Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

เหตุการณ์ “ล็อคคอ” กับ “ประเทศเฮงซวย” มีบางอย่างสัมพันธ์กันอยู่ ช่วงสองสามวันมานี้สื่อต่างๆ พาดพิงถึงเหตุการณ์ทั้งสองในแง่มุมต่างๆ นาๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นวัยรุ่นกับการแสดงออก หรือการไม่เคารพที่ต่ำที่สูง บ้างก็ว่าเป็นเรื่องของการไม่รักประเทศชาติและ สถาบัน แม้ประเด็นจะแตกต่างกัน แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า  ทั้งสองเหตุการณ์ชี้ให้เห็นปรากฎการณ์บางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจปรากฎการณ์ดังกล่าว ผ่านทฤษฎีเรื่องการเมืองเรื่องความรัก ของ Sara Ahmed

Sara Ahmedเขียนหนังสือเรื่อง Cultural Politic of Emotion ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2004  เพื่อศึกษาเกียวกับเรื่องอารมณ์กับการเมือง ในบทที่อุทิศให้ “ความรัก” ซาร่าได้อธิบายกลไกเบื้องหลังการใช้ความรัก และความเกลียดชังเป็นเครื่องมือทางการเมืองไว้อย่างมีชั้นเชิง เธอเริ่มจากการตั้งคำถามว่า อะไรคือบรรทัดฐานในการตัดสินกิจกรรมใดๆ ทางการเมืองว่า มีต้นตอมาจากความรัก หรือกำเนิดขึ้นจากความเกลียดชัง ในเมื่อธรรมชาติของอารมณ์ทั้งสองประเภทเป็นขั้วตรงข้ามของกันและกันในทุกกรณี เช่น หากคนขาวในอเมริกาออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการอพยพย้ายถิ่น และการลักลอบเข้าประเทศ โดยอ้างว่า การรณรงค์ดังกล่าวเกิดจากความรักในความเป็นชาติ และต้องการปกป้องความเป็นอเมริกัน ก็ไม่แปลกที่จะตีความเหตุการณ์เดียวกันว่า การรณรงค์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเกลียดชัง เพราะคนขาวกลัวว่าผู้อพยพจะเข้ามาก่ออาชญากรรม หรือเข้ามาแย่งงาน ฯลฯ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ภาพความรังเกียจ หรือความกลัวดังกล่าวจะไม่มีทางปรากฎออกมาในสื่อสาธารณะแบบโจ่งแจ้ง สิ่งที่ซาร่าชี้ให้เราเห็นคือไม่ว่ากลุ่มก้อนทางการเมืองจะเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิ่งใด ไม่ว่าต้นเหตุจะเกิดจากความเกลียดชังที่เด่นชัดปานใด แต่สุดท้ายนักการเมืองก็จะเล่นแร่แปรธาตุให้การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำในนามของความรักให้จงได้[1]... เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ซาร่าอธิบายต่อไปว่า ความรักมีพลังในการดึงดูดผู้คนให้รวมตัวกันมากกว่าความเกลียดชัง เพราะธรรมชาติของความรักมีคุณสมบัติที่เป็นแง่บวกสามารถ เสริมสร้างความเป็นหมู่คณะ และสามารถประกอบเป็นอุดมคติที่เข้มแข็ง ต่างจากความเกลียดชังซึ่งโดยธรรมชาติมีความขัดแย้งแบ่งแยกเป็นสารัตถะ นอกจากนี้ ความรักยังมีข้อดีคือ ยืนยงกว่าความเกลียดชังเพราะกว่าจะมีความรักจำต้องอาศัยการทุ่มเทมากกว่า ซึ่งเธอมองว่า การทุ่มเทให้ความรักนั้นเป็นต้นทุนที่ทำให้ผู้ที่ประกาศตัวว่ามีความรักจำต้องยึดมั่นในสิ่งที่ตนรักแม้ว่า สิ่งนั้นจะไม่มีอยู่แล้วก็ตาม (คนที่เคยถูกแฟนทิ้งคงเข้าใจความรู้สึกรักทำนองนี้ดี) ในทางการเมืองก็ไม่ต่างกัน มีตัวอย่างมากมายของการสวมหน้ากาก 'ในนามของความรัก' เพื่อหาความชอบธรรมในการแสดงความเกลียดชังในพื้นที่สาธารณะโดยมีจุดประสงค์เพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีอีกฝ่ายว่าไม่รักชาติ และเกทับว่า ฉันรักของฉัน ไม่เชื่อดูที่อกซ้ายของฉันสิ หรือ ชี้ให้เห็นว่าอีกฝ่ายไม่เคารพธรรมเนียมประเพณี ทั้งๆ ที่ฉันสู้อุตส่าห์ปกปักษ์รักษามาเนิ่นนาน ซาร่าชี้แจงต่อไปว่า ฝ่ายที่อ้างว่ามีความรักมีต้นทุนคือ เวลา และความเชื่อ ที่ประกอบสร้างออกมาในรูปของจินตนาการ เป็นความยึดมั่นในจิตใจ ที่เรียกว่าความรัก ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตนในที่สุด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความรักประเทศชาติ หรือรักสถาบัน ก็ล้วนเป็นหนึ่งในรูปแบบของการแสดงว่า ได้รับการยอมรับในสังคม และยิ่งเมื่อลงทุนไปมากเท่าไรเพื่อให้ได้รับการยอมรับ จินตนาการดังกล่าวก็เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ตามแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่เกลียดแรงงานต่างด้าวเพราะมาแย่งงานของตนที่จะแสดงออกความเกลียดชังในรูปของความรักชาติ กลไกที่เกิดขึ้นเบื้องหลังวาทกรรมดังกล่าวก็ง่ายๆ คือตัวเรา นั้นถูกคุกคามจากผู้อื่นเพราะ การกระทำของ ผู้อื่นเข้ามามีผลกระทบกับจินตนาการที่ผูกติดกับความเป็นตัวตนของเรา และการคุกคามนั้นขยายตัวมาเบียดเบียนจนทำให้ตัวเรารู้สึกว่า ตนเองกำลังสูญเสียอะไรบางอย่างไป ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน หรือความปลอดภัยในทรัพย์สิน กระทั่งความเชื่อที่ยึดถือมานานจนหลอมรวมเป็นตัวตนอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้นเป็นธรรมดาที่ตัวเราจะแสดงการต่อต้านด้วยความเกลียดชัง แต่แน่นอนว่า ในทางการเมืองสาธารณะ การต่อต้านการคุกคามดังกล่าวมักจะนำไปอ้างถึงถึงจินตนาการเรื่องความรัก ไม่ใช่เพราะว่าความรักนั้นฟังดูดี แต่ว่าธรรมชาติของความรักสามารถนำพามวลชนให้มาเข้าร่วมกับจินตนาการความรักของตนเองด้วยคุณสมบัติที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้น

รุปง่ายๆ คือ คนที่อ้างความรักบ่อยๆ เป็นไปได้ว่าพวกเขากำลังถูกคุกคาม และกำลังกลัวการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงจากการถูกคุกคามจากความเป็นอื่น พวกเขาต้องการการยืนยันการมีอยู่ของตัวตนของตนเองโดยเรียกร้องให้ผู้คนรอบข้างเข้าร่วมปฏิญาณความรักที่ตนเองบูชา และต่อต้านความเป็นอื่นซึ่งเป็นอริกับจินตนาการความรักของตน เช่น ฉันรักชาติ พวกคุณไม่รักชาติกันรึอย่างไร? … ซึ่งท้ายที่สุดสมการนี้จะนำไปสู่วาทกรรมต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงความเกลียดชังฝั่งตรงข้ามแบบไม่น่าเกลียด ตลอดจนแสดงออกถึงการพยายามผลักฝั่งตรงข้ามไปให้พ้นๆ แบบเนียนๆ และเหมือนจะชอบด้วยเหตุผล เช่น หากไม่ชอบอยู่ให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น เป็นต้น


กลับมาที่ “ประเทศเฮงซวย” และ “มหาลัยขาล็อค”

ในกรณีของ “ประเทศเฮงซวย” เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่การแสดงอารมณ์ด้วยความเกลียดชังพ่ายแพ้ให้กับการแสดงอารมณ์ด้วยความรักในพื้นที่สาธารณะ แม้ว่าฝั่งที่แสดงอารมณ์ด้วยความรักจะใช้เหตุผลวิบัติแค่ไหนก็ตามแต่ ฝั่งที่แสดงอารมณ์เกลียดชังก็ไม่สามารถรวบรวมมวลชลเพียงพอที่จะยืนยันความมีตัวตนของตนเอง จนในที่สุดกระทั่งตัวเองก็ไม่สามารถทนอยู่กับอุดมการณ์ของตนเองจนต้องยอมล่าถอยลบกระทู้ไป ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เรื่องที่ตนประกาศเป็นความจริงที่ตนเองประจักษ์แจ้งเพราะประสบมาด้วยตนเองแท้ๆ 

ที่น่าสนใจกว่าคือ กรณีของ “มหาลัยขาล็อค” กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่สองฟากฝั่งของความขัดแย้งมีรูปทรงทางการเมืองค่อนข้างสูสี ในทรรศนะแบบการเมืองเรื่องความรัก เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีอุดมคติทางการเมืองเบื้องหลังแบบใดก็ตาม แต่สิ่งที่แสดงออกมาในทางสาธารณะเพื่อนำไปสู่การรวบรวมมวลชลของตนเอง (เพื่อยืนยันตัวตนของตนเอง) นั้นล้วนต้องอยู่ในรูปแบบที่สามารถอ้างอิงไปสู่ความรักทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้เหตุผลว่า การกระทำนั้นเป็นไปเพื่อปฏิบัติให้ตรงตามเจตนารมณ์ของในหลวง ร.๕ หรือ ด้วยความรักความเป็นห่วงสถาบัน เหตุการณ์ที่สองนี้จึงยืดเยื้อกว่าเหตุการณ์แรก และจะไม่จบแบบมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมล่าถอยไปง่ายๆ แน่นอน เพราะทั้งคู่ล้วน  “เป็นมวย” 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่ว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง ที่เห็นได้ชัดคือความขัดแย้งระหว่างแนวคิดของคนสองรุ่นเริ่มปะทุขึ้นในพื้นที่สาธารณะ และความขัดแย้งดูจะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยมีความเข้มข้นของการแสดงอารมณ์ ทั้งที่มีเหตุผลเป็นพื้นฐาน หรือการแสดงเหตุผลโดยมีอารมณ์เป็นพื้นฐานที่มีความหนักแน่นมากขึ้น ซึ่งน่าจะนำไปสู่การขยายตัวของความขัดแย้งในอนาคต ที่น่าคิดคือ ไม่ทราบว่าทั้งสองฝ่ายทราบไหมว่า การประกาศอุดมคติโดยอ้างนัยสื่อถึงความรัก หากที่แท้มีต้นตออยู่ที่ความเกลียดชังแล้ว สุดท้ายมันก็จะเป็นไปเพื่อสนองความต้องการที่จะผลักใสฝ่ายตรงข้ามให้กลายเป็นอื่นให้มากที่สุด และเพื่อเรียกร้องความสนใจจากมวลชนให้หันมาสนับสนุนฝั่งของตนเอง หรือแค่เพียงเพื่อยืนยันการมีอยู่ หรือเพื่อปกป้องจินตนาการเรื่องรักที่ตนเองใช้เวลาอันยาวนานเป็นต้นทุนสู้อุตส่าห์ประกอบสร้างขึ้นมาจนเป็นตัวเป็นตนชัดเจน... น่าคิดตรงที่ว่า จินตนาการดังกล่าวมันอาจจะชัดเจนเกินไปจนเจ้าของหารู้ไม่ว่า สิ่งที่ตนเองคิดว่ารักนักรักหนา และพยายามปกป้องเอาไว้อย่างเต็มที่ แท้ที่จริงมันอาจไม่มีอยู่ก็เป็นได้

 

หมายเหตุ

Ahmed, Sara (2004). The Cultural Politic of Emotion. Edinburgh University Press: Edinburgh.

บทเกี่ยวกับความรักสามารถหาอ่านออนไลน์ได้ที่ https://feministkilljoys.com/2016/11/09/fascism-as-love/




[1]เมื่อล่าสุดซาร่าออกมาเผยความกังวลว่าทฤษฎีของเธออาจใช้ไม่ได้กับยุคของประธานาธิปดี โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะความเกลียดชังถูกแสดงออกมาโดยตรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net