Skip to main content
sharethis

เข้ารับทราบข้อกล่าวหา 8 ส.ค. นี้ ยัน วิพากษ์ คสช. ต่อไปจนกว่าจะโดนตำรวจแย่งมือถือไป เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายสิทธิฯ เป็นทนายให้ ก่อนหน้านี้นักข่าวเจ้าของรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ถูกเรียกเข้าค่ายมาแล้ว 2 ครั้งในยุค คสช.

ประวิตร โรจนพฤกษ์

เมื่อ 1 ส.ค. 2560 ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากสำนักข่าว ข่าวสดอิงลิช ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Pravit Rojanaphruk ใจความว่า เมื่อเวลา 18.40 น. ตนได้รับโทรศัพท์แจ้งจากรองผู้กำกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.) พ.ต.ท. กิตตินัทธ์ ประชุมสุข ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าตนกระทำผิดตามมาตรา 116 หรือที่รู้จักในชื่อข้อหายุยงปลุกปั่น ผ่านการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กประมาณ 5 ชิ้น

ประวิตรจะไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันอังคารที่ 8 ส.ค. ทั้งนี้ เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนจะเป็นทนายให้ผู้สื่อข่าวชื่อดัง โดยประวิตรยืนยันว่าจะวิพากษ์รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างสุจริตต่อไปจนกว่าจะโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจแย่งโทรศัพท์มือถือไป

ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ประวิตรเคยถูกควบคุมตัวไปแบบไม่สามารถติดต่อกับคนอื่นได้เพื่อ 'ปรับทัศนคติ' ถึง 2 ครั้งหลังแสดงความเห็นที่ถูกตีความว่ากระทบกับรัฐบาล คสช. และกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในปี 2557 และ 2558 เดิมทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่สำนักข่าวเดอะ เนชั่น แต่ถูกเชิญออกหลังจากถูกเรียกเข้าค่ายทหารครั้งที่สองเมื่อปี 2558 จากนั้นประวิตรจึงย้ายมาทำงานที่ข่าวสดอิงลิช

เมื่อ 18 ก.ค. 2560 คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก (The Committee to Protect Journalists) มอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ให้กับนักข่าว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ที่ได้รับเกียรติจากทางคณะกรรมการฯ ร่วมกับนักข่าวอีก 3 คนจากแคเมอรูน เม็กซิโก และเยเมน แถลงการณ์ระบุถึงประวิตรว่าเป็น "นักข่าว นักวิพากษ์ และนักรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อ ถูกคุกคามโดยรัฐบาลและถูกคุมขัง 2 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีนี้จากการทำข่าวประเด็นการเมืองและสิทธิมนุษยชน”

ทั้งนี้ ประมวลประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า

         “มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

         (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

         (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

         (๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

(ที่มา: iLaw)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net