Skip to main content
sharethis

สถานการณ์ไทยแย่แต่ยังดีกว่าสมัยสฤษดิ์ คสช. กวดขันแต่หยุดโซเชียลมีเดียไม่ได้ วอน คนไทยเรียนรู้และเติบโตไปกับสื่่อโซเชียล ความเห็นต่างยังดำเนินไป ประชาธิปไตยยังไม่ใช่กติกาเดียว วอนนักข่าวอย่ายอมรับรัฐบาลทหารและรัฐประหาร สื่อฟิลิปปินส์อยู่ยาก ทำข่าวแล้วถูกขู่ฆ่า เมียนมาร์เป็นประชาธิปไตยแต่ยังไล่จับนักข่าว ความมั่นคงต้องอธิบายให้สังคมฟังได้ รัฐบาลเลือกตั้งไทยไม่มั่นคงเท่าสถาบันทหาร กวดขันโซเชียลต้องไม่ปิดกั้นประชาชนตรวจสอบรัฐบาล

เมื่อ 2 ส.ค. 2560 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ จัดงานเสวนา หัวข้อ Shifting sands: Press Freedom in Southeast Asia เป็นงานเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์ของเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดที่ห้องสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ชั้นเพนท์เฮาส์ อาคารมณียา โดยเชิญประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช เอ็ดการ์โด เลอกาสปี ผู้อำนวยการ เครือข่ายthe Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมาเรีย เรสซา ประธานบริหารเว็บไซต์ข่าว Rappler หัวหน้าสำนักงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในกรุงมะนิลาและกรุงจาการ์ตา และอองซอว์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการสำนักข่าวอิรวดีจากประเทศเมียนมาร์ เป็นวิทยากร

อย่างไรก็ดี อองซอว์ และมาเรียร่วมเสวนาผ่านสไกป์และเฟซคอลล์ ด้วยปัญหาทางเทคนิคทำให้มาเรียไม่สามารถร่วมเสวนาได้

สถานการณ์ไทยแย่แต่ยังดีกว่าสมัยสฤษดิ์ รัฐบาลทหารกวดขันแต่หยุดโซเชียลมีเดียไม่ได้ วอน คนไทยเรียนรู้และเติบโตไปกับสื่่อโซเชียล

ขวา: ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตรกล่าวว่า ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์นั้นเสรีภาพของสื่อไทยแย่กว่านี้ สมัยนั้นนักข่าวถูกคุมขังอยู่หลายเดือนจากอำนาจเบ็ดเสร็จของมาตรา 17 และปัจจุบันนี้เราก็มีมาตรา 44 ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะถอยหลังไปไกลแต่ก็คงไม่เท่ากับสมัยนั้นแต่ในวันนี้ ทั้งนี้ เราจะไม่สามารถปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกได้เลยถ้าเราไม่เคารพมันเสียก่อน ทุกวันนี้เรายังเห็นคนไทยที่มีการศึกษาจำนวนมากปกป้องกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อยู่ ที่บอกว่า ใครที่อยากวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ก็ออกไปจากประเทศเสีย แต่พอคนเหล่านั้นออกไป ประยุทธ์ก็เปลี่ยนใจ อยากตามตัวกลับมาดำเนินคดี ดังนั้น หน้าที่ของคนไทยทุกวันนี้จึงไม่ใช่แค่ใช้เสรีภาพการแสดงออกเท่านั้น แต่ต้องฟูมฟักมันด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ยาวไกล

ภายใต้บริบทปัจจุบันในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ที่มีการขยายการใช้งานกฎหมายมาตรา 112 มากขึ้น จนทำให้สื่อกระแสหลักต้องเซ็นเซอร์ตัวเองกัน แต่ในพื้นที่โซเชียลมีเดียนั้นมันควบคุมกันไม่ได้ เราเห็นความพยายามของประยุทธ์ที่พยายามจะขอให้เฟซบุ๊กหรือยูทูบลบเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์แต่ก็ประสบความล้มเหลว เรากำลังรับมือรูปแบบการสื่อสารแบบใหม่และอาจจะมาแทนที่สื่อกระแสหลักทั้งภาษาไทยและอังกฤษและการเซ็นเซอร์น้อยกว่าถ้าไม่นับเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งการเซ็นเซอร์ตัวเองก็เป็นปัญหาอีกเมื่อเราอยากจะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะการที่จะทำเช่นนั้นแล้วรอดพ้นการถูกจับกุมไปได้คือต้องจองตั๋วเที่ยวเดียว คือไปอยู่ที่ประเทศอื่น ผมกำลังพูดถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แต่เมื่อดูจากความพยายามของรัฐบาลทหารในการควบคุมโซเชียลมีเดียแล้วจะเห็นว่า ถึงจะมีการห้าม การแบน รัฐบาลก็ไม่สามารถคุมได้ทุกอย่าง เราก็ยังเห็นคนไลค์และแชร์พระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 ที่เขียนขึ้นโดยสำนักข่าวบีบีซี จนนำไปสู่การจับกุมตัวจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน จากการแชร์ข่าวดังกล่าว และถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมากว่าครึ่งปีแล้วทั้งที่ยังไม่ได้รับคำพิพากษา นอกจากระเบียบข้อบังคับที่ออกมาให้เห็นแล้ว ก็ยังมีการพูดคุยกันหลังฉาก มีการเรียกบรรณาธิการไปพูดคุย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฎบนหน้าข่าว ดังนั้น โซเชียลมีเดียจึงเป็นเหมือนกับอสุรกายที่รัฐบาลทหารยังควบคุมไม่ได้

นักข่าวรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2560 หวังว่าจะไม่ละทิ้งการใช้งานโซเชียลมีเดีย ถึงแม้ว่าในพื้นที่โซเชียลมีเดียจะเต็มไปด้วยเฮทสปีช (Hate speech - ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง) แต่ก็เป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ที่ใช้แลกเปลี่ยนความเห็น เป็นดาบสองคม ผมเองก็พยายามเรียนรู้ผ่านเฮทสปีช ความกลัวทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรือคนที่คิดต่างในเรื่องมาตรา 112 ดังนั้นอย่าละทิ้งโซเชียลมีเดีย พยายามมีวุฒิภาวะและใช้มันอย่างชาญฉลาด ในสังคมไทยที่โซเชียลมีเดียกำลังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ หวังว่าจะเป็นพื้นที่ที่ไว้แลกเปลี่ยนความเห็นและไม่รู้สึกโกรธเมื่อเห็นความคิดเห็นที่แตกต่าง

ความเห็นต่างยังดำเนินไป แต่ประชาธิปไตยยังไม่ใช่กติกาเพียงหนึ่งเดียว วอนนักข่าวอย่ายอมรับรัฐบาลทหารและรัฐประหาร

ประวิตรกล่าวว่า สังคมไทยนั้นมีลักษณะของความแบ่งแยก ในกลุ่มคนที่มีการศึกษาก็มีการสนับสนุนให้มีการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 และครั้งล่าสุดในปี 2557 และแม้แต่ในวงการสื่อก็มีสื่อและนักข่าวที่สนับสนุนการรัฐประหารเช่นกัน ถ้าอ่านบางกอกโพสท์ หรือเดอะ เนชั่นก็จะเห็นความเห็นที่หลากหลายเช่นว่า ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้ดูมีชีวิตชีวา แต่ว่าในแง่หนึ่ง เราไม่ได้พูดถึงรัฐบาลทหารในฐานะเดียวกันกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะการใช้กำลังยึดอำนาจมามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นักข่าวก็ไม่ควรทำหน้าที่เพียงแต่การรายงานข่าว แต่ต้องปกป้องเสรีภาพการแสดงออกที่เหลือด้วย สื่อไม่ควรทำกับรัฐบาลทหารเหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นการเมินเฉยก็เป็นการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารและรัฐบาลทหารต่อไปในอนาคต แต่ตนจะไม่ออกไปชุมนุมบนท้องถนนแน่ หลังจากการปล่อยตัวเมื่อถูกจับกุมครั้งที่สอง กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ได้มาเชิญชวนให้ออกไปร่วมชุมนุม แต่ก็ได้ปฏิเสธไปเพราะคิดว่า ถ้าเราไปถึงจุดนั้นก็คงเป็นนักกิจกรรมและก็คงต้องละเลิกอาชีพนักข่าว

อย่างไรก็ตาม การรายงานข่าวก็ต้องเป็นไปตามความจริง ยกตัวอย่างเช่นเมื่อครั้งที่ตนให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังจากการถูกจับกุมครั้งที่สองที่อธิบายลักษณะห้องผิดไปว่าไม่มีหน้าต่าง ตนก็ได้ติดต่อไปทางสำนักข่าวเพื่อให้แก้ไข มันเป็นเรื่องของหลักการ ไม่ใช่ความเกลียดชัง ซึ่งผมก็หวังว่าคนจะเข้าใจเสียทีว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารไม่ใช่คนเสื้อแดงหรือผู้สนับสนุนทักษิณเท่านั้น ผมเคารพคนเหล่านั้น แต่ว่าสถานการณ์จริงมันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น

ประวิตรเล่าถึงการเข้าถูกนำเข้าไปที่ค่ายทหารทั้ง 2 ครั้งในภายใต้รัฐบาล คสช. ว่า ครั้งแรกถูกจับไว้ที่ค่ายทหารที่ จ.ราชบุรี เหตุเกิดจากการเขียนบทวิพากษ์วิจารณ์กฎอัยการศึกหลังเกิดรัฐประหารไม่นาน และการตอบคำถามสื่อต่างประเทศมาสัมภาษณ์ ในคำถามที่ถามตนว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนอย่างไร ตนก็บอกไปว่า ประยุทธ์เคยพูดตอนเป็นผู้บัญชาการทหารบกว่าจะไม่ทำรัฐประหาร แต่สุดท้ายก็ทำ มันก็มองได้สองทางคือ ไม่เปลี่ยนใจก็โกหก แต่ไม่ว่าจะทางใดก็ตามมันแสดงให้เห็นว่าประยุทธ์เป็นคนที่ไว้วางใจไม่ได้ จากนั้นก็มีการประกาศเรียกตนผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ให้ไปเข้าค่ายทหาร ส่วนครั้งที่สองนั้นเหตุเกิดจากทวิตเตอร์ที่ตนทวีตในปี 2558 ว่าประยุทธ์ไม่ใช่ผู้บัญชาการทหารบกแล้วตั้งแต่เขาทำรัฐประหาร เป็นผลให้โดนเรียกเข้าค่ายทหารอีก ครั้งนี้ถูกนำตัวไปค่ายในตอนกลางคืน นอนในห้องขนาด 4 x 4 ตร.ม. แล้วรถตู้ที่ขึ้นไปก็เหมือนเป็นรถนิรนามที่ไม่เหมือนรถของทางราชการ จากนั้นโดนเจ้าหน้าที่สอบสวนเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ย้ำว่า มีเพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะปลดยศทหารได้

ครั้งล่าสุดที่โดนจับเข้าค่ายไป ระหว่างการสอบสวนที่ยาวนาน 6 ชั่วโมงมีพันเอกท่านหนึ่งพูดกับผมว่า ฟังนะประวิตร ถ้าเป็นเมื่อ 20-30 ปีก่อน, สิ่งที่คุณเขียนจะมีคนเห็นแค่ 2-3 พันคน แต่ตอนนี้คุณโพสต์อะไรไปคนเห็นเยอะแยะไปหมด เคยถูกห้ามไม่ให้โพสต์ในโซเชียลมีเดียตั้งแต่ถูกจับเข้าค่ายครั้งแรกแล้ว แต่ก็อยู่แล้ว ผมไม่หยุด อย่างที่บอกในเฟซบุ๊กว่าจะหยุดตอนโดนแย่งมือถือไป แต่อย่างไรก็ซื้อใหม่ได้อยู่แล้ว ความกลัวของผมคือไทยจะนำโมเดลของจีนที่ปิดการเข้าถึงเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ไป แล้วตั้งโซเชียลมีเดียวอย่างอื่นขึ้นมาใช้ แต่อย่างไรเราก็ต้องใช้เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ได้อยู่ดี ไม่เช่นนั้นนักท่องเที่ยวคงไปเที่ยวที่อื่นกันหมด ไทยไม่ใหญ่พอที่จะมีกำลังปิดเฟซบุ๊ก ปิดทวิตเตอร์ แล้วสร้างระบบให้คนใช้เหมือนจีน

ความเห็นต่อสมมติฐานที่ว่า ยิ่งมีเสรีภาพสื่อมากเท่าไหร่ ก็จะมีความรู้เท่าทันสื่อมากขึ้นเท่านั้น ประวิตรมองว่ามันต่างกัน การรู้เท่าทันสื่อคือความเข้าใจของสาธารณชนต่อสื่อต่างๆ ว่ามีข้อจำกัดอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น สื่อกระแสหลักไม่พูดเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วถ้าอยากอ่านเรื่องนี้ต้องไปอ่านที่ไหน นี่คือความเข้าใจของสาธารณะ ส่วนเสรีภาพสื่อคือวัฒนธรรมที่มีความครุ่นคิดเรื่องความเห็นต่าง อยู่ด้วยกันได้แม้จะไม่เห็นด้วย สังคมไทยยังไม่มีวัฒนธรรมที่มีขันติ กลายเป็นว่าเห็นต่างเท่ากับเลว เกลียดชังความเห็นต่าง อย่างนี้สร้างเสรีภาพสื่อไม่ได้ นอกจากนั้น สื่อเองก็เซ็นเซอร์ตัวเองจากความกดดันของสังคม อย่างนี้เสรีภาพสื่อก็ไม่เกิด ถ้าจะพัฒนาก็คงต้องเริ่มที่ระบบการศึกษาที่มีแนวทางการสอนแบบเส้นตรง คำตอบมีคำตอบเดียว นี่คือความล้าหลังของความเข้าใจของสังคมที่ยึดติดอยู่กับหลักวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ในทางสังคม คุณค่าของมนุษย์มีหลายด้าน มีค่านิยม ความแตกต่างที่ต้องหาวิธีแสดงความเห็นต่างอย่างเป็นอารยะ

ต่อคำถามว่าจริงๆ แล้วอยากทำอะไร ประวิตรตอบว่า จริงๆ อยากใช้ชีวิตนักข่าวธรรมดา บางครั้งก็อยากจะออกจากงานมาเขียนหนังสือ แต่ในความเป็นจริง ภายใต้สภาวะที่ไม่มีแม้แต่สิทธิพลเมือง ผมก็ไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ได้ ถ้าคุณอยู่ในจุดที่ทำอะไรได้ก็ต้องลุกขึ้นมาทำ และแน่นอนการโดนคดีความก็เป็นราคาที่ต้องจ่าย

เมื่อถามว่าการกดขี่เสรีภาพสื่อไทยถึงจุดที่สื่อกระแสหลักจะต้องมีสำนักงานที่ต่างประเทศหรือ Exile media เหมือนสื่อเมียนมาร์ทำหรือไม่ ผู้สื่อข่าวจากข่าวสดอิงลิชกล่าวว่า เราก็มีแล้ว คุณจอม (จอม เพชรประดับ) ก็ไม่ใช่กระจอกนะ ซึ่งคุณจอมก็พูดถูกว่า เดี๋ยวนี้ คนๆ เดียวก็จัดการทำห้องส่ง ทำสัมภาษณ์สดได้แล้ว ตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะเกิด exile media ยังไง ถ้าสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ก็คงมี ถ้ามีนักข่าวและประชาชนถูกจับเข้าคุกมากๆ ก็อาจจะมี นอกจากนั้น สื่อกว่าร้อยละ 40-50 ก็เห็นใจรัฐบาลทหาร ก็ยอมรับกันได้ ไม่เห็นจะต้องหนีไปไหน

สื่อฟิลิปปินส์อยู่ยาก ทำข่าวแล้วถูกขู่ฆ่า เมียนมาร์พลิกล็อค เป็นประชาธิปไตยแต่ยังไล่จับนักข่าว

ซ้าย: เอ็ดการ์โด เลอกาสปี

เอ็ดการ์โดกล่าวว่า ถ้ามองย้อนหลังไปเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว สื่อในฟิลิปปินส์ก็มีความเสี่ยงภัยสูง มีสื่อเสียชีวิตกันปีละ 5-6 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ปัจจุบัน ในยุคของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต นักข่าวที่รายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและผลกระทบของสงครามยาเสพติดกลับถูกคุกคาม เช่น ถูกขู่ฆ่า แต่ดีที่การกีดกันเสรีภาพยังไม่ขยายจากวงการสื่อไปยังชีวิตธรรมดา แต่การกระทำดังกล่าวก็ทำให้วัฒนธรรมการคุกคามสื่อเป็นเรื่องปรกติและทำให้สื่อรายงานเรื่องสงครามปราบยาเสพติดเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่วนในระดับภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีระดับเสรีภาพสื่ออยู่ในอันดับต่ำทั้งนั้น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ลาว บรูไนก็มีมาตรการในการควบคุมสื่ออยู่แล้ว ในพม่าหลังจากมีรัฐบาลเลือกตั้งก็มีนักข่าวถูกจับไปแล้ว 5 คน

อองซอว์ กล่าวว่า เมื่อ20 ปีที่แล้ว ด้วยสถานการณ์และสภาวะการคุกคามสื่อในเมียนมาร์ ทำให้สื่อเมียนมาร์ต้องมาอาศัยและทำงานในไทย ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านเมื่อราว 5 ปีที่แล้วก็พอมีพื้นที่ที่จะกลับไปทำงานที่พม่าได้แล้วก็มีสื่อที่กลับไปทำงานในประเทศ แต่ตอนนี้สถานการณ์ของสื่อเริ่มกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง มีการนำกฎหมายสมัยอาณานิคมมาใช้จัดการสื่อมวลชน รวมถึงใช้กฎหมายมาตรา 66d ที่มีลักษณะคล้ายกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในไทย ถูกใช้ในพม่าเพื่อจับกุม กักขังนักข่าวและบรรณาธิการโดยไม่ได้สิทธิ์ประกัน แทนที่กฎหมายควรถูกใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้สื่อข่าวและประชาชน แต่กลับถูกนำมาใช้เพื่อจับกุม คุมขังกันแม้แต่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยที่นำโดย อองซานซูจี

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นชัดว่าตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมาเมียนมาร์กำลังเดินผิดทาง ที่พูดให้ฟังอยู่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ต้องโดนอะไร เพราะพวกเราเองก็ไม่แน่ใจว่าเพดานการนำเสนอของเราอยู่ที่ไหน แต่ก็ยังมีพัฒนาการ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อพม่าทำให้เกิดความสนใจบนหน้าสื่อจนทำให้ทหารและกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) ได้ทำการประชุมร่วมกันและได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการแทรกแซงใดๆ ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็อาจจะเป็นความหวังเล็กๆ สำหรับนักข่าว แต่ก็มีโอกาสน้อยที่จะได้รับสิทธิ์ประกันตัว

มาตรา 66(d) ของกฎหมายโทรคมนาคมระบุว่าผู้ใดที่กระทำการ "ขู่กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่บังคับ กักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดๆ ทำให้เสียชื่อเสียง ก่อกวน ส่งอิทธิพลอย่างไม่เหมาะสม หรือคุกคามบุคคล โดยอาศัยเครือข่ายโทรคมนาคม" จะถูกลงโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 3 ปี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ส่วนทิศทางของสำนักข่าวอิรวดีและสื่อเมียนมาร์นั้น อองซอว์กล่าวว่า มีนักข่าวอีกหลายคนที่กำลังกังวลว่าจะเขียนอะไรได้บ้าง และกำลังคิดถึงแผนสำรองเผื่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งตอนนี้ก็มีสัญญาณที่จะแย่ลง แม้แต่ในสหรัฐฯ เองก็มีปัญหาในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เหมือนกัน สถานการณ์มันกลับตาลปัตรไปหมด

ความมั่นคงต้องอธิบายให้สังคมฟังได้ รัฐบาลเลือกตั้งไทยไม่มั่นคงเท่าสถาบันทหาร กวดขันโซเชียลต้องไม่ปิดกั้นประชาชนตรวจสอบรัฐบาล

ต่อประเด็นทางสองแพร่งที่รัฐต้องเลือกระหว่างการลิดรอนเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของพลเมืองแลกกับการรักษาความปลอดภัยจากภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประวิตรมองว่า ความมั่นคงก็ควรเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายให้สาธารณชนฟังได้ หรือย่างน้อยก็ควรมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่ดี กลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหารตอนนี้ก็สงสัยว่ารัฐบาลไทยสามารถเช็คการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากโทรศัำพท์ได้มากแค่ไหน แต่เรื่องการเช็คสถานที่ (โลเคชั่น) นั้นทำได้ เพราะตอนเข้าค่ายก็โดนทหารถามว่าไปทำอะไรตรงนั้นตรงนี้บ่อย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ได้จากการแกะรอยมือถือเท่านั้น ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลไม่ต้องอธิบายอะไรให้ใคร ไม่มีระบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ มีสภาตรายางที่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลทหาร แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีพัฒนาทุกวัน ดังนั้นมันจะมีการถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัวกับข้อกังวลเรื่องความมั่นคงตลอดเวลา พวกเราก็รู้ว่าสถาบันทหารมีลักษณะเป็นรัฐซ้อนรัฐมาหลายทศวรรษ แม้แต่ในยุคของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราก็ยังเห็นได้จากการที่รัฐบาลต่างๆ ยังคงมีความอ่อนไหวในประเด็นการโยกย้ายตำแหน่งทหาร รวมถึงสภาวะอำนาจทางทหารที่แท้จริงที่ไปอยู่ในมือผู้บัญชาการทหารบกแทนที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เราเห็นการเน้นการแก้ปัญหาความมั่นคงจากรัฐบาลทหาร แต่อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่ใช่ประเทศที่ถูกคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) อย่างเช่นอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ ตอนนี้พวกเขาคงแค่อยากรู้ว่าคนพูดถึงพระมหากษัตริย์อย่างไรบนโซเชียลมีเดียเท่านั้น

ในขณะที่เอ็ดการ์โดให้ความเห็นว่า ตนมีความกังวลว่าเรื่องความมั่นคงจะส่งผลต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสังเกตุการณ์รัฐบาลด้วย งานด้านความมั่นคงและการต่อต้านการก่อการร้ายควรแยกเป็นคนละเรื่องกับการลดทอนการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net