Skip to main content
sharethis

‘อรรถจักร์’ ระบุกรณีจำนำข้าวเป็นความผิดทางการเมืองต้องรับผิดชอบทางการเมือง ใช้กฎหมายเล่นงานเท่ากับลดทอนอำนาจประชาชนในการเลือกนโยบายผ่านการเลือกตั้ง ชี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่ารัฐพันลึกกำลังขยายตัวเพื่อกำหนดระเบียบใหม่

คดีที่อัยการพิเศษยื่นฟ้องยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดจนก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายในวันพรุ่งนี้ (21 กรกฎาคม 2560) กำลังเป็นที่ถูกจับตาจากหลายฝ่ายว่าผลจะออกมาอย่างไร

แน่นอนว่าในทางการเมือง คดีนี้ย่อมเร่งอุณหภูมิให้สูงขึ้นและอาจถูกใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหว ทว่า ในเชิงของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้เลือกรัฐบาลจากนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอ กรณีคดีจำนำข้าวถือว่าส่งผลกระทบกว้างไกลยิ่งกว่า อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า

“ความผิดนี้เป็นความผิดทางการเมือง จึงควรได้รับผิดทางการเมือง เช่น ถูกประชาชนลงโทษไม่ได้รับเลือกตั้ง หรืออื่นๆ ที่ทำให้หยุดนโยบาย โดยการต่อสู้ด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ฟ้องศาลปกครอง ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำให้ความผิดทางการเมืองกลายเป็นความผิดทางแพ่ง ทางการปฏิบัติราชการ และอื่นๆ ต้องแยกกัน การคอร์รัปชั่นเอาผิดได้ แต่ตัวนโยบายต้องรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่าการรับผิดทางกฎหมายแบบนี้”

อรรถจักร์เป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรียกว่าผิดตั้งแต่คิดนโยบายแล้ว แต่เขากลับเห็นว่าการดำเนินคดีกับยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวหรือผิดหลักการที่ควรเป็น เขาวิเคราะห์ว่า การพยายามเอาผิดทางกฎหมายกับนโยบายของรัฐบาลเช่นในกรณีนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับสังคมไทย เพราะสิ่งนี้สอดคล้องกับการสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้กระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งหมายถึงกระบวนการตัดสินใจในการกระจายทรัพยากรว่าจะให้ใคร ที่ไหน อย่างไร ถูกกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มระบบราชการ กลุ่มทหาร และกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล ซึ่งกลุ่มพวกนี้อาจเรียกว่า Deep State หรือรัฐพันลึก

“นี่คือการรวมกลุ่มกันที่จะสร้างระเบียบชุดหนึ่งขึ้นมาที่จะจรรโลงให้การตัดสินใจทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แม้ว่ากลุ่มนี้จะบอกว่าทำตามความต้องการประชาชน แต่คุณไม่ได้ผูกกับประชาชนเลย กรณีคดีจำนำข้าวจึงสะท้อนให้สังคมไทยต้องตระหนักและกังวลว่า คนที่อยู่ในรัฐพันลึกกำลังเล่นเกมกับสังคมไทย กำลังถือว่ากลุ่มตนเองเท่านั้นคือผู้ที่กำหนดอนาคตของประเทศไทย รวมทั้งแผนนโยบาย 20 ปีที่เขาวางไว้ มันแปลว่าเราไม่สามารถขยับออกไปอย่างทันสถานการณ์ได้”

อรรถจักร์ ชี้ให้เห็นว่า คดียิ่งลักษณ์มีนัยสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออนาคตสังคมไทย

“ผมคิดว่า ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าคดียิ่งลักษณ์จะออกมาอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องมองข้ามไปให้ไกลกว่านั้นก็คือว่า คดียิ่งลักษณ์เป็นตัวชี้อนาคตสังคมไทย คือท้ายสุดแล้ว รัฐพันลึกจะคุมสังคมไทย เขาอาจจะอยู่อีก 10 ปี 20 ปี หรืออย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) บอกว่าคงอยู่อีกนาน สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับกลุ่มคณาธิปไตยภายใต้ฉากประชาธิปไตย และคณาธิปไตยกลุ่มนี้คือคณาธิปไตยที่ครองอำนาจในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และประสงค์ที่จะครองต่อไปให้ยาวนานที่สุด สังคมไทยควรต้องคิดเรื่องนี้กันให้มาก”

อรรถจักร์ยังกล่าวถึงกลุ่มทุนขนาดกลางและขนาดเล็กที่เคยสนับสนุนคณะรัฐประหารว่า จงตระหนักว่าในอนาคตอีกไม่นานนี้ กลุ่มทุนขนาดกลางและขนาดเล็กจะถูกเบียดขับออกจากเวทีเศรษฐกิจ เพราะรัฐพันลึกที่เป็นกลุ่มทุนจะขยายออกไปมากขึ้นๆ จนกระทั่ง ‘เขี่ย’ นักธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ออกจากเวทีทางเศรษฐกิจ ซึ่งนี่คือรัฐพันลึกที่กำลังขยายตัวมากขึ้น

กล่าวได้ว่า ณ ขณะนี้ รัฐพันลึกไม่ใช่แค่ข้าราชการอีกต่อไป แต่ยังรวมกลุ่มทุนใหญ่ๆ อีกมากมาย โมเดลประชารัฐและกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังประชารัฐก็คือการสมานสามัคคีกันของทุนกลุ่มหนึ่งหรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่งร่วมกับรัฐ-ระบบราชการที่นำโดยทหาร สิ่งที่น่ากังวลคือระบบราชการไทยที่เทอะทะ ไร้ประสิทธิภาพ ท้ายสุดแล้วก็จะกลายเป็นผู้รับใช้กลุ่มทุนในรัฐพันลึก ไม่ใช่ผู้ที่คอยกำกับอีกต่อไป

"คดียิ่งลักษณ์เป็นตัวชี้อนาคตสังคมไทย คือท้ายสุดแล้ว รัฐพันลึกจะคุมสังคมไทย เขาอาจจะอยู่อีก 10 ปี 20 ปี หรืออย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) บอกว่าคงอยู่อีกนาน สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับกลุ่มคณาธิปไตยภายใต้ฉากประชาธิปไตย และคณาธิปไตยกลุ่มนี้คือคณาธิปไตยที่ครองอำนาจในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และประสงค์ที่จะครองต่อไปให้ยาวนานที่สุด สังคมไทยควรต้องคิดเรื่องนี้กันให้มาก”

“ในสมัยก่อนเทคโนแครตเรามีเสียง แต่วันนี้อ่อนแอลง กรณีกฎหมายต่างด้าวชี้ให้เห็นชัดว่า ระบบราชการไทยตามไม่ทัน ออกกฎหมายมา รัฐบาลหยิบไปใช้ หน้าแตก คุณไม่สามารถยืนอยู่ในโมเดลรัฐพันลึกที่เป็นความสามัคคีกันของทุนในสมัยแรกที่ทุนเพิ่งเริ่มต้น

“ปี 2500 เป็นต้นมารัฐระบบราชการ เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และคัดเลือกกลุ่มทุนบางกลุ่มให้ได้ประโยชน์ก่อน ดังนั้น กลุ่มทุนในสมัยนั้นก็จะยอมกับระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ แต่ในวันนี้กลุ่มทุนขยายตัวใหญ่กว่ารัฐระบบราชการ มีประสิทธิภาพมากกว่า คุญจะใช้ระบบราชการมาคานเขา มันเป็นไปไม่ได้ ระบบราชการต่างหากที่จะกลายเป็นเครื่องมือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในรัฐพันลึกคือกลุ่มทุนจะยึด ระบบราชการที่คิดว่าจะต่อรองได้ นำได้ เหมือนที่คณะรัฐประหารคิด จะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป”

หากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเช่นในกรณีจำนำข้าว ถูกเอาผิดในทางกฎหมาย (ต้องแยกระหว่างการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดกับการคอร์รัปชั่น ซึ่งอย่างหลังต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย) ย่อมหมายความว่าการเลือกนโยบายของประชาชนจะไม่มีความหมายอีกต่อไป อรรถจักร์ กล่าวว่า

“รัฐบาลที่ตั้งใหม่จะสยบยอมอยู่ภายใต้รัฐพันลึก คือเมื่อก่อนรัฐเองมีอิสระโดยสัมพัทธ์กับทุนในระดับหนึ่ง เพราะทุนยังอ่อนแอ แต่ปัจจุบันรัฐถูกทุนเข้าไปยึดหมดแล้ว เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปที่จะใช้ระบบราชการมาคานกับทุน เพราะมันแตกต่างกันเกือบ 40 ปี ทุนขยายมากกว่า และทุนกลุ่มนี้ไม่มีอะไรขวางกั้นได้เลย”

อาจตั้งคำถามได้ว่า แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจะสามารถทัดทานกลุ่มทุนได้อย่างนั้นหรือ อรรถจักร์ แสดงทัศนะว่า

“ผมคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดจะต้องพะวงกับเสียงประชาชน เขาต้องลดทอนการขยายตัวของกลุ่มทุนที่ลงไปกระทบส่วนต่างๆ ลดการผูกขาดบางเรื่องลงไป เพื่อเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น เขาจะไม่ทำให้กลุ่มทุนที่ใหญ่โตขยายต่อไปได้สะดวกมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดประชาชนก็ยังพอจะมีที่หายใจได้มากกว่าในบรรยากาศต่อไปจากนี้”

ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าคดียิ่งลักษณ์จะเพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองจนก่อความวุ่นวาย แต่นัยที่ลึกและกว้างกว่านั้น มันกำลังบ่งบอกถึงอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของประชาชนที่ลดน้อยถอยลงทุกขณะ และการรุกคืบเข้ามาถือครองอำนาจของรัฐพันลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net