สัปดาห์ของคนรุ่นใหม่: อิมเมจ-เนติวิทย์ สู่ภาพยนตร์ #BKKY

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สัปดาห์ที่เราเห็นปรากฎการณ์จากการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ เปิดต้นอาทิตย์กับทวีตระบายความในใจปัญหาการคมนาคมของอิมเมจ สู่การโพสต์เฟซบุ๊กของเนติวิทย์ กรณีนิสิตจุฬาฯ ถูกอาจารย์ล็อคคอ ปิดท้ายด้วยการเปิดตัวภาพยนตร์วัยรุ่น #BKKY สะท้อนปัญหาและบาดแผลของวัยรุ่นที่ทุกคนล้วนเผชิญ กับการถูกกดทับและควบคุมโดยผู้ใหญ่

1.

นับเป็นสัปดาห์ที่เราได้เห็นการแสดงออกของคนรุ่นใหม่เป็นข่าวครึกโครมทั้งอาทิตย์ เริ่มต้นสัปดาห์ ด้วยทวีตของอิมเมจ สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ หรือ อิมเมจ เดอะวอยซ์ ที่ทวีตระบายความในใจเกี่ยวกับระบบสวัสดิการและการคมนาคมของรัฐ ซึ่งมีประโยค เช่น

“เอาจริงๆ นะ แค่ทำให้รถเมล์รถตู้มาสม่ำเสมอทุกเส้นทางยังทำไม่ได้เลย จะเอาอะไรไปเจริญออ ตลก”

หรือ

“ยินดีจะทำงานหนัก ยินดีจะจ่ายภาษีและค่าครองชีพในเรทที่แพงกว่านี้ ถ้าwelfare ในชีวิตประจำวันจะดีกว่านี้”

หรือประโยคดังที่ทำให้เป็นข่าว

“ประเทศเฮงซวย จะอีก50ปีหรืออีก1000ปีก็ไม่เจริญขึ้นหรอก ยิงกูดิ”

ทำให้เกิดกระแสโต้กลับจากรุ่นพี่นักแสดงอย่างแทค ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม ที่กล่าวว่า “มาด่าประเทศไทยดูถูกประเทศไทยกูยอมไม่ได้รับไม่ได้” แม้จะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเธอ  แต่ภายหลังเธอก็ลบทวีตเหล่านั้นทิ้ง และออกมาขอโทษ แต่เธอควรขอโทษจริงหรือในกรณีนี้

หากเป็นคนที่เล่นทวิตเตอร์ จะรู้ว่าด้วยธรรมชาติของทวิตเตอร์ที่จำกัดเพียง 140 ตัวอักษร และการออกแบบ user interface ที่เหมาะสำหรับการส่งข้อความสั้นๆ มากกว่าการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กันได้ยาวๆ แบบในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์จึงเป็นเสมือนพื้นที่สำหรับข้อความสั้นที่ไม่อาจมีหลักการมาอธิบายขยายความให้หนักแน่น จึงไม่แปลกที่ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ปลดปล่อย ‘ความคิดด่วน’ ณ ขณะนั้นออกมา โดยไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง

เรียกง่ายๆ ว่า ในทวิตเตอร์ใครจะพูดจะบ่นอะไรลอยๆ ก็ย่อมได้ เพราะเป็นธรรมชาติของการใช้งาน

และการออกมาขอโทษของเธอจะเป็นการสร้างมาตรฐานว่า คนมีชื่อเสียงไม่สามารถระบายความในใจด้านลบเกี่ยวกับประเทศนี้ได้อีกต่อไปหรือไม่ ดังที่ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ทวีตเกี่ยวกับกรณีของอิมเมจว่า

“ในสังคมไทย ถ้าเงียบเฉยจะมีชีวิตที่ปลอดภัย ถ้าพูดความจริงครึ่งๆ กลางๆ จะถูกชมว่าอยู่เป็น+น่ารัก แต่ถ้าพูดความจริงตรงไปตรงมาจะถูกตำหนิว่าไม่รักชาติ”

กรณีการทวีตของอิมเมจ ไม่น่าแปลกใจและคงไม่เป็นข่าวหากว่าอิมเมจเป็นคนธรรมดาอย่างเราๆ แต่เรื่องไม่ง่ายเมื่อเธอเป็น ‘คนของประชาชน’ ที่ได้รับการคาดหวังว่าจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ ‘ดี’ แก่สังคม การออกมาด่าว่าประเทศจึงทำให้เธอกลายเป็นวัยรุ่นก้าวร้าว ไม่รักชาติ ดูถูกแผ่นดินเกิดของตัวเอง กลายเป็นความผิดจนเธอต้องออกมาขอโทษ โดยมองข้ามประเด็นที่เธอนำเสนอเรื่องระบบสวัสดิการและการคมนาคมของรัฐ

2.

ตามมาติดๆ ด้วยกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์อาจารย์ใช้ความรุนแรงล็อคคอนิสิต ผู้เป็นรองประธานสภานิสิตจุฬาฯ ขณะที่เดินออกจากงานวันถวายสัตย์ปฏิญญาณตนของนิสิตใหม่ โดยเนติวิทย์กล่าวว่าเป็นการประท้วงที่ตอนแรกสุดรองอธิการบดีบอกว่าจะให้พื้นที่สำหรับคนยืนเคารพ และสัญญากับตนก่อนงานว่า ถ้าฝนตกจะให้เด็กโค้งคำนับแล้วจบ เพราะเด็กจะเปียก จะเป็นไข้ได้ แต่เป็นว่าให้หมอบกราบถวายบังคมเหมือนเดิม

ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ ก็กล่าวว่า เข้าใจและเคารพในความเห็นต่างและได้พยายามจัดพื้นที่ให้กับผู้ที่ประสงค์จะแสดงความเคารพด้วยการคำนับโดยมีข้อตกลงกันอย่างชัดเจนว่าจะอยู่ในแถวที่แยกออกไป และจะมาแสดงความเคารพเมื่อกระบวนการถวายบังคมเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่กลุ่มของสภานิสิตไม่ได้เคารพข้อตกลงนั้นและพยายามจะจัดฉากให้ปรากฏภาพที่ขัดแย้งตรงข้ามกันระหว่างการถวายบังคมและการคำนับ

ด้วยคำบอกเล่าที่ไม่ตรงกันเช่นนี้ หลายคนนึกถึงเรื่อง ‘ราโชมอน’ ที่ความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว

สิ่งที่น่าสนใจบางทีอาจไม่ใช่แค่การค้นหาความจริง แต่รวมถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากฝ่ายที่มีวัยวุฒิมากกว่า และการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ต่อสิ่งที่เขาเห็นว่าควรได้รับการแก้ไข แน่นอนว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะล้มล้างระบบเดิม เขาเพียงแสดงออกเพื่อยืนยันความคิดของตัวเอง

ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยผ่านไป กลุ่มวัยรุ่นหัวขบถก็ยังคงถูกผู้ใหญ่หลายคนมองว่า เป็นพวกกราดเกรี้ยว ด้อยประสบการณ์ ไม่เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ วัยรุ่นที่ดีและเป็นแบบอย่างต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่แตกแถว ไม่ต่อต้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และวัยรุ่นของไทยยังเป็นความสัมพันธ์แบบบนลงล่าง ผู้ใหญ่-ผู้น้อย ที่มีอำนาจในมือไม่เท่ากัน

แต่กระนั้น แม้ในสังคมไทยสถานะของความเป็นวัยรุ่นจะถูกกดทับและครอบงำโดยผู้ใหญ่ แต่กรณีของทั้งอิมเมจและเนติวิทย์จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ก็สะท้อนให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียได้เข้ามาเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญให้กับคนกลุ่มนี้

แต่คำถามคือสังคมไทยให้คุณค่ากับความคิดของคนรุ่นใหม่แค่ไหนกัน?

ภาพยนตร์เรื่อง #BKKY ที่เพิ่งเปิดตัวในสัปดาห์นี้อาจกำลังพยายามตอบคำถามนี้
 

3.

#BKKY มาจาก Bangkok Youth คือชื่อภาพยนตร์กึ่งสารคดีกึ่งเรื่องแต่งเรื่องล่าสุดของผู้กำกับ เบิ้ล นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีประเด็นการเมืองที่เคยถูกแบนอย่าง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary, 2013) และสารคดีประเด็นสิ่งแวดล้อมในสังคมคนชายขอบเรื่อง สายน้ำติดเชื้อ (By the river, 2014)

ครั้งนี้เขาพลิกบทบาทการทำหนัง หลังจากมีโอกาสร่วมเขียนบทซีรี่ส์ ‘ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น’ ทำให้เขาสนใจประเด็นของวัยรุ่นในปัจจุบัน โดยคอนเซปต์หลักของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการสัมภาษณ์วัยรุ่น 100 คนในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิต ทั้งการเรียน ความฝัน ความรัก เซ็กซ์ การอกหัก และ ใช่ การถูกบังคับควบคุมโดยผู้ใหญ่ ทั้งจากครอบครัว ครูอาจารย์ และอาจรวมถึงผู้มีอำนาจ แล้วนำทั้งหมดมายำรวมกันให้มีเส้นเรื่องหลัก มีตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง

เรื่องราวจากประสบการณ์ของวัยรุ่นกว่าร้อยชีวิตได้ซ้อนทับและมีจุดร่วมบางอย่างที่เหมือนกัน โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของเรื่องโดยสมบูรณ์ แต่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของเรื่องร่วมกัน

ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ แต่เราอาจจะคุ้นหูกับคอนเซปต์คล้ายกันแบบนี้ที่ว่า อธิปไตยไม่ได้เป็นของใครเพียงผู้เดียว แต่เป็นของประชาชนทุกคน

ในภาพยนตร์ คุณค่าและวิถีชีวิตของวัยรุ่นในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง ที่เด่นชัดคือเรื่องเพศ แม้ภาพยนตร์จะโปรโมทความเป็น LGBT แต่คำว่า 'เพศ' ของวัยรุ่นในเรื่องนี้ลื่นไหลไม่ตายตัว รวมถึงเรื่องความรักและเซ็กซ์ของวัยรุ่นเองก็ดำเนินไปแบบไม่ยึดติดกับเพศสภาพอีกแล้ว มันจึงไปไกลกว่าแค่ความเป็น LGBTแต่อาจหมายถึงการไม่แบ่งแยกอะไรเลย

อีกปัญหาที่ภาพยนตร์แสดงออกมาผ่านบทสัมภาษณ์จริงของวัยรุ่น คือ เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็น ด้วยระบบการศึกษาและวัฒนธรรมไทย ลักษณะความเป็นอำนาจนิยมที่ยังฉายชัด พ่อแม่และครูไม่ยอมรับพื้นที่การแสดงความเห็นของวัยรุ่นในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียม แต่ในฐานะมนุษย์ที่ด้อยกว่า

เราจึงเห็นได้ชัดว่าผู้เป็นพ่อมีส่วนผลักดันให้โจโจ้ ตัวเอกของเรื่อง ตัดสินใจมีเซ็กซ์กับผู้ชายเป็นครั้งแรก พ่อผู้คอยห้ามปรามไม่ให้ลูกสาวคบเพื่อนต่างเพศ พ่อผู้ดุว่าเมื่อลูกกลับช้า พ่อผู้ไม่อาจทนฟังดนตรีของวัยรุ่นจนต้องเปลี่ยนคลื่นกลับไปเป็นดนตรีที่ตัวเองคุ้นชิน

ความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยการบังคับ ควบคุม ไม่ยืดหยุ่นปรับตัว นำมาซึ่งความขัดแย้งที่รุนแรงและการตัดสินใจกระทำบางอย่างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน ที่สุดท้ายก็จบลงด้วยร่องรอยของบาดแผลแห่งการเป็นวัยรุ่นที่ทุกคนล้วนต้องเคยเผชิญ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท