'ทหาร-นักเคลื่อนไหว-นักวิชาการ' ถอดบทเรียนภารกิจชุมชนสันติวิธีกับการเมืองสันติภาพปาตานี

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชี้รัฐต้องเปิดเวทีฟังความเห็น สร้างการรับรู้ กระบวนการสันติภาพสู่ชุมชน แก้วงจรความขัดแย้ง นักเคลื่อนไหวย้ำหากสถานะทางการเมืองไม่เกิด พื้นทางการเมืองก็จะไม่เกิด หากพื้นทางการเมืองไม่เกิด สันติวิธีมันก็จะไม่เกิดเช่นเดียวกัน นักวิชาการเผยรัฐสมัยใหม่ แยกระหว่างกลไกรัฐกับสังคม ส่งผลดีแต่แย้งวิถีเดิมของสังคมและชุมชน

ภาพจากเว็บไซต์ mediaselatan.com

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ในเวทีมอบประกาศนียบัตรและนำเสนอนโยบายสาธารณะ จัดเวทีเสวนา หัวข้อ…”ชุมชนสันติวิธีกับการเมืองสันติสุข-สันติภาพ ปาตานี-ชายแดนใต้” ที่ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี มีวิทยากรที่ร่วมเสวนาประกอบด้วย นาวาเอกจักรพงษ์ อภิมหาธรรม หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา โดยมี ปรัชญา โต๊ะอีแต เป็นผู้ดำเนินรายการ 

กัมปงดามัยเสริมความรู้สู่ชุมชน เพิ่มวุฒิภาวะทางการเมือง

ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา เปิดเผยว่า สำหรับภารกิจการเสริมความรู้ให้กับชุมชนนั้นถือว่าเป็นการสร้างวุฒิภาวะทางการเมือง เพื่อให้เท่าทันต่อประเด็นการขับเคลื่อนสันติภาพระดับชุมชน

โครงการจัดตั้งศูนย์สันติภาพวิชาการสังคม หรือ กัมปงดามัย (Kampong Damai) ที่เราจัดขึ้นเป็นโครงการนำร่อง เสริมความรู้ให้กับชุมชน โดยผู้เข้าร่วมที่มาจาก 4 พื้นที่ 4 ชุมชน ซึ่งผู้เข้าร่วมเราคัดเลือกมาพื้นที่ละ 10 คน ประกอบด้วย 3 พื้นที่สีแดง และอีก 1 พื้นที่คือพื้นที่ของพี่น้องชาวไทยพุทธ

การพูดคุยสันติภาพ ทำให้เกิด 'เสวนาปาตานี'

ตูแวดานียา เปิดเผยต่อว่า โครงการกัมปงดามัย หลักคิดสำคัญได้รับอิทธิพลจากกระแสการพูดคุยสันติภาพโดยการดำเนินงานภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ประเด็นนี้ในระดับชุมชนกลับไม่มีองค์กรไหนมาแตะต้อง ทั้งที่มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในชุมชน

ด้วยเหตุนี้เราจึงรวมตัวกันจัดเวทีสานเสวนาโดยใช้ชื่อว่า “Bicara Patani” หรือ “เสวนาปาตานี” เป็นเวทีกลางสำหรับการอัปเดตข้อมูลสถานการณ์และกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งการจัดเวที Bicara Patani ครั้งนั้นเราร่วมกันทำในนามเครือข่าย รวมทั้งหมด 68 เวทีภายในระยะเวลา 1 ปี เป็นเวทีการประสานเรียกจากชุมชน เป็นความต้องการจากชุมชนเอง พื้นที่ต่างๆ จึงไม่ได้มาจากเรา  

ภายใต้รัฐบาล คสช. 'เสวนาปาตานี' จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน

ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา กล่าวด้วยว่า พอมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนและประเมินอย่างหนักหลังชุมชนได้รับแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ ช่วงนั้นเวทีนี้กลับถูกมองว่าเป็นเวทีการปลุกระดมตามความเข้าใจและมุมมองของฝ่ายความมั่นคง จึงเกิดแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ผ่านการเยี่ยมเยียนชุมชน ทำให้ชาวบ้านกังวลและหวาดกลัว ถึงแม้เวทีนี้จะสามารถให้ประโยชน์ด้านการเรียนรู้กับชุมชน แต่ผลข้างเคียงด้านลบ คือ ภาวะการกดดันจากเจ้าหน้าที่ เราจึงต้องปรับรูปแบบให้ความรู้ในแบบเจาะจง เลือกผู้เข้าร่วมและพื้นที่ชุมชนอย่างเจาะจง จากเวที Bicara Patani เป็นโครงการกัมปงดามัยขึ้นมา นี่คือพลวัตรที่เกิดขึ้น

การตื่นตัวทางการเมือง ต้องเริ่มจากพื้นที่สีแดง

ตูแวดานียา กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดของโครงการกัมปงดามัย คือ การที่เราสัมผัสถึงการตื่นตัวทางการเมืองของชุมชนท่ามกลางแรงกดดันจากเสียงปืน เสียงระเบิด แม้กระทั้งจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จึงมีระดับของความเข้มข้นและพลวัตรอย่างต่อเนื่องแปรผันตามช่วงเวลาและข้อมูลการสื่อสาร

สรุปคือ ในเชิงพื้นที่พฤติกรรมทางความคิดทางการเมืองของชุมชน ประชาชนที่มีระดับการตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่สีแดง

พื้นที่สีแดง คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความถี่ของเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น และมีระดับของความเข้มข้นของความอัดอั้นใจที่มาจากประสบการณ์ของชุมชนที่ผ่านบาดแผลของการสูญเสีย ทำให้เกิดบรรยากาศความโดดเดี่ยว ขาดข้อมูลการสื่อสาร เราจึงคิดว่าพื้นที่เหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลอะไรบางอย่างที่สามารถไปเติมเต็มในระดับต้นๆ ตูแวดานียา กล่าว

สถานะทางการเมืองไม่เกิด สันติวิธีก็จะไม่เกิดเช่นเดียวกัน

ตูแวดานียา ทิ้งท้ายว่า เมื่อสถานะทางการเมืองไม่เกิด พื้นทางการเมืองก็จะไม่เกิด เมื่อพื้นที่ทางการเมืองไม่เกิด สันติวิธีก็จะไม่เกิดเช่นเดียวกัน กระบวนการสันติภาพจะเกิดอย่างแท้จริง มันต้องเป็นที่พึ่งพอใจของเจ้าของชะตากรรม นั่นก็คือ ประชาชนในพื้นที่ ที่ผ่านมาการพูดคุยสันติภาพมันแยกขาดจากประชาชน อยู่ดีๆ ก็เกิดเวทีการพูดคุยที่มาเลเซีย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้อยู่สุดท้ายมันก็เป็นเพียงแค่สันติภาพที่เปลือกนอก หรือ เป็นสันติภาพที่สามารถหล่อเลี้ยงกระแสไปวันๆ เท่านั้นเอง

เปิดเวที ฟังความเห็น สร้างการรับรู้ กระบวนการสันติภาพ

นาวาเอกจักรพงษ์ อภิมหาธรรม หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) มีอยู่ 4 ภารกิจด้วยกัน งานแรกคือ การเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็น และสร้างการรับรู้ในเรื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยเราจะมุ่งต่อ 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ แทร็กสอง (Track 2) กลุ่มองค์กรผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ซีเอสโอ นักการเมือง ผู้นำศาสนา และเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มเป้าหมายที่ 2 คือ แทร็กสาม (Track 3) หรือ ฐานล่างสุด คือ ประชาชนทั่วไป ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำตามธรรมชาติ

ให้ความรู้ สันติวิธี สันติภาพ แก้วงจร ความขัดแย้ง

นาวาเอกจักรพงษ์ กล่าวถึงงานที่ 2 ว่าคือ การให้ความรู้ด้านสันติวิธี งานองค์ความรู้วิชาการด้านสันติภาพ เพราะเรามีความเข้าใจดีว่าสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งมันทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ผู้คนเกิดความรู้สึกคับแค้นใจ หรือ เรียกว่า วงจรความขัดแย้ง ซึ่งเราคาดหวังว่าเราจะลงไปให้ข้อมูลให้ครบทั้ง 1,988 หมู่บ้าน แต่ตอนนี้คงทำได้เพียงแค่ 290 ตำบลไปก่อน  

หนุนเสริม NGO สื่อสารรากหญ้า รวบรวม วิเคราะห์ส่งต่อคณะพูดคุยสันติภาพ

ส่วนงานที่ 3 นาวาเอกจักรพงษ์ ระบุว่า คือ การส่งเสริมและร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้ได้ เพื่อเป็นสะพานสู่ฐานล่างในการสอบถามความคิดเห็น หรือเป็นตัวกลางให้กับทั้งสองฝ่าย เพราะเราเห็นว่าภาคประชาสังคมเป็นตัวละครที่สำคัญอย่างยิ่ง จึงพยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาสังคมมีบทบาทตรงนี้

และงานที่ 4 คือ งานรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง โดยการออกแบบโครงการต่างๆ จะใช้วิธีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ จากข้อมูลเหล่านี้ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปเสนอต่อคณะพูดคุยในการใช้เป็นข้อมูลบนโต๊ะเจรจา จักรพงษ์ กล่าว

อดีตกาล สังคมชุมชน กับอำนาจปกครอง บทบาททับซ้อน แต่ราบรื่น

อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ในสมัยอดีตกาล การเป็นสังคมชุมชนกับอำนาจในการบริหารปกครอง เป็นเรื่องที่มันทับซ้อนกันอยู่ในพื้นที่ โดยไม่ได้แยกออกมาว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายไหนเป็นฝ่ายชุมชน

ดังนั้น ในความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นขนบธรรมเนียมนั้นแน่นอนมันไม่อาจจะเรียกว่าประชาธิปไตย หรืออาจจะเรียกก็ได้ แต่มันเป็นจุดสมดุลบางอย่างในการจะรันวิถีชีวิต หรือ สังคมชุมชนนั้นๆ ให้มีความราบรื่นไปได้ในระดับพอสมควร

เช่น ก่อนปี 2435 บทบาทในการปกครองหลักๆ ก็มีแค่ 2 เรื่อง คือ ป้องกันภัยจากข้างนอกกับรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ส่วนที่เหลือทั้งอาหารการกิน การรักษาพยาบาล ล้วนเป็นสิ่งที่ชุมชนจัดการด้วยตนเอง แน่นอนในเรื่องประสิทธิภาพคงจะสู้ศักยภาพของรัฐไม่ได้

รัฐสมัยใหม่ แยกระหว่างกลไกรัฐกับสังคม ส่งผลดีแต่แย้งวิถีเดิม

อาทิตย์ เปิดเผยต่อว่า เมื่อรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นมา มีโครงสร้างระบบราชการจากส่วนกลางลงไปที่ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เป็นการขยายกิ่งก้านลงไปในทุกๆ ที่ที่อยู่ภายใต้ขอบอาณาเขตในความเป็นรัฐ ตรงนี้จึงทำให้บทบาทมันเปลี่ยนแปลงไป มันทำให้อำนาจในการบริหารปกครองสังคมที่มันเคยทับกันอยู่แยกตัวออกมา แยกออกจากกันเป็นกลไกของรัฐกับสังคม

กลไกของรัฐก็จะมีบทบาทนำมากกว่าสังคมนั้นๆ ในการที่จะบริหารจัดการทั้งพื้นที่และผู้คนทุกๆ กระดานนิ้วของอาณาเขตรัฐ นั้นคือ จุดเริ่มต้น ผลของมันย่อมเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่ในทางกลับกันเมื่อทำไปแล้ว หลายๆ อย่างกลับไม่เป็นไปตามสิ่งที่สังคมและวิถีชีวิตนั้นๆ เป็นอยู่ มันกลับไม่สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตของสังคมนั้นๆ ดังนั้น พลวัตรของภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานไปนั้นก็ย่อมไปชนกับความเป็นไปทางการเมืองบางอย่างของรัฐ และการขยายพื้นที่ในการแบกรับอุปสงค์ (Demand) ของผู้คนที่อาจทำให้เกิดความอ่อนไหว

บนเส้นทางคู่ขนาน ปลายทางเดียวกัน แต่เดินคนละเส้นทาง

อาทิตย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่นำร่องแบบนี้มันมีข้อดี คือ เรารู้ว่ามันมีขอบเขตแค่ไหนในทางกายภาพ ผมมองว่าปัญหาที่เราเจอตอนนี้ถ้าหมู่บ้านเหล่านั้นเป็นกัมปงดามัยแล้ว งานด้านสันติวิธีเรียนรู้สันติภาพก็ต้องเดิน เราอาจจะให้ชุมชนนั้นๆ ได้ลองเดินทางสนทนาไปในวิถีที่เขาอยากจะสนทนา ซึ่งถ้ามันดีก็ค่อยขยายไปในพื้นที่ต่างๆ แต่ถ้ามันไม่เวิร์คเราก็ค่อยกลับไปทบทวนกันใหม่ เพราะมันเป็นพื้นที่เฉพาะจุด

ขณะเดียวกันเมื่อมันมีอะไรบางอย่างซึ่งทำให้เกิดกระแสของความหวาดกลัวในชุมชน ตรงนี้คงเป็นหน้าที่ของ สล.3 ที่จะต้องเข้ามาช่วยในการจะรับประกันกัมปงนำร่อง ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายของ สล.3 ในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุข

จะเห็นว่าตรงนี้อาจจะเป็นจุดที่ สล.3 กับภาคประชาสังคมอย่าง LEMPAR เดินทางเดียวกันได้ แต่ใช้ถนนคนละเส้น ซึ่งมันคู่ขนานกันและจำเป็นทั้งสองทาง เพียงแต่ว่าอาจจะต้องปรับการทำงานบางอย่างที่สามารถจูนการเล่นได้ ซึ่งมันสอดคล้องกันได้บนเส้นทางคู่ขนาน คือ ปลายทางเดียวกัน แต่เดินคนละเส้นทาง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท