Skip to main content
sharethis

หนึ่งในความกังวลเกี่ยวกับระบบปัญญาประดิษฐ์คือ แย่งงานมนุษย์ สื่อด้านความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจอีควอลไทม์ เสนอว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายทางการเมืองและสังคมมากกว่าตัวเทคโนโลยีเอง ว่าจะทำอย่างไรให้ปัญญาประดิษฐ์เอื้อประโยชน์ต่อคนโดยเท่าเทียม แทนที่จะให้ประโยชน์คนไม่กี่คนและมีทำลายชีวิตคนอื่นๆ

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 ระบบปัญญาประดิษฐ์อาจจะมีประโยชน์สำหรับมนุษย์ในหลายๆ ด้าน แต่ก็มีสิ่งที่ยังไม่ชวนให้คลายความกังวล คือการที่มันจะมา "แย่งงาน" ของมนุษย์ ข้อมูลจากงานวิจัยของคัทยา เกรซ จากสถาบันวิจัยอนาคตของมนุษยชาติ มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ระบุว่าภายในช่วงราว 10-40 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อาจจะเข้ามาแทนที่การทำงานหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานแปล งานขับรถ งานทางการแพทย์ งานการเงิน หรือแม้กระทั่งงานทางการทหารก็ไม่พ้นอาจจะถูกแทนที่ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์

อย่างไรก็ตามในประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้วก็มีความกังวลในเรื่องนี้ต่างกัน สตีเวน โทบิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า ในประเทศพัฒนาแล้วจะกังวลเรื่องความสามารถในกระบวนการคิดและรับรู้ของปัญญาประดิษฐ์จะทำให้พวกมันได้เปรียบมนุษย์ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะกังวลว่าหุ่นยนต์อันโนมัติจะเข้ามาแย่งงานภาคการผลิตไป

อย่างไรก็ตามโทบินเน้นย้ำว่าที่ผ่านมาการพัฒนานวัตกรรมไม่ได้ทำให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมากอย่างที่กังวลกันเสมอไป เพราะสุดท้ายแล้วความผิดไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของการจัดการของทั้งภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมต่างหากที่จะเป็นผู้กำหนดว่าพวกเขาต้องการอนาคตแบบใด พวกเขาควรทำให้อนาคตสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ไปพร้อมๆ กับเป็นประโยชน์ต่อสังคมและตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ตามในระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกคนหรือแค่คนที่มีอำนาจควบคุมปัจจัยการผลิตกันแน่ ฮวน ทอร์เรส โลเปซ ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัยแห่งเซวิลล์กล่าวว่า ถึงแม้ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นความก้าวหน้าที่พวกมันจะช่วยทำงานแทนมนุษย์ได้ แต่ปัญหาคือผู้ที่จะได้ประโยชน์จากมันอย่างไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคส่วนของสังคม

นอกจากนี้ทาง ILO ยังได้พูดถึงสถานการณ์การจ้างงานในยุคปัจจุบันที่เริ่มมีการทำสัญญาจ้างไม่เป็นแบบมาตรฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างแบบไม่เต็มเวลา การจ้างชั่วคราว การจ้างผ่านองค์กรจัดหางาน การจ้างเหมาช่วง (subcontract) การทำงานอิสระแบบมีการพึ่งพิง หรือความสัมพันธ์ทางการจ้างงานแบบคลุมเครือ ทั้งหมดนี้จะยิ่งได้รับผลกระทบเกิดความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานมากขึ้นเมื่อเกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ILO จึงเสนอให้มีการดูแลจัดการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้มั่นใจว่าจะจะทำให้แรงงานได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมไม่ว่จะมีสัญญาจ้างแบบใด

แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ILO เสนอว่าควรจะมีการคุ้มครองสิทธิแรงงานที่ดีและทำให้แรงงานสามารถเข้าสู่กระบวนการฝึกฝีมือและพัฒนาทักษะตัวเองได้มากขึ้นเพื่อรองรับงานรูปแบบใหม่ไปพร้อมๆ กับรองรับให้พวกเขามีชีวิตอยู่ได้โดยหลักประกันในชีวิตขั้นพื้นฐาน ILO ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นที่สามารถนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ได้โดยที่ไม่กระทบตอการจ้างงานของคน โดยพูดถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้ในงานที่อันตรายสำหรับมนุษย์ ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีเหล่านี้ลดรายจ่ายได้โดยทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมด้วย

หนึ่งในการแก้ปัญหานี้คือนโยบายรายได้ขั้นพื้นฐาน หรือในกรณีของสเปนเรียกว่ารายได้ขั้นต่ำ (minimum income) ที่ทางการเมืองบาร์เซโลนาทดลองนำมาใช้กับเขตเบซอส 1,000 ครัวเรือนด้วยงบประมาณ 13 ล้านยูโร เป็นเวลา 24 เดือน เพื่อศึกษาว่าถ้าหากผู้คนเข้าถึงรายได้ขั้นต่ำแทนระบบสวัสดิการที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินไปนั้นจะส่งผลอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อศึกษาว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมีรายได้เพิ่มเติมจากเดิม มีรายได้ลดลง รวมถึงยังคงมีส่วนร่วมทางสังคมในด้านแรงงานหรือไม่

นอกจากบาร์เซโลนาแล้วยังมีหลายเมืองที่มีโครงการทดลองในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นออนแทริโอของแคนาดา อูเทรคต์ของเนเธอร์แลนด์ และในฟินแลนด์ โดยแนวคิดรายได้ขั้นพื้นฐานนี้มีเป้าหมายหลักคือการลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดความเท่าเทียมด้านโอกาส โดยหลังจากการทดลองเป้นเวลา 2 ปี ก็จะมีการประเมินว่านโยบายนี้ส่งผลต่อการคุ้มครองทางสังคมและการลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่เมื่อเทียบกับระบบสวัสดิการแบบเดิมที่ถูกวิจารณ์ว่าทำให้เกิดการพึ่งพิงและมีความเป็นราชการเกินไป ทางสภาเมืองบารเซโลนาจึงทดลองรายได้ขั้นต่ำเพื่อดูว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและลดความปัญหาจากความเป็นระบบราชการลงได้หรือไม่

 

เรียบเรียงจาก

The future of work in the era of artificial intelligence, Equal Times, 31-07-2017

https://www.equaltimes.org/the-future-of-work-in-the-era-of

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net