Skip to main content
sharethis
สมาชิก 3 นายจากกองกำลังแบล็กวอเตอร์ที่สังหารหมู่พลเรือนไม่มีอาวุธในอิรักจากเหตุการณ์เมื่อปี 2550 ถูกศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ตัดสินลงโทษจำคุก 30 ปีกับอีกหนึ่งวัน โดยคดีนี้ยังสะท้อนให้เห็นการที่ฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ ใช้กองกำลังของเอกชนที่มีหัวหน้าเป็นพวกขวาหัวรุนแรงในปฏิบัติการที่อิรักด้วย
 
5 ส.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ลงโทษให้อดีตทหารรับจ้างจากกองกำลังเอกชนแบล็กวอเตอร์เวิร์ลไวด์ 3 นายจำคุก 30 ปีกับอีกหนึ่งวัน จากกรณีที่พวกเขาสังหารชาวอิรักที่ไม่มีอาวุธ 14 ราย และทำให้ได้รับบาดเจ็บ 17 ราย จากกรณีอื้อฉาวที่เรียกว่า "การสังหารหมู่จัตุรัสนิซูร์" ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อปี 2550
 
ผู้ที่ถูกตัดสินในครั้งนี้คือดัสติน เฮิร์ด, อีวาน ลิเบอร์ตี, พอล เสลาจ์ โดยที่พวกเขาถูกลงโทษในความผิดข้อหาฆาตกรรม พยายามฆ่า และใช้อาวุธปืนก่อคดีอาญาอุกฉกรรจ์ ส่วนนิโคลาส สลาตเทน หนึ่งในทหารรับจ้างที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นผู้เปิดฉากยิงใส่ชาวอิรักที่เคยถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตมาก่อนหน้านี้ แต่ศาลอุทธรณ์ก็สั่งให้มีการพิจารณาคดีสลาตเทนใหม่อีกครั้ง
 
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุค 2550 เคยจ้างกองกำลังแบล็กวอเตอร์ในปฏิบัติการที่อิรัก จากการดำเนินคดีเมื่อปี 2557 ระบุว่ากองกำลังแบล็กวอเตอร์ใช้อาวุธปืนกลและเครื่องยิงระเบิดอย่างสะเพร่า ขาดการควบคุมหลังจากที่ทหารนายหนึ่งอ้างอย่างผิดๆ ว่ารถบรรทุกกำลังพลของพวกเขากำลังจะต้องเผชิญกับคาร์บอมบ์ ขณะที่ทนายฝ่ายจำเลยพยายามแย้งว่ากองกำลังแบล็กวอเตอร์ทำไปเพื่อป้องกันตัวเองแต่อัยการรัฐก็ระบุว่าอาชญากรรมที่กองกำลังก่อไว้อย่างการสังหารหมู่และทำให้คนบาดเจ็บสาหัสถือเป็นเรื่องเลวร้าย น่าสยดสยองจนกลบน้ำหนักข้ออ้างเรื่องการป้องกันตัวที่ทนายฝ่ายจำเลยอ้างถึง
 
ในกรณีของสลาตเทนนั้นศาลอุทธรณ์กลางสหรัฐฯ ยกเลิกคำตัดสินเดิมโดยระบุว่าสลาตเทนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในปฏิบัติการไม่ได้เป็นคนที่เริ่มเปิดฉากยิงก่อนเป็นคนแรกแต่เป็นหนึ่งในผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาที่เป็นคนเริ่มยิง โดยจะจัดให้มีการไต่สวนดำเนินคดีสลาตเทนใหม่อีกครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องลำบากสำหรับฝ่ายอัยการที่ต้องติดตามตัวพยานชาวอิรักทั้ง 12 รายที่ขึ้นให้การในการดำเนินคดีครั้งแรกมาให้การอีกครั้ง
 
พอล ดิกคินสัน ทนายความที่เป็นตัวแทนของครอบครัวชาวอิรักที่ถูกสังหาร 6 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 9 ขวบ ชื่อ อาลี คินานี ทวีตถึงรายละเอียดคดีในครั้งนี้ ขณะที่เจรีมี สกาฮิลล์ นักข่าวผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับองค์กรทหารรับจ้างแบล็กวอเตอร์กล่าวว่าเขายินดีต่อคำตัดสินในครั้งนี้แต่ก็ควรจะมีการเน้นย้ำถึงกรณีปัญหาที่กองทัพสหรัฐฯ จ้างวานกองกำลังเอกชนอย่างแบล็กวอเตอร์ที่มีซีอีโอเป็นอิริค ปรินซ์ คริสเตียนหัวรุนแรงฝ่ายขวา
 
เหตุการณ์สังหารหมู่ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "วันอาทิตย์นองเลือดในแบกแดด" ในเหตุการณ์นั้นกองกำลังภายใต้สัญญาจ้างของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯสังหารปะชาชนชาวอิรักไป 17 ราย กลางสี่แยกที่มีผู้คนพลุกพล่านเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2550
 
คอมมอนดรีมส์ระบุอีกว่าผู้ก่อตั้งกองกำลังเอกชนแบล็กวอเตอร์มีส่วนเกี่ยวโยงกับรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ยังเป็นพี่น้องกับเบตซี เดวอส รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ เคยเปิดเผยต่อสื่อเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่าปรินซ์เคยเข้าร่วมปนะชุมกับคนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย โดยต้องสงสัยว่าจะพยายามหาช่องทางลับในการสื่อสารกันระหว่างรัสเซียกับรัฐบาลสหรัฐฯ 
 
ปรินซ์ยังเคยเขียนบทความชื่นชมว่าทรัมป์จะดำเนินการกับอัฟกานิสถานได้อย่าง "ถูกต้อง" รวมถึงเสนอแนะให้ใช้วิธีการโหดร้ายแบบจักรวรรดิในยุคล่าอาณานิคมในสมัยคริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งคอมมอนดรีมส์ระบุว่า ไม่น่าแปลกใจนักสำหรับพวกที่ฉวยโอกาสหาประโยชน์จากสงคราม แต่ที่ปรึกษาของทรัมป์อย่างสตีฟ แบนนอน หัวหน้านักยุทธศาสตร์ประจำทำเนียบขาว กับจาเรด คุชเนอร์ ที่ปรึกษาระดับสูง ก็ดูจะขอความคิดเห็นจากปรินซ์ในเรื่องการจัดการกับสงครามอัฟกานิสถานที่ดำเนินยาวนานถึง 16 ปี
 
เรียบเรียงจาก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net