Skip to main content
sharethis
 
นายจ้างไม่จัดวันหยุดมีโทษปรับ 2 หมื่น
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่า ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541กำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6วัน ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสหยุดพักผ่อนหลังจากที่ทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลาพอสมควร สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน กรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติก็จะมีความผิดตามกฎหมายโดยมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
 
หากนายจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0-2245-7170,0-2246-6389 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่เขต 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1546
 
 
ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 9 วันยอดทะลุ 3.1 แสนราย
 
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติที่ไม่มีเอกสารการทำงาน ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.- 7 ส.ค. ว่า จากการเปิดให้บริการตั้งแต่วันแรกถึงวันที่ 1 ส.ค. มีการสรุปผลการรับแจ้งการทำงาน ณ เวลา 13.00 น. มีนายจ้างมาแจ้งการทำงานคนต่างด้าวผ่านศูนย์เฉพาะกิจฯ และแจ้งผ่านออนไลน์ รวม 93,942 ราย แรงงานต่างด้าวรวม 319,464 ราย แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 186,313 ราย กัมพูชา 89,883 ราย ลาว 43,268 ราย สำหรับพื้นที่เข้ามาแจ้งมาสุด 5 อันดับแรกคือ กทม. ชลบุรี สมุทรปราการ ระยอง และปทุมธานี ตามลำดับ ส่วนอาชีพที่มีดารแจ้งขอมากที่สุดคือ 1.เกษตร ปศุสัตว์ 2.ก่อสร้าง และ 3. จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ตามลำดับ
 
ด้าน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ศูนย์เฉพาะกิจเปิดให้บริการแก่นายจ้างที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีเอกสารใดๆ ก่อนวันที่ 23 มิ.ย 2560 มายื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าว และพิสูจน์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง หากพบเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างจริงนายจ้างจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อให้ลูกจ้างคนต่างด้าวไปพิสูจน์สัญชาติและขออนุญาตทำงานต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาคือมีกระบวนการนายหน้าเถื่อน อ้างกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการว่าสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้ โดยเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในปริมาณสูงตั้งแต่ 9,000 – 12,000 บาท เรื่องนี้ กระทรวงแรงงานขอชี้แจงว่า ผู้ที่จะดำเนินการนำเข้าแรงงานได้นั้นมีเพียง 2 กลุ่ม คือ 1. นายจ้างนำเข้าด้วยตนเอง และ 2. ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นจึงจะดำเนินการได้
 
ขอย้ำว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ.2560 มีบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศ หรือสามารถหาลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้กับนายจ้าง เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ นั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000 บาทถึง 1,000,000 บาทต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หรือทั้งจําทั้งปรับ และหากกระทําโดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป หรือโดยสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้กึ่งหนึ่งอีกด้วย
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศจำนวน 84 แห่งทั่วประเทศ เป็นผู้รับอนุญาตฯในกรุงเทพฯ 39 แห่ง ส่วนภูมิภาค 45 แห่ง และขอย้ำเตือนกับนายจ้างและผู้ประกอบการให้ใช้บริการของผู้รับอนุญาตฯ ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากผู้ใดพบเห็นหรือถูกกระบวนการนายหน้าเถื่อนหลอกลวง ขอให้แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่โดยทันที โทร.สายด่วน 1694 ซึ่งกรมการจัดหางานจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทันที
 
 
ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)
 
ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้กล่าวชมเชยไทย ที่ริเริ่มในการตกลงทวิภาคีด้านแรงงาน กับประเทศรอบบ้านอันเป็นตัวอย่างที่ดี และการจะพัฒนาฝีมือเพื่อยกระดับ รวมทั้งงานประกันสังคม ในที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ของการประชุมด้านแรงงาน CLMTV ที่เมืองดานัง เวียดนาม ในประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานและความร่วมมือด้านแรงงานในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในการประชุมด้านแรงงานของกลุ่มประเทศ CLMTV ครั้งที่ 2 ที่เมืองดานัง เวียดนาม วันแรกเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้แทนเข้าประชุม วันต่อไป เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสนั้น ผู้แทน ILO และ IOM ได้กล่าวชมเชยไทย ที่ได้ตกลงทวิภาคี ทั้งกับเมียนมา กัมพูชา และลาว ในการจัดการบริหารแรงงานต่างด้าว นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี
 
และชื่นชมแนวทางของไทยในการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมายให้มีฝีมือสูงขึ้น ตามนโยบาย ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งเห็นด้วยกับแนวทาง ของประกันสังคมไทย ที่จะให้แรงงานต่างด้าว เริ่มมีระบบประกันสังคมที่ต่อเนื่อง เมื่อกลับประเทศต้นทางแล้ว สามารถกลับไปใช้ระบบประกันสังคมของประเทศตนเองได้ รวมทั้งคนไทย เมื่อไปทำงานต่างประเทศ เมื่อเข้าระบบประกันสังคมแล้ว สามารถนับเวลาต่อเนื่อง กลับมาใช้ระบบประกันสังคมในไทยได้เช่นกัน
 
พลเอก ศิริชัยฯ ได้กล่าวอีกว่า การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในวันนี้ ได้ร่วมกันหารือในประเด็นกฎหมายเพื่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในการสนับสนุนทรัพยากรมนุษย์ และงานที่มีคุณค่า และในการประชุมระดับรัฐมนตรี จะได้มีการลงนามในปฏิญญาร่วม CLMTV เรื่อง ‘การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย’ และจะหารือ ระดับทวิภาคี กับรัฐมนตรีของเมียนมา และลาว อีกด้วย
 
 
ผลสำรวจพบคนรุ่นใหม่เปลี่ยนงานบ่อย และไม่มีความอดทน
 
จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย เผยผลสำรวจความคิดเห็นของฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 480 คน ในหัวข้อ ปัญหาที่พบเจอจากการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ พบว่ามี 5 ข้อ ที่หลายองค์กรมีความเห็นตรงกัน ได้แก่ 1) เปลี่ยนงานบ่อย 16.45 เปอร์เซ็นต์ 2) ไม่มีความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงานและคำวิจารณ์ 14.99 เปอร์เซ็นต์ 3) การปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงาน 11.55 เปอร์เซ็นต์ 4) มีความเชื่อมั่นในตัวเองเกินไป 8.69 เปอร์เซ็นต์ และ 5) การทำตามกฎระเบียบ 8.30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้สำรวจความคิดเห็นของพนักงานรุ่นใหม่เพื่อเผยให้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง พบว่าสิ่งที่พนักงานรุ่นใหม่เห็นตรงกับองค์กรและคิดว่าตนเองควรปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ ต้องมีความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงานและคำวิจารณ์ต่างๆ ตามมาด้วยการลดความเชื่อมั่นในตัวเองที่มีสูงเกินไป ตลอดจนพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกการทำงาน ซึ่งหากพนักงานรุ่นใหม่รู้จักอดทน เปิดใจ และปรับตัวก็จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถทำงานร่วมกันในองค์กรได้อย่างราบรื่น
 
นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า ในโลกการทำงานปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่มีวิธีคิดและทัศนคติในการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากคนยุคก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น จนทำให้หลายองค์กรมักประสบกับปัญหาในเรื่องการทำงานร่วมกับพนักงานรุ่นใหม่ ทำให้ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม ในฐานะผู้นำด้านเว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย ที่มีผู้ลงทะเบียนฝากประวัติกว่า 1.2 ล้านคน และมีจำนวนงานจากบริษัทชั้นนำกว่า 86,000 อัตรา ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางระหว่างคนหางานและองค์กร มองเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นโดยแบ่งออกเป็นความคิดเห็นจากฝั่งองค์กรและพนักงานรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในมุมมองของทั้งสองฝ่ายมากขึ้น
 
โดยในมุมองค์กรได้ทำการสำรวจผ่านฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 480 คน ในหัวข้อ “ปัญหาที่พบเจอจากการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่” พบว่า 5 ปัญหาสำคัญที่หลายองค์กรมีความเห็นตรงกัน คือ
 
1.เปลี่ยนงานบ่อย คิดเป็น 16.45 เปอร์เซ็นต์
2.ไม่มีความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงานและคำวิจารณ์ คิดเป็น 14.99 เปอร์เซ็นต์
3.การปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงาน คิดเป็น 11.55 เปอร์เซ็นต์
4.มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไป คิดเป็น 8.69 เปอร์เซ็นต์
5.การทำตามกฎระเบียบขององค์กร คิดเป็น 8.30 เปอร์เซ็นต์
 
นางสาวแสงเดือน กล่าวต่อว่า นอกจากการสำรวจความคิดเห็นจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลแล้ว เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของฝั่งพนักงานรุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง ในเรื่อง 
“ปัญหาในโลกการทำงานในมุมมองของคนรุ่นใหม่” โดยพบว่า 5 ข้อแรกที่ส่วนใหญ่ตอบเหมือนกัน คือ
 
1.ตนเองมีเป้าหมายในอนาคตไม่ชัดเจน คิดเป็น 14.33 เปอร์เซ็นต์
2.ไม่มีความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงานและคำวิจารณ์ คิดเป็น 13.30 เปอร์เซ็นต์
3.มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป คิดเป็น 12.60 เปอร์เซ็นต์
4.การปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงาน คิดเป็น 10.55 เปอร์เซ็นต์ 
5.ต้องเรียนรู้งานและพัฒนาตนเองให้มากขึ้น คิดเป็น 10.01 เปอร์เซ็นต์
 
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ทราบและเข้าใจมุมมองของอีกฝ่าย ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ฝั่งองค์กรเองก็ต้องศึกษารวมถึงเรียนรู้พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของพนักงานรุ่นใหม่ พร้อมนำข้อมูลข้างต้นไปพิจารณาปรับใช้ในเรื่องการบริหารจัดการพนักงานรุ่นใหม่เพื่อจูงใจและรักษาคนเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กร อย่างไรก็ตาม พนักงานรุ่นใหม่ก็ควรให้ความสำคัญกับปัญหาที่ฝั่งองค์กรได้กล่าวมา ตลอดจนต้องรู้จักอดทน เปิดใจ และปรับตัวมากขึ้น ก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้ นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย
 
 
กระทรวงแรงงานเผยแรงงานต่างด้าวตบเท้าลงทะเบียนผ่านศูนย์ฯทั่วประเทศแล้วกว่า 5 แสนคน
 
นายสมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาปัญหาผลกระทบจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทางานของคนต่างด้าว จำนวน 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งเปิดให้บริการแก่นายจ้างที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 โดยไม่มีเอกสารแสดงตน และไม่มีใบอนุญาตทำงานมายื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวที่ศูนย์ รับแจ้งการทางานของคนต่างด้าว
 
ผลการดำเนินงานของศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (วันที่ 24 ก.ค. – 3 ส.ค.60 ณ เวลา 08.00 น.) ดังนี้ 1. นายจ้างยื่นคำขอ จำนวน 113,374 ราย (ยื่นที่ศูนย์ฯ 104,415 ราย ลงทะเบียนออนไลน์ 8,959 ราย) 2. ลูกจ้างคนต่างด้าว 396,390 คน (ศูนย์รับแจ้งฯ 376,121 คน ลงทะเบียนออนไลน์ 20,269 คน) เป็นกัมพูชา 107,504 คน ลาว 54,144 คน เมียนมา 234,742 คน
 
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ร้อง 'บิ๊กตู่' ทบทวนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
 
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 นายมานพ เกื้อรัตน์ รองเลขาฯ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาชิกประมาณ 150 คน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนโยบายของรัฐบาลที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
 
โดยนายสาวิทย์กล่าวว่า จากที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้เหตุผลมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจใหม่ เพราะที่ผ่านมามีการแทรกแซง แสวงหาประโยชน์จากนักการเมือง มีการทุจริต ทำให้งานของรัฐวิสาหกิจไม่ตรงต่อความต้องการของประเทศชาติและประชาชนได้อย่างเต็มที่ แต่จากที่ สรส. และองค์กรสมาชิกติดตามพบว่า การดำเนินงานของรัฐไม่เป็นไปตามที่ได้กล่าวเอาไว้ อาจจะมาจากการตีความการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางการนำไปปฏิบัติของรัฐไม่สอดคล้องกับที่ได้กล่าวเอาไว้ อาจจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อการเอื้อประโยชน์จนนำไปสู่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ เช่น การออกร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ.... เพื่อจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง หรือกรณีข้อสั่งการของนายกฯ ในวันที่ 20 มิ.ย. ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาแนวทางปรับเปลี่ยนหน้าที่การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ให้เน้นเป็นผู้กำกับดูแลและสนับสนุน และให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมให้มากขึ้น
 
นายสาวิทย์กล่าวว่า มองว่าจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเปลี่ยนไป ทั้งนี้ การดำเนินการก็ไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชน หรือจากสหภาพแรงงาน รวมถึงไม่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งไม่ต่างจากการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยอาจเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติของประเทศ เกิดการขับไล่รัฐบาลจากประชาชน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย จึงขอให้นายกฯ ทบทวนเรื่องดังกล่าวนี้ใหม่ และหวังว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะไม่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน
 
 
ภาคเอกชนห่วงหลังมีผู้มาขึ้นทะเบียนแรงงานน้อยกว่าที่คาดไว้ เตือนหากเลยกำหนดวันที่ 7 ส.ค.นี้จะไม่สามารถช่วยเหลือได้
 
ภายหลังจากที่มีการเปิดศูนย์ให้นายจ้างมาขึ้นทะเบียนลูกจ้างต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พบมีการจดทะเบียนเพียงวันละ 700 – 800 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากและเป็นห่วงว่าเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะครบกำหนดตามที่กฎหมายระบุไว้แล้ว ซึ่งไม่สามารถจะขยายเวลาออกไปได้อีก อาจจะทำให้ต้องเสียค่าปรับตามกฎหมายทันที ดังนั้นจึงขอเตือนให้ผู้ที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปที่ไม่มีเอกสารแสดงตนและเอกสารอนุญาตการทำงานอยู่ในปัจจุบันให้รีบมาขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 ส.ค.นี้เท่านั้น
 
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงเป็นห่วงกลุ่มนายจ้างและลูกจ้างในหมวดการให้บริการต่างๆ แม่บ้านก่อสร้าง เกษตรกร และปศุสัตว์ที่นายจ้างมาขึ้นทะเบียนลูกจ้างน้อยมาก หากเลยกำหนดแล้วภาคเอกชนจะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้ เพราะก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องให้ขยายระยะเวลาออกไปก่อนเพื่อให้มีเวลาดำเนินเรื่องให้ถูกต้องตามกฎหมาย
 
โดยตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. - 3 ส.ค. 2560 มีนายจ้างมายื่นคำขอรวม 113,374 ราย ทำให้ขณะนี้มีจำนวนลูกจ้างต่าวด้าวที่มาขึ้นทะเบียนรวม 369,390 คน ซึ่งกิจการที่มีการยื่นขอจดทะเบียนมากที่สุดคือหมวดเกษตรและปศุสัตว์ 91,570 คน รองลงมาคือกิจการก่อสร้าง 77,917 คน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 36,667 คน การให้บริการต่างๆเช่นแม่บ้าน28,983 คน
 
ขณะที่จังหวัดที่มีการจ้างงานมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร 84,957 คน รองลงมาคือสมุทรปราการ 22,974 คน ระยอง 19,821 คน ปทุมธานี 19,571 คน และเชียงใหม่ 16,325 คน
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.เป็นต้นไป จะเริ่มตรวจสอบคัดกรองรายละเอียดที่จัดส่งเข้ามาจากนั้นจะออกเอกสารประจำตัวผู้ใช้แรงงานให้ โดยใช้เวลาภายใน 30 วัน แต่ทั้งนี้ลูกจ้างแต่ละสัญชาติมีข้อปฏิบัติเพื่อออกหนังสือรับรองต่างกันซึ่งแรงงานทั้งหมดทำงานได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561
 
 
ระดมข้าราชการแรงงาน เตรียมพร้อมสัมภาษณ์นายจ้าง-ลูกจ้าง หลังปิดศูนย์รับแจ้งฯ
 
กระทรวงแรงงานเตือนนายจ้างรีบมาแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ้นวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ปิดศูนย์ฯแน่นอน และไม่ขยายเวลาอีกต่อไป ย้ำนายจ้างที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป เตรียมหลักฐาน เช่น สัญญาจ้าง การจ่ายเงินเดือน เป็นต้น เพื่อใช้ประโยชน์ประกอบการสัมภาษณ์
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการหลังจากปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวในวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ว่า ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการคัดกรองเพื่อพิสูจน์ความเป็นนายจ้าง -ลูกจ้าง โดยพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานระดมกำลังเจ้าหน้าที่ข้าราชการดำเนินการสัมภาษณ์นายจ้าง-ลูกจ้าง และออกหนังสือรับรองเพื่อไปตรวจสัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน กระทรวงแรงงานจึงขอให้นายจ้างทุกท่านพาลูกจ้างคนต่างด้าวไปสัมภาษณ์ตามวัน เวลา และสถานที่ที่แจ้งไว้กับท่าน และในกรณีที่นายจ้างเป็นบริษัทหรือสถานประกอบการซึ่งมีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไปนั้น เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการสัมภาษณ์ ขอให้เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถใช้ประกอบในการสัมภาษณ์ได้ไปด้วยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เช่น ทะเบียนลูกจ้าง ทะเบียนการจ่ายค่าจ้าง สัญญาจ้าง แบบรายงานสภาพการจ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นผู้รับใช้ในบ้าน หากไม่มีเอกสารหลักฐานก็จะใช้การสัมภาษณ์ ซึ่งหากเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างจริงจะสามารถตอบคำถามได้ โดยกรมการจัดหางานได้จัดทำคู่มือการสัมภาษณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาน้อยที่สุด สำหรับกรณีที่มีข้อกังวลว่าลูกจ้างคนต่างด้าวพูดภาษาไทยไม่คล่องนั้น ขอเรียนว่าทุกจังหวัดมีล่ามภาษากัมพูชา และเมียนมา ซึ่งสามารถสื่อสารกับลูกจ้างคนต่างด้าวได้ คาดว่าจะสามารถสัมภาษณ์ได้ประมาณ 300-500 คิวต่อวัน
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ออกเอกสารรับรองให้ไปตรวจสัญชาติแล้ว ขอให้พาคนต่างด้าวไปตรวจสัญชาติทันที เนื่องจากขณะนี้ทางการเมียนมามีศูนย์ตรวจสัญชาติในไทยอยู่แล้ว คือ ที่สมุทรสาคร สมุทรปราการ เชียงราย ตาก และระนอง และกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ และสงขลา โดยแรงงานฯ สามารถจองคิวการตรวจสัญชาติได้ก่อน โดยจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการตรวจสัญชาติ ที่เคาน์เตอร์เซอวิส จำนวน 310 บาท เมื่อได้กำหนดวัน เวลา แล้วก็สามารถดำเนินการตรวจสัญชาติได้ที่ ศูนย์ตรวจสัญชาติ ในรูปแบบ One Stop Service (OSS) เช่นเดียวกับทางการกัมพูชา ซึ่งจะเปิดศูนย์ตรวจสัญชาติใน 3 จังหวัด คือ ระยอง สงขลา และกรุงเทพฯ อยู่ในรูปแบบ OSS เช่นกัน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ในส่วนของ สปป.ลาวนั้น ขณะนี้ยังไม่มีศูนย์ตรวจสัญชาติในไทย แต่แรงงานจะต้องไปที่สถานทูต/กงสุลลาวประจำประเทศไทย เพื่อขอเอกสารเดินทางกลับประเทศเพื่อไปตรวจสัญชาติแล้วกลับเข้ามาทำงานตามระบบ MOU จึงขอให้นายจ้างรีบดำเนินการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวโดยด่วน หากพ้นกำหนดวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะปิดศูนย์ฯทันที และจะไม่มีการขยายเวลาการเปิดศูนย์ฯอีกแน่นอน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 5/8/2560
 
สรรพากรรับลูกดันประกันสุขภาพหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาทต่อปี
 
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายกับกรมสรรพากรไปนานแล้ว เกี่ยวกับการพิจารณาให้การทำประกันสุขภาพสามารถหักลดหย่อนภาษีได้จำนวนหนึ่ง เช่น ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งในส่วนนี้มองว่าจะเป็นการช่วยลดการรักษาพยาบาลของบัตรทอง และประกันสังคม เป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศได้มากขึ้น
 
"กรมสรรพากรยังไม่ได้ เสนอรายละเอียดขึ้นมาให้กระ ทรวงการคลังพิจารณา แต่เบื้องต้นทราบว่ากรมสรรพากรเห็นด้วยในหลักการแล้ว เพราะเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์กับหลายฝ่าย ทั้งผู้ทำประกัน บริษัทประกัน และรัฐบาล" นายอภิศักดิ์กล่าว
 
ที่ผ่านมาประกันสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของประกันชีวิต สามารถลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด แต่ภายหลังมีการตีความว่าไม่ได้เป็นประกันชีวิต ทำให้หักลดหย่อนภาษีไม่ได้ ซึ่งบริษัทประกันได้เรียกร้องกับรัฐบาลมาตลอดให้ประกันสุขภาพหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนประกันชีวิต เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันดูแลรักษาตัวเอง ไม่เป็นภาระกับงบประมาณ
 
นายอภิศักดิ์กล่าวว่า รัฐ บาลยังจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานรากและผู้มีรายได้ต่อเนื่อง จะทยอยออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยการให้สวัสดิการด้านต่างๆ ผ่านบัตรผู้มีรายได้น้อย ที่จะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.2560 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่ได้ช้า เพราะอีกไม่ถึงเดือนจะเริ่มดำเนินการแล้ว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net