบแล้ว เลขานุการ ก.ต. ก็ต้องเสนอผู้ที่มีอาวุโสลำดับถัดไป ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ 2543ต่อไป จึงมิได้เป็นการเสนอชื่อที่มิได้เป็นไปตามลำดับอาวุโสแต่อย่างใด
 
ประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา ในชั้น อ.ก.ต. และในชั้น ก.ต. ในเรื่องความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของ ศิริชัย มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าเป็นการกระทำผิดวินัย จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ ก.ต. ที่จะต้องดำเนินการ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้เช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการรายอื่น มิฉะนั้น อาจถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งในการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น ศิริชัย มีสิทธิที่จะเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีมูลเป็นความผิดวินัย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ต้องเสนอยุติเรื่อง แต่หากมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แม้ ภายหลัง ศิริชัย จะพ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการไปแล้ว คณะกรรมการก็ยังสามารถ ดำเนินการทางวินัยสอบสวนหรือพิจารณาลงโทษได้เสมือนผู้นั้นยังมิได้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการ ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543
 
ประเด็นไม่มีกฎหมายรับรองตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา นั้น โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ.2543 นอกจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการตามที่ระบุไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง เช่น  ตำแหน่งประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ฯลฯ ตามวรรคสองของ มาตราดังกล่าว คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ยังมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มี ตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้ และจะเทียบตำแหน่งใดก็ให้กำหนดไว้ในประกาศนั้นด้วย การกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เทียบเท่ากับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์จึงเป็นการชอบ ด้วยบทบัญญัติของกฎหมายทุกประการ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net